สมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์
อิสยาห์ 60:1-6, เอเฟซัส 3:2-3, 5-6; มัทธิว 2:1-12
บทรำพึงที่ 1
เรื่องอุปมา
การตามหานำโหราจารย์ผู้ติดตามดวงดาวบนท้องฟ้า ให้ไปพบสามีภรรยายากจนคู่หนึ่งในถ้ำข้างเนินเขา
จอห์น ดอนน์ เป็นนักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษ ในศตวรรษที่ 17 นิยายเรื่องหนึ่งของเขา เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ออกตามหาพระเจ้า ข้าพเจ้าจะแบ่งปันเรื่องนี้กับท่านโดยดัดแปลงข้อความเล็กน้อย
วันหนึ่ง พระเอกของเรื่องเกิดความคิดว่าพระเจ้าจะต้องประทับอยู่บนยอดเขาสูงที่อยู่สุดปลายแผ่นดินโลก เขาจึงออกเดินทางตามหาภูเขาลูกนั้นเพื่อปีนขึ้นไป หลังจากเดินทางอย่างยากลำบากและอันตราย ผ่านป่ากว้างและรกทึบ ชายคนนี้ก็มาถึงภูเขาลูกนี้ ขณะที่เขายืนมองภูเขา เขาก็เห็นว่าภูเขานี้ทั้งสูงทั้งชันกว่าที่เขาคิด แต่เพราะเขาต้องการพบพระเจ้ามากกว่าสิ่งอื่นใด เขาจึงไม่ท้อใจ
ก่อนจะเริ่มต้นปีนเขา เขาสำรวจภูเขาลูกนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนจากทั้งสี่ด้าน และสรุปว่าเส้นทางที่ดีที่สุดคือต้องปีนขึ้นด้านตะวันออก เช้าวันรุ่งขึ้น ชายคนนี้เริ่มต้นปีนเขาตั้งแต่เช้าตรู่ โดยปีนขึ้นทางด้านตะวันออก
แต่ในเวลาที่ชายคนนี้เริ่มต้นปีนเขา พระเจ้า ผู้ประทับอยู่บนยอดเขานั้นจริง ๆ ทรงเริ่มคิดว่า “เรารักมนุษย์มาก เราจะทำอย่างไรเพื่อแสดงให้มนุษย์เห็นความรักยิ่งใหญ่ของเรา” แล้วพระเจ้าก็เกิดความคิดและตัดสินใจจะเสด็จลงไปจากภูเขา และประทับอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์เสมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้น พระเจ้าจึงสำรวจภูเขาทั้งสี่ด้าน และสรุปว่าเส้นทางที่น่าจะใช้เสด็จลงมาก็คือด้านตะวันตก เช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าก็เริ่มเสด็จลงมา
ดังนั้น ขณะที่ชายคนนี้กำลังปีนขึ้นภูเขาด้านตะวันออก พระเจ้าก็กำลังเสด็จลงมาทางด้านตะวันตก ทั้งสองฝ่ายสวนทางกันในด้านตรงกันข้ามกันของภูเขา
เมื่อชายคนนี้ขึ้นไปถึงยอดเขา เขาพบว่าที่นั่นว่างเปล่า เขาผิดหวัง และคิดว่า “พระเจ้าไม่ได้อยู่ที่นี่เลย” เขาถึงกับคิดว่า “บางทีพระเจ้าอาจไม่มีจริง ถ้าพระองค์ไม่อยู่บนยอดเขาแล้วพระองค์อยู่ที่ไหน” ชายคนนี้ซบหน้าลงกับพื้นดิน และเริ่มร้องไห้ หลังจากร้องไห้จนสะใจแล้ว เขาก็ลุกขึ้นนั่งและถามตนเองว่า
“ฉันจะลงจากเขาไปทำไม ฉันจะเดินทางที่ทั้งยาวนาน และอันตรายกลับไปหมู่บ้านเดิมของฉันทำไม ไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น นอกจากชาวบ้านที่ยากจน และไร้การศึกษา ถ้าฉันอยู่บนยอดเขานี้ตามลำพังต่อไปจะดีกว่ากลับไปที่นั่น”
เรื่องนี้จบลงที่จุดนี้ จอห์น ดอนน์ จบเรื่องนี้โดยไม่ได้บอกเราว่าชายคนนี้ตัดสินใจทำอะไร
ดอนน์ ตั้งใจเล่าเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องอุปมาสำหรับประชาชนในยุคของเขา หลายคนกำลังแสวงหาพระเจ้า พวกเขาตามหาพระองค์บนยอดเขา ในทะเลทราย และที่สุดปลายแผ่นดินโลก แต่เขาไม่เคยพบพระเจ้า
และเมื่อเขาไม่พบพระเจ้า เขาก็หมดกำลังใจ เหมือนกับชายในนิยายของดอนน์ หลายคนถึงกับสรุปว่าพระเจ้าไม่มีจริง ดอนน์กำลังบอกชายหญิงเหล่านี้ว่าพระเจ้าไม่ได้ประทับอยู่บนยอดเขา หรือกลางทะเลทราย หรือที่สุดปลายแผ่นดินโลก แต่พระองค์ทรงพำนักอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ พระองค์ประทับอยู่ในเมืองใหญ่เล็กทั้งหลายบนโลกนี้
นี่คือสาระสำคัญสำหรับเทศกาลพระคริสตสมภพ พระเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์และมาพำนักอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ เราจะพบพระองค์ได้ที่นั่น เราต้องแสวงหาพระองค์ที่นั่น
มีบทกลอนเก่าแก่บทหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์เจ้าอาวาสของวัดหนึ่ง ผู้ปีนขึ้นไปบนยอดหอคอยโบสถ์เพื่อจะเข้าใกล้พระเจ้าให้มากขึ้น และได้ยินพระวาจาของพระเจ้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และถ่ายทอดให้สัตบุรุษได้ แต่ยิ่งปีนสูงขึ้น พระสงฆ์คนนี้กลับรู้สึกว่าเขายิ่งห่างไกลพระเจ้า ในที่สุด เขาก็ร้องออกมาด้วยความรู้สึกสิ้นหวังจากยอดหอคอยว่า “พระเจ้าข้า ตรัสกับข้าพเจ้าเถิด พระเจ้าข้า พระองค์อยู่ที่ไหน”
ทันใดนั้น พระสงฆ์ก็ได้ยินเสียงหนึ่งตะโกนขึ้นมาจากข้างล่างว่า “ลูกเอ๋ย เราอยู่ที่นี่ อยู่บนพื้นดินข้างล่างนี้ท่ามกลางประชากรของเรา”
เรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจวันฉลองพระคริสตเจ้าแสดงองค์ ซึ่งเราฉลองกันในวันนี้ เราฉลองการมาเยือนของโหราจารย์จากดินแดนตะวันออกเพื่อมานมัสการพระเยซูเจ้า โหราจารย์เหล่านี้เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์เปอร์เซีย และเป็นผู้มีความรู้มากที่สุดในยุคของเขา วิชาความรู้ของเขาบอกเขาว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งกำลังจะประสูติมาบนโลกนี้ ดังนั้น คืนวันหนึ่ง เมื่อเขาเห็นดวงดาวที่แปลกประหลาดที่เคลื่อนตัวแปลก ๆ เขาจึงออกเดินทางติดตามดาวดวงนั้น การแสวงหาของเขาไม่ได้นำเขาไปสู่ยอดเขา หรือกลางทะเลทราย แต่นำไปยังหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของประชาชนที่ยากจน และไร้การศึกษา ดวงดาวนำเขาไปยังถ้ำแห่งหนึ่งข้างเนินเขา
นิยายของจอห์น ดอนน์ ช่วยเราให้เข้าใจสองบทเรียนสำคัญของเทศกาลพระคริสตสมภพ และวันฉลองวันนี้
บทเรียนแรก คือ พระเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์มาพำนักอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์จริง ๆ บทเรียนที่สองคือประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกมาพำนักด้วยนั้นไม่ใช่นักบุญในอาราม ไม่ใช่ปัญญาชนในมหาวิทยาลัย หรือกษัตริย์ในพระราชวัง แต่พระองค์ทรงเลือกมาพำนักท่ามกลางคนยากจน คนไร้บ้าน และผู้หิวโหย
ถ้าเราต้องการพบพระเจ้าในโลกของเราทุกวันนี้ เราต้องมองหาพระองค์ในสถานที่เดียวกันกับที่โหราจารย์พบพระองค์ – มิใช่ท่ามกลางบุคคลที่ยิ่งใหญ่ และผู้มีอำนาจ แต่ท่ามกลางคนต่ำต้อย และไร้อำนาจ
ถ้าเราไม่ใส่ใจกับสารที่สื่อแก่เราในวันฉลองนี้ เราย่อมเสี่ยงที่จะเป็นเหมือนชายในนิยายของดอนน์ เราเสี่ยงที่เป็นเหมือนกับประชาชนที่ดอนน์ตั้งใจให้เป็นผู้อ่านเรื่องอุปมานี้
ถ้าเราต้องการพบพระเยซูเจ้าในโลกของเรา เราต้องมองหาพระองค์ท่ามกลางคนยากจน คนหิวโหย และคนไร้บ้าน
ขอให้ระลึกถึงข้อความที่โด่งดังในพระวรสารของมัทธิว หรือข้อความที่พระมหากษัตริย์ตรัสกับคนที่อยู่เบื้องซ้ายของพระองค์ว่า “เมื่อเราหิว ... กระหาย ... เจ็บป่วย และอยู่ในคุก ท่านก็ไม่มาเยี่ยม ... ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:42-45)
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยบทกลอนที่ย่อสารของเทศกาลพระคริสตสมภพ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่นำไปปฏิบัติได้
เมื่อบทเพลงของทูตสวรรค์เงียบเสียง
เมื่อดาวบนท้องฟ้าดับลับไป
เมื่อพระราชา และเจ้าชายอยู่ในที่พักของตน
เมื่อคนเลี้ยงแกะกลับไปดูแลฝูงแกะ
งานของเทศกาลพระคริสตสมภพจึงเริ่มต้น
นั่นคือ การเลี้ยงอาหารคนหิวโหย
ปล่อยตัวนักโทษ
สร้างชาติขึ้นใหม่
นำสันติภาพมาสู่พี่น้อง
และสร้างเสียงดนตรีด้วยหัวใจ
(ผู้ประพันธ์นิรนาม)
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 2:1-12
ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮม...
นี่เป็นข้อความเดียวที่มัทธิวเอ่ยถึงการประสูติของพระคริสตเจ้า ซึ่งดูเหมือนว่าจะน้อยเกินไป...
มัทธิวต่างจากลูกา ดูเหมือนว่าเขาแทบไม่สนใจเหตุการณ์นี้เลย แต่มุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจนัยสำคัญของเหตุการณ์ และเขาเปิดเผยนัยสำคัญนี้ด้วยคำบอกเล่าเรื่องโหราจารย์ ซึ่งเสนอรายละเอียดมาก (และถ้าเราสนใจ) เราจะเห็นว่านี่คืออารัมภบทของพระวรสารตามคำบอกเล่าของมัทธิว
(ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด) โหราจารย์บางท่านจากทิศตะวันออก เดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม สืบถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด”
มัทธิวนำสองตำแหน่งมาอยู่รวมกัน เหมือนส่วนประกอบสองอย่างของวัตถุระเบิด คือ กษัตริย์ และกษัตริย์ชาวยิว...
คำถามของคนต่างชาติตามถนนหนทางในกรุงเยรูซาเล็ม คงฟังดูเหมือนคำประชดที่โหดร้ายสำหรับชาวยิว เราเข้าใจได้ว่าคำถามนี้ทำให้เฮโรดผู้ขี้ระแวง ต้องวุ่นวายใจเพียงใด ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ตลอดชีวิตของพระองค์ เฮโรดมีแต่ความกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจ เขามองเห็นแผนการร้ายไปทุกทิศทาง เขาอาศัยอยู่ในป้อมปราการ และสั่งประหารชีวิตโอรสสามคน มารดาของมเหสี รวมทั้งมเหสีของพระองค์เอง ... นี่คือข้อมูลทางประวัติศาสตร์...
แต่นัยสำคัญที่มัทธิวต้องการบอกเกี่ยวกับตำแหน่ง “กษัตริย์ชาวยิว” มีความหมายลึกกว่านั้น อาณาจักรสวรรค์จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่เขาเอ่ยถึงบ่อย ๆ ในพระวรสารของเขา มัทธิวประกาศตั้งแต่ต้นว่าใครคือกษัตริย์ของอาณาจักรนี้...
ตั้งแต่หน้าแรกของพระวรสารของมัทธิว เขาบอกว่ามีการแย่งชิงมงกุฎกษัตริย์ กล่าวคือ ใครกันแน่ที่เป็นกษัตริย์ของชาวยิว – เฮโรด ทรราชผู้ทรงอำนาจ ชอบใช้ความรุนแรง และฆาตกรรม ... หรือพระเยซูน้อยผู้นี้ ผู้อ่อนแอ ปราศจากอาวุธ และวันหนึ่งจะสิ้นพระชนม์อย่างเหยื่อผู้บริสุทธิ์...
ในหน้าสุดท้ายของพระวรสารของเขา มัทธิวจะลงท้ายด้วยการเอ่ยถึงตำแหน่ง “กษัตริย์ชาวยิว” อีกครั้งหนึ่ง ตามลักษณะวรรณกรรมเซมิติก พวกทหารจะเยาะเย้ยพระองค์ว่า “ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว” (มธ 27:29) และบอกเหตุผลว่าทำไมปิลาตจึงประหารพระเยซูเจ้า เขาให้ติดป้ายเหนือพระเศียรของพระเยซูเจ้า ผู้ถูกตรึงกางเขนว่า “นี่คือเยซูกษัตริย์ของชาวยิว” (มธ 27:37) เมื่อเห็นเช่นนี้ บรรดาธรรมาจารย์ และมหาสมณะ พากันเยาะเย้ยพระองค์ว่า “เขาเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล จงลงมาจากไม้กางเขนเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะเชื่อ” (มธ 27:42)...
ในคำบอกเล่าเรื่องโหราจารย์ มัทธิวเสนอไว้ตั้งแต่เรื่องการประสูติของพระองค์แล้วว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ถ่อมตน ทรงเป็น “ผู้รับใช้ผู้ทนทรมาน” ที่อิสยาห์กล่าวถึง ... ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ “นั่งมาบนหลังลา” ระหว่างช่วงเวลาแห่งชัยชนะสั้น ๆ ของพระองค์เมื่อประชาชนโห่ร้องโบกใบลานต้อนรับพระองค์ ... ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ไม่ได้เสด็จมา “เพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:28) ... ทรงเป็นผู้ขอร้องมิตรสหายของพระองค์มิให้ทำตัว “เป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น” แต่ต้อง “ทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น” (มธ 20:25-26)...
ตำแหน่งกษัตริย์ของพระองค์ไม่ใช่ของโลกนี้ และไม่เหมือนกับอำนาจปกครองของเฮโรดเลย อันที่จริง ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าจะเผยให้เห็นได้เพียงระหว่างพระทรมานของพระองค์เท่านั้น...
เราเข้าใจหรือไม่ ว่าข้อความที่เราใช้สวดภาวนาบ่อย ๆ ว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง” ... “ผู้ทรงจำเริญและครองราชย์ร่วมกับพระองค์ และพระจิตเจ้าตลอดนิรันดร” หมายถึงอะไร...
“พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น”...
ในพิธีกรรมวันนี้ พระศาสนจักรนำคำบอกเล่าเรื่องการแสดงองค์นี้มารวมกับข้อความจากคำทำนายของอิสยาห์ - ซึ่งเลือกมาจากข้อความมากมายในพระคัมภีร์ที่ประกาศการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ - ว่าพระองค์ทรงเหมือนกับ “แสงสว่าง” ว่า “เยรูซาเล็มเอ๋ย จงลุกขึ้นฉายแสง เพราะว่าความสว่างของเจ้ามาแล้ว และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าขึ้นมาเหนือเจ้า เพราะว่า ดูเถิด ความมืดจะปกคลุมแผ่นดิน ... แต่พระเจ้าจะเสด็จขึ้นมาเหนือเจ้า และเจ้าจะเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เหนือเจ้า บรรดาประชาชาติจะมายังความสว่างของเจ้า และพระราชาทั้งหลายมาสู่ความสดใจของเจ้า” (อสย 60:1-6) ... เรายังจำได้ด้วยว่าระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จ และระหว่างพิธีมิสซาเที่ยงคืนในเทศกาลพระคริสตสมภพ มีการประกาศถึงแสงสว่างของพระเมสสิยาห์ว่า “ประชาชนผู้เดินในความมืดจะเห็นแสงสว่างยิ่งใหญ่ ... เพราะทารกคนหนึ่งได้เกิดมาเพื่อเรา” (อสย 9:1-5)...
“ดวงดาว” ยังมีความหมายที่หลากหลายมาก ดังจะเห็นได้จากข้อความที่นักบุญเปโตรกล่าวถึงความเชื่อว่าเหมือนกับ “ดาวประจำรุ่งจะปรากฏขึ้นในจิตใจของท่าน” (2 ปต 1:19) ดาวนี้เป็นตัวแทนแสงสว่างของพระเจ้า พระหรรษทานของพระเจ้า – หมายถึงการทำงานของพระเจ้าในหัวใจ และวิญญาณของมนุษย์ทุกคน เพื่อนำทางทุกคนไปหาพระคริสตเจ้า ... ถูกแล้ว พระเจ้ากำลังทอดพระเนตรโหราจารย์ที่ไม่ใช่ชาวยิวเหล่านี้ด้วยความรัก ขณะที่เขาเดินทางไปหาพระเยซูเจ้า...
เช่นเดียวกับในชีวิตของข้าพเจ้า ซึ่งมีพระหรรษทานที่ช่วยนำทางข้าพเจ้าไปสู่การค้นพบพระเยซูเจ้า ... ข้าพเจ้ามีความกล้าหาญที่จะติดตามไปไม่ว่าพระหรรษทานนี้จะนำข้าพเจ้าไปที่ใดหรือไม่ ... ข้าแต่แสงอันนุ่มนวล โปรดนำทางข้าพเจ้าทีละก้าว ให้ข้าพเจ้าก้าวไปหาพระองค์เทอญ...
... “จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์”
“นมัสการ” หรือแปลตามตัวอักษรว่า “กราบลง” ... พระวรสารหน้านี้ย้ำคำนี้ถึงสามครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนคติอันจริงใจของโหราจารย์ที่ไม่ใช่ชาวยิวเหล่านี้ ว่าเขามาเพื่อ “นมัสการ”
ส่วนข้าพเจ้าเล่า ... ข้าพเจ้านมัสการเป็นบางครั้งหรือไม่ ... ข้าพเจ้านมัสการอะไร ข้าพเจ้ากราบลงต่อหน้าใคร ... เมื่อข้าพเจ้าก้มศีรษะคำนับในเวลาที่ยกศีลมหาสนิทระหว่างพิธีมิสซา ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายของการคำนับนี้หรือไม่ ...
เยาวชนในวันนี้ค้นพบอีกครั้งหนึ่งว่าการก้มลงกราบนี้หมายถึงการยอมรับว่าตนเองเป็นเพียงความเปล่า และการหมอบกราบบนพื้นเป็นเครื่องหมายของการนมัสการด้วยทั้งตัวตนของเขา...
เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงทราบข่าวนี้ พระองค์ทรงวุ่นวายพระทัย ชาวกรุงเยรูซาเล็มทุกคนต่างก็วุ่นวายใจไปด้วย พระองค์ทรงเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะ และธรรมาจารย์...
ในหัวใจของคำบอกเล่าเรื่องพระคริสตเจ้าแสดงองค์นี้ มัทธิวเสนอ “สองทัศนคติ” ให้เราไตร่ตรอง ซึ่งเราพบกับสองทัศนคตินี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในพระวรสารของเขา
ทัศนคติแรก คือ “การปฏิเสธ” ของผู้นำทางการเมืองและผู้นำศาสนาของชาวยิว คนเหล่านี้ควรเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่มองเห็น และรู้จักพระเมสสิยาห์ แต่พวกเขามัวแต่ทำอะไรอยู่ ... พวกเขาหวาดกลัว วิตกกังวล ... พวกเขาไม่ยอมเคลื่อนไหว ... พวกเขาถึงกับพยายามฆ่าพระเยซูเจ้าตั้งแต่ต้น เราแทบจะได้ยินตั้งแต่เวลานี้แล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงคร่ำครวญกับชะตากรรมของกรุงเยรูซาเล็ม “วิบัติจงเกิดแก่ท่าน ธรรมาจารย์ และฟาริสี ... เยรูซาเล็มเอ๋ย เยรูซาเล็ม เจ้าฆ่าประกาศก ... กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของท่าน ... แต่ท่านไม่ต้องการ” (มธ 23:27-37)...
ทัศนคติที่สอง คือ “การยินดีต้อนรับ” ของโหราจารย์ผู้ไม่ใช่ชาวยิว ... แม้ว่าคนเหล่านี้ไม่มีความรู้ที่จะทำให้เขารู้จักพระเมสสิยาห์ แต่เขาเป็นกลุ่มบุคคลที่ออกเดินทางและตามหา ... แทนที่จะวิตกกังวล พวกเขากลับมีความยินดีอันยิ่งใหญ่ ... เราได้ยินบทสรุปของพระวรสารฉบับนี้ตั้งแต่บัดนี้แล้วว่า “จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (28:19)...
อันที่จริง ระหว่างศตวรรษแรก ๆ พระวรสารหน้านี้ช่วยอธิบายให้คริสตชนที่เป็นชาวยิวเข้าใจ ว่าเหตุใดบุคคลส่วนใหญ่ในพระศาสนจักรจึงมาจากชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวยิว แม้ว่าพระเจ้าได้ทรงให้ความสำคัญกับอิสราเอลมากเช่นนี้
มัทธิวแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ที่คาดหมายว่าจะเสด็จมาเพื่อมนุษย์ทุกคน และ “ชาติอิสราเอลใหม่” จะประกอบด้วยมนุษย์ชายหญิงทุกคน – ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือไม่ก็ตาม – ผู้ลงกราบนมัสการพระเยซูเจ้า ... ข้อความนี้ถูกประกาศไว้แล้วในคำทำนายว่า กรุงเยรูซาเล็มจะกลายเป็นเมืองหลวงของชนชาติต่าง ๆ ... “เหล่าอูฐจะมาห้อมล้อมเจ้า อูฐหนุ่มจากมีเดียนและเอฟาห์ เขาเหล่านั้นจะมาจากเชบา เขานำทองคำและกำยานมา และจะบอกข่าวดีถึงกิจการอันน่าสรรเสริญของพระเจ้า” (อสย 60:6) ... ชาวอิสราเอลจำได้ว่า พระราชินีแห่งเชบาเสด็จจากดินแดนห่างไกลมายังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อมาพบกษัตริย์ซาโลมอน ... บทสดุดี 71 ที่ใช้ขับร้องระหว่างวันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ ก็กล่าวถึงการเปิดตัวต้อนรับชาวโลกว่า “พระราชาแห่งทาร์ซิช และเกาะทั้งหลาย จะนำของถวายมาให้พระองค์” และมัทธิว คนเดียวกันนี้จะย้ำในพระวรสารของเขา (8:11) ว่าคนจำนวนมาก “จะมาจากทิศตะวันออกและตะวันตก และจะนั่งร่วมโต๊ะกับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ในอาณาจักรสวรรค์” เราเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่ามัทธิวมีแนวทางอย่างไรในการเขียนพระวรสาร
ถูกแล้ว โหราจารย์เป็นตัวแทนของบุคคลที่ไม่เชื่อในพระเจ้าในทุกยุคสมัย เราไม่ได้ดูถูกดูแคลนคนเหล่านี้ ... ตรงกันข้าม ... เพื่อนหลายคนของเราดำเนินชีวิตอย่างจริงใจต่อสิ่งที่เขายึดมั่น เขาดำเนินชีวิตตามทำนองคลองธรรม มีความตระหนักอย่างลึกซึ้งในเรื่องของความยุติธรรมและการรับใช้ผู้อื่น มีชีวิตครอบครัวที่น่าจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง และปฏิบัติหน้าที่ตามสายอาชีพของตนอย่างดีเยี่ยม แต่กระนั้น เขาก็ไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้า...
วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์เป็นวันฉลองสำหรับมนุษย์ทุกคนที่ไม่รู้จักพระเยซูเจ้า ... ทุกคนที่มีความเชื่อแตกต่างจากเรา ... แต่พระเจ้าก็ยังรักเขา ประทานความสว่างแก่เขา และดึงเขามาหาพระองค์ผ่านทางพระหรรษทานที่มองไม่เห็นของพระองค์... แต่เราตัดสินพวกเขาอย่างไร...
เพราะประกาศกเขียนไว้ว่า “เมืองเบธเลเฮม ดินแดนยูดาห์ ... ผู้นำคนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา”
ท่านอาจสงสัยว่าหลังจากได้นำทางโหราจารย์เป็นเวลานานเช่นนี้แล้ว ทำไมดาวจึงไม่นำทางเขาเดินทางตรงไปยังเมืองเบธเลเฮม ใกล้พระเยซูเจ้า ... ทำไมเขาจึงเดินทางอ้อมผ่านกรุงเยรูซาเล็ม ผ่าน “ธรรมาจารย์ และหัวหน้าสมณะ” ...ทั้งนี้เพราะพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาของพระองค์ กล่าวคือ พระองค์ทรงเสนอความรอดพ้นให้แก่มนุษย์ทุกคน แต่ต้องผ่านชาวยิว (รม 11:11)...
การเดินทางอ้อมผ่านกรุงเยรูซาเล็ม ยังมีนัยสำคัญอีกข้อหนึ่งด้วย คือเราไม่สามารถทำอะไรโดยปราศจากพระวาจาของพระเจ้า – ปราศจากพระคัมภีร์ – ถ้าเราต้องการพบพระคริสตเจ้าอย่างแน่นอน ... เรารำพึงไตร่ตรองตามพระวาจา และพระคัมภีร์เสมอหรือเปล่า...
แล้วเปิดหีบสมบัติ นำทองคำ กำยาน และมดยอบออกมาถวายพระองค์ ... และกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น
“การนมัสการ” เป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของพระศาสนจักร การนมัสการแท้ คือ “การถวายแด่พระเจ้าผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ และจากแผ่นดิน" – ดังนั้น จึงหมายถึงทุกสิ่งที่ทุกอารยธรรมถือว่ามีค่า...
การพบกับพระคริสตเจ้าจะเปลี่ยนแปลงชีวิต เพราะทางอีกสายหนึ่งเปิดออกเบื้องหน้าเราแล้ว... นี่คือข่าวดีจริง ๆ พระเจ้าข้า ...