วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
ปฐมกาล 2:7-9, 3:1-7; โรม 5:12-19; มัทธิว 4:1-11
บทรำพึงที่ 1
นักโทษสตรีที่รอการประหาร
มนุษย์ทุกคนต้องตายเพราะมนุษย์คนหนึ่งฉันใด มนุษย์ทุกคนก็ได้รับชีวิตคืนมาเพราะมนุษย์คนหนึ่งฉันนั้น
เวลา 02:15 น. เช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 1984 เวลมา บาร์ฟิลด์ ถูกประหารชีวิตในคุกกลางของเมืองราเลย์ ในรัฐเซาท์คาโรไลนา เวลมาถูกตัดสินลงโทษเพราะได้ฆ่าคน 4 คน เธอเป็นสตรีคนแรกที่ถูกประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกา ภายในระยะเวลา 22 ปี
แต่ เวลมา บาร์ฟิลด์ ที่ถูกประหารในเช้าวันนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก เวลมา บาร์ฟิลด์ ผู้ก้าวเข้าไปในคุกเมื่อ ค.ศ. 1978 ระหว่างถูกจำคุกนาน 6 ปี เวลมาได้ผ่านกระบวนการกลับใจอย่างน่าพิศวง
เวลมาบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการกลับใจของเธอในหนังสือของเธอชื่อ Woman in Death Row (นักโทษสตรีที่รอการประหาร) เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในคืนวันหนึ่งขณะที่เธอกำลังร้องไห้อยู่ในห้องขัง เธอสะอื้นและสงสัยว่าพระเยซูเจ้าจะทรงให้อภัยเธอ และกลับมารักเธออีกครั้งหนึ่งหรือไม่ หลังจากอาชญากรรมที่เธอได้ก่อขึ้น
จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์บางอย่างซึ่งเธอรู้สึกว่าเธอแทบจะบรรยายไม่ได้ เธอทำได้เพียงบอกว่าดูเหมือนพระเยซูเจ้าทรงปรากฏพระองค์ต่อเธอ และตรัสว่า “ถูกแล้ว ... เราตายบนกางเขนเพื่อชดเชยบาปของลูกด้วยเช่นกัน ลูกจะไม่ยอมให้เรามาหา และมอบชีวิตที่ใหม่เอี่ยมให้แก่ลูกหรือ”
เธอบอกว่า “ที่นั่น และเวลานั้นเอง ดิฉันสารภาพบาปกับพระองค์ และดิฉันขอให้พระองค์ให้อภัยฉัน ... พระองค์เสด็จเข้ามาในชีวิตของดิฉันในคืนนั้น”
หลักฐานยืนยันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอนี้ปรากฏในหนังสือพระคัมภีร์ของเธอ เธอบันทึกอะไรบางอย่างในแทบทุกหน้าของพระคัมภีร์ ครั้งหนึ่ง เธอบอกเพื่อนคนหนึ่งว่า “ดิฉันได้รับพละกำลังจากพระคัมภีร์เล่มนี้ ... ถ้าปราศจากพระวาจาของพระองค์ ดิฉันไม่มีทางลุกขึ้นมาในตอนเช้าได้ ... อย่าว่าแต่จะทนมีชีวิตอยู่ตลอดวันเลย”
จุดสูงสุดในกระบวนการกลับใจของเวลมา เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 1984 เมื่อเธอได้ทำการตัดสินใจครั้งสำคัญหลายข้อ เธอบันทึกเรื่องการตัดสินใจเหล่านี้ในหน้าแรกของพระคัมภีร์ของเธอ ข้าพเจ้าจะบอกท่านสักสองข้อ
ข้อแรก เธอตัดสินใจจะจัดการกับบาปของเธอ เธอบอกว่า “คืนนี้ ... ดิฉันจะเริ่มบอกบาปของฉันต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า ... และวางใจว่าพระองค์จะทรงช่วยดิฉันให้รอดพ้น”
ข้อที่สอง เธอตัดสินใจว่าจะยกทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอมี คืนให้พระเจ้า โดยบอกว่า “พระเจ้าข้า โปรดทรงรับลูก ๆ ของดิฉัน – พวกเขาไม่ใช่ของดิฉันเช่นกัน – เขาเป็นของพระองค์ และดิฉันขอมอบพวกเขาไว้ให้พระองค์ดูแล”
การตัดสินใจของเวลมาที่จะจัดการกับบาปของเธอ และคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่พระเจ้า ทำให้เราพอจะเข้าใจว่าเธอเข้าสู่สภาพชีวิตจิตในระดับใดขณะที่อยู่ในคุก
เรื่องของ เวลมา บาร์ฟิลด์ แสดงให้เห็นสองขั้วของสภาวะมนุษย์ของเรา ที่บรรยายไว้ในบทอ่านจากพระคัมภีร์ในวันอาทิตย์ที่ 1 ของเทศกาลมหาพรต
ข้อที่หนึ่ง คือ ความไม่นบนอบของอาดัม ซึ่งทำให้มนุษยชาติต้องได้รับโทษ และความตายฝ่ายจิต
ข้อที่สอง คือ ความนบนอบของพระเยซูเจ้า ซึ่งไถ่กู้ และคืนชีวิตจิตให้แก่มนุษยชาติ
นักบุญเปาโลบรรยายสองขั้วนี้ในบทอ่านที่สองดังนี้ “มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาปเพราะความไมเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียวฉันใด มวลมนุษย์ก็จะเป็นผู้ชอบธรรมเพราะความเชื่อฟังของมนุษย์คนเดียวฉันนั้น”
ชีวิตของ เวลมา บาร์ฟิลด์ แสดงให้เห็นทั้งสองขั้วนี้ แสดงให้เห็นว่าเราสามารถตกต่ำได้ลึกเพียงไรถ้าเรายอมแพ้การประจญ เหมือนกับที่อาดัมเคยยอมแพ้ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าเราสามารถขึ้นได้สูงเพียงไร ถ้าเราปฏิเสธการประจญเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงเคยปฏิเสธ ทั้งหมดนี้นำเรามาสู่เทศกาลมหาพรต
คำว่ามหาพรต (Lent) มาจากคำว่า Lencten ในภาษาแอลโกล-แซกซัน แปลว่า “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะเทศกาลนี้เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิของแต่ละปี
ความคิดว่าเทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาของการใช้โทษบาป เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคแรก ๆ เมื่อคริสตชนทำกิจใช้โทษบาปหนักมากระหว่างเทศกาลนี้ ความคิดที่ว่าเทศกาลมหาพรตต้องมีระยะเวลา 40 วัน เกิดจากข้อเท็จจริงว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้เวลานาน 40 วันในถิ่นทุรกันดาร
ธรรมเนียมการอดอาหารระหว่างเทศกาลมหาพรตเริ่มต้นจากความจริงที่พระเยซูเจ้าทรงจำศีลอดอาหารระหว่างที่พระองค์อยู่ในถิ่นทุรกันดารนาน 40 วัน ในที่สุดพระศาสนจักรจึงได้กำหนดให้การจำศีลอดอาหารเป็นข้อบังคับสำหรับคนสองกลุ่มโดยเฉพาะ
กลุ่มแรก คือ ผู้ใหญ่ทุกคนที่เรียนคำสอนเตรียมตัวเป็นคริสตชน ต้องจำศีลอดอาหาร บุคคลเหล่านี้ได้รับการสั่งสอนเกี่ยวกับความเชื่อ และกำลังเตรียมรับศีลล้างบาปในวันเตรียมฉลองปัสกา การจำศีลอดอาหารถือว่าเป็นวิธีชำระจิตใจ และช่วยให้คนเหล่านี้เตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการสำคัญนี้
กลุ่มที่สอง คือ พระศาสนจักรกำหนดว่า คริสตชนทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่และกำลังเตรียมรื้อฟื้นคำปฏิญาณศีลล้างบาปในวันเตรียมฉลองปัสกาต้องจำศีลอดอาหาร การจำศีลอดอาหารถือว่าเป็นวิธีชำระจิตใจ และช่วยให้คริสตชนเหล่านี้เตรียมพร้อมสำหรับการรื้อฟื้นคำปฏิญาณนี้
ดังนั้น จึงเรามองว่ามหาพรตเป็นช่วงเวลาแห่งการใช้โทษบาป เพื่อเตรียมตัวรับศีลล้างบาป หรือเพื่อรื้อฟื้นคำปฏิญาณศีลล้างบาปของเรา
ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับมาพิจารณาเทศกาลมหาพรตในยุคปัจจุบัน
ความคิดเกี่ยวกับเทศกาลมหาพรตไม่ได้เปลี่ยนไปจากความคิดในยุคแรก สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปคือกิจใช้โทษบาปที่เราทำ จิตตารมณ์ของเทศกาลมหาพรตยังเหมือนเดิม นี่คือช่วงเวลาของการเป็นทุกข์ถึงบาปและกลับใจ นี่คือเวลาที่เราประเมินชีวิตของเรา เหมือนที่เวลมา บาร์ฟิลด์ ประเมินชีวิตของเธอในคุก
นี่คือเวลาที่เราเผชิญหน้ากับความบาปของเราอย่างซื่อสัตย์ กล้าหาญ และตรงไปตรงมาเหมือนกับที่ เวลมา บาร์ฟิลด์ เคยทำ
นี่คือเวลาที่เราหันไปหาพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน ยอมรับว่าเราได้ทำบาป และสารภาพบาปเหล่านั้นเหมือนกับที่เธอเคยทำ
นี่คือเวลาที่เราหลีกหนีให้มากขึ้นจากสิ่งชั่วร้าย และการเป็นบุตรที่ไม่เชื่อฟังของอาดัม และหันมาเป็นศิษย์ที่ดีมากขึ้น และเชื่อฟังมากขึ้นของพระคริสตเจ้า
สรุปสั้น ๆ ว่าเทศกาลมหาพรตเป็นเวลาที่เราเตรียมตัวรื้อฟื้นคำปฏิญาณศีลล้างบาปของเรา และให้คำมั่นสัญญาว่าจะติดตามพระคริสตเจ้าในระดับลึกมากขึ้น
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาสำหรับวันอาทิตย์ที่ 1 ของเทศกาลมหาพรต ดังนี้
ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดิน และทรงเป่าลมที่ให้ชีวิตเข้าไปในตัวเขา
แต่เขากลับหันหลังให้พระองค์ และทำบาป
ระหว่างช่วงเวลาแห่งการเป็นทุกข์ถึงบาปนี้ เราวิงวอนขอพระเมตตาของพระองค์
โปรดทรงนำเรากลับไปหาพระองค์
และกลับไปสู่ชีวิตที่พระบุตรของพระองค์ทรงช่วงชิงมาประทานแก่เราด้วยการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเทอญ
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 4:1-11
เราขัดจังหวะวงจรของ “วันอาทิตย์ในเทศกาลธรรมดา” – ซึ่งเราจะย้อนกลับมาหลังจากวันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า – เพื่อเข้าสู่เทศกาลพิเศษประจำปี คือ วงจรปัสกา ซึ่งประกอบด้วยเทศกาลมหาพรต และเทศกาลปัสกา ... นี่คือโอกาสให้เรารื้อฟื้นความร้อนรนของเราที่จะก้าวหน้าในฐานะคริสตชนในแต่ละวัน
ระหว่าง “ปี A” (ซึ่งเราใช้บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว) พระศาสนจักรเสนอคำบอกเล่าของมัทธิวเรื่อง “การประจญ” พระเยซูเจ้า และ “พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง” จากนั้น เราจะอ่านข้อความสำคัญจากพระวรสารของนักบุญยอห์น ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่เราใช้สำหรับเตรียมตัวรับศีลล้างบาป ข้อความเหล่านี้ คือ เรื่องน้ำที่ให้ชีวิตสำหรับหญิงชาวสะมาเรีย การรักษาชายที่ตาบอดแต่กำเนิด และการกลับคืนชีพของลาซารัส
ดังนั้น วันนี้เราจึงอ่านเรื่องราวการต่อสู้ครั้งสำคัญของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นคำเชิญชวนให้เราเริ่มต้น “การต่อสู้ระหว่างเทศกาลมหาพรต” ของเราเอง ...
เวลานั้น พระจิตเจ้าทรงนำพระเยซูเจ้าไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้ปีศาจมาประจญพระองค์
พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการประจญพระเยซูเจ้าและการรับพิธีล้างของพระองค์ นี่คือข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการ “ทำการฟื้นฟูจิตใจ” บางอย่างก่อนเริ่มต้นพันธกิจเทศน์สอนของพระองค์ ... ทะเลทราย หรือถิ่นทุรกันดาร เป็นสถานที่อันเหมาะสมสำหรับกิจกรรมนี้ เพราะเป็นสถานที่ที่มีความวิเวกและความเงียบ ทำให้มนุษย์สามารถ “เผชิญหน้ากับตนเอง” โดยไม่สามารถหาข้อแก้ตัวเพื่อหลบเลี่ยง และปราศจากหน้ากากที่สังคมเสนอให้เราใช้ปิดบังตนเอง...
เช่นเดียวกับมาระโกและลูกา มัทธิวเน้นความจริงว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำพระเยซูเจ้าเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร การประจญนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้าสำหรับพระบุตรของพระองค์ ดังนั้น ข้อความนี้จึงเตือนเราว่า ศีลล้างบาปที่เราได้รับจะไม่ช่วยให้เรารอดพ้นจากการทดลองต่าง ๆ เช่นกัน คำว่า “การประจญ” ที่ใช้ในพระคัมภีร์ยังหมายถึง “การทดสอบ” อีกด้วย ... เมื่อมองในแง่นี้ การประจญจึงมีความหมายเชิงบวก ความรักทุกประเภทจำเป็นต้องถูก “ทดสอบ” มิใช่หรือ เพื่อให้เรารู้ว่าเป็นความรักที่แท้จริงและมั่นคงหรือไม่ ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงถูกทดสอบด้วยพระจิตของพระเจ้าเองทีเดียว เหมือนกับที่ชาวอิสราเอลในอดีตเคยถูกทดสอบในถิ่นทุรกันดาร “พระเจ้าของท่านทรงนำท่านให้เดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารตลอดเวลาสี่สิบปี ทรงให้ท่านพบอุปสรรค เพื่อทดสอบดูว่าจิตใจของท่านเป็นอย่างไร จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์หรือไม่” (ฉธบ 8:2)
ขอให้พระจิตเจ้าทรงช่วยเราให้มองการทดลองที่เราประสบจากทัศนคติเชิงบวกนี้ เมื่อเราไตร่ตรองว่าพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบุตรที่สมบูรณ์แบบ และทรงเป็นผู้ชอบธรรมอย่างสมบูรณ์ ทรงพบว่าการทดลองต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์ของพระองค์เป็นการเชิดชูความรักของพระองค์ และความซื่อสัตย์ของพระองค์ต่อพระบิดา...
เมื่อทรงอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้วทรงหิว
เราไม่ควรพยายามมองหาแต่คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในคำบอกเล่าของมัทธิว แต่เราต้องมองทะลุรายละเอียดจนกระทั่งเห็นนัยสำคัญทางเทววิทยาของข้อความเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่ามัทธิวกล่าวไว้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นชีวิตสาธารณะของพระเยซูเจ้าถึงการประจญต่าง ๆ ที่แท้จริงแล้วพระเยซูเจ้าจะต้องประสบตลอดชีวิตของพระองค์ พระองค์ทรงต้องป้องกันพระองค์เองไม่ให้ใช้พระธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ เพื่อช่วยให้พระองค์รอดพ้นจากการทดลองต่าง ๆ ที่พระองค์ต้องประสบในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง (มธ 12:24-30, 16:23, 26:59, 27:40)...
ข้อความว่า “สี่สิบวันสี่สิบคืน” เป็นศัพท์สัญลักษณ์ของพระคัมภีร์ และเป็นจำนวนที่ถือกันว่าบ่งบอกถึงช่วงเวลาที่จำเป็นเพื่อให้บุคคลหนึ่งบรรลุถึงวุฒิภาวะในชีวิต “สี่สิบ” เป็นช่วงเวลาที่ชาวอิสราเอลเร่ร่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นช่วงเวลาที่ประกาศกเอลียาห์เดินทางไปยังภูเขาของพระเจ้า และเป็นช่วงเวลาของการสำแดงพระองค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ เป็นต้น (ฉธบ 8:1-5, 1 พกษ 19:8, กจ 1:3)
ปีศาจผู้ประจญจึงเข้ามาใกล้ ทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปังเถิด”
เราต้องไม่ตัดทอนความหมายของพระวรสาร แม้ว่าเราอาจตีความได้หลายทาง ซึ่งช่วยให้เรานำข้อความนี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราในระดับต่าง ๆ ได้ก็ตาม
ตัวอย่างเช่น เราไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าการประจญพระเยซูเจ้าครั้งแรกนี้เป็นการประจญฝ่ายจิตล้วน ๆ เพราะพระเยซูเจ้าทรงหิวจริง ๆ ในชีวิตของพระองค์ ... พระกายของพระองค์มีความรู้สึกร้อนหนาว กลัว และสองจิตสองใจ – และไม่ใช่เฉพาะระหว่างสี่สิบวันที่ทรงอดอาหารนี้เท่านั้น
การประจญประการแรก คือ การประจญให้สูญเสียความหวัง เมื่อเผชิญกับการทดลอง หรือความทุกข์ยาก เราจะถูกประจญให้ปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น และวิงวอนพระเจ้าให้ทรงกำจัดสาเหตุของความทุกข์ยากของเรา ... สิ่งแรก และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราต่อต้านพระเจ้า คือ ความชั่วร้าย หรือความทุกข์ที่เราพบเห็น ความชั่วร้ายที่เราเห็นว่าเกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ ความหิวอย่างไม่เป็นธรรมของส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ ... ดังนั้น เราจึงถูกประจญให้กล่าวโทษพระเจ้า ... หรือวิงวอนพระองค์ให้ทรงแก้ปัญหาของเราโดยตรง...
การประจญประการแรกนี้ยังอาจตีความได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นการประจญที่เกิดจากการต่อสู้นิรันดรระหว่าง “เนื้อหนัง” และ “จิต” ประสาทสัมผัสบอกเราว่าเราหิว เราจึงพยายามทำให้ประสาทสัมผัสของเราพอใจด้วยอาหารฝ่ายโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และตรงตามพระประสงค์ของพระเจ้า! เราขาดความสามารถควบคุมตนเองโดยเฉพาะในด้านนี้ การหาความสุขสำราญแบบง่าย ๆ ไม่ช่วยพัฒนามนุษย์ให้กลายเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ... สังคมบริโภคนิยมซึ่งส่งเสริมวัตถุนิยม สามารถทำให้มนุษย์ลดคุณค่าของตนจนถึงระดับต่ำสุดได้...
แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (ฉธบ 8:3)
พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีศาจผู้ประจญทั้งสามครั้งด้วยข้อความที่ยกมาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์ที่ให้เราทบทวนความเข้าใจทางเทววิทยาจากการดำรงชีวิต 40 ปี ในทะเลทรายซีนาย และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามพันธสัญญา ดังนั้น ข้อความนี้จึงแสดงให้เราเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “อิสราเอลใหม่” แต่พระเยซูเจ้าทรงชนะ ในขณะที่ประชากรของพระเจ้าพ่ายแพ้เมื่อถูกประจญด้วยความหิวและความกระหาย และ “บ่นว่าพระเจ้า” (อพย 16:8)...
คำตอบของพระเยซูเจ้าเป็นความจริงที่ไม่มีวันตาย และท้าทายเราให้ไตร่ตรองว่า เราหิวอะไรมากกว่ากัน – เราหิวความพึงพอใจฝ่ายโลก ซึ่งอาจนำเราไปสู่หายนะ ... หรือเราหิวกระหายพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งสามารถช่วยเราให้รอดพ้นจากการทดลองของเรา...
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้วางใจในพระองค์จนถึงที่สุดด้วยเทอญ...
โปรดประทานพระหรรษทานแห่งความหวังแก่เรา...
ต่อจากนั้น ปีศาจอุ้มพระองค์ไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ วางพระองค์ลงที่ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า จงกระโดดลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าทรงสั่งทูตสวรรค์เกี่ยวกับท่าน ให้คอยพยุงท่านไว้มิให้เท้ากระทบหิน (สดด 91:11-12) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ในพระคัมภีร์ยังมีเขียนไว้ด้วยว่า อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านเลย” (ฉธบ 6:16)
ถ้าการทดสอบด้วยความหิว หรือความทุกข์ทรมานอื่นใด เป็นการทดสอบความหวังในพระเจ้าของเรา การประจญครั้งที่สองนี้ก็เป็นการประจญที่ประชากรของพระเจ้าต้องประสบเสมอ ทั้งพระเยซูเจ้าผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า และตัวเราด้วย การทดสอบครั้งนี้คือการทดสอบความเชื่อ
ระหว่างเร่ร่อนในถิ่นทุรกันดาร ชาวอิสราเอลร้องขอให้พระเจ้าทำอัศจรรย์ และแสดงเครื่องหมายต่าง ๆ มาตลอด 40 ปี เขาขอให้พระเจ้าทรงแสดงว่าพระองค์ทรงมีตัวตนอยู่จริง “พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราหรือไม่” (อพย 17:1-7) ... ตลอดชีวิตของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงถูกประจญเสมอให้หลีกหนีสภาวะมนุษย์ของพระองค์ ให้ทรงปฏิบัติพันธกิจให้บรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการง่าย ๆ โดย “ทำอัศจรรย์” คนร่วมสมัยของพระองค์คาดหมายว่าพระเมสสิยาห์เป็นผู้ชนะ ผู้แสดงให้เห็นว่าพระอานุภาพของพระเจ้าอยู่ข้างเดียวกับผู้ที่เชื่อในพระองค์ ด้วยการทำเครื่องหมายอัศจรรย์ “เขาขอให้ทรงแสดงเครื่องหมายจากฟ้า” (มธ 16:1, 12:39, 24:3) ... ด้วยพละกำลังของมนุษย์ในวัยหนุ่ม พระเยซูเจ้าทรงถูกประจญให้ทำตัวเหมือนพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ... แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะเป็นพระเมสสิยาห์ผู้ยากจน และถูกเหยียดหยาม ถูกกดดันจากฝูงชน และผู้มีอำนาจในยุคของพระองค์ แม้ว่าพระองค์ต้องฝืนใจตนเองก็ตาม...
ดังนั้น คริสตชนทุกคนจึงต้องคาดหมายว่าจะต้องพบกับการประจญเรื่องความเชื่อ กล่าวคือการประจญให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังกระโจนเข้าสู่ความว่างเปล่าเมื่อเราเชื่อในพระเจ้า เราอยากให้พระเจ้าแสดงพระองค์ให้เราเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น แต่พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้ซ่อนพระองค์” ... เราอยากรู้สึกได้ว่าพระเจ้าประทับอยู่กับเราในการภาวนาของเรา และในพิธีกรรมของเรา – แต่พระเจ้าทรงเงียบ ... และ “บรรยากาศ” ก็ไม่น่าสนใจ...
พระเจ้าไม่ “น่าสนใจ” เพราะพระองค์ไม่ทำตัวตามบรรทัดฐานของเรา เราอยากจะจับพระองค์ไว้ ทำให้พระองค์เป็น “พระเจ้าที่พร้อมจะรับใช้เรา” พระเจ้าผู้จะช่วยเรา “มิให้เท้าของเรากระทบหินตามทาง” แต่พระเจ้ากลับทรงปล่อยเราให้ดูแลตนเองและรับผิดชอบตนเอง เราต้องหลีกเลี่ยงก้อนหินด้วยตัวเราเอง ... และถ้าเราสะดุดก้อนหิน ก็อย่าหวังว่าจะเกิดอัศจรรย์ ... แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่มีตัวตน ... แต่เพราะพระองค์ทรงแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงต่างหาก
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เชื่อในพระองค์ด้วยเทอญ...
พระเจ้าข้า โปรดประทานพระหรรษทานแห่งความเชื่อแก่เราด้วยเทอญ...
อีกครั้งหนึ่ง ปีศาจนำพระองค์ไปบนยอดเขาสูงมาก ชี้ให้พระองค์ทอดพระเนตรอาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก แล้วทูลว่า “เราจะให้ทุกสิ่งนี้แก่ท่าน ถ้าท่านกราบนมัสการเรา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น ยังมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น” (ฉธบ 6:13) ปีศาจจึงได้ละพระองค์ไป แล้วทูตสวรรค์ก็เข้ามาปรนนิบัติรับใช้พระองค์
ขอให้เรากำจัดภาพในจินตนาการต่าง ๆ ที่เกิดจากข้อความนี้ ถ้อยคำของมัทธิวไม่ควรทำให้เราเข้าใจผิด ไม่มีภูเขาลูกใดบนโลกนี้ที่เราจะมองเห็น “อาณาจักรรุ่งเรืองต่าง ๆ ของโลก” ได้ทั้งหมดเมื่ออยู่บนยอดเขา ... นี่เป็นเพียงอุปมาเท่านั้น นี่คือภาพนิมิตภายใน และมิใช่ปรากฏการณ์ทางกายภาพ...
หลังจากการทดสอบความหวัง และความเชื่อผ่านไปแล้ว อาจพูดได้ว่าการทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบความรัก...
ระหว่างการอพยพ ชาวอิสราเอลถูกทดสอบให้อยากยกเลิกพันธสัญญา – คือการสมรสด้วยความรักกับพระเจ้าเที่ยงแท้ – และหันไปนับถือรูปเคารพ ซึ่งเป็นเสมือนการผิดประเวณี (อพย 23:20-33) ... ภาษาของมัทธิวเต็มไปด้วยความหมาย เขาบอกว่าซาตานอ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของอาณาจักรทั้งปวงของโลก ซาตานคือ “เจ้าชายของโลก” ... พระเยซูเจ้าทรงกระชากหน้ากากศัตรู และเรียกซาตานด้วยชื่อของมัน มันคือศัตรู เป็น “ปฏิปักษ์ของพระเจ้า” ... ผู้กล้าอ้างตัวให้มนุษย์นมัสการมัน...
นี่คือความจริง เราเองก็ถูกประจญให้นับถือหลายสิ่งหลายอย่างเป็นพระเจ้า ... เรามีพระเจ้าเท็จเทียมกี่องค์ – อะไรก็ตามที่เรายกขึ้นมาแทนที่พระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ความสะดวกสบาย เกียรติยศ อิทธิพล อำนาจ ความสนุกสนาน ลัทธิความเชื่อ สภาพแวดล้อมของเรา หรือชนชั้นทางสังคม ... หรือแม้แต่สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไร้สาระที่เราถือว่าสำคัญสำหรับเรา...
พระเจ้าเท่านั้นทรงเป็นพระเจ้า ... เทศกาลมหาพรตนี้เป็นเครื่องมือให้เรากำจัด “พระเจ้าเท็จเทียม” ทั้งหลายของเรา...