แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ปฐมกาล 12:1-4; 2 ทิโมธี 1:8-10; มัทธิว 17:1-9

บทรำพึงที่ 1
บางสิ่งบางอย่างที่สวยงามเพื่อพระเจ้า
การสำแดงพระองค์ของพระเยซูเจ้าเตือนใจเราว่า เราเองก็ต้องยอมให้แสงของพระบิดาส่องสว่างผ่านตัวเรา

    เมื่อหลายปีก่อน สถานี บีบีซี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ ได้ส่งผู้สื่อข่าวดาวเด่นของสถานีชื่อ มัลคอล์ม มักเกอร์ริดจ์ ไปยังประเทศอินเดีย เพื่อถ่ายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับคุณแม่เทเรซา

    บีบีซี ต้องการบันทึกภาพขณะที่คุณแม่ และภคินีของเธอ แบกคนใกล้ตายในสลัมของเมืองกัลกัตตา และนำเขาไปอยู่ในที่พักพิงที่พวกภคินีเป็นผู้ดำเนินงาน เมื่อถึงที่พักพิง เขาจะล้างตัว และดูแลคนใกล้ตาย อย่างที่คุณแม่เทเรซาเรียกว่า “ให้เขาเห็นใบหน้าที่เปี่ยมด้วยความรัก”

    ที่พักพิงแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นวิหารของกาลี เทพธิดาองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู วิหารนี้ได้รับแสงสว่างน้อยมากจากช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ที่อยู่สูงขึ้นไปบนกำแพง  คณะผู้ถ่ายทำไม่คาดหมายมาก่อนว่าอาคารหลังนี้จะมีแสงน้อยเช่นนี้ และไม่ได้นำดวงไฟขนาดพกพามาด้วย ทุกคนสรุปว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามบันทึกภาพภคินีที่กำลังทำงานช่วยเหลือคนใกล้ตายภายในอาคารหลังนี้

    แต่มีใครบางคนเสนอว่าให้ลองบันทึกภาพดู บางทีอาจมีเทปบางช่วงบางตอนที่ใช้การได้

    แต่แล้ว ทุกคนก็ประหลาดใจเมื่อเห็นเทปที่ถ่ายภายในอาคารนี้ ซึ่งปรากฏว่าชัดเจนที่สุด ภายในอาคารมีแสงอ่อน ๆ อันเร้นลับฉาบอยู่ทั่วไป ตากล้อง และลูกมือ บอกว่าผลที่ออกมานี้ไม่สามารถอธิบายได้ตามหลักวิชาการ

    มักเกอร์ริดจ์มีทฤษฏีของตนเองเกี่ยวกับแสงลึกลับนี้ เขาอธิบายไว้ในหนังสือขายดีของเขาชื่อ Something Beautiful for God ว่า “บ้านสำหรับคนใกล้ตายของคุณแม่เทเรซาเต็มไปด้วยความรัก ... เราสัมผัสได้ทันทีที่ย่างเข้าไปภายใน ความรักนี้เปล่งแสงเรืองรอง เหมือนกับวงรังสีที่ศิลปินมองเห็น และวาดให้เราเห็น รอบศีรษะของนักบุญทั้งหลาย ผมไม่แปลกใจเลยที่แสงเรืองรองนี้ถูกบันทึกไว้บนฟิล์มภาพยนตร์ได้”

    สิ่งที่มักเกอร์ริดจ์พูดถึงไม่ใช่เรื่องที่เขาสร้างจินตนาการขึ้นมาเอง แต่เป็นบางสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์และหนังสือเสริมศรัทธาต่าง ๆ เช่น หนังสืออพยพกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อโมเสสลงมาจากภูเขาหลังจากได้สนทนากับพระเจ้า “ชาวอิสราเอลทั้งปวงมองดูโมเสส ก็เห็นว่าใบหน้าของเขามีแสงเรือง เขาทั้งหลายกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้” (อพย 34:30)

    ในทำนองเดียวกัน พระสงฆ์วิญญาณารักษ์ของนักบุญเอลีซาเบธแห่งฮังการี ได้เขียนในจดหมายฉบับหนึ่งว่าเมื่อเอลีซาเบธ ออกมาจากการภาวนา บ่อยครั้งที่คนทั้งหลายมองเห็น “ใบหน้าของเธอสว่างสดใสอย่างน่าพิศวง และมีแสงฉายออกมาจากดวงตาของเธอ เหมือนลำแสงจากดวงอาทิตย์”
    ทั้งหมดนี้นำเรามาสู่พระวรสารวันนี้ เมื่อเปโตร ยากอบ และยอห์น รายงานว่าขณะที่อยู่บนภูเขา พระพักตร์ของพระเยซูเจ้า “เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์” ในทันใด เปโตรไม่เคยลืมห้วงเวลานั้น หลังจากนั้นหลายปี เขาเขียนถึงเหตุการณ์นี้ว่า “เราประจักษ์ด้วยตาตนเองถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระองค์ทรงได้รับพระเกียรติ และพระสิริรุ่งโรจน์จากพระเจ้าพระบิดา เมื่อมีเสียงตรัสจากพระสิริรุ่งโรจน์ที่ยิ่งใหญ่มาสู่พระองค์ว่า ‘ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา ซึ่งเราพอใจ’ เราได้ยินเสียงนี้มาจากสวรรค์ขณะที่เราอยู่กับพระองค์บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้น” (2 ปต 1:16-18)

    เราไม่มีทางรู้ว่าแสงที่เปล่งรัศมีจากพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าเป็นแสงอะไร และไม่มีทางรู้ว่าแสงที่เปล่งรัศมีจากหน้าของโมเสสและนักบุญทั้งหลายเป็นแสงอะไร และไม่มีทางรู้ว่าแสงที่ปรากฏบนฟิลม์ภาพยนตร์ที่บันทึกภาพที่พักพิงสำหรับคนใกล้ตายของคุณแม่เทเรซามาจากไหน มักเกอร์ริดจ์เสนอว่าบางทีอาจเป็นแสงจากโลกของพระเจ้าที่ฉายส่องเข้ามาในความมืดของโลกของเราก็ได้

    ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร มัลคอล์ม มักเกอร์ริดจ์ ก็เชื่อว่าคริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้เป็นแสงสว่างในโลกมืดของเรา เขาเชื่อว่าคริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้ส่องแสงของพระคริสตเจ้าให้แก่ชาวโลก – ถ้าไม่ใช่ตามความหมายทางกายภาพ อย่างน้อยก็ตามความหมายทางอุปลักษณ์ (metaphorical sense) พระเยซูเจ้าเองตรัสกับศิษย์ของพระองค์ว่า

    “ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะไม่ถูกปิดบัง ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ใต้ถัง แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแด่ทุกคนในบ้าน ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 5:14-16)

    มักเกอร์ริดจ์ ผู้ที่หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นคาทอลิก ได้ยกตัวอย่างไว้ในหนังสือของเขาว่าเขาหมายถึงอะไร เขาเล่าเรื่องการแสดงปาฐกถาครั้งหนึ่งของคุณแม่เทเรซา ในห้องประชุมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาบรรยายว่า

    “ผมเฝ้าดูใบหน้าของคนที่กำลังฟัง หน้าของทุกคนแสดงความสนใจ รอฟังทุกคำพูดของท่าน ไม่ใช่เพราะตัวคำพูดนั้น ซึ่งเป็นคำพูดที่ธรรมดามาก แต่เป็นเพราะตัวท่านมีคุณสมบัติบางอย่างที่สื่อออกมานอกเหนือจากคำพูดนั่นเองที่จับความสนใจของผู้ฟัง ดูเหมือนว่ามีแสงสว่างแผ่ไปทั่วห้องประชุมนั้น ... แทงทะลุทุกความคิด และหัวใจ ... เมื่อท่านพูดจบ ทุกคนต้องการสัมผัสมือของท่าน ... ท่านดูตัวเล็ก และอ่อนแอ และเหนื่อย เมื่อท่านยืนอยู่ที่นั่น และมอบตัวท่านเอง ผมมาคิดว่านี่คือวิธีที่เราจะพบกับความรอดพ้น เป็นการให้ ไม่ใช่การรับ ... เป็นการตายเพื่อจะมีชีวิต”

    คุณแม่เทเรซาเป็นแสงสว่างในความมืดสำหรับคนเหล่านี้

    ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราพิจารณาตนเองในวัดแห่งนี้

    เราได้รับเรียกให้เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดของโลกเรา เหมือนกับโมเสส และพระเยซูเจ้า และเหมือนกับนักบุญเอลีซาเบธ และคุณแม่เทเรซา

    เทศกาลมหาพรตเป็นเวลาที่เราควรถามตนเองว่า เราได้ดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกของเราอย่างดีแล้วหรือไม่ เทศกาลมหาพรตเป็นเวลาที่เราควรถามตนเองว่าเรากำลังส่องแสงของเราต่อหน้าผู้อื่น เพื่อให้เขาสามารถมองเห็นแสงนี้ และสรรเสริญพระบิดาของเราในสวรรค์แล้วหรือไม่

    และถ้าเรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เทศกาลมหาพรตก็เป็นเวลาสำหรับการเป็นทุกข์ถึงบาป และเริ่มต้นดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกของเราอีกครั้งหนึ่ง

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทภาวนาเริ่มพิธีมิสซาวันนี้ว่า

    ข้าแต่พระบิดาแห่งแสงสว่าง
    โปรดทรงเปิดหัวใจของเราให้ได้ยินเสียงแห่งพระวาจาของพระองค์
    และปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากความมืดดั้งเดิม
    ที่บดบังสายตาของเรา
    โปรดทรงคืนสายตาแก่เรา
    เพื่อให้เราสามารถมองดูพระบุตรของพระองค์
    ผู้ทรงเรียกเราให้เป็นทุกข์ถึงบาป
    และกลับใจ

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 17:1-9

    ทุกปีในวันอาทิตย์ที่ 2 ของเทศกาลมหาพรต หลังจากเราได้ยินคำบอกเล่าเรื่องการประจญพระเยซูเจ้าแล้ว พระศาสนจักรเชิญชวนเราให้รำพึงตามคำบอกเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง ... เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราเพ่งพินิจพระเยซูเจ้าเมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธจะใช้พระเทวภาพของพระองค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน เราเห็นพระเยซูเจ้าผู้ถ่อมตน พระเยซูเจ้าผู้รู้จักหิว พระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกประจญเหมือนมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง วันนี้ เราเพ่งพินิจพระสิริรุ่งโรจน์ที่ซ่อนอยู่ในพระองค์ คือพระเทวภาพของพระองค์...

    พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับเห็นพ้องกันที่จัดให้เหตุการณ์นี้อยู่ที่จุดเปลี่ยนในพันธกิจเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า ... เมื่อเริ่มต้นเทศน์สอน ฝูงชนติดตามพระองค์ไป แต่เขาเข้าใจพระองค์ผิด ความพยายามของเขาที่จะยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์หลังจากทรงทำอัศจรรย์ทวีขนมปังทำให้เราเห็นความเข้าใจผิดนี้ อันที่จริง พระเยซูเจ้าทรงทำงานล้มเหลว พระองค์ไม่สามารถนำฝูงชนไปสู่ความเชื่อแท้ได้ และในเวลาเดียวกัน ผู้มีความรู้ทางศาสนาของอิสราเอลก็ไม่ยอมรับพระองค์ พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีอ้างว่าตนเองกำลังปกป้องธรรมเนียมคำสั่งสอนที่ถูกต้อง และวางแผนจับผิดพระองค์ไม่เลิกรา และกล่าวหาว่าพระองค์กำลังทำลายศาสนายิว (มธ 12:2, 12:14, 12:24, 12:38, 15:8, 15:2, 16:1, 16:6)...

    เมื่อทรงตระหนักถึงความล้มเหลวในการเทศน์สอน พระเยซูเจ้าจึงทรงทุ่มเทความพยายามไปกับการอบรมสั่งสอนศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงประกาศแก่ “อัครสาวกสิบสองคน” ว่าในไม่ช้าพระองค์จะต้องประสบกับการทดลองครั้งใหญ่ พระองค์ทรงหลบหนีออกจากปาเลสไตน์ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่อันตรายสำหรับพระองค์ และทรงลี้ภัยอยู่ในเลบานอน ใกล้เมืองซาซารียาแห่งฟิลิป ในที่นั้น ห่างไกลจากฝูงชนและบรรดาธรรมาจารย์ พระองค์ทรงเรียกร้องให้เปโตรประกาศยืนยันความเชื่อของเขา และหลังจากนั้น พระองค์ทรงประกาศว่า “พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับการทรมานอย่างมากจากบรรดาผู้อาวุโส หัวหน้าสมณะ และธรรมาจารย์ จะทรงถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) ... แต่เปโตรกลับประจญพระเยซูเจ้า เมื่อเขาไม่ยอมรับทัศนคติเกี่ยวกับความตายนี้ พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเขา ... และทรงสัญญาว่า “พระสิริรุ่งโรจน์” จะมาถึงแน่นอน แต่จะมาถึงภายหลังกางเขนเท่านั้น “บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จกลับมาในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์” (มธ 16:27-28)...

    เรากำลังจะอ่านข้อความต่อไปนี้ในบริบทอันน่าเศร้านี้

ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชาย ไปบนภูเขาสูงที่ปราศจากผู้คน

    ก่อนอื่น ข้าพเจ้านึกถึงภาพเหตุการณ์นี้ในจินตนาการ ชายสี่คนกำลังเดินขึ้นไปตามทางบนภูเขา เขาเดินก้าวยาว ๆ ช้า ๆ ... เขามองเห็นภูมิทัศน์กว้างขึ้น อากาศสดชื่นมากขึ้น และเย็นมากขึ้น ... พื้นที่ราบอยู่ไกลออกไปเบื้องล่าง ... ฝูงชนก็อยู่ไกลเช่นกัน บนยอดเขามีแต่ความวิเวก ... ในความเงียบเท่านั้นที่เราจะพบพระเจ้าได้อย่างแท้จริง...

    ข้าพเจ้าเริ่มต้นจัดสรร “เวลาแสวงหาความวิเวก” ให้ตนเองหรือยังระหว่างเทศกาลมหาพรตปีนี้...

    เรารู้ว่า “ภูเขา” เป็น “หัวข้อ” ทางเทววิทยาที่มัทธิวชื่นชอบ เช่น ภูเขาแห่งการประจญ (มธ 4:8) ... ภูเขาซึ่งเป็นที่ประกาศเรื่องความสุขแท้ และธรรมบัญญัติใหม่ (มธ 5:1) ... ภูเขาซึ่งเป็นที่แบ่งปันขนมปัง (มธ 28:16) ... และบนภูเขาแห่งการสำแดงพระองค์นี้ การแสดงพระองค์บนภูเขาซีนายได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ “ภูเขาศิโยน” ในกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้เป็นเวทีสำหรับประกาศกที่จะประกาศถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า (อสย 2:2, สดด 2:6) แต่เป็นภูเขาอันต่ำต้อยใน “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” ที่เป็นประจักษ์พยานเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของช่างไม้ผู้ต่ำต้อยจากนาซาเร็ธ – ห่างไกลจากการเฉลิมฉลองในพระวิหาร...

    พระเจ้าทรงเผยพระองค์ในลักษณะของผู้ซ่อนเร้น ... พระเจ้าทรงปฏิเสธการถวายพระเกียรติ พิธีรีตอง และทุกสิ่งที่เป็นเหมือนการแสดงละคร เพราะพระวิหารที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ก็จะถูกทำลาย (มธ 24:1-3, 26:1)

    ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะพบพระเจ้าได้ในที่ใด...

แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง

    มัทธิว พูดถึง  “แสงสว่าง” มากกว่าผู้นิพนธ์พระวรสารสหทรรศน์อื่นอีกสองคน ... บนภูเขาซีนาย โมเสสได้รับแสงสะท้อนจากพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และ “ใบหน้าของเขามีแสงเรือง” (อพย 34:29, 35) ... เช่นเดียวกับที่ดาเนียล บรรยายภาพของ “บุตรแห่งมนุษย์” (ดนล 7:9) ด้วยคำว่าสีขาวเจิดจ้า แสงสว่าง ไฟ...

    คำกริยาภาษากรีก ที่มัทธิวใช้ในที่นี้คือ metamorphoun ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ลึกกว่าที่ใบหน้า พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนพระธรรมชาติ (metamorphosed) ... พระองค์ทรงแสดงพระองค์ใน “อีกรูปแบบหนึ่ง” ทำให้เราระลึกถึงข้อความที่เปาโลบรรยายความเคลื่อนไหวแบบกลับกัน “พระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า ... ทรงรับสภาพดุจทาส ...” (ฟป 2:6-7) แต่จะอธิบายความเป็นจริงที่บรรยายไม่ได้นี้อย่างไร ... ดังนั้น เขาจึงใช้ภาพลักษณ์ของ “แสงสว่าง”...

    ข้าพเจ้าเพ่งพินิจต่อไปอีกครู่หนึ่ง...

โมเสส และประกาศกเอลียาห์ สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์

    ตั้งแต่ยุคแรก ผู้อธิบายพระคัมภีร์ตั้งข้อสังเกตว่าอัครสาวกสามคนที่ได้รับเอกสิทธิให้เห็น “นิมิต” เหนือธรรมชาตินี้เป็นอัครสาวกกลุ่มเดียวกันที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพระเยซูเจ้าระหว่างที่ทรงเข้าตรีทูตในสวนเกทเสมนี (มธ 26:37) ... พระเยซูเจ้าทรงให้เขามีโอกาสเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่พระองค์จะได้รับ เพื่อให้พวกเขามีกำลังใจเมื่อต้องเห็นพระองค์อยู่ในสภาพที่ตกต่ำ...

เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ที่นี่สบาย น่าอยู่จริง ๆ ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ข้าพเจ้าจะสร้างเพิงขึ้นสามหลัง หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์”

    ความเป็นผู้นำของเปโตรเป็นที่ยอมรับมาแล้วก่อนหน้านั้นหกวัน หลังจากเขาได้ประกาศยืนยันความเชื่อของเขา เขาเป็นผู้พูดขึ้นมาโดยใช้คำว่า “ข้าพเจ้า” ด้วยความเชื่อมั่นใจตนเอง ด้วยความกระตือรือร้น และใจกว้าง ... เขาเห็นได้แล้วว่านี่คือพระเมสสิยาห์ที่ประชาชนรอคอย เพราะมีบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ปรากฏตัวมาอยู่กับพระองค์ คือ โมเสส และเอลียาห์ ผู้เป็นตัวแทนของธรรมบัญญัติและประกาศกทั้งหลาย โมเสสเป็นผู้เปิดฉากยุคของประชากรของพระเจ้าในทะเลทรายบนภูเขาซีนาย ... และเอลียาห์ ผู้จะกลับมา และเปิดฉาก “อวสานกาล” เสมือนเป็นผู้นำหน้าพระเมสสิยาห์ (มธ 17:10-13)...

    เปโตร ผู้เปี่ยมด้วยความยินดีกับความจริงที่เขาค้นพบ ต้องการ “หยุด” เวลานั้นไว้ เข้าต้องการจับเวลาแห่งความสุข และสิริรุ่งโรจน์นี้ไว้ตลอดไป “ข้าพเจ้าจะสร้างเพิงขึ้นสามหลัง”...

    ถ้าเราสามารถจับ และหยุดความสุขให้อยู่กับเราตลอดไปได้...

ขณะที่เปโตรกำลังพูดอยู่นั้น มีเมฆสว่างจ้าก้อนหนึ่งปกคลุมพวกเขาไว้...

    “เมฆ” นี้เป็นสัญลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระเจ้า (สดด 18:12, อพย 40:34-35, 1 พกษ 8:10-12) ตัดบท เปโตร ราวกับจะบอกว่าเปโตรจะไม่ได้สร้างพระนิเวศถวายพระเจ้า – แต่พระเจ้าเสด็จมาเพื่อสร้าง “พระนิเวศ” ของพระองค์เอง คือเมฆ...

    เราอาจแปลกใจกับข้อความที่ดูเหมือนสับสนนี้ เมฆ “สว่างจ้า” ซึ่ง “ปกคลุม” เขาไว้ ... นี่คือภาษาสัญลักษณ์ และเผยให้เรารู้ว่าเราไม่ควรคิดว่าข้อความนี้บรรยายเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นจริง ... เราพบคำว่า “(แผ่เงา) ปกคลุม” (episkazo ในภาษากรีก) เพียงสองครั้งตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ คือที่นี่ และในวันที่ทูตสวรรค์แจ้งสารต่อพระนางมารีย์  เมื่อพระจิตเจ้าทรง “แผ่เงาปกคลุม” พระนางมารีย์ (ลก 1:35) นักศึกษาพระคัมภีร์เชื่อว่าคำนี้มาจากคำภาษาฮีบรู ซึ่งมีความหมายพิเศษอย่างยิ่ง คือ Shekinah หรือ “ที่พำนัก” หรือ “การประทับอยู่” ของพระเจ้า...

... เสียงหนึ่งดังจากเมฆนั้นว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เราพึงพอใจยิ่งนัก จงฟังท่านเถิด”

    เสียงจากสวรรค์นี้รื้อฟื้นการเผยแสดงที่ปรากฏมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง กล่าวคือ พระเยซูเจ้าไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา พระองค์ทรงเป็นพระบุตรสุดที่รักหนึ่งเดียว ... ข้อความที่กล่าวแก่พระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว เมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจเทศน์สอนของพระองค์ ... บัดนี้ ได้ถูกกล่าวย้ำแก่บรรดาศิษย์ พร้อมกับข้อความใหม่ว่า “จงฟังท่านเถิด”...

    พระเจ้าข้า ในเทศกาลมหาพรตอันพิเศษนี้ โปรดทรงช่วยเราให้ฟังพระองค์อย่างจริงจัง เหมือนกับที่บางครั้งเราฟังข้อความบางอย่างที่เรารู้ว่าสำคัญสำหรับเรา...

เมื่อได้ยินดังนั้น ศิษย์ทั้งสามคนซบหน้าลงกับพื้นดิน มีความกลัวอย่างยิ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ทรงสัมผัสเขา ตรัสว่า “จงลุกขึ้นเถิด อย่ากลัวเลย”

    เมื่อพวกเขาซบหน้าลงกับพื้นดิน (ซึ่งเป็นคำที่มัทธิวชอบใช้) พวกเขายอมรับว่าเขาอยู่เบื้องหน้าการแสดงพระองค์ของพระเจ้า การนมัสการเป็นปฏิกิริยาปกติของมนุษย์ที่อยู่เบื้องหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์...

    ข้าพเจ้ารู้จักนมัสการหรือไม่ ... นี่คือการกระทำขั้นสูงสุดของมนุษย์...

    การดำรงชีพ ... การรัก ... การนมัสการ ... มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ถอยเข้าไปอยู่ภายในตนเอง ซึ่งเป็นเสมือนการทำลายตนเอง แต่มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้เปิดตนเองต้อนรับ “ผู้ที่ต่างจากเขา” ด้วยความรัก ... และเขาจะพบกับความอิ่มสมบูรณ์เมื่อเขาเปิดตนเองต้อนรับ “พระผู้ทรงต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง” ผ่านทางการนมัสการพระองค์ ... การทำเช่นนี้เป็นการทำลายตนเองโดยปริยาย กล่าวคือ มนุษย์ต้องตายเพื่อจะมีชีวิต ... คนเราต้องตายต่อตนเองก่อนที่เขาจะรักผู้อื่นได้...

    แต่ถ้ามนุษย์ซบหน้าลงกับพื้นดินเมื่อพระเจ้าประทับอยู่ใกล้เขา พระเยซูเจ้าจะ “เสด็จเข้ามาใกล้ ... ทรงสัมผัสเขา ... ทรงให้เขาลุกขึ้น” พวกเขาเป็นมิตรสหายของพระองค์ ... นี่คือกิริยาที่แสดงความรัก ... เป็นกิริยาที่แสดงออกถึงอานุภาพของพระเจ้าอีกด้วย ซึ่งเราจะเห็นนัยสำคัญบัดนี้...

เมื่อเงยหน้าขึ้น เขาไม่เห็นผู้ใด นอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระเยซูเจ้าทรงกำชับศิษย์ทั้งสามคนว่า “อย่าเล่านิมิตที่ได้เห็นนี้ให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย”

    มัทธิวจงใจใช้คำภาษากรีกว่า egeirein เพื่อบอกว่าพระเยซูเจ้าทรงให้มิตรสหายของพระองค์ “ลุกขึ้น” และพระองค์เอง “จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” ... เมื่อพระเจ้าตรัสจาก “เมฆ” พระองค์ไม่ได้ทำเช่นนั้นเพื่อกดหัวมนุษย์ และทำให้มนุษย์ล้มลง ตาย ซบลงกับพื้น แต่เพื่อยกพวกเขาขึ้น...

    ระหว่างนี้ เปโตร และเพื่อนของเขา ต้องลงมาจากภูเขา และเขาต้อง “เปลี่ยน” กิจวัตรประจำวัน ... เปโตรจะต้องดำเนินชีวิตผ่านวันที่ซ้ำซากจำเจ วันที่ยากลำบาก ความล้มเหลว การเบียดเบียน แต่ตลอดชีวิตของเขา เขาจะระลึกถึงห้วงเวลาอันน่าตื่นเต้นนี้ เมื่อเขา “ได้ยินเสียงนี้มาจากสวรรค์ ... บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้น” (2 ปต 1:16-18)...

    พิธีบูชาขอบพระคุณแต่ละครั้งของเรา เป็นเสมือนการหยุดพักบนภูเขากับพระเยซูเจ้า เพื่อทำให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้น ... แต่เราควรจำไว้เสมอว่า เราต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่ของเราอีกครั้งหนึ่ง...