แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา
อิสยาห์ 55:10-11; โรม 8:18-23; มัทธิว 13:1-23

บทรำพึงที่ 1
อุปมากระจกเงา
พระวาจาของพระเจ้าจะบังเกิดผลมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าหัวใจที่รับไว้เปิดกว้างมากน้อยเพียงไร

    ในยุคพระวรสาร ชาวนาจะหว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนพื้นดินก่อน จากนั้นจึงไถกลบรวดเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางเมล็ดปลิวไปตกบนทางเดินบนคันนา หรือปลิวไปตกในพงหนาม หรือต้นหนาม ซึ่งบางครั้งเขาปลูกล้อมรอบนาข้าวเพื่อป้องกันสัตว์ไม่ให้เข้ามาเหยียบย่ำนาข้าว บางเมล็ดตกลงบนพื้นหินที่มีชั้นดินบาง ๆ คลุมอยู่ข้างบน

    พระเยซูเจ้าทรงใช้สถานการณ์ที่ประชาชนคุ้นเคยนี้ในอุปมาเรื่องผู้หว่าน เราจะเห็นว่าอุปมานี้เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงได้จากเรื่องจริงสั้น ๆ สี่เรื่องต่อไปนี้

    เรื่องแรกคือเรื่องของเมล็ดที่ตกบนทางเดิน เรื่องนี้เป็นเรื่องของ เซอร์ เคนเนธ คล๊าก ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของอังกฤษชื่อ “Civilization (อารยธรรม)”

    ในอัตชีวประวัติของเขา คล๊ากบรรยายประสบการณ์ทางศาสนาที่เกิดขึ้นกับเขาในวัดแห่งหนึ่งครั้งหนึ่งในชีวิต ประสบการณ์นั้นเข้มข้น จนเขาคิดอยากจะทำการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งใหญ่ แต่หลังจากประสบการณ์นั้นผ่านไป คล๊าก ก็ตัดสินใจไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต เมื่อมองย้อนกลับไป เขาพูดถึงการตัดสินใจของเขาว่า

    “ผมคิดว่าผมทำถูกแล้ว เพราะผมจมอยู่ในโลกลึกเกินกว่าจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิตได้ แต่ผมมั่นใจว่า ‘นิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า’ สัมผัสตัวผม”

    การตอบสนองของคล๊ากอาจเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงบนทางเดิน ซึ่งหมายถึงคนที่รับพระวาจาของพระเจ้าไว้ แต่แล้วก็สูญเสียไป เพราะซาตานขโมยไปจากเขาก่อนที่พระวาจานั้นจะงอกราก

    เรื่องที่สองคือเรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงบนชั้นดินที่คลุมพื้นหิน เรื่องนี้เป็นเรื่องของพี่น้องสองคน ชื่อคลาเรนซ์ และโรเบิร์ต ซึ่งได้สัญญาจะถวายชีวิตแด่พระเยซูเจ้าเมื่อเขาทั้งสองยังเป็นเยาวชน คลาเรนซ์เติบโตขึ้น และกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง โรเบิร์ตเติบโตขึ้นและประกอบอาชีพเป็นทนายความ

    วันหนึ่ง คลาเรนซ์ขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองจากโรเบิร์ต โรเบิร์ตปฏิเสธ และบอกว่าถ้าเขาทำเช่นนั้นก็อาจทำร้ายอนาคตทางการเมืองของเขา คลาเรนซ์ตกตะลึง เขาทวงถามโรเบิร์ต เรื่องที่เขาสัญญาจะถวายชีวิตแด่พระเยซูเจ้า โรเบิร์ตตอบว่า “ฉันติดตามพระเยซูเจ้า แต่ไม่ใช่ติดตามไปหากางเขน ฉันไม่ยอมให้ตัวเองถูกตรึงกางเขนหรอก”

    คลาเรนซ์มองหน้าน้องชายและพูดว่า “โรเบิร์ต นายไม่ได้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า นายเป็นเพียงแฟนคนหนึ่งของพระองค์เท่านั้น”

    สถานการณ์ของโรเบิร์ต อาจเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่ตกบนชั้นดินบาง ๆ บนพื้นหิน หมายถึงคนทั้งหลายที่รับคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ด้วยความยินดี แต่แล้วก็ทิ้งไปเสียเมื่อพบกับการประจญ

    เรื่องที่สามคือเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ตกในพงหนาม เป็นเรื่องของเด็กหญิงในโรงเรียนมัธยมในฟิลาเดลเฟีย คืนหนึ่ง เธอเขียนความคิดเห็นต่อไปนี้ในการบ้านที่เธอต้องทำส่งครู ว่า “วันนี้ ฉันเกิดความรู้สึกแปลก ๆ ขณะอยู่ในห้องเรียน เมื่อเราพูดถึงอุปมาเรื่องผู้หว่าน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ฉันได้คุยกับอาจารย์แนะแนว และเธอได้ช่วยให้ฉันมองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างชัดเจนขึ้น ฉันจึงตั้งใจไว้ว่าจะทำหลายสิ่งหลายอย่าง แต่แล้วเมื่อวานนี้ ฉันก็นึกขึ้นได้ว่าฉันไม่ได้ทำตามความตั้งใจเหล่านั้นเลยแม้แต่ข้อเดียว ฉันกลับมาวุ่นวายอยู่กับการเรียน จนฉันลืมไปหมด”

    ความคิดเห็นของเด็กหญิงคนนี้อาจเปรียบเทียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงในพุ่มหนาม เธอรับฟังคำแนะนำของอาจารย์ด้วยความยินดี แต่แล้วก็ลืมไปหมด เมื่อชีวิตที่วุ่นวายเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    เรื่องสุดท้ายคือเรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงในดินดี เป็นเรื่องของนักประพันธ์ชื่อ จอห์น อาร์. สต๊อท เขาบรรยายเหตุการณ์หนึ่งในวัยเยาว์ของเขาในหนังสือชื่อ Basic Christianity “คริสตศาสนาขั้นพื้นฐาน”

    คืนหนึ่ง เขาคุกเข่าลง และให้คำมั่นว่าจะถวายชีวิตแด่พระเยซูเจ้า วันต่อมา เขาเขียนในสมุดบันทึกว่า “เมื่อวานนี้ เป็นวันที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์น่าตื่นเต้น ... ดูซิ พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ที่ประตู และทรงเคาะประตู ผมได้ยินพระองค์ และบัดนี้ พระองค์ได้เสด็จเข้ามาในบ้านของผมแล้ว พระองค์ทรงล้างบ้านของผมจนสะอาด และบัดนี้ ทรงปกครองบ้านนี้แล้ว”

    ต่อมา สต๊อทเขียนว่า “ผมรู้สึกจริง ๆ ถึงความยินดีแบบใหม่ที่ยิ่งใหญ่มาก ... เป็นความยินดีจากการเป็นมิตรกับโลก และการเข้าถึงพระเจ้า ... ผมไม่เคยรู้จักพระองค์จริง ๆ มาก่อนเลย”...

    การถวายชีวิตของจอห์น อาจเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่ตกในดินดี ซึ่งหมายถึงคนทั้งหลายที่ได้ยินคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้า และใส่ใจอย่างแท้จริง

    อุปมาเรื่องผู้หว่านจัดอยู่ในประเภทที่บางครั้งเรียกว่าอุปมากระจกเงา อุปมาเหล่านี้เป็นเสมือนกระจกเงาให้เราใช้ส่องและมองเห็นตัวเราเอง อาจกล่าวได้ว่าอุปมาเรื่องผู้หว่านเชิญชวนเราให้ถามตนเองว่าเราเป็นเมล็ดพันธุ์ประเภทใด หรือถามว่าเราเหมือนบุคคลใดมากที่สุดในเรื่องจริงทั้งสี่เรื่องนี้

    เราเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่ตกบนทางเดินหรือเปล่า เราเหมือนกับ เซอร์ เคนเนธ คล๊าก ผู้ได้รับการดลใจให้เปลี่ยนชีวิต แต่แล้วก็ตัดสินใจไม่ทำตาม เพราะจะทำให้แผนการต่าง ๆ ในชีวิตของเขาพังพินาศไปหมดหรือเปล่า

    หรือเราเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงบนชั้นดินบนพื้นหิน คือ เราเหมือนกับโรเบิร์ต ผู้เคยถวายชีวิตของเขาแด่พระเจ้าเมื่อเขายังเป็นเยาวชน แต่กลับคำเมื่อเผชิญกับการประจญ

    หรือเราเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่ตกในพุ่มหนาม คือ เหมือนกับเด็กนักเรียนมัธยมคนนั้นที่ตั้งใจจะทำสิ่งต่าง ๆ แต่แล้วก็ลืมไปหมด

    หรือเราเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่ตกลงบนดินดี คือ เหมือนกับ จอห์น สต๊อท ผู้ถวายชีวิตแด่พระเยซูเจ้า จากนั้นก็เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาเพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของเขา

    นี่คือคำถามที่พระเยซูเจ้าทรงถามประชาชนยุคเดียวกับพระองค์ และยังเป็นคำถามที่พระองค์ทรงถามเราแต่ละคนในยุคของเรา และเมื่อเราตอบคำถามนั้นแล้ว พระเยซูเจ้าทรงคาดหมายให้เราทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อตอบสนอง

    เราจะสรุปบทรำพึงของเราด้วยบทภาวนาที่เราใช้สวดก่อนเริ่มพิธีบูชาขอบพระคุณ

    ข้าแต่พระบิดา ขอให้แสงสว่างแห่งความจริงของพระองค์
    นำทางเราไปสู่พระอาณาจักรของพระองค์
    ผ่านโลกที่เต็มไปด้วยแสงที่ตรงกันข้ามกับแสงสว่างของเรา
    คริสตชนคือชื่อ และข่าวดีที่เราชื่นชม
    ขอให้ความรักของพระองค์ช่วยให้เราเป็นได้อย่างที่พระองค์ทรงเรียกให้เราเป็นด้วยเทอญ

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 13:1-23

    ในวันอาทิตย์ในสามสัปดาห์ต่อจากนี้ เราจะอ่านอุปมาเจ็ดเรื่อง ที่มัทธิวนำมารวมไว้ใน “คำปราศรัย” สำคัญครั้งที่สามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงมาถึงจุดพลิกผันในการปฏิบัติภารกิจของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงพบกับการต่อต้านอย่างเปิดเผยจากผู้นำศาสนา ซึ่งตัดสินใจแล้วว่าจะกำจัดพระองค์ ... ในขณะที่ฝูงชน ซึ่งมีความกระตือรือร้นมาตั้งแต่ต้น บัดนี้ รู้สึกผิดหวังกับพระเมสสิยาห์ ที่ไม่ยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง...

วันเดียวกันนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากบ้านมาประทับที่ริมทะเลสาบ ประชาชนจำนวนมากมาเฝ้าพระองค์ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ในเรือ ส่วนประชาชนยืนอยู่บนฝั่ง พระองค์ตรัสสอนเขาหลายเรื่องเป็นอุปมา

    คำว่าอุปมา (parables) แปลมาจากคำว่า mashal ในภาษาฮีบรู ซึ่งหมายถึง “คำบอกเล่าเชิงสัญลักษณ์ที่มีจุดมุ่งหมายให้ค้นพบความจริงที่ซ่อนอยู่” ... โลกที่เป็นสิ่งสร้างนี้ เต็มไปด้วยเครื่องหมาย ด้วยการสังเกตความเป็นจริงอันต่ำต้อยที่สุดของชีวิตประจำวัน พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นความเป็นจริงของพระเจ้า...

    เช่น งานของชาวนาทำให้พระองค์ระลึกถึงสิ่งอื่น ๆ...
“ชายคนหนึ่งออกไปหว่านเมล็ดพืช ขณะที่เขากำลังหว่านอยู่นั้น บางเมล็ดตกอยู่ริมทางเดิน นกก็จิกกินจนหมด บางเมล็ดตกบนพื้นหินที่มีดินเล็กน้อย ก็งอกขึ้นทันทีเพราะดินไม่ลึก แต่เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ก็ถูกเผาและเหี่ยวแห้งไปเพราะไม่มีราก บางเมล็ดตกในพงหนาม ต้นหนามก็ขึ้นคลุมไว้ ทำให้เหี่ยวเฉาตายไป”

    เมล็ดพืชที่น่าสงสาร ... ผู้หว่านที่น่าสงสาร! ... ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดนี้ ผู้หว่านทำงานเหนื่อยเปล่า ... ทำไมพระเยซูเจ้าจึงบรรยายถึงความล้มเหลวเหล่านี้...

    เมื่อเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในชีวิตของเรา บ่อยครั้งเราเองก็รู้สึกว่าเราล้มเหลวไม่เป็นท่า ... ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น หรือหลังจากเริ่มประสบความสำเร็จ หรือหลังจากได้รับความสำเร็จมายาวนาน ... พระเยซูเจ้าทรงมองเห็นความล้มเหลวทั้งหมดนี้ ขณะที่ทรงบอกเล่าอุปมานี้ พระองค์คงกำลังคิดถึงความล้มเหลวในการประกาศพระวรสารของพระองค์ ... แต่พระองค์ทรงเผชิญหน้ากับความล้มเหลวเหล่านั้น และทรงนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด

    แต่พระองค์ทรงมีจุดมุ่งหมายอะไร ... ผู้หว่านเสียเวลาไปเปล่า ๆ หรือ ... เขาทำงานโดยไม่บังเกิดผลเลยหรือ ...

“บางเมล็ดตกในที่ดินดี จึงเกิดผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง ใครมีหู ก็จงฟังเถิด”

    แท้จริงแล้ว พระเยซูเจ้าทรงกำลังสอนบทเรียนเรื่องความหวังแก่เรา เมื่อท่านมองดูความยากไร้ในชีวิตของท่าน เมื่อท่านมองดูพระศาสนจักร หรือโลก จงอย่ามองแต่ในแง่ร้าย อย่าท้อถอย ไม่ว่าจะล้มเหลวกี่ครั้งกี่หน จงอย่าเลิกหว่านเมล็ดพันธุ์ ... ท่านผู้เป็นบิดามารดาผู้พบกับอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ มากมายในโครงการของท่าน ขอให้ฟังพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่สะท้อนความเป็นจริง แต่ควรมองโลกในแง่ดี พระองค์ตรัสเช่นนี้เมื่อสองพันปีก่อน แต่ข้อความเหล่านี้ยังสดใหม่ และเป็นจริงไม่เปลี่ยนแปลง ... โลกปัจจุบันจำเป็นต้องได้ยินสารนี้เป็นอย่างยิ่ง...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้หว่านเมล็ดพันธุ์ ... ไม่ว่าผลที่เก็บเกี่ยวได้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ... แม้ว่าดูเหมือนผลเก็บเกี่ยวจะไม่ดีเลยก็ตาม...

บรรดาศิษย์เข้ามาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมพระองค์ตรัสแก่พวกเขาเป็นอุปมาเล่า” พระองค์ทรงตอบว่า “พระเจ้าประทานธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์ให้ท่านทั้งหลายรู้ แต่ไม่ได้ประทานให้แก่ผู้อื่น เพราะผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้นจนเหลือเฟือ ส่วนผู้ที่มีน้อยจะถูกริบสิ่งเล็กน้อยที่มีไปด้วย เพราะฉะนั้น เรากล่าวแก่คนเหล่านี้เป็นอุปมา ถึงพวกเขามองดู ก็ไม่เห็น ถึงฟัง ก็ไม่ได้ยินและไม่เข้าใจ”

    เราไม่จำเป็นต้องอธิบายข้อความที่เข้าใจยากนี้ แต่ก็รู้ได้ว่าข้อสังเกตของพระเยซูเจ้าทันสมัยจริง ๆ ... เคยมียุคสมัยหนึ่งที่ทุกคนมีความเชื่อ เมื่อเด็กหรือเยาวชนจำนวนมากดูเหมือนว่ายึดมั่นในความเชื่อที่เขาได้รับการสั่งสอน ... แต่ปัจจุบัน เราเห็นสถานการณ์อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยายในที่นี้...

    พระเยซูเจ้าทรงแยกผู้ฟังออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่มองดู ฟัง และเข้าใจ และประเภทที่ไม่มองดู และไม่ฟัง พระเยซูเจ้าไม่ได้เทศน์สอนอย่างคลุมเครือ พระองค์ไม่ได้ตรัสเป็นอุปมาเพื่อซ่อนความจริงจากบางคน อันที่จริง พระเยซูเจ้าไม่สามารถตรัสถึงพระเจ้าได้ด้วยวิธีอื่น นอกจากตรัสเป็นอุปมา คำเทศน์สอนของพระองค์เปิดเผย “ธรรมล้ำลึก” ซึ่งเกินความเข้าใจของมนุษย์ และบางส่วนยังคง “ซ่อนเร้น”...

    ส่วนที่ “ไม่มีหลักฐานยืนยัน” นั้นเองที่ท้าทายเสรีภาพของมนุษย์ว่าเขาจะยอมรับหรือไม่ เพราะเมื่อเราได้เห็นหลักฐานแล้ว เราก็ไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกว่าจะยอมรับหรือไม่อีกต่อไป ไม่ว่าธรรมล้ำลึกของพระอาณาจักรของพระเจ้าจะมั่งคั่งบริบูรณ์อย่างไร แต่ก็ไม่บีบบังคับให้ใครยอมรับ ... นี่คือความลับที่เปิดเผยให้แก่ผู้ที่สมัครใจ และพร้อมจะรับฟังเท่านั้น...

    อุปมาไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ทันทีที่ได้ยิน ... เราต้องค้นหา เราต้องปรารถนา...

“สำหรับคนเหล่านี้ คำทำนายของประกาศกอิสยาห์ก็เป็นความจริงที่ว่า ท่านทั้งหลายจะฟังแล้วฟังเล่า แต่จะไม่เข้าใจ จะมองแล้วมองเล่า แต่จะไม่เห็น เพราะจิตใจของประชาชนนี้แข็งกระด้าง เขาทำหูทวนลม และปิดตาเสีย เพื่อไม่ต้องมองด้วยตา ไม่ต้องฟังด้วยหู จะได้ไม่เข้าใจ จะได้ไม่ต้องกลับใจ เราจะได้ไม่ต้องรักษาเขา”

    เราพอจะเดาได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทุกข์เพียงใดกับการปฏิเสธเหล่านี้ ... พระองค์เสด็จมาเพื่อนำแสงสว่างมาให้มนุษย์ มาเปิดตาของเขา ... มารักษาความมืดบอดของเขา แต่พระองค์ไม่สามารถบีบบังคับให้มนุษย์ยอมรับสารของพระองค์ ... และพระองค์ก็ไม่ทรงต้องการทำเช่นนั้น ... พระองค์ทรงเคารพเสรีภาพของเรา...

“ส่วนท่านทั้งหลาย ตาของท่านเป็นสุขที่มองเห็น หูของท่านเป็นสุขที่ได้ฟัง ... เพราะฉะนั้น จงฟังความหมายของอุปมาเรื่องผู้หว่านเถิด”

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องการฟัง ... โปรดประทานหูที่พร้อมจะฟัง ... และหัวใจใหม่แก่ข้าพเจ้าเถิด!

เมื่อคนหนึ่งฟังพระวาจาเรื่องพระอาณาจักรและไม่เข้าใจ มารร้ายก็มาและถอนสิ่งที่หว่านลงในใจของเขาไปเสีย นั่นได้แก่เมล็ดที่ตกริมทาง

    เมื่อทรงอธิบายอุปมา พระเยซูเจ้าไม่ทรงเน้นที่พลังของเมล็ดพืช หรือความหวังที่ไม่ยอมแพ้ของผู้หว่าน (แม้ว่าทั้งสองสิ่งนี้มีพลังจริง ดังที่เราสังเกตเห็นมาแล้ว) ... แต่ทรงเน้นที่ดินประเภทต่าง ๆ นั่นคือทัศนคติของผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้า ... ในมนุษย์กลุ่มแรก ความเชื่อไม่สามารถแม้แต่จะเกาะติดหัวใจของเขา ... ความเชื่อเข้าไม่ถึงหัวใจ ... เมล็ดพืชไม่มีโอกาสแม้แต่จะเริ่มงอก เพราะนกมาจิกไปจากพื้นดิน...

    นอกจากภาพลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมนี้ พระเยซูเจ้ายังทรงกระตุ้นให้เราเห็นความเป็นจริงระดับลึกมาก กล่าวคือมนุษย์ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้านั้นมีศัตรู คือศัตรูตัวฉกาจที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกว่า “มารร้าย” ... เราลืมความจริงข้อนี้ไปแล้วหรือ เบื้องหลังมนุษย์ที่ไม่สามารถเข้าถึงความเชื่ออย่างสมบูรณ์ได้ มีเหวลึกอันเร้นลับ ซึ่ง (เหมือนกับความเชื่อ) ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ นี่คือพลังที่ซ่อนอยู่ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เป็นอิสระจากมารร้ายด้วยเทอญ!

“เมล็ดที่ตกบนหิน คือ ผู้ฟังพระวาจาและมีความยินดีรับไว้ทันที แต่เขาไม่มีรากในตัว จึงไม่มั่นคง เมื่อเผชิญความยากลำบากหรือถูกเบียดเบียนเพราะพระวาจานั้น เขาก็ยอมแพ้ทันที”

    หลังจากคนประเภทที่ไม่ได้เริ่มแม้แต่จะเชื่อ พระเยซูเจ้าตรัสถึงผู้มีความเชื่อที่ยอมแพ้ ... ดังที่ลูกาบอกไว้อย่างชัดเจนในเรื่องเดียวกัน (ลก 8:13)...

    ไม่มีราก ... มนุษย์ที่เชื่อในพระเยซูเจ้าอย่างกระตือรือร้นเมื่อชีวิตราบรื่น ... แต่เมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก ... การทดลอง ความเจ็บปวดทรมาน การเบียดเบียน ... การปฏิเสธก็เข้ามาแทนที่ความกระตือรือร้น ... อนิจจา เรารู้ดีว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยให้รากของเราหยั่งลึกในพระองค์ด้วยเทอญ...

“เมล็ดที่ตกในพงหนาม หมายถึงบุคคลที่ฟังพระวาจา แต่ความวุ่นวายในทางโลก ความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ เข้ามาบดบังพระวาจาไว้ จึงไม่เกิดผล”

    คนเหล่านี้หมายถึง “ผู้มีความเชื่อที่ความเชื่อของเขายังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์” เพราะจิตของโลก และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยผู้ไม่มีความเชื่อรอบตัวเขา จับตัวเขาไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง ... พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า ความเชื่อต้องการเวลาเพื่อจะเจริญเติบโต อีกทั้งต้องต่อสู้ และเอาชนะอุปสรรคนานัปการ พระเยซูเจ้าทรงเตือนศิษย์ของพระองค์บ่อยครั้งมิให้มีใจผูกพันกับสิ่งฝ่ายโลก (ลก 9:57-62, 14:28-33, 16:19-31, ยน 15:19, 12:6)...

    ความเชื่อที่ถูกบีบรัดจนตาย! ... ความเชื่อลดลงเพราะขาดอากาศหายใจ และวันหนึ่งก็ตายสนิท ... เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตกลายเป็นสิ่งสำคัญกว่า “คุณต้องเข้าใจ ฉันจะไปฟังพระวาจาของพระเจ้าในวันอาทิตย์ได้อย่างไร เมื่อฉันมีเกมฟุตบอล หรือรายการโทรทัศน์ที่ฉันชอบ และฉันก็เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดสัปดาห์ ... ฉันต้องพักผ่อนระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์บ้างไม่ใช่หรือ” ... ผลลัพธ์ก็คือ สิ่งที่จำเป็นถูกผลักไสไปอยู่ในลำดับสุดท้าย...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงปลดปล่อยเราให้หลุดพ้นจากความเย้ายวนของโลก และทรัพย์สินเถิด...

“ส่วนเมล็ดที่หว่านลงในดินดีหมายถึงบุคคลที่ฟังพระวาจาและเข้าใจ จึงเกิดผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง”

    การเกิดผลหมายถึงชีวิตที่บรรลุถึงความสมบูรณ์ และบังเกิดผล ... นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงปรารถนาให้เกิดขึ้นกับเรา (มธ 3:10, 7:17-19, 12:13, 13:23-26, 21:43)...

    สำหรับพระเยซูเจ้า เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับชีวิตที่บังเกิดผล คือ “พระวาจาของพระเจ้าที่เรารับฟังเป็นเวลานาน และเข้าใจอย่างถูกต้อง” ... บทวิเคราะห์นี้บอกความจริงที่เราพบเห็นในปัจจุบันทั้งรอบตัวเรา และในตัวเรา กล่าวคือ ความเชื่อคือ “ชีวิต” ที่ถูกหว่านลง ซึ่งงอก เจริญเติบโต และออกผล ... เป็นชีวิตอันเปราะบางที่พัฒนาขึ้นท่ามกลางอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางไม่ให้ความเชื่อนี้เจริญงอกงาม...

    เราต้องเพิ่มพูนความเชื่อของตัวเราเอง ... แต่เราต้องเป็น “ผู้หว่านที่ดี” ด้วย และช่วยเตรียมพื้นดิน เพื่อให้หัวใจของพี่น้องชายหญิงของเรากลายเป็น “ดินดีที่เกิดผลร้อยเท่า” ... ความรอดพ้นของคนเหล่านี้คือเดิมพัน “ผู้ที่ได้ยินพระวาจา และปฏิบัติตามก็มีความสุข”...