วันอาทิตย์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา
2 พงศ์กษัตริย์ 4:8-11, 14-16; โรม 6:3-4, 8-11; มัทธิว 10:37-42
บทรำพึงที่ 1
นักร้อง
ความเชื่อทำให้เรามีกำลังยกกางเขนของเราขึ้นแบกในแต่ละวัน และติดตามพระเยซูเจ้าไป
ในภาพยนตร์เรื่อง American Anthem (เพลงชาติอเมริกา) มีฉากเศร้าเกี่ยวกับตัวละครที่เป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง เขาไม่สามารถยอมรับความจริงว่าเขาได้สูญเสียขาข้างหนึ่งไปเนื่องจากอุบัติเหตุ เขาไม่ยอมออกจากห้อง และไม่ยอมให้ใครเข้ามาในห้อง รวมถึงหญิงสาวที่ครั้งหนึ่งเขาเคยรัก เขาปิดม่านและเปิดเพลงฟังท่ามกลางแสงสลัว
เราจะเปรียบเทียบฉากน่าเศร้านี้กับอีกฉากหนึ่งที่ โรเบิร์ต บรูซ พบเห็น
วันหนึ่ง ขณะที่บรูซเดินไปบนถนนในเมืองใหญ่ที่มีคนเดินพลุกพล่าน นอกจากเสียงการจราจร เสียงบีบแตร และเสียงพูด เขายังได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องเพลงอย่างร่าเริง และไพเราะ
มันไม่ใช่การขับร้องประเภทที่อึกทึก แต่เป็นเสียงร้องนุ่ม ๆ และสงบ เหมือนกับเขาร้องเพลงกล่อมตนเอง เมื่อบรูซ ตามหาจนพบที่มาของเสียง เขาไม่อยากเชื่อสายตาตนเอง เสียงขับร้องนั้นมาจากชายหนุ่มคนหนึ่งที่นั่งบนเก้าอี้เข็น เขากำลังเข็นตนเองไปข้างหน้าด้วยอวัยวะที่ยังใช้การได้ คือแขนทั้งสองข้าง
เหตุการณ์สองฉากนี้ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของพระวาจาของพระเยซูเจ้าในบทอ่านพระวรสารวันนี้ พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดไม่รับเอาไม้กางเขนของตนแบกตามเรา ผู้นั้นก็ไม่คู่ควรกับเรา”
ชายหนุ่มคนแรกไม่ยอมแบกกางเขนของตนและติดตามพระเยซูเจ้า เขาไม่ยอมรับสภาพที่ต้องดำเนินชีวิตต่อไปโดยใส่ขาเทียม และการไม่ยอมรับนั้นไม่เพียงทำให้ตัวเขาเองเศร้าใจ แต่ทำให้คนรอบข้างพากันเศร้าใจไปด้วย
ชายหนุ่มคนที่สองยอมแบกกางเขนของเขา เขายอมรับสภาพของเขาที่ต้องดำเนินชีวิต มิใช่โดยใช้ขาเทียม แต่โดยไม่มีขาเลย การยอมรับเช่นนั้นนำสันติสุขอย่างลึกล้ำมาให้เขา รวมถึงทุกคนรอบตัวเขาด้วย
เราทุกคนสามารถเข้าใจสถานการณ์ของชายหนุ่มสองคนนี้ได้ เราเองเคยพบกับอุปสรรค ความทุกข์ทรมาน หรือโศกนาฏกรรมในชีวิตของเรา เราเคยพบกับสถานการณ์อันเจ็บปวดที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เราเคยจำเป็นต้องเลือกอย่างยากลำบากว่าจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร
เราจะไม่ยอมแบกกางเขนของเราเหมือนชายหนุ่มคนแรก หรือเราจะยกกางเขนของเราขึ้นแบก และติดตามพระเยซูเจ้าเหมือนกับชายหนุ่มคนที่สอง
เรื่องทั้งสองนี้คงทำให้เราอยากถามตนเองว่า ทำไมบางคนจึงยกกางเขนของตนขึ้นแบกและติดตามพระเยซูเจ้า ในขณะที่บางคนทำเช่นนั้นไม่ได้
ทำไมบางคนจึงพบกับโชคร้ายและฟันฝ่ามาได้ และกลายเป็นคนดีกว่าและเก่งกว่าเดิม ในขณะที่บางคนพบกับโชคร้าย และกลายเป็นคนที่มีแต่ความขมขื่น
ทำไมสำหรับบางคน ปัญหาชีวิตจึงกลายเป็นสะพานที่นำไปสู่การเจริญเติบโตและวุฒิภาวะ ในขณะที่กลายเป็นอุปสรรคสำหรับบางคน
วิคเตอร์ แฟรงเคิล นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในยุคของเรา เคยตอบคำถามนี้ในหนังสือขายดีของเขาชื่อ Man’s Search for Meaning (การแสวงหาความหมายของมนุษย์)
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แฟรงเคิลเป็นเชลยของพวกนาซี เขาต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันโหดร้ายในค่ายกักกัน สภาพเช่นนั้นทำให้นักโทษบางคนกลายเป็นสัตว์ และบางคนกลายเป็นนักบุญ
เขาสัมผัสด้วยตนเองความชั่วร้ายที่ผลักดันนักโทษบางคนไปสู่ความสิ้นหวัง และความเกลียดชัง ในขณะที่ผลักดันบางคนไปสู่ความหวังและความรัก แฟรงเคิลบอกว่าปัจจัยที่สร้างความแตกต่างระหว่างนักโทษที่กลายเป็นสัตว์ และนักโทษที่กลายเป็นนักบุญก็คือความเชื่อ
นั่นคือความเชื่อว่าชีวิตของเขา – ดังนั้น จึงรวมทั้งความเจ็บปวดทรมานของเขา – มีความหมายสูงสุด ความเชื่อนี้นำเขาไปสัมผัสกับอำนาจที่ช่วยให้เขารักษาความเป็นมนุษย์ของเขาไว้ได้ แม้ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายผิดมนุษย์
เราจะย้อนกลับมาตรึกตรองคำถามแรกของเรา ทำไมบางคนในโลกปัจจุบันจึงยกกางเขนของตนขึ้นแบก และติดตามพระเยซูเจ้า ในขณะที่บางคนทำไม่ได้
อะไรทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งมีความกล้าหาญที่จะผลักเก้าอี้เข็นของเขาไปตามถนนในเมืองที่วุ่นวายพร้อมกับร้องเพลง ในขณะที่ชายหนุ่มอีกคนหนึ่งไม่มีความกล้าหาญที่จะเปิดม่าน และปล่อยให้แสงแดดส่องเข้ามาในห้องของเขา
คำตอบเหมือนกับคำตอบของแฟรงเคิล ในหนังสือของเขา คือ ความเชื่อ
สำหรับคริสตชน นี่คือความเชื่อว่า พระเยซูเจ้าทรงนำชีวิตใหม่มาประทานแก่โลกด้วยการยกกางเขนของพระองค์ขึ้นแบกฉันใด เราก็สามารถนำชีวิตใหม่มาสู่โลกด้วยการยกกางเขนของเราขึ้น และเดินแบกไปฉันนั้น
นี่คือความเชื่อในพระวาจาของพระเจ้าในจดหมายฉบับที่หนึ่งของนักบุญเปโตร ที่บอกเราว่า “จงชื่นชมที่ท่านมีส่วนร่วมรับทรมานกับพระคริสตเจ้า เพื่อท่านจะได้มีความชื่นชมและปลื้มปิติยิ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจน์” (1 ปต 4:13)
นี่คือความเชื่อในพระวาจาของพระเจ้าในจดหมายถึงชาวโรม ที่บอกเราว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า ความทุกข์ทรมานในปัจจุบันเปรียบไม่ได้เลยกับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะทรงบันดาลให้ปรากฏแก่เรา” (รม 8:18)
นี่คือความเชื่อในพระวาจาของพระเจ้าในจดหมายถึงชาวโครินธ์ ที่บอกเราว่า “สิ่งที่ตาไม่เคยเห็น และหูไม่เคยได้ยิน และจิตใจของมนุษย์คิดไม่ถึง คือสิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้สำหรับผู้ที่รักพระองค์” (1 คร 2:9)
นี่คือความเชื่อในพระวาจาของพระเจ้าที่ปรากฏในหนังสือวิวรณ์ ที่บอกเราว่า “พระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากนัยน์ตาของเรา จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป” (วว 21:4)
นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศแก่เรา นี่คือสารที่ เอลีเนอร์ รูสเวลท์ ภรรยาของประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลท์ เคยใส่ไว้ในกระเป๋าของเธอเสมอ
“ข้าแต่พระบิดาของเรา
ผู้ทรงบันดาลให้หัวใจของเรากระวนกระวาย
และทำให้เราแสวงหาสิ่งที่เราไม่มีทางพบได้อย่างสมบูรณ์
ทำให้เราทำงานที่ยากเกินไปสำหรับเรา
เพื่อให้เราเข้าพึ่งพระองค์เพื่อวอนขอพละกำลัง”
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 10:37-42
พระวรสารของนักบุญมัทธิว ประกอบด้วยคำปราศรัยครั้งสำคัญของพระเยซูเจ้าห้าครั้ง สลับกับส่วนที่เป็นเรื่องเล่า มัทธิวเป็นผู้เรียงลำดับคำบอกเล่าเองแน่นอน เพราะมาระโก และลูกา บอกเล่าเรื่องราวเดียวกัน แต่ในบริบทที่ต่างกัน
วันนี้เราอ่านช่วงท้ายของ “คำสั่งสอนสำหรับบรรดาอัครสาวก” ซึ่งเป็น “บทเทศน์” ที่สองในพระวรสารของมัทธิว ในคำปราศรัยนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนวิธีปฏิบัติตนให้แก่อัครสาวกสิบสองคนที่ทรงเลือกไว้ให้ปฏิบัติงานแทนพระองค์ ... เราเห็นประโยคที่มีลักษณะเป็นคำพูดที่หนักแน่นชัดเจน และอาจถึงกับขัดแย้งกันในตัว เหมือนกับสุภาษิต ... เมื่อได้ยินคำสั่งสอนเหล่านี้แล้ว เราไม่อาจลืมได้ลง...
“ผู้ที่รักบิดามารดามากกว่ารักเราก็ไม่คู่ควรกับเรา”
ในยุคของเราที่บิดามารดามักมีความคิดเห็นขัดแย้งกับบุตรอยู่แล้ว ถ้อยคำนี้ฟังดูเหมือนโหดร้าย และมีความเสี่ยงที่ผู้ฟังจะเข้าใจผิด ... เป็นไปได้หรือที่พระเยซูเจ้าจะแนะนำบุตรไม่ให้รักบิดามารดาของตน พระบัญญัติข้อที่สี่ของพระเจ้ายังเป็นคำบัญชาที่ศักดิ์สิทธิ์ “จงนับถือบิดามารดา” ... พระเยซูเจ้าเองก็ทรงแสดงแบบอย่างให้เราเห็นเมื่อทรงนบนอบต่อพระมารดาของพระองค์ (ลก 2:50, ยน 19:26-27) … พระองค์ยังทรงเตือนเราด้วยว่าการเลี้ยงดูบิดามารดาสำคัญกว่า “การถวายทรัพย์สินในพระวิหาร” (มธ 15:3-6)...
แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อความนี้หมายถึงอะไร...
พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าเราต้องเห็นพระองค์สำคัญกว่าบุคคลที่เรามีหน้าที่ต้องรัก ... การติดตามพระเยซูเจ้า การเป็นผู้มีความเชื่อ บางครั้งอาจกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านจากบุคคลที่เรารักมากที่สุด ในสถานการณ์เช่นนี้ พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราเข้มแข็งพอที่จะเลือกพระองค์ก่อน ... และเรารู้ดีว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงไรในปัจจุบัน ... พระวรสารเชิญชวนเราให้ตัดสินใจเลือกที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา เพราะการเลือกเช่นนี้เอง บ่อยครั้งพระเยซูเจ้าจึงทรงกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งแม้แต่ในครอบครัวที่มีความรักต่อกันโดยธรรมชาติ ... ข้อความที่มีอายุสองพันปีนี้ทำให้เราเห็นว่าความขัดแย้งเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างที่เราคิด...
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ แม้ว่าเราอาจทำลายความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว...
“ผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่าเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา”
ประโยคที่สองนี้เป็นประโยคคู่ขนานกับประโยคแรก เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของบุตรต่อบิดามารดาแล้ว พระวรสารก็กล่าวถึงความสัมพันธ์ของบิดามารดาต่อบุตร...
พระเยซูเจ้าทรงอ้างสิทธิที่จะเป็นที่หนึ่งในความรักของเรา ซึ่งเป็นคำอ้างสิทธิที่ไม่น่าจะยอมรับได้ และไม่อาจเข้าใจได้ เว้นแต่ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ... ในบรรดาศาสดาของศาสนาใหญ่ทั้งหลาย มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่กล้าพูดเช่นนี้ ผู้อื่นเพียงแต่กล่าวว่า “ท่านต้องรักพระเจ้า ข้าพเจ้าเพียงแต่พูดแทนพระองค์” ในศาสนาอื่น ๆ พระเจ้าทรงอยู่ในตำแหน่งสูงสุด เหนือทุกคนและทุกสิ่ง แต่ในที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงอ้างสิทธินี้เอง ขอให้สังเกตว่าพระองค์ทรงย้ำคำว่า “เรา” หลายครั้งหลายหน ... “ไม่คู่ควรกับเรา” ... “ไม่คู่ควรกับเรา” ... แล้วพระองค์เป็นใคร...
ทุกวันนี้ เรามักคิดว่าความรักต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน เราพูดโดยไม่ต้องคิดว่า เมื่อเรารักผู้อื่น เราก็รักพระเจ้า และนั่นคือความจริง! ถ้ามองในแง่นี้ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของเรากลายเป็นสิ่งจำเป็น และตรงตามพระประสงค์ของพระเจ้า แต่เราไม่ควรยกพระวรสารประจำวันนี้มาอ้างเป็นข้อแก้ตัวที่เราไม่รักผู้อื่น หรือที่เราไม่ช่วยเหลือผู้อื่นเพราะความเห็นแก่ตัว หรือเพราะเราต้องการหลบอยู่ในกระดองแห่งผลประโยชน์ส่วนตนของเรา...
การรักบิดามารดา ... รักบุตรชายหญิง ... อันที่จริงมีความหมายกว้างกว่าบุคคลในครอบครัว คือหมายความว่าเราต้องยอมรับรากทางพันธุกรรม วัฒนธรรม และสังคมของเรา เราทุกคนเป็นทั้งบุตรและบิดาในเวลาเดียวกัน เพราะเราต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และผู้อื่นต้องพึ่งพาอาศัยเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง...
แต่ไม่ว่าพันธะเหล่านี้สำคัญเพียงไร ก็ไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างไม่ให้เราติดตามพระเยซูเจ้า มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ... และคนที่ไม่ใช่หนุ่มสาวแล้ว ... อ้างว่าที่ตนเองไม่สามารถผูกมัดตนเองได้ ก็เพราะ “ทุกคน” รอบตัวเขาไม่ยอมให้เขาผูกมัดตนเองเช่นนั้น...
ผู้ที่รัก “สภาพแวดล้อม” ของเขามากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา...
ผู้ที่รักมิตรสหายของเขามากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา...
ผู้ที่รักสถานภาพของเขา อาชีพของเขา มากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา...
“ผู้ใดไม่รับเอาไม้กางเขนของตนแบกตามเรา ผู้นั้นก็ไม่คู่ควรกับเรา”
นี่คือขั้นที่สามของบันใดแห่งการสละ เราต้องสละ โดยเฉพาะสละตนเอง...
คำกล่าวถึงไม้กางเขนนี้ทำให้เราคิดว่า ถ้าพระเยซูเจ้าไม่ทรงดำเนินชีวิตเช่นนี้มาแล้วด้วยพระองค์เอง พระองค์คงไม่ขอให้เราดำเนินชีวิตเช่นนี้ ... กางเขนทุกอันที่เราแบก เป็นกางเขน “ในการติดตามพระเยซูเจ้า” ... ท่านที่กำลังทนทุกข์ทรมาน ... ท่านกำลังเดินตามไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า...
เราอาจรู้สึกว่าอยากลดความรุนแรงของประโยคนี้ แต่มัทธิวไม่ได้มองว่าไม้กางเขนเป็นภาพลักษณ์ของความศรัทธา หรือหมายถึงพลีกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ในยุคของเขา การตรึงกางเขนเป็นทารุณกรรมที่สงวนไว้สำหรับทาสเท่านั้น เป็นการทรมานที่โหดร้ายและน่าอับอายที่สุด ผู้ถูกประหารถูกทิ้งให้รองรับความโกรธของฝูงชน และให้เจ็บปวดทรมานภายใต้สายตาของฝูงชนที่มามุงดู พระเยซูเจ้าต้องเคยเห็นคนถูกตรึงกางเขนมาก่อนที่พระองค์เองจะถูกตรึง ในดินแดนปาเลสไตน์ภายใต้การปกครองของกรุงโรม การตรึงกางเขนเป็นวิธีประหารชีวิตที่ใช้กันบ่อย ๆ นักประวัติศาสตร์ยุคนั้นบรรยายว่า เมื่อกษัตริย์เฮโรดมหาราชสิ้นพระชนม์ นายพลกองทัพโรมันได้สั่งให้ตรึงกางเขนชาวยิวสองพันคนในคราวเดียว...
ไม้กางเขนไม่ใช่วัตถุสำหรับสักการบูชา หรืออัญมณีมีค่าแน่นอน...
“ผู้ที่หวงชีวิตของตนไว้ ก็จะสูญเสียชีวิตนั้น แต่ผู้ที่ยอมเสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เรา จะพบชีวิตนั้นอีก”
คำยืนยันนี้ก็ขัดแย้งกับคำอ้างของโลกสมัยใหม่อีกเช่นกัน คนในปัจจุบันพยายาม “สร้างเนื้อสร้างตัว” พยายาม “บรรลุศักยภาพของตน” ... แต่พระคริสตเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ “ยอมเสียชีวิต” ให้เรา “ติดตาม”...
แต่เมื่อเราใคร่ครวญต่อไป เราจะค้นพบว่าความคิดของพระเยซูเจ้าคือกฎพื้นฐานของชีวิตเรา เป็นประสบการณ์ในแต่ละวันของเรา มนุษย์ที่ไม่สามารถสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นได้ย่อมรักใครไม่เป็น ประสบการณ์ชีวิตในแต่ละวันทำให้เราค้นพบว่าเราต้อง “ยอมเสียชีวิตของเรา” เพื่อจะรักผู้อื่นได้อย่างแท้จริง ... ธรรมล้ำลึกปัสกาเป็นคำอธิบายความคิดที่ขัดแย้งกันในตัวนี้ พระเยซูเจ้าทรงเผยธรรมล้ำลึกข้อนี้แก่เราด้วยพระองค์เอง นั่นคือ ให้เรายอมเสียชีวิต เพื่อจะพบชีวิตนั้นอีก...
คำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าไม่ใช่คำสั่งสอนให้เราทำร้ายตนเอง หรือเป็นคำสั่งสอนที่น่าเศร้า หรือมีแต่ด้านลบ แต่เป็นคำสั่งสอนที่น่ายินดี สิ่งสำคัญคือเรา “พบ” และได้รับประโยชน์! พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้เราตายต่อตัวเอง เพื่อให้เรามีชีวิตอย่างแท้จริง “เรามาเพื่อให้แกะมีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน 10:10) ... ในทัศนคติเช่นนี้ เราจะไม่พบเห็นความเป็นวีรบุรุษหรือการทำลายตนเอง แต่เราจะเห็นความรัก ซึ่งเรียกร้องให้เรายอมสละตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อว่าเราจะพบกับความบริบูรณ์ขั้นสูงสุด
การสละตนเองไม่ทำลายมนุษย์ แต่จะสร้างชายหญิงที่พิเศษ เราเพียงต้องคิดถึง ชาร์ลส์ เดอ ฟูโกลด์ หรือคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา หรือมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และคนอื่น ๆ อีกมาก
พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าวิธีดีที่สุดที่จะทำให้ชีวิตยุ่งเหยิง ก็คือ การคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตนอย่างเห็นแก่ตัว หรือต้องการเพียงแต่จะยกระดับตนเอง...
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์ และประทานพระหรรษทานให้เราสามารถปฏิบัติตามคำสั่งสอนเหล่านั้นในชีวิตได้ ... นักบุญเปาโลกล่าวว่า อาศัยศีลล้างบาป “เราตายพร้อมกับพระคริสตเจ้าแล้ว เราก็จะมีชีวิตพร้อมกับพระองค์ด้วย” (รม 6:6-8) ... และพิธีบูชาขอบพระคุณทุกครั้งควรเตือนเราว่าพระเยซูเจ้าทรง “พลีชีวิตของพระองค์”...
“ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลาย ก็ต้อนรับเรา ผู้ที่ต้อนรับเรา ก็ต้อนรับพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา”
นี่คือประโยคแรกของบทสรุป “คำสั่งสอนสำหรับบรรดาอัครสาวก” เรายังอยู่ในแนวความคิดเดิม คือเรื่องของความรัก และเป็นความรักในรูปแบบที่เรียบง่าย กล่าวคือ การต้อนรับผู้อื่น...
“ผู้ที่ต้อนรับประกาศก เพราะเขาเป็นประกาศก จะได้รับบำเหน็จรางวัลของประกาศก ผู้ที่ต้อนรับผู้ชอบธรรม เพราะเขาเป็นผู้ชอบธรรม จะได้รับบำเหน็จรางวัลของผู้ชอบธรรม ผู้ใดที่ให้น้ำเย็นแม้เพียงหนึ่งแก้วแก่คนใดคนหนึ่งในบรรดาคนธรรมดา ๆ เหล่านี้ เพราะเขาเป็นศิษย์ของเรา เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้นั้นจะได้รับบำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน”
โลกร่วมสมัยเดียวกันนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเทศน์สอนให้มนุษย์พัฒนาตนเอง แม้ว่าด้วยการทำเช่นนั้น เราต้องดึงผู้อื่นให้ตกต่ำ (เช่น การทำแท้ง และในสถานการณ์อื่น ๆ อีกมาก) ยังบอกเราอีกว่า “นรกคือ ‘ผู้อื่น’ ”...
แต่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนให้เราแสดงความเอื้ออาทร เปิดใจ และต้อนรับ...
เราจะเจียดพื้นที่เล็ก ๆ บนโต๊ะอาหารของเราให้แก่คนแปลกหน้าได้หรือไม่ ... แขกที่เราต้อนรับในบ้านของเราคือการประทับอยู่ของพระเจ้า ... ข้าแต่พระองค์ ผู้ประทับอยู่ในตัวคนแปลกหน้า โปรดทรงบอกความลับของพระองค์แก่เราเถิด...
การต้อนรับที่แท้จริงคือการแสดงความรักด้วยรอยยิ้ม ... นี่คือของขวัญที่ทุกคนสามารถมอบให้ผู้อื่นได้เสมอ แม้ว่าเขาจะยากจน และไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาต้อนรับได้...
พระเยซูเจ้าตรัสถึงสมาชิกชุมชนสามประเภท คือ ประกาศก ผู้ชอบธรรม และคนธรรมดา! ... คนสองประเภทแรกได้รับการยกย่องอยู่แล้วในศาสนายิว แต่พระเยซูเจ้าทรงเพิ่มคนอีกประเภทหนึ่ง คือ คนต่ำต้อย “ศิษย์ธรรมดา ๆ” ... คนที่เรามักมองข้ามเพราะเราต้องให้ความสนใจกับ “คริสตชนพิเศษ” ผู้นำที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง คริสตชนที่อุทิศตนทำงานจริง ๆ..
ในโลกที่มักมองข้ามศักดิ์ศรีมนุษย์ และต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้มนุษย์ติดต่อสื่อสารกัน คำเชิญของพระเยซูเจ้าก็ยังเหมาะสม พวกผู้เชี่ยวชาญระบบต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญด้าน “พลวัตกลุ่ม” พวกคลั่งลัทธิ ... ทุกคนเหล่านี้ถูกส่งให้กลับไป “ให้น้ำเย็นหนึ่งแก้ว” แก่ผู้กระหาย ... น้ำเพียงแก้วเดียว ... ถูกแล้ว นี่คือสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่สุดระหว่างบุคคล...
พระวรสารไม่ได้เข้าใจง่ายอย่างเราคิดเมื่ออ่านครั้งแรก พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเราไม่ให้เพิกเฉย และไม่ใส่ใจผู้อื่น ...
ผู้อื่น ... คนที่ต่ำต้อยที่สุด ...