แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
เยเรมีย์ 20:10-13; โรม 5:12-15; มัทธิว 10:26-33

บทรำพึงที่ 1
ทอม บราวน์
เราสามารถยอมรับ และปฏิเสธพระเจ้าได้หลาย ๆ ทาง

    “วัยเรียนของทอม บราวน์” เป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงเรื่องหนึ่ง

    ทอม บราวน์ เป็นเด็กชายที่ทุกคนชอบ เขาเรียนในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ เขาอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ อีกสิบกว่าคนในหอของโรงเรียน สิ่งใดที่ทอมพูดหรือทำ จะมีผลอย่างยิ่งต่อคำพูดและการกระทำของเด็กอื่น ๆ ในโรงเรียน

    วันหนึ่งมีนักเรียนใหม่คนหนึ่งมาอยู่ที่โรงเรียน เมื่อถึงเวลาเข้านอน เด็กใหม่คุกเข่าลงข้างเตียงนอน และสวดภาวนาอย่างไร้เดียงสา

    เด็กสองสามคนเริ่มยิ้มเยาะ อีกสองสามคนหัวเราะออกมาดัง ๆ และล้อเลียน คนหนึ่งถึงกับขว้างรองเท้าข้างหนึ่งใส่เด็กที่กำลังคุกเข่านั้น

    คืนนั้น ทอมนอนไม่หลับ เขานอนคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กใหม่ เขาเริ่มคิดถึงคุณแม่ของเขา และบทภาวนาที่คุณแม่สอนให้เขาสวดก่อนเข้านอนทุกคืน เขาไม่เคยสวดบทภาวนาเหล่านั้นเลยตั้งแต่เข้ามาอยู่ในโรงเรียน

    คืนต่อมา เด็กหลายคนในหอรอเวลาที่จะล้อเลียนเด็กใหม่คนนั้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลานอนก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เมื่อเด็กใหม่คุกเข่าลงสวดภาวนาก่อนนอน ทอมก็คุกเข่าด้วย เมื่อเด็กคนอื่น ๆ ในหอเห็นทอมคุกเข่าสวด พวกเขาก็ไม่ทำอย่างที่วางแผนไว้

    เหตุการณ์เล็ก ๆ นั้นจากหนังสือ “วัยเรียนของทอม บราวน์” แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าพระเยซูเจ้าต้องการบอกอะไร เมื่อพระองค์ตรัสในพระวรสารวันนี้ว่า

    “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่ยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วย”

    และยังทำให้เราเข้าใจหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พระเยซูเจ้าตรัสประโยคนี้ ทั้งนี้เพราะการเป็นพยาน หรือการไม่ยอมเป็นพยานยืนยันถึงพระบิดาสวรรค์ของเรา สามารถมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อคนรอบตัวเรา

    แม้เมื่อเรามองเพียงด้านเดียว เราก็จะเห็นว่าเป็นเช่นนี้จริง ด้านดังกล่าวนี้คือครอบครัว การที่บิดามารดาเป็นพยาน หรือไม่เป็นพยานยืนยันถึงพระบิดาสวรรค์ของเขา มีผลอย่างลึกซึ้งต่อบุตรของเขา ตัวอย่างของมารดาของทอม บราวน์ และการเป็นพยานยืนยันความเชื่อของเธอ เป็นปัจจัยที่ทำให้ทอมเป็นพยานยืนยันความเชื่อของเขาต่อหน้าเพื่อนนักเรียน

    เคยมีผู้กล่าวว่าคริสตชนทุกคนเหมือนกับอยู่บนธรรมาสน์ และเขาเทศน์สอนในทางใดทางหนึ่งอยู่ทุกวัน ซึ่งเป็นความจริงในกรณีการปฏิบัติตนของบิดามารดาในบ้าน

    เมื่อเดือนเมษายน 1987 นิตยสาร Catholic Digest ลงเรื่องการสัมภาษณ์สามีภรรยาคู่หนึ่งที่เพิ่งจะฉลองวันครบรอบ 25 ปีของการสมรส ระหว่างการสัมภาษณ์ คนทั้งสองนี้เปิดเผยว่าเขาสวดภาวนาร่วมกันทุกคืนนับตั้งแต่คืนที่เขาแต่งงานกัน ตอนแรก เขาเพียงแต่สวดบทภาวนาเช่นข้าแต่พระบิดา หรือวันทามารีย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็อ่านพระคัมภีร์ร่วมกัน และแบ่งปันแก่กันว่าเขาได้ข้อคิดอะไรบ้างจากข้อความที่อ่าน

    วิธีภาวนาอีกแบบหนึ่งของเขา คือภาวนาอย่างที่หัวใจของเขาต้องการพูดโดยไม่เตรียมการล่วงหน้า บางครั้ง เขาร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเกี่ยวกับปัญหาบางอย่างที่เขาทั้งสองกำลังประสบอยู่ในขณะนั้น

    คู่สามีภรรยานี้ต่างยอมรับว่าการภาวนาเช่นนี้ไม่ได้ทำได้ง่ายในตอนแรก แต่ก็ยอมรับเช่นกันว่าการภาวนาอย่างจริงใจเช่นนี้ทำให้เขาได้รับพระหรรษทานมากมาย

    ผู้เป็นสามีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “บางครั้ง ผมไม่อยากภาวนาเกี่ยวกับบางเรื่องที่ผมไม่ต้องการพูดต่อหน้าริต้า” แต่เขาเอาชนะความรู้สึกฝืนใจนี้ได้ในที่สุด เมื่อเขาตระหนักว่าเขากำลังแสดงความซื่อสัตย์ไม่เพียงต่อริต้า แต่ต่อพระเจ้าด้วย

    เมื่อเขาเอาชนะความรู้สึกฝืนใจนี้ได้ การภาวนาแบบนี้ช่วยเขาได้มากให้เขาฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากในบางครั้ง โดยเฉพาะระหว่างเจ็ดปีแรกของชีวิตสมรส

    คู่สมรสนี้อธิบายว่าเขาได้ความคิดว่าควรภาวนาร่วมกันเช่นนี้จากบิดามารดาของริต้า ริต้าเล่าว่า “เมื่อดิฉันเป็นเด็ก ในครอบครัวของดิฉัน เราไม่ค่อยปิดประตูห้องในบ้านของเรา ดิฉันสามารถได้ยินพ่อแม่สวดภาวนาเวลาค่ำ เสียงภาวนานั้นทำให้รู้สึกอุ่นใจมาก บางครั้งพ่อแม่จะชวนเราเข้าไปในห้อง และเราทุกคนจะนั่งบนเตียงของท่าน ท่านจะอ่านพระคัมภีร์ และอ่านจากหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Upper Room (ห้องชั้นบน)”

    การเป็นพยานในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในบ้าน คือการเป็นพยานที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงในพระวรสารวันนี้ บางทีอาจเป็นวิธีที่เราไม่คุ้นเคย แต่ก็เป็นวิธีการเป็นพยานที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ทำ และถ้าเราทำ ก็อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว และชีวิตครอบครัวได้อย่างน่าแปลกใจ

    ถ้าเช่นนั้น อะไรยับยั้งไม่ให้เราเป็นพยานด้วยวิธีนี้ พระเยซูเจ้าทรงเอ่ยถึงสาเหตุนี้ถึงสามครั้งในพระวรสาร นั่นคือความกลัว
    และทั้งสามครั้ง พระเยซูเจ้าตรัสแก่ศิษย์ของพระองค์ว่า “อย่ากลัวเลย” พระองค์ตรัสแก่เราในวันนี้เช่นกันว่า “อย่ากลัวเลย”

    นี่คือสารในบทอ่านจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมประจำวันนี้ และโดยเฉพาะในบทอ่านจากพระวรสารวันนี้

    นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการบอกเราในวันนี้ เหมือนกับที่ทรงเคยบอกศิษย์ของพระองค์ระหว่างที่ทรงดำรงชีพเป็นมนุษย์บนโลกนี้

    นื่คือข่าวดีที่สามารถเปลี่ยนไม่เพียงชีวิตของบุคคลที่เรารัก แต่รวมถึงชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่เราติดต่อ เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาดังนี้

    ข้าแต่พระบิดาของเรา
    โปรดประทานความกล้าให้เราเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในทุกด้านของชีวิต
    โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตของเราที่เราต้องเป็นพยาน ก็คือ ในบ้านของเราเอง
    ถ้าเราเป็นพยานในชีวิตส่วนนี้ การเป็นพยานในชีวิตส่วนอื่น ๆ จะตามมาเอง

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 10:26-33

“อย่ากลัวมนุษย์เลย ไม่มีสิ่งใดที่ปิดปังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้น จะไม่มีใครรู้ สิ่งที่เราบอกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวออกมาในที่สว่าง สิ่งที่ท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาเรือน”

    เรารู้สึกว่ายากที่จะประกาศพระวรสารในโลกวัตถุนิยมยุคปัจจุบันของเรา แต่การประกาศพระวรสารในยุคของมัทธิวก็ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เรารับรู้ได้จากถ้อยคำของพระเยซูเจ้าว่าพระองค์ทรงปรารถนาจะให้กำลังใจเรา พระองค์ทรงกำลังบอกเราว่า อย่าท้อใจ จงเอาชนะความกลัวของท่านที่จะพูดความจริง ไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งไม่ให้ความจริงเผยแพร่ออกไปได้ ... พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนอย่างถ่อมตน สารของพระองค์เป็นสารที่ซ่อนเร้น ... เป็นสารที่กระซิบเบา ๆ ในที่มืด ... ที่ข้างหู ... แต่หลายศตวรรษต่อมา เราตระหนักว่าพระวรสารนั้นเผยแพร่ไปแล้วรอบโลก และชนะอุปสรรคทุกประการ...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานความกล้าหาญให้เรากล้าพูดด้วยเทอญ...

“อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่อาจฆ่าวิญญาณได้”...

    “อย่ากลัว” … พระเยซูเจ้าตรัสข้อความนี้สามครั้ง (มธ 10:26, 28, 31) ... ทรงเชิดพระพักตร์อย่างท้าทาย ... พระองค์ไม่กลัวแน่นอน พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์จะต้องถูกประหาร เพราะศัตรูของพระองค์กำลังทวีชิงชังพระองค์มากขึ้นอย่างน่ากลัว ตั้งแต่พระองค์ทรงเริ่มต้นเทศน์สอนแล้ว...

    แต่พระเยซูเจ้าทรงรู้ว่าอะไรมีคุณค่าแท้จริงสำหรับพระองค์ ชีวิตบนโลกนี้เทียบไม่ได้เลยกับชีวิตนิรันดร ซึ่งพระองค์ทรงสัมผัสได้จากภายในพระองค์เองในฐานะพระบุตรของพระบิดา...

    มนุษย์สามารถทำลายชีวิตฝ่ายกายได้ แต่ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ต่อ “ชีวิตแท้” ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา เพลงสดุดี 124:7 กล่าวถึง “วิญญาณที่หลบหนีจากกับดักของนายพรานผู้ไม่สามารถจับวิญญาณไว้ได้”...

    มรณสักขี คือ มนุษย์ชายหรือหญิงที่รู้เช่นนี้ เมื่อเขาติดตามพระเยซูเจ้า

    บุคคลที่ถูกเบียดเบียนย่อมยิ่งใหญ่กว่าบุคคลที่เบียดเบียนเขา

    บุคคลที่ถูกทรมานย่อมยิ่งใหญ่กว่าบุคคลที่ทรมานเขา

    เมื่อมองภายนอกดูเหมือนว่าผู้เบียดเบียนแข็งแรงกว่า เพราะเขามีแขนและมีกำลัง แต่เขาใช้กำลังเหมือนสัตว์ป่าเท่านั้น

    แต่ผู้ถูกเบียดเบียนแข็งแรงด้วยพละกำลังภายในที่ไม่มีทางพ่ายแพ้

    การมีกำลังกายมากกว่าคู่ต่อสู้ ไม่มีความหมายเลย

    สิ่งสำคัญ คือ ต้องมี “วิญญาณที่แข็งแรงกว่า”...

“จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกาย และวิญญาณให้พินาศไปในนรก”

    “ในนรก” มาจากภาษากรีกว่า “Gehenna” ซึ่งภาษาฮีบรูเรียกว่า “Ge-hinnom” หมายถึงหุบเขามืดทางทิศใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของนรก หุบเขานี้เป็นสถานที่ที่ถูกสาปแช่งมาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อมนุษย์ใช้สถานที่นี้ฆ่ามนุษย์เป็นยัญบูชา โดยวางเด็กที่ยังมีชีวิตไว้บนแขนโลหะของเทพเจ้าโมล็อกที่ร้อนจนเป็นสีแดง ... ในยุคของพระเยซูเจ้า หุบเขาที่น่ากลัวนี้ยังเป็นสถานที่ทิ้งขยะของกรุงเยรูซาเล็ม เป็นสถานที่กว้างใหญ่ที่อึกทึก เพราะเป็นที่เผาขยะและซากศพตลอดเวลา เมื่อไม่กี่ปีก่อน ข้าพเจ้าไปเดินเล่นตามลำพังท่ามกลางก้อนหินที่มีรอยไหม้จากไฟเหล่านั้น ยังมีควันดำลอยขึ้นเป็นสายในบางจุด ... อนิจจา มนุษย์ยังสืบสานธรรมเนียมที่ใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนต่อไป และมิใช่ในกรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น...

    แต่กระนั้น พระเยซูเจ้าทรงย้ำกับเราว่า “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย ... จงกลัวผู้ที่ฆ่าวิญญาณ” ... นี่คือถ้อยคำที่ฟังดูขัดต่อความเป็นจริง เพราะไม่มีใครสามารถฆ่า “วิญญาณ” ได้ ... แต่เป็นถ้อยคำที่น่ากลัว “การฆ่าวิญญาณ” หมายถึงอะไร...

    พระเยซูเจ้าทรงยืนยันกับเราว่า สิ่งเดียวที่เราควรกลัวคือกลัวการสูญเสียความเชื่อ...
    สิ่งเดียวที่เราควรกลัวคือกลัวว่าเราจะไม่มีความกล้าพอจะ “ประกาศยืนยัน และแสดงความเชื่อของเราออกมาด้วยการดำเนินชีวิตของเรา”...

    สาเหตุของความสูญเสียของพระศาสนจักร มิใช่เพราะมีผู้เบียดเบียนจำนวนมาก ... แต่เพราะมีสมาชิกที่ขี้ขลาดจำนวนมากต่างหาก...

    เมื่อคิดถึงวิญญาณทั้งหลายที่สูญเสียความเชื่อ เราควรระดมกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ในพระศาสนจักร! ... เราได้เห็นการรณรงค์อนุรักษ์ลูกสิงโตทะเล หรือวาฬ หรือสถานที่ หรือซากทางโบราณคดี แต่เราทำอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือวิญญาณทั้งหลาย ... เราทำอะไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ตกต่ำ ... หรือถูกทำลายจากภายใน เพราะเขาไม่รับรู้ถึงความหมายของชีวิตอีกต่อไป...

    ชุมชนคริสตชนจะต้องถูกพิพากษาโทษในข้อหานี้ ... เมื่อเขายินยอมให้วิญญาณทั้งหลายหลงทาง...

    Ge-hinnom คือสิ่งที่พระเยซูเจ้ากลัว ... นี่คือสิ่งที่เราสมควรกลัว...

“นกกระจอกสองตัวเขาขายกันเพียงหนึ่งบาทมิใช่หรือ ถึงกระนั้นก็ไม่มีนกสักตัวเดียวที่ตกถึงพื้นดินโดยที่พระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ”

    นี่เป็นภาพลักษณ์ที่เราลืมไม่ลงทีเดียว ... พระเยซูเจ้าทรงมั่นใจว่าไม่มีสิ่งใดที่พระบิดาไม่ทรงสนใจ ไม่มีแม้แต่นกตัวเล็ก ๆ ที่จะตกจากรังของมัน ... นี่เป็นเหตุการณ์ไม่สำคัญหรือ ... เปล่าเลย ... พระเจ้าทรงเฝ้าดูแลสิ่งสร้างทั้งมวลของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดเล็ดลอดสายพระเนตรของพระองค์...

    ภาพลักษณ์เหล่านี้มีลักษณะเฉพาะตัวของชาวซีไมท์ และไม่ควรทำให้เราคิดว่าพระเจ้าทรงลิขิตชะตากรรมของทุกชีวิตไว้แล้ว ... เป็นความจริงที่ไม่มีสิ่งใดหลบหนีความรักของพระเจ้าไปได้ แต่พระเจ้าทรงนำทางสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไปตามวิถีธรรมชาติของมัน สำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีเสรีภาพเช่นมนุษย์ พระเจ้าทรงเอาใจใส่การกระทำอย่างเสรีของเรา ไม่มีสิ่งใดเล็ดลอดสายพระเนตรของพระองค์ไปได้ แต่พระองค์ทรงเคารพเสรีภาพของเรา อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเรากระทำการใดโดยเจตนา พระองค์ทรงยอมให้ผลของการกระทำนั้นเกิดขึ้น เราจึงต้องรับผิดชอบการกระทำของเราเอง ความรับผิดชอบอันเป็นผลมาจากเสรีภาพของเรานั้นยิ่งใหญ่นัก...

“ผมทุกเส้นบนศีรษะของท่านถูกนับไว้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น อย่ากลัวเลย ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก”

    แทนที่จะกลัว การเฝ้าดูแลของพระเจ้าควรทำให้เราเปี่ยมด้วยความยินดี เพราะพระเจ้าทรงรักเราด้วยความรักที่ไม่ลดน้อยลงเลย ... พระเจ้าผู้ที่รักข้าพเจ้า ทรงรู้จักข้าพเจ้าอย่างถ่องแท้ พระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้าดีกว่าที่ข้าพเจ้ารู้จักตนเอง ... พระองค์ทรงรู้ว่าผมบนศีรษะข้าพเจ้ามีกี่เส้น...

    บัดนี้ ข้าพเจ้าสามารถภาวนาด้วยการปล่อยให้พระเจ้าทรงเห็น และทรงมองดูข้าพเจ้า...

    ข้าพเจ้าพยายามคิดว่าขณะนี้ พระเจ้าผู้ทรงเป็นพลังสร้างสรรค์สูงสุดในเอกภพ มิได้สนใจแต่เพียงความเคลื่อนไหวของโลก หรือของประวัติศาสตร์ของคนทั้งโลก แต่พระองค์กำลังสนใจในตัวข้าพเจ้า เพราะในสายพระเนตรของพระองค์ ข้าพเจ้ามีค่ามากกว่านกทุกตัวในโลกรวมกัน ... และในโลกนี้ก็มีนกเป็นพันล้านตัว...

    คุณพ่อคาร์แจง ผู้ก่อตั้ง YCW เคยกล่าวว่า “วิญญาณของคนงานหนุ่มคนหนึ่งมีค่ามากกว่าทองคำทั้งหมดในโลกรวมกัน”...

    พระเจ้าข้า เป็นความจริงหรือที่พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า...

    จริงหรือที่พระองค์ทรงเฝ้าดูแลข้าพเจ้า ... จริงหรือที่พระองค์ทรงรักข้าพเจ้า ... เมื่อเป็นความจริง ข้าพเจ้าจะกลัวได้อย่างไร ... จะมีอันตรายใดเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าได้ เมื่อข้าพเจ้าอยู่ภายใต้สายพระเนตรของพระองค์...

    แต่นี่แหละคือปัญหา...

“ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์”

    พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงสิ่งที่สำคัญต่อไป ... พระองค์ตรัสถึงวิญญาณ

    พระองค์กำลังตรัสถึงการประกาศยืนยันความเชื่อ ... และการประกาศยืนยันความเชื่อต่อหน้ามนุษย์ด้วย ... ไม่ใช่ความเชื่อใต้ดินที่ไม่มีใครมองเห็น...

    สิ่งสำคัญไม่ใช่การประกาศว่าข้าพเจ้าเป็น “ผู้มีความเชื่อ” ในเวลาที่ไม่มีความขัดแย้ง ... ในเวลาที่การประกาศความเชื่อของข้าพเจ้าจะไม่ก่ออันตราย ... และไม่ใช่การประกาศความเชื่อโดยไม่ยอมผูกมัดตนเอง และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในชีวิตเลย…

    แต่สิ่งสำคัญ คือ ข้าพเจ้าต้อง “ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระเยซูเจ้า และประกาศความเชื่อของข้าพเจ้าในพระองค์” ต่อหน้าศาล ต่อหน้าใครบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้าพเจ้า และพยายามทำให้ข้าพเจ้าพูดตรงกันข้าม ... ต่อหน้าใครบางคนที่อาจเย้ยหยันข้าพเจ้า หรืออาจส่งข้าพเจ้าไปเข้าเครื่องทรมาน หรือจับข้าพเจ้าขังในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิต ... เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศรัสเซีย

    ข้าพเจ้ากล้ายืนหยัดต่อสู้เพื่อพระเยซูเจ้าต่อหน้ามนุษย์หรือเปล่า...

    ข้าพเจ้าแสดงความเชื่อออกมาในการดำเนินชีวิตหรือเปล่า...

    ข้าพเจ้าต้องยอมลำบากหรือเปล่า ... ยอมสูญเสียบางสิ่งบางอย่างหรือเปล่า...

    ข้าพเจ้ารับใช้พระเจ้า และพระคริสตเจ้าของพระองค์หรือไม่ ... หรือว่าข้าพเจ้าใช้เวลาทั้งหมดไปกับการรับใช้ตนเอง...

    ข้าพเจ้ากำลังทำอะไรบ้างเพื่อพระเจ้า...

“และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่ยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วย”

    เราตระหนักได้อีกครั้งหนึ่งว่าเรากำลังเตรียมการพิพากษาโทษตัวเราตั้งแต่บัดนี้แล้ว ... พระเยซูเจ้าทรงแยกพระองค์ออกจากคนทั้งหลายเพียงเมื่อเขาแยกตัวออกจากพระองค์แล้ว พระองค์จะทรงไม่ยอมรับเฉพาะผู้ที่ไม่ยอมรับพระองค์ก่อน...

    ข้าพเจ้าคิดถึงการปฏิเสธของเปโตร ... ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงให้อภัยอย่างน่าประทับใจหลังจากเขาประกาศความเชื่อ และความรักของเขาถึงสามครั้ง “เปโตร ท่านรักเราไหม” ... เหตุการณ์นี้หมายความว่า การปฏิเสธนั้นสามารถกลับคำได้ ... ไม่มีบาปใดที่ร้ายแรงจนพระองค์ให้อภัยไม่ได้...

    แต่มีเงื่อนไขว่าเราต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระเยซูเจ้า ... เราต้องเชื่ออย่างหนักแน่นว่าพระเยซูเจ้าทรงช่วยเราให้รอดพ้น และทรงให้อภัยเรา...

    เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อในพระองค์” โดยไม่ลืมว่าประโยคนี้หมายความว่า “จนถึงกับหลั่งโลหิตเพื่อพระองค์ได้ ถ้าจำเป็น”...

    การหลั่งโลหิตไม่ได้หมายถึงการเป็นมรณสักขีเสมอไป แต่บ่อยครั้งหมายถึงการแสดงความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระองค์ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน และด้วยการเผชิญหน้ากับการทดลองต่าง ๆ ด้วยความกล้าหาญ...