แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา
เศคาริยาห์ 9:9-10; โรม 8:9, 11-13; มัทธิว 11:25-30

บทรำพึงที่ 1
เจ้าชาย และรูปปั้น
เราจะเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าได้ด้วยการเพ่งพินิจพระเยซูเจ้า

    ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าชายหนุ่มคนหนึ่ง เขาเป็นเจ้าชายรูปงามมาก แต่เขาหลังโกง ความพิการแต่กำเนิดนี้ทำให้เจ้าชายเศร้าใจมาก และทำให้เขาไม่สามารถทำหน้าที่ของเจ้าชายอย่างที่เขาต้องการทำเพื่อประชาชนของเขา

    วันหนึ่ง พระบิดาของเจ้าชายขอให้ช่างแกะสลักฝีมือดีที่สุดในอาณาจักรของพระองค์แกะสลักรูปปั้นของเจ้าชาย แต่ให้รูปปั้นนั้นหลังตรง พระราชาต้องการให้พระโอรสมองเห็นตนเองอย่างที่เขาสามารถเป็นได้

    เมื่อช่างแกะสลักทำงานสำเร็จ รูปปั้นนั้นงามสง่ามาก และดูราวกับมีชีวิต จนอาจสำคัญผิดว่าเป็นตัวเจ้าชายจริง ๆ พระราชาสั่งให้ตั้งรูปปั้นนี้ไว้ในสวนดอกไม้ส่วนตัวของเจ้าชาย

    แต่ละวันเมื่อเจ้าชายเข้าไปในสวนเพื่ออ่านหนังสือ เขาจะมองรูปปั้นด้วยความปรารถนาจะเป็นเหมือนรูปปั้นนั้น แล้ววันหนึ่งเขาก็สังเกตว่าทุกครั้งที่เขาทำเช่นนี้ หัวใจของเขาเต้นเร็วขึ้น และรู้สึกซ่าไปทั่วร่างกาย

    เวลาผ่านไปหลายเดือน ในไม่ช้าประชาชนก็เริ่มพูดกันว่า “หลังของเจ้าชายดูเหมือนไม่โกงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว” เมื่อเจ้าชายได้ยินเช่นนี้ หัวใจของเขาเต้นแรงขึ้น และความรู้สึกซ่าก็แผ่ไปทั่วร่างกายของเขามากยิ่งขึ้นอีก

    บัดนี้ เจ้าชายเริ่มเข้าไปในสวนบ่อยขึ้น เขาใช้เวลายืนเบื้องหน้ารูปปั้นนานนับชั่วโมง เฝ้ามองรายละเอียด และเพ่งพินิจรูปปั้นนั้น แล้ววันหนึ่ง เหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้น เจ้าชายพบว่าหลังของเขาตรงเหมือนกับหลังของรูปปั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องอุปมาสำหรับท่านและข้าพเจ้า เราเองก็เกิดมาเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง และเราเองก็มีความพิการ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงอย่างที่เราควรเป็น

    แล้ววันหนึ่ง พระบิดาสวรรค์ก็ส่งพระเยซูเจ้า พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ลงมายังโลก พระเยซูเจ้าทรงเป็นภาพลักษณ์ของบุคคลที่สมบูรณ์เพียบพร้อมอย่างที่ท่านและข้าพเจ้าสมควรเป็น พระจิตของพระองค์ประทับยืนหลังตรง และงดงาม เมื่อเรามองพระเยซูเจ้า หัวใจของเราเต้นเร็วขึ้น ร่างกายของเรารู้สึกซาบซ่า และเราเริ่มต้นฝัน

    แต่เรื่องของเราไม่หยุดเพียงแค่นั้น เรื่องของเรายังไม่จบ ยังไม่สมบูรณ์ เราจะกลายเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าได้หรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่ยังไม่แน่นอน

    เรื่องของเราจะจบลงอย่างมีความสุขเหมือนเรื่องของเจ้าชายหรือไม่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุป
    นี่คือประเด็นที่ทำให้เราต้องถามตนเองว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อรับประกันว่าเรื่องของเราจะจบลงอย่างมีความสุข เหมือนเรื่องของเจ้าชายคนนี้ คำถามข้อนี้ตอบได้ง่าย เราต้องทำอย่างที่เจ้าชายคนนี้ทำ เจ้าชายเพ่งพินิจรูปปั้นอย่างไร เราก็ต้องเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าอย่างนั้น

    พระเยซูเจ้าตรัสในพระวรสารวันนี้ว่า “จงมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน”

    แต่เราจะไปยืนเบื้องหน้าพระเยซูเจ้า และเพ่งพินิจพระองค์เหมือนกับเจ้าชายไปยืนเพ่งพินิจรูปปั้นได้อย่างไร ... คำถามข้อนี้มีสองคำตอบ

    คำตอบแรก เราสามารถเริ่มทำสิ่งที่คริสตชนที่จริงจังจำนวนมากกำลังทำอยู่ในวันนี้ เราสามารถเริ่มอ่านพระคัมภีร์ และสวดภาวนา และทำให้เป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิตแต่ละวันของเรา ราล์ฟ มาร์ติน ฆราวาสคาทอลิกคนหนึ่ง เขียนว่า “ผมรู้จักนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง เขาลุกขึ้นแต่เช้าตรู่เพื่อสวดภาวนา วิศวกรอากาศยานคนหนึ่งสวดภาวนาและอ่านพระคัมภีร์ระหว่างพักกลางวัน และผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทคอมพิวเตอร์คนหนึ่งสวดภาวนาหลังจากลูก ๆ ของเขาเข้านอนแล้ว”

    ดังนั้น สิ่งแรกที่เราทำได้ก็คือทำตามอย่างคนที่จริงจังจำนวนมากกำลังทำ เราสามารถเริ่มอ่านพระคัมภีร์ และสวดภาวนา และทำให้เป็นกิจกรรมสำคัญของชีวิตเรา

    คำตอบที่สอง คือ เราสามารถเริ่มฟังบทอ่านพระวรสารระหว่างพิธีมิสซาอย่างตั้งใจมากขึ้น เราสามารถเริ่มฟังมิใช่ด้วยหูฝ่ายกาย แต่ด้วยหูของสติปัญญา หูของหัวใจ และหูของวิญญาณ

    การฟังด้วยหูของสติปัญญาไม่ได้หมายความเพียงแต่ฟังว่าพระเยซูเจ้ากำลังตรัสว่า “จงมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน” แต่เราต้องนึกถึงภาพว่าพระเยซูเจ้ากำลังตรัสข้อความนี้ หมายความว่าเราต้องมองเข้าไปในพระเนตรของพระองค์ และสังเกตสีหน้าของพระองค์ หมายความว่าเราต้องวาดภาพเหตุการณ์ในพระวรสารนี้ในใจของเรา หมายความว่าเราต้องทำให้เหตุการณ์นี้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

    การฟังด้วยหูของวิญญาณไม่ได้หมายความว่าเราเพียงแต่ฟังพระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงมาเป็นศิษย์ของเรา” ไม่ได้หมายความเพียงว่า เราได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสถ้อยคำเหล่านี้แก่กลุ่มผู้ฟังนิรนามในยุคพระคัมภีร์อันไกลโพ้น

    แต่หมายความว่าเราได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสถ้อยคำเหล่านี้แก่เราแต่ละคนในยุคปัจจุบันของเรา หมายความว่าเราต้องตระหนักว่าเมื่อเราได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสในพระวรสาร พระองค์กำลังตรัสโดยตรงกับเรา หมายความว่าเรากำลังได้ยินพระองค์ตรัสว่า “มารีย์ ... หรือทิม ... จงมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน”

    การฟังด้วยหูของหัวใจ ไม่ได้หมายความเพียงว่าเราได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงมาเป็นศิษย์ของเรา”

    แต่หมายความว่า ให้เรายอมให้พระวาจานี้ซึมซาบเข้าสู่หัวใจ หมายความว่าเราต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง

    เมื่อหลายปีก่อน ชายคนหนึ่งขับรถยนต์ผ่านมาและหยุดพักที่บ้านไร่แห่งหนึ่ง หญิงชราคนหนึ่งอยู่ที่เฉลียงหน้าบ้าน ชายชราคนหนึ่งกำลังทำงานอยู่รอบ ๆ ตัวบ้าน เขาผิวปากตลอดเวลาแบบไม่เป็นเพลง ชายคนนั้นถามว่าทำไมต้องผิวปากตลอดเวลาอย่างนั้น

    ชายชราตอบว่า “ผมผิวปากให้ภรรยาของผมได้ยิน เธอตาบอดเมื่อสองสามปีก่อน มันทำให้เธอหวาดกลัว และรู้สึกเหงามาก เมื่อเธอได้ยินเสียงผิวปากของผม เธอจะรู้ว่าผมคอยดูแลเธออยู่ใกล้ ๆ”

    นี่คือตัวอย่างของการฟังด้วยหัวใจ เป็นการซึมซาบคำสั่งสอนของพระวรสารไว้ในหัวใจ เป็นการกระทำบางสิ่งบางอย่างตามคำสั่งสอนนี้

    เราขอย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้น ถ้าเราต้องการให้ชีวิตของเราจบลงอย่างมีความสุข ถ้าเราต้องการเปลี่ยนตนเองให้เหมือนพระคริสตเจ้ามากขึ้น ... เหมือนกับเจ้าชายเปลี่ยนตนเองจนเขาเหมือนกับรูปปั้น ... เราก็ต้องทำอย่างที่เจ้าชายนั้นทำ เราต้องเริ่มต้นเพ่งพินิจพระเยซูเจ้า เหมือนกับที่เจ้าชายเพ่งพินิจรูปปั้น ... มิใช่ด้วยตาและหูฝ่ายกาย แต่ด้วยตาและหูของสติปัญญา ของวิญญาณ และของหัวใจ

    และถ้าเราทำเช่นนี้ วันหนึ่ง เราก็จะเปลี่ยนตนเองให้เหมือนกับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงมีใจสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน เมื่อนั้น เรื่องของเราก็จะเหมือนกับเรื่องของเจ้าชาย และจะจบลงอย่างมีความสุข

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 11:25-30

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า...

    บ่อยครั้งที่หนังสือบทอ่านในมิสซาจะเริ่มต้นบทอ่านด้วยคำว่า “เวลานั้น” เพียงเพื่อเกริ่นนำ แต่ในกรณีนี้ ข้อความนี้ปรากฏในบทพระวรสารต้นฉบับของมัทธิวด้วย ... ข้อความนี้มีความหมายอย่างไรในกรณีนี้ และบทอ่านนี้สอดแทรกอยู่ในบริบทใด...

    “เวลานั้น” มีนัยสำคัญ ... พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในบรรยากาศที่ตึงเครียด ท่ามกลางความล้มเหลว ในบทที่ 11 มัทธิว เพิ่งจะเล่าถึงความคลางแคลงใจของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ที่กำลังถูกจองจำในคุก “ท่านคือผู้ที่จะมา หรือเราต้องรอคอยใครอีก” หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าคนร่วมสมัยของพระองค์ไม่ยอมรับทั้งยอห์น ผู้ดำเนินชีวิตอย่างสมถะ และทั้งพระองค์ผู้กินและดื่มกับมิตรสหาย (มธ 11:16-19) ... จากนั้น พระเยซูเจ้าทรงประณามเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส ที่ไม่ยินดีต้อนรับคำสั่งสอน และเครื่องหมายอัศจรรย์ของพระองค์

    คนที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนใหญ่จะจมอยู่กับความผิดหวังและท้อแท้ แต่พระเยซูเจ้ามิได้เป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงขับร้องสรรเสริญพระเจ้าด้วยความยินดี ... เคล็ดลับของพระองค์คืออะไร...

“ข้าแต่พระบิดา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน”...

    ภายในไม่กี่บรรทัด เราได้ยินพระเยซูเจ้าทรงเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ถึงห้าครั้ง...

    เราคุ้นเคยกับคำนี้จนไม่ตระหนักว่าพระองค์กำลังทำการปฏิวัติทางศาสนาด้วยคำพูดเช่นนี้ ... ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ได้พินิจพิเคราะห์พระคัมภีร์ตลอดเล่ม รวมทั้งวรรณกรรมของชาวยิวที่เขียนขึ้นก่อนยุคสมัยของพระเยซูเจ้า และพบว่าไม่เคยมีใครเรียกพระเจ้าโดยตรงว่า “พระบิดา” มาก่อนเลย ... ไม่มีเพลงสดุดีแม้แต่บทเดียวที่กล้าเรียกพระเจ้าด้วยคำพูดที่สนิทสนมและคุ้นเคยเช่นนี้ ... แม้แต่ชาวยิวในปัจจุบันก็ยังไม่กล้าเอ่ยพระนาม “ที่ไม่อาจเปล่งออกมาได้” ของพระเจ้า และหันไปใช้วลีต่าง ๆ ที่อ้อมค้อม เช่น  “พระผู้ดำรงอยู่เป็นนิรันดร์”...

    เรามั่นใจได้ว่าบรรดาอัครสาวกซึ่งเป็นชาวยิว ย่อมไม่สามารถคิดประดิษฐ์ชื่อที่เขาจะใช้เรียกพระเจ้าเช่นนี้  เว้นแต่ว่าเขาได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าขณะที่พระองค์ภาวนา ... ดังนั้น บัดนี้เราจึงเรียกพระเจ้าด้วยคำที่สนิทสนมเช่นนี้ ซึ่งมาจากภาษาอาราเมอิกว่า “อับบา” เป็นคำที่เด็กเล็ก ๆ ใช้เรียกบิดาของเขา และอาจแปลได้ว่า “พ่อจ๋า (daddy)”

    ข้าแต่พระบิดา ...พ่อจ๋า ... เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน...

    การนำคุณสมบัติสองด้านนี้ของพระเจ้ามารวมกันทำให้เกิดผลที่สะดุดใจ เรากำลังพูดถึงพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ พระผู้สร้างเอกภพ ... แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระเจ้าว่า “อับบา” ... “พระบิดา” ซึ่งเทียบได้กับ “พ่อจ๋า” ในยุคของเรา

    พระเจ้าข้า โปรดให้เรามีทัศนคติทั้งสองนี้เมื่อเราภาวนา คือ ความซื่อที่เกิดจากความรัก และการนมัสการด้วยใจจริงด้วยเทอญ...

“ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์”...

    คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้ คือ exomologeisthai แปลว่า สารภาพ หรือประกาศยืนยันความเชื่อ หรือเฉลิมฉลอง หรือสรรเสริญ หรือขอบพระคุณ...

    ถูกแล้ว แม้ว่าการเทศน์สอนของพระองค์ล้มเหลว แต่ในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าก็ยังเปี่ยมล้นด้วยคำภาวนาสรรเสริญพระเจ้า ... ซึ่งเป็น “บูชาขอบพระคุณ” อย่างหนึ่ง...

    เราอาจสะดุดใจที่คำภาวนาของพระเยซูเจ้าคล้ายคลึงกับบทสรรเสริญของพระมารดาของพระองค์ “วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า” ... คำภาวนาทั้งสองบทนี้ประกอบด้วยข้อความต่าง ๆ ที่ยกมาจากพระคัมภีร์ (สภษ 8:9, บสร 51:1-30, ปชญ 6:9, ดนล 7:13-14) ... และทั้งสองบทนี้ขับร้องแสดงความชื่นชมยินดีของคนยากจน ผู้ที่พระเจ้าทรงรักมากเป็นพิเศษ...

“... ที่ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้มีปรีชา และรอบรู้ แต่ทรงเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย”

    พระเยซูเจ้าทรงใช้ชีวิตของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นบทภาวนาของพระองค์ ... ความล้มเหลวของพระองค์ ที่บรรดาธรรมาจารย์ไม่ยอมฟังพระองค์ และการต้อนรับจากคนต่ำต้อย และยากจนกลายเป็นโอกาสให้พระองค์อธิษฐานภาวนา...

    สำหรับข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้าใช้ชีวิตของข้าพเจ้า และความวิตกกังวลของข้าพเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นของคำภาวนาของข้าพเจ้าหรือเปล่า ... บางครั้ง ข้าพเจ้ากล้าหรือไม่ที่จะมองหาเหตุผลที่จะ “ขับร้องสรรเสริญพระเจ้า” แม้ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก...

    เมื่อเราอ่านบทภาวนาของพระเยซูเจ้า เราอาจตกใจกับความคิดที่ว่า พระเจ้าทรง “ปิดบัง” บางสิ่งบางอย่างจากบางคน เพื่อจะ “เปิดเผย” ให้แก่บางคน เราพบวลีนี้ได้ทั่วไปในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ซึ่งดูเหมือนมองข้ามเสรีภาพของมนุษย์ ... เช่น พระเจ้า “ทรงบันดาลให้พระเจ้าฟาโรห์มีพระทัยดื้อดึง” (อพย 9:12) ... ประโยคนี้หมายความว่า “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ขึ้นอยู่กับพระเจ้า แต่ก็เป็นความจริงอีกด้วยว่า มนุษย์ และมิใช่พระเจ้า เป็นฝ่ายรับผิดชอบการปฏิเสธของเขา ดังนั้น เราจึงพบข้อความที่ดูเหมือนตรงกันข้ามว่า “พระเจ้าฟาโรห์ทรงมีพระทัยดื้อดึงขึ้นอีก” (อพย 8:11)...

    เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเจ้าไม่สามารถขอบพระคุณพระบิดาของพระองค์ที่การเทศน์สอนของพระองค์ล้มเหลว ... แต่พระองค์ก็ไม่บอกว่าพระเจ้าทรงต้องรับผิดชอบความล้มเหลวนั้น ... แต่ในประโยคที่เขียนตามรูปแบบวรรณกรรมเซมิติก ซึ่งบัดนี้ล้าสมัยแล้ว พระเยซูเจ้าทรงขอบพระคุณพระเจ้าที่ฝูงชนที่ไร้การศึกษายินดีต้อนรับพระองค์ ในขณะที่บ่อยครั้ง ผู้มีความรู้กลับไม่ยินดียินร้าย เพราะพวกเขามั่นใจในตนเอง...

    เราต้องเข้าใจว่าข้อความนี้ไม่ใช่คำตำหนิสติปัญญาของมนุษย์ ... แต่พระเยซูเจ้าทรงตั้งข้อสังเกตว่าบ่อยครั้งสติปัญญานี้เองที่ทำให้คนจองหองตาบอด เพราะเขาเชื่อมั่นในความรู้ของตนเองมาก ... การคิดตามหลักเหตุผลของมนุษย์ช่วยให้มนุษย์รู้จักวัตถุต่าง ๆ ของโลกนี้ และสามารถรู้กฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุเหล่านั้น – แต่ความรู้ของมนุษย์จำกัดอยู่เพียงสิ่งของบนโลกนี้เท่านั้น และไม่สามารถยอมรับพระอาณาจักรของพระเจ้าด้วยความเข้าใจที่เกิดจากการคิดด้วยหลักเหตุผลได้ ... นักบุญเปาโลบอกว่าความเชื่อเป็น “ความบ้า” อย่างหนึ่ง “ข้าพเจ้ามิได้มาประกาศธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าโดยใช้สำนวนโวหาร หรือโดยใช้หลักเหตุผลอันฉลาดปราดเปรื่อง” (1 คร 2:1) ... “ผู้ที่จะพินาศนั้นเห็นว่าคำสอนเรื่องไม้กางเขนเป็นความโง่เขลา ... ความโง่เขลาของพระเจ้ายังฉลาดยิ่งกว่าปรีชาญาณของมนุษย์” (1 คร 1:18, 25)

... “ถูกแล้ว พระบิดาเจ้าข้า พระองค์พอพระทัยเช่นนั้น”

    เมื่อทรงเปรียบเทียบการยอมรับของคนยากจนและต่ำต้อย กับการไม่ยอมรับของผู้มีความรู้ พระเยซูเจ้าไม่ทรงวิเคราะห์ความโน้มเอียงของจิตใจหรือคุณธรรมของเขา แต่ทรงมองเห็นตั้งแต่ต้นว่าการยอมรับนี้เป็นเอกสิทธิของคนต่ำต้อย เป็นของประทานจาก “ความกรุณาของพระเจ้า” คนต่ำต้อยเหล่านี้ไม่ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ แต่เพราะความน่าเวทนาของเขา เขาจึงดึงดูด “ความกรุณา” ของพระบิดาได้มากเป็นพิเศษ...

    นี่คือมุมมองของพระเยซูเจ้าที่เราพบเห็นครั้งแล้วครั้งเล่า ... ท่านผู้เป็นคนบาป ... ท่านผู้ถูกปฏิเสธ ... ท่านผู้ถูกดูหมิ่น และกดขี่ ... พระบิดาของพระเยซูเจ้าทรงกำลังมองท่านอยู่ด้วยความรักเป็นพิเศษ...

“พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่ข้าพเจ้า ไม่มีใครรู้จักพระบุตร นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้”

    นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราได้เห็นความบังอาจของบุรุษที่ชื่อเยซู ชาวนาซาเร็ธผู้นี้ ... พระองค์กล้าอ้างว่ามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอย่างยิ่งกับพระเจ้า ทั้งที่พระองค์เป็นคนยากจนที่สุดในบรรดาคนยากจนทั้งหลาย ... พระองค์กล้าตรัสว่า “ไม่มีใคร” รู้จักพระองค์ ... ไม่มีใครนอกจากพระบิดาที่สามารถมองทะลุจนถึงตัวตนแท้จริงของพระเยซูเจ้า และในทำนองเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงยืนยันอย่างไม่สะทกสะท้านว่าพระองค์เท่านั้นรู้จักพระเจ้า...

    ในประโยคเหล่านี้ เราเห็นความคิดที่นักบุญยอห์นพัฒนาขึ้นว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้า นอกจากผู้ที่มาจากพระเจ้า” (ยน 14:6) ... เมื่อสภาสังคายนาในศตวรรษที่ 4 และ 5 นิยามว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเจ้าแท้ และมนุษย์แท้” ...เมื่อเขานิยามว่าในพระตรีเอกภาพ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ทรงเท่าเทียมกันนั้น เขาเพียงแต่ย้ำสิ่งที่พระวรสาร (คำสอนดั้งเดิมของคริสตศาสนา) ได้ระบุไว้แล้วด้วยข้อความที่ต่างกัน...

    ข้อความเช่นนี้ รวมถึงข้อความอื่น ๆ อีกมาก แสดงว่าคำสั่งสอนสมัยแรก ๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า บอกว่า “บุคคลนี้” เป็นบุคคลเดียวกันกับ “พระยาห์เวห์” ... ชาวยิวบอกว่าบุรุษที่ชื่อเยซูนี้กล่าวคำพูดที่สงวนไว้สำหรับพระเจ้าเท่านั้น คือ “ไม่มีใครรู้จักเรา นอกจากพระเจ้า ... และไม่มีใครรู้จักพระเจ้า นอกจากเรา” ... การที่ชาวยิวจะยกให้ชาวยิวคนหนึ่งเป็นพระเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่สุด ... ในพื้นที่อื่น ๆ ของอาณาจักรโรมัน ยังเป็นไปได้ที่จะมีมนุษย์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเจ้า แต่การทำเช่นนี้ในกลุ่มชาวยิวนั้น เป็นไปไม่ได้เลย เพราะชาวยิวนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวเท่านั้น คือพระเจ้าผู้ที่เขาไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยพระนาม ... การนำ “พระยาห์เวห์” ไปเกี่ยวข้องกับมนุษย์คนใดก็ตาม ชาวยิวถือว่าเป็นการทุราจาร ซึ่งต้องประณามอย่างรุนแรง ... ดังนั้น ก่อนที่ชาวยิวจะประกาศว่ามนุษย์คนหนึ่งเป็น “พระเจ้า” เขาต้องรู้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจโต้แย้งได้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า และได้ยินคำพูดที่ไม่ประนีประนอมจากพระองค์ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องยอมรับ...

    และอีกสองพันปีต่อมา เราจึงเพ่งพินิจด้วยใจซื่อ และการนมัสการอย่างลึกล้ำ ธรรมล้ำลึกอันน่าพิศวงนี้ กล่าวคือ บุรุษคนนี้ที่เราเห็นเขากินขนมปังและผลมะกอกเทศ ชาวชนบทผู้ต่ำต้อยจากนาซาเร็ธ ผู้จุดกองไฟบนฝั่งทะเลสาบ ผู้ที่เราเคยเห็นร้องไห้และหัวเราะ เคยเห็นเขาหิวและกระหายน้ำ เคยเห็นเขาโกรธและนอนกระสับกระส่ายในคืนที่ต้องนอนกลางแจ้ง ... เราได้ยินบุรุษคนเดียวกันนี้เรียกพระเจ้าในคำภาวนาว่า อับบา หรือพ่อจ๋า และเขาคนนี้ยืนยันราวกับเป็นเรื่องปกติว่า “ไม่มีใครรู้จักพระบิดา นอกจากพระบุตร และผู้ที่พระบุตรเปิดเผยให้รู้”...

    เปิดเผย ... เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระเจ้า ยกเว้นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่เรา...

    เปิดเผย ... หมายถึงการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากความรู้ที่ได้มาจากการคิดด้วยหลักเหตุผล เราไม่อาจรู้จักพระเจ้าได้ด้วยการอภิปรายอย่างผู้มีความรู้ ... พระองค์ทรงต้อนรับคนยากจนและคนอ่อนน้อมถ่อมตน ... “เราจะบอกความลับของเราแก่ท่าน ถ้าท่านรักเรา” ... เรื่องที่ปิดบังจากคนฉลาดและผู้มีความรู้ กลับถูกเปิดเผยแก่บรรดาผู้ต่ำต้อย ถ้วยที่เต็มแล้วย่อมไม่อาจเติมน้ำได้อีก...

    พระเจ้าทรงพบที่ว่างในหัวใจที่ไม่เต็มไปด้วยความคิดฝักใฝ่ทางโลก ... ผู้มีสติปัญญาต้องเจียมตน ก่อนที่พระเจ้าจะทรงเปิดเผยพระองค์แก่เขา...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้สมัครใจ และพร้อมจะรับฟังการเผยแสดงนี้เถิด...

“ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน จิตใจของท่านจะได้รับการพักผ่อน เพราะว่าแอกของเราอ่อนนุ่ม และภาระที่เราให้ท่านแบกก็เบา”

    พระเยซูเจ้าทรงรับรองว่า “แอกของพระองค์อ่อนนุ่ม และภาระของพระองค์ก็เบา” ... แต่เราก็รู้ว่าพระวรสารเต็มไปด้วยข้อเรียกร้องที่หนักเอาการ ไม่มีทางเลยที่จะลดข้อเรียกร้องเหล่านี้ ... แต่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่าทรงเปี่ยมด้วย “ความสุภาพอ่อนโยน และถ่อมตน” พระองค์ทรงเป็นความเมตตาของพระเจ้าที่จุติมาเป็นมนุษย์ ... พระองค์ตรัสเช่นนี้กับคนที่ไม่สามารถแบก “ภาระของธรรมบัญญัติ” ได้ ... กล่าวคือ คนยากจน และคนบาป ... พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อเสนอวิถีชีวิตใหม่...

    ประกาศกเคยประกาศแล้วว่าพระเจ้าจะไม่ทรงจารึกบทบัญญัติบนแผ่นศิลาอีกต่อไป – หมายถึงบนวัตถุ ... แต่พระองค์จะจารึกไว้ในหัวใจมนุษย์ นี่คือคำสัญญาของพันธสัญญาใหม่ (ยรม 32:31-34)...

    เราเห็นได้ว่าแนวความคิดนี้มีเอกภาพ ผู้ที่พระองค์ทรงต้องการช่วยเหลือคือ “ผู้ต่ำต้อย” เสมอ ... พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงเป็นพระบุตรของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ผู้เสด็จมาร่วมรับความทุกข์ทรมานกับคนยากจน เพื่อปลดปล่อยพวกเขา ... พระองค์ทรงเสนอจะแบ่งเบาภาระของเขา ... ข้าพเจ้าควรเพ่งพินิจภาพลักษณ์นี้ให้เนิ่นนาน ภาพของชายคนหนึ่งที่แบกภาระที่หนักเกินตัว ... เราจงหยุดสักพักหนึ่ง และยกภาระนั้นออกจากศีรษะ หรือบ่าของเขาเถิด ... นี่คือข้อเสนอของพระเยซูเจ้า “เราจะให้ท่านได้พักผ่อน”...