วันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
บุตรสิรา 3:2-7, 12-14; โคโลสี 3:12-21; มัทธิว 2:13-15, 19-23
บทรำพึงที่ 1
พยายามมากขึ้นสักนิด!
สิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกของเราในครอบครัว คือ พยายามทำให้มากกว่าที่เราคิดว่าสามารถทำได้สักนิดหนึ่งในแต่ละวัน
ในประเทศเยอรมนี มีเมืองหนึ่งชื่อไวน์สเบิร์ก ที่นอกเมืองมีเนินเขาสูงลูกหนึ่ง บนยอดเนินนี้เป็นที่ตั้งของป้อมโบราณ ชาวเมืองไวน์สเบิร์ก มีตำนานที่น่าสนใจเกี่ยวกับป้อมแห่งนั้น และเนินเขาลูกนั้น
ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ 15 ในยุคที่มนุษย์ยกย่องความกล้าหาญและเกียรติยศ เนินเขานี้เคยถูกศัตรูโอบล้อมไม่ให้ชาวเมืองออกมาจากป้อมได้ จากนั้น ผู้บัญชาการกองทัพศัตรูได้ส่งสารไปยังป้อม และบอกว่าเขาจะยอมปล่อยสตรี และเด็กออกมาจากป้อมโดยไม่ทำร้าย ก่อนที่เขาจะเริ่มโจมตีป้อม
หลังจากการเจรจาต่อรอง ผู้บัญชาการกองทัพศัตรูรับประกันด้วยเกียรติของเขาว่าเขาจะยอมให้สตรีแต่ละคนนำสิ่งของมีค่าที่สุดของนางติดตัวไปด้วย ถ้านางสามารถแบกสิ่งของนั้นไปได้
คุณคงพอจะเดาได้ว่ากองทัพศัตรูตกตลึงและประหลาดใจมากเพียงไร เมื่ออีกไม่กี่นาทีต่อมา เขาเห็นพวกสตรีเดินออกมาจากป้อม แต่ละคนแบกสามีของนางไว้บนหลัง
ข้าพเจ้าชอบตำนานนี้ มิใช่เพราะมีการหักมุมอย่างสร้างสรรค์ แต่เพราะความจริงอันเป็นนิรันดรของเรื่องนี้ด้วย
สิ่งมีค่าที่สุดของภรรยาคือสามีของนาง และสิ่งมีค่าที่สุดของสามีก็คือภรรยาของเขา หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งมีค่าที่สุดที่สามีและภรรยาครอบครองอยู่ก็คือกันและกัน เขารักกันอย่างไร เขาก็จะรักบุตรของเขาด้วย และบุตรของเขาก็จะรักเขาอย่างเท่าเทียมกัน
แต่การเป็นบิดาที่ดี หรือมารดาที่ดี หรือบุตรที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เราต้องใช้ความพยายามสร้างขึ้นมา คอลัมนิสต์ชื่อ ซิดนีย์ แฮริส คิดเช่นนี้เมื่อเขาพูดว่าการมีลูกไม่ได้ทำให้หญิงคนหนึ่งเป็นมารดา เหมือนกับที่การมีเปียโนไม่ทำให้เธอกลายเป็นนักดนตรี
และพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ก็ทรงคิดเช่นนี้เมื่อพระองค์ตรัสถึงบิดาทั้งหลายว่า “การที่พ่อคนหนึ่งมีลูกย่อมง่ายกว่าการที่ลูก ๆ จะมีพ่อ”
ทั้งหมดนี้นำเรามาสู่การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเราเฉลิมฉลองกันวันนี้ และถือว่าเป็นหนึ่งในวันฉลองสำคัญที่สุดของปีทีเดียว เพราะนี่คือวันฉลองที่เข้าถึงหัวใจของชีวิตประจำวัน และเข้าถึงหัวใจของพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับร้อยละ 95 ของประชากรในโลกนี้ ทั้งนี้เพราะพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ใช่กระแสเรียกที่ลึกลับแปลกประหลาด มิใช่กระแสเรียกให้ทำสิ่งที่อันตรายหรือยากเย็น มิใช่กระแสเรียกให้เขาอาสาสมัครทำงานในโครงการช่วยเหลือสังคม และมิใช่กระแสเรียกให้เขาทำหน้าที่ผู้อ่านพระคัมภีร์ หรือผู้ถวายมิสซาเพื่อสัตบุรุษในเขตวัด
แต่กระแสเรียกอันดับแรกคือให้เขาเป็นบิดาที่ดี มารดาที่ดี เป็นบุตรหรือธิดาที่ดี นี่คือกระแสเรียกอันดับแรกสำหรับพวกเราส่วนใหญ่ในพระศาสนจักร และถ้าเราไม่ปฏิบัติตามกระแสเรียกนี้ เราก็ละเลยกระแสเรียกอันดับแรกของเรา นี่คือเหตุผลที่ทำให้การฉลองในวันนี้สำคัญมาก วันฉลองนี้นำเราย้อนกลับมาสู่พื้นฐานของชีวิตคริสตชน นำเราย้อนกลับมาสู่หัวใจของความศักดิ์สิทธิแท้ นั่นคือ การเลียนแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ การเป็นบิดาให้เหมือนกับที่โยเซฟเป็น การเป็นมารดาให้เหมือนกับที่พระนางมารีย์ทรงเป็น และการเป็นบุตร หรือธิดาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงเป็น
เมื่อข้าพเจ้าคิดว่าครอบครัวศักดิ์สิทธิ์จะแนะนำอะไร ถ้าเราขอคำแนะนำว่า ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้ ข้าพเจ้าคิดถึงหนังสือ USA Today ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 1987
ในหน้าแรกของหนังสือฉบับนี้เป็นภาพ 4 สี ของ เลดี้เบิร์ด จอห์นสัน ภรรยาของประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน วันนั้นเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 75 ของเธอ และภาพนั้นถ่ายไว้ขณะที่เธออยู่ที่ฟาร์มปศุสัตว์ของเธอในรัฐเท็กซัส และกำลังถือช่อดอกไม้สีเหลืองที่ขึ้นตามหนองน้ำ
บทความนั้นบอกว่าเธอยังคงได้รับการยึดถือเป็นต้นแบบของสตรีหมายเลขหนึ่งสมัยใหม่ในทำเนียบขาว เมื่อนักข่าวที่สัมภาษณ์ถามว่าเธอมีคำแนะนำอะไรจะมอบให้แก่ประชาชนในวันครบรอบวันเกิด 75 ปี ของเธอหรือไม่ เลดี้เบิร์ด ตอบว่า “มีซิ” แล้วเธอก็เสริมว่า “ในแต่ละวัน ให้ทำมากกว่าที่คุณคิดว่าคุณสามารถทำได้สักนิดหนึ่ง”
ข้าพเจ้าชอบคำแนะนำนั้น ข้าพเจ้าคิดว่านี่อาจเป็นคำแนะนำที่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์จะมอบให้แก่เรา ถ้าเราขอคำแนะนำว่าทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนดีกว่าเดิมได้ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์คงจะตอบว่า
ในแต่ละวัน จงทำให้มากกว่าที่ท่านคิดว่าท่านทำได้สักนิดหนึ่ง
ในแต่ละวัน จงรักให้มากกว่าที่ท่านคิดว่าท่านสามารถรักได้สักนิดหนึ่ง
ในแต่ละวัน จงให้อภัยมากกว่าที่ท่านคิดว่าท่านสามารถให้อภัยได้สักนิดหนึ่ง
ในแต่ละวัน ให้ยื่นมือไปหาคนที่กำลังเป็นทุกข์ให้มากกว่าที่ท่านคิดว่าท่านสามารถทำได้สักนิดหนึ่ง
ในแต่ละวัน ให้เสียสละเพื่อผู้อื่นให้มากกว่าที่ท่านคิดว่าท่านสามารถเสียสละได้สักนิดหนึ่ง
ในแต่ละวัน จงให้กำลังใจกันและกันให้มากกว่าที่ท่านคิดว่าท่านสามารถทำได้สักนิดหนึ่ง
ถ้าเราแต่ละคนในวันนี้กำหนดข้อตั้งใจสำหรับปีใหม่ไว้เช่นนี้ ก็จะเป็นหนึ่งในของขวัญอันวิเศษสุดที่เราสามารถมอบให้แก่กันและกันได้
เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยคำภาวนาต่อไปนี้
พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ตระหนักว่าสิ่งมีค่าที่สุดที่เรามีก็คือกันและกัน
โปรดทรงช่วยเราให้เข้าใจว่าการเป็นมารดา บิดา บุตร หรือธิดาไม่ใช่เรื่องง่าย
และเราต้องออกแรงพยายาม
โปรดทรงช่วยเราให้กำหนดข้อตั้งใจสำหรับปีใหม่นี้
คือในแต่ละวัน ให้เราทำให้มากกว่าที่เราคิดว่าเราทำได้สักเล็กน้อย
ถ้าเราทำเช่นนี้
เมื่อชีวิตของเราบนโลกนี้สิ้นสุดลง
เราจะเข้าไปใกล้พระบัลลังก์ของพระองค์ในสวรรค์
ได้ใกล้ชิดมากกว่าที่เราคิดว่าเราสามารถทำได้สักเล็กน้อย
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 2:13-22
เมื่อบรรดาโหราจารย์กลับไปแล้ว ...
ถ้าท่านมีพระคัมภีร์อยู่ในบ้าน และท่านกำลังกระหายความรู้ฝ่ายจิต ให้อ่านทบทวน “บทปฐมวัยของพระเยซูเจ้า” ในพระวรสารของนักบุญมัทธิว โดยพยายามมองเหตุการณ์จากมุมมองของมัทธิวและผู้อ่านกลุ่มแรก ท่านจะเห็นได้ว่ามีข้อคิดทางเทววิทยามากมายซ่อนอยู่ในคำบอกเล่านี้
- ในการลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า มัทธิวเรียกพระเยซูเจ้าว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” และ “ผู้ทรงสืบตระกูลมาจากอับราฮัม”
- ในการแจ้งสารแก่โยเซฟ เด็กคนเดียวกันนี้เริ่มต้นทำให้คำสัญญาต่าง ๆ ที่พระเจ้าตรัสผ่านประกาศก “กลายเป็นความจริง” และถูกเปิดเผยว่าเป็น “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” และ “พระเจ้าสถิตกับเรา”
- ต่อจากนั้น มัทธิวเล่าเรื่องการมาเยือนของโหราจารย์ ... ไม่มีการเอ่ยถึงคนเลี้ยงแกะชาวยิว ... แม้ว่าได้รับคำเตือนแล้วว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นที่ชานเมือง (เบธเลเฮม อยู่ห่างไปเพียง 8 กม.) แต่คนในกรุงเยรูซาเล็มก็ไม่เคลื่อนไหว ... ในขณะที่คนต่างชาติเดินทางมาจากแดนไกลทางทิศตะวันออก มาคุกเข่าเบื้องหน้าทารกน้อย ซึ่งบัดนี้ถูกเรียกว่า “ผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา”...
ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาเข้าฝันโยเซฟ...
ในบทอ่านวันนี้ เราพบชื่อของโยเซฟถึงสี่ครั้ง โดยที่ไม่เอ่ยชื่อบุคคลอื่นเลย โยเซฟคือบุคคลสำคัญในคำบอกเล่านี้ ในฐานะหัวหน้าครอบครัว เขาเป็นผู้รับผิดชอบ “คนกลุ่มเล็กนี้” ซึ่งพระวรสารกล่าวถึงโดยไม่ระบุชื่อว่า “พระกุมาร และพระมารดา”
เราสังเกตด้วยว่า ในพระวรสารหน้านี้ - ซึ่งให้ความสำคัญกับโยเซฟมาก - แต่โยเซฟไม่เอ่ยคำพูดใดเลยแม้แต่คำเดียว เขายืนอยู่ด้านหน้าบนเวที สารจากสวรรค์ก็ส่งถึงเขา เขาไม่พูด ... แต่เขาลงมือทำ...
จงลุกขึ้น พาพระกุมาร และพระมารดาหนีไปประเทศอียิปต์
นักวิชาการชาวฮีบรูทุกคนจำคำพูดนี้ได้เพราะเห็นคำนี้บ่อยมากในพระคัมภีร์ “Koum - จงลุกขึ้น” ... นี่คือคำสั่งสำหรับกระแสเรียกของทุกคน อับราฮัม (ปฐก 13:17) เอลียาห์ (1 พกษ 19:5) คนรักในเพลงซาโลมอน (2:10) โยนาห์ (1:2) เยรูซาเล็ม (อสย 60:1) ดาเนียล (10:11) ... เราพบคำว่า “ลุกขึ้น” ได้ทั่วพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ด้วยเช่นกัน เช่น มัทธิว 2:13, 2:20, 9:5, 17:7, 26:46; มาระโก 10:49; ลูกา 17:19, 22:46; ยอห์น 5:8; กิจการอัครสาวก 3:6, 8:26, 9:11, 9:34, 9:40, 12:17, 14:10...
ถ้าข้าพเจ้ารับฟัง ข้าพเจ้าก็จะได้ยินพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าเช่นกันว่า “จงลุกขึ้น”...
พระเจ้าทรงต้องการให้มนุษย์ยืนขึ้น ... พระเจ้าทรงกระตุ้นให้มนุษย์ลงมือทำงาน...
ในชีวิตครอบครัวซึ่งเราเฉลิมฉลองกันวันนี้ มีหลายครั้งเพียงใดที่เราอยากยอมแพ้ อยากหยุดต่อสู้ หนีไปให้พ้น หรือ “ปลง” ... แต่เสียงของพระเจ้าที่ดังออกมาจากส่วนลึกของความทุกข์ และท่ามกลางสถานการณ์คับขันที่กดดันเราอยู่ในขณะนั้น ย้ำกับเราว่า “ยืนขึ้น ... ลุกขึ้น”...
บางครั้งเราเห็นภาพของ “ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” ที่ดูเหมือนเคลือบด้วยน้ำตาล ดังนั้นจึงไม่ใช่สภาพที่แท้จริง ... เราเห็นภาพครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แวดล้อมด้วยคนเลี้ยงแกะผู้อ่อนโยนและลูกแกะของเขา ... ภาพเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจผิดว่า “คอกสัตว์ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระเจ้า” เป็นสถานที่อันอบอุ่นและน่าสบาย! ... และเราคิดว่า “เทพนิยาย” เช่นนี้เหมาะสำหรับเด็กเล็ก ๆ แล้ว...
แต่นั่นไม่ใช่พระคริสตสมภพที่แท้ คงน่าเสียดายมากถ้ารางหญ้าของพระกุมารเป็นเพียงภาพ “อดีต” ทั้งที่เป็นความหวังสำหรับ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ในเวลาเดียวกัน...
ท่านลืมไปแล้วหรือว่า “ครอบครัว” ที่ท่านเพ่งพินิจด้วยความรู้สึกอ่อนโยนนี้ กำลังจะต้องหลบหนีไปต่างแดนในไม่ช้านี้ ถ้าท่านลืมนึกถึงเรื่องนี้ ท่านก็กำลังสร้าง “ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” ที่ห่างไกลความเป็นจริง ... และเป็นไปได้ที่ท่านอาจพูดว่า “บ้านของเราไม่ใช่อย่างนั้น บ้านเรา ครอบครัวเรา ต้องดำรงชีวิตท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพ ความขัดแย้ง เงินทอง ปัญหาในการปรับตัวเข้าหากัน เราพูดกันไม่รู้เรื่อง...”
ทั้งท่านที่เป็นคู่สมรสหนุ่มสาว ... และท่านที่เลยวัยหนุ่มสาวแล้ว ... ข้าพเจ้ารับรองกับท่านได้ว่าท่านสามารถมองเห็นสภาพแท้จริงของครอบครัวของโยเซฟ “พระกุมารและพระมารดา” ได้แน่นอน ครอบครัวนี้เหมือนกับทุกครอบครัวที่ต้องเผชิญกับการพลัดพราก และความทุกข์ใจ และถูกพัดพาเข้าสู่วังวนของประวัติศาสตร์ ... ทำให้เราระลึกถึงประโยคเด็ดของ ชาร์ลส์ เปกุย ว่า “บิดาและมารดาของครอบครัว ... คือนักผจญภัยผู้ยิ่งใหญ่ของโลกสมัยใหม่”...
และจงอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกท่าน เพราะกษัตริย์เฮโรดกำลังสืบหาพระกุมารเพื่อจะประหารชีวิต”
สถานการณ์ที่แท้จริงเป็นเช่นนี้ คู่สมรสหนุ่มสาวคู่นี้ไม่มีทั้งบ้านและที่พักอาศัย ... สภาพของเขาไม่ต่างจากชะตากรรมอันน่าเศร้าของผู้ลี้ภัย ... ของผู้ที่ถูกขับไล่ และต้องหนีไปในดินแดนที่เขาไม่รู้จัก ... เขาถูกขับไล่ออกจากบ้านของตนเพราะภัยสงคราม ความอดอยาก ไม่มีงานทำ หรือลัทธินิยมที่กดขี่ ... เช่น เยาวชนจากเวียตนาม จากเลบานอน กัมพูชา อัฟกานิสถาน และสถานที่อื่น ๆ ... ทั้งหมดนี้เป็นภาพที่รบกวนจิตใจของเรา...
รางหญ้าปีนี้ไม่สวยงามเลย! ลองคิดดูเถิดว่า ถ้าปีนี้วัดของเราเกิดความคิดที่จะสร้างถ้ำพระกุมารด้วยไม้ไผ่ผุ ๆ ... หรือด้วยผ้าใบสำหรับใช้ทำเต็นท์ในค่ายผู้ลี้ภัย ... หรือด้วยแผ่นไม้ที่ชวนให้คิดถึงที่พักอาศัยของเหยื่อภัยแผ่นดินไหว – และเขาวางพระกุมารบนฟาง ... หมายถึงฟางจริง ๆ ... ท่านจะรู้สึกอย่างไร
กษัตริย์เฮโรด กำลังสืบหาพระกุมารเพื่อจะประหารชีวิต”...
เขาต้องการประหารพระกุมาร ... ในวันนี้...
โยเซฟจึงลุกขึ้นพาพระกุมาร และพระมารดา ออกเดินทางไปประเทศอียิปต์ในคืนนั้น
เพื่อเน้นย้ำว่าโยเซฟนบนอบอย่างสมบูรณ์ ข้อความนี้จึงใช้คำพูดเหมือนกับข้อความของสารที่ได้รับจากสวรรค์ทุกประการ
เขาออกเดินทางกลางดึก!...
เขาออกเดินทางด้วยความเชื่อ ... พระกุมารซึ่งเป็นพระผู้ไถ่จำเป็นต้องได้รับการช่วยให้รอดพ้นด้วยหรือ? ... พระองค์ได้รับการประกาศชื่อว่าเป็น “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” และ “พระเจ้าสถิตกับเรา” และบัดนี้ พระองค์ทรงต้องการความคุ้มครองหรือ ... นี่คือความจริงที่ขัดแย้งกันในตัวของพระเจ้าผู้ทรงยอมมอบพระองค์เองไว้ในมือของเรา พระเจ้าไม่ทรงปกป้องพระองค์เอง พระเจ้าทรงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากอันตราย...
ความเชื่อ ... กลางดึก ... พระเจ้าในมือของผู้มีความเชื่อ...
และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งกษัตริย์เฮโรดสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้เพื่อให้พระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสทางประกาศกเป็นความจริงว่า “เราเรียกบุตรของเรามาจากประเทศอียิปต์”
ท่ามกลางกลิ่นอายของความตายซึ่งแผ่ซ่านไปทั่ว “ความรอดพ้น” ลุกขึ้น พระเจ้าตรัสว่า “บุตรของเรา”
ท่ามกลางเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ แสงสว่างของพระเจ้าส่องสว่างสถานการณ์ แผนการของพระเจ้าถูกเปิดเผยโดยคำทำนายของประกาศก ... ใบหน้าที่ซ่อนอยู่เต็มไปด้วยความหวัง ... ในเวลาที่โยเซฟต้อง “ออกเดินทาง” พระวรสารยกข้อความจากพระคัมภีร์ ซึ่งกล่าวถึง “การกลับมา” ... พระวรสารกล่าวถึงการถูกเนรเทศไปต่างแดนเพียงเพื่อจะกล่าวถึงการอพยพ (exodus) ... กล่าวถึงความตายเพียงเพื่อจะเปิดเผยถึงชีวิต...
ในชีวิตของท่านก็เช่นกัน ท่านได้รับเชิญให้เห็น “หน้าที่ซ่อนอยู่” ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่าน
ทุกครอบครัวต้องเผชิญหน้ากับภาวะขาดความมั่นคงปลอดภัย เป็นธรรมดาที่เราแสวงหาความมั่นคงปลอดภัย ... อันที่จริง พระเจ้าก็ทรงบัญชาให้โยเซฟทำเช่นนั้น แต่ไม่ควรหรือที่เราจะใคร่ครวญให้มากขึ้น – อาศัยความเข้าใจที่ได้รับจากพระคัมภีร์ – ว่าสิ่งที่เรากำลังแสวงหานั้นคงทนถาวรหรือไม่ ... และใคร่ครวญเรื่องการดำเนินชีวิตตามพระวรสาร การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า การยืนหยัดมั่นคงและซื่อสัตย์ในทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงร้องขอจากเรา ... เพราะคริสตชนแต่ละคน แต่ละครอบครัว สามารถช่วยให้ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ และแผนการอันเร้นลับของพระเจ้า สำเร็จลุล่วงไปได้ มิใช่ด้วยการหลีกหนีสถานการณ์จริงของเรา แม้ว่าอาจเป็นสถานการณ์ที่ยากหรือมีความเสี่ยง ... แต่ด้วยการค้นพบโฉมหน้าที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ซึ่งความเชื่อเปิดเผยแก่เรา
หลังจากกษัตริย์เฮโรดสิ้นพระชนม์ ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาเข้าฝันโยเซฟในประเทศอียิปต์ กล่าวว่า “จงลุกขึ้น พาพระกุมารและพระมารดากลับไปแผ่นดินอิสราเอล เพราะผู้ที่ต้องการฆ่าพระกุมารตายแล้ว” โยเซฟจึงลุกขึ้น พาพระกุมารและพระมารดากลับไปแผ่นดินอิสราเอล...
“ผู้ที่ต้องการฆ่าพระกุมารตายแล้ว” ... “ผู้ที่ต้องการฆ่า” เขียนในรูปพหูพจน์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พระคัมภีร์ระบุชื่อกษัตริย์เฮโรดเพียงคนเดียว ... แต่มัทธิวกำลังคิดถึงเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ และเรียบเรียงคำบอกเล่าทั้งฉบับให้เหมือนกับคำบอกเล่าชะตากรรมของโมเสส ผู้ที่ฟาโรห์ “พยายามประหาร” (อพย 2:15) ผู้หนีไปยังต่างแดน และกลับมาเมื่อ “ทุกคนที่ต้องการฆ่าเขาก็ตายหมดแล้ว” (อพย 4:19-20)
ผู้มีความรู้ชาวยิวในศาลาธรรม จะใช้วิธีที่เรียกกันว่า midrash ประกอบด้วยการเทียบเคียงข้อความในพระคัมภีร์กับเหตุการณ์จริง เพื่อแสดงว่าแผนการของพระเจ้ายังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง พระเยซูเจ้าทรงทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำร้อยประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล กล่าวคือ ทรราชคนหนึ่งต้องการยับยั้งโมเสสคนใหม่นี้ ซึ่งพระเจ้าทรงส่งมาช่วยประชากรของพระองค์ ... ทรราชคนนี้เริ่มประหารเด็ก ๆ (อพย 1:16) ... แต่เขาไม่อาจต่อต้านบุคคลที่พระเจ้าทรงปกป้อง ผู้ที่จะกลายเป็นพระผู้ไถ่ของประชากรของพระองค์ ... และนำทางประชากรทั้งมวลเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญา...
วันนี้ ประวัติศาสตร์นี้ก็ยังดำเนินต่อไป ... ไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า ... พระองค์ยังคงขีดเส้นตรงผ่านเส้นโค้งของเรา ... แผนการของพระองค์ดำเนินต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม...
แต่เมื่อรู้ว่าอารเคลาอัส ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในแคว้นยูเดียสืบต่อจากกษัตริย์เฮโรด พระบิดา โยเซฟก็กลัวที่จะไปที่นั่น และเมื่อพระเจ้าทรงเตือนเขาในความฝัน เขาจึงกลับไปยังแคว้นกาลิลี ไปอาศัยอยู่ในเมืองหนึ่งชื่อนาซาเร็ธ ทั้งนี้เพื่อให้พระดำรัสที่ตรัสทางประกาศกเป็นความจริงว่า “พระองค์จะได้รับพระนามว่าชาวนาซาเร็ธ”
ข้อความนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่าโยเซฟตั้งใจแต่แรกว่าจะกลับไปแคว้นยูเดีย แต่ผู้ที่ต้องการประหารพระกุมารยังไม่ตายทั้งหมด ... นอกจากนี้ วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าจะเสด็จกลับมายังแคว้นยูเดียจริง ๆ ... เพื่อจะทรงถูกประหารที่นั่น พระทรมานได้ถูกร่างไว้ให้เห็นได้คร่าว ๆ แล้วตั้งแต่จุดจบของการเดินทางครั้งนี้ ... ความตายปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ... พระวรสารประจำวันนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของความตาย...
ดังนั้น เพราะความจำเป็น พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปอาศัยอยู่ในแคว้นกาลิลี ซึ่งเป็นแผ่นดินที่ประชากรครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างศาสนา และห่างไกลจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเยรูซาเล็ม ... สำหรับมัทธิว คำว่า “แคว้นกาลิลีแห่งบรรดาประชาชาติ” (มธ 4:12-16) เป็นสัญลักษณ์แทนคนทั้งโลก ที่ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงเทศน์สอน และจะทรงสำแดงพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพ และจะเป็นสถานที่เริ่มต้นพันธกิจของพระองค์...
ท่านเองก็กำลังอยู่ใน “แคว้นกาลิลี” ใหม่ ไม่ใช่หรือ
สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า
กันดารวิถี 6:22-27; กาลาเทีย 4:4-7; ลูกา 2:16-21
บทรำพึงที่ 1
ดอกบัว
พระศาสนจักรสอนเราว่าพระนางมารีย์ทรงปฏิสนธิโดยปราศจากบาป พระนางเป็นพรหมจารีตลอดชีวิต และได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ และสมควรได้รับสมญานามว่าพระชนนีพระเป็นเจ้า
พระสงฆ์คนหนึ่งจัดเข้าเงียบให้นักเรียนในวิทยาลัยแห่งหนึ่งในชิคาโก บ่ายวันหนึ่ง นักเรียนคนหนึ่งเข้ามาคุยกับพระสงฆ์ในห้องของเขา คำสนทนาหันไปสู่เรื่องของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า นักเรียนคนนี้หันไปถามพระสงฆ์ว่า “คุณพ่ออยากจะฟังบทกลอนที่ผมแต่งเกี่ยวกับพระนางมารีย์ไหมครับ” พระสงฆ์ตอบว่า “อยากซิ”
นักเรียนคนนั้นพลิกสมุดบันทึกเล่มเล็กของเขา และอ่านบทกลอนที่มีข้อความดังนี้
วันนี้ ฉันเห็นบัวดอกหนึ่งในสระน้ำ
สีเหลืองของมันสวยที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็น
ดอกบัวนั้นเป็นสิ่งมีค่าเลิศล้ำ
แต่มันไม่สนใจว่าจะมีใครสังเกตเห็นความงามอันตื่นตาของมันหรือไม่
ฉันนั่งอยู่ที่นั่น
เฝ้ามองมันคลี่กลีบของมันอย่างไร้เสียง
ฉันคิดถึงพระนางมารีย์ ผู้ทรงอุ้มพระเยซูเจ้าไว้ในครรภ์
พระนางเองก็เป็นสิ่งมีค่าเลิศล้ำ
พระนางเช่นกันที่ไม่สนใจว่าใครจะเห็นความงามอันตื่นตาของพระนางหรือไม่
แต่สำหรับผู้ที่สังเกต พระนางจะบอกความลับอย่างหนึ่ง
ความงามของพระนางไม่ได้เกิดจากตัวพระนาง
แต่เกิดจากชีวิตของพระเยซูเจ้า
ที่กำลังคลี่บานอย่างไร้เสียงภายในตัวพระนาง
บทกลอนนี้ย้ำถึงเหตุผลที่เราเฉลิมฉลองวันสมโภชนี้ เราไม่ได้เทิดเกียรติพระนางมารีย์ตามลำพัง แต่เราเทิดเกียรติพระนางเพราะพระนางได้รับเลือกให้เป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คำสอนอย่างเป็นทางการของพระศาสนจักรเกี่ยวกับพระนางมารีย์สามารถสรุปได้ด้วยคำนิยามสี่ข้อ
ข้อที่หนึ่ง พระนางปราศจากบาป
ข้อที่สอง พระนางทรงเป็นพรหมจารี
ข้อที่สาม พระนางทรงได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์พร้อมทั้งร่างกาย และ
ข้อที่สี่ พระนางทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า
คำสอนข้อสุดท้ายเป็นข้อหลัก ส่วนอีกสามข้อ – การปฏิสนธินิรมลของพระนาง สภาวะปราศจากบาปและการเป็นพรหมจารีนิรันดรของพระนาง และการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนาง – ล้วนแตกยอดออกมาจากความจริงที่ว่าพระนางทรงได้รับเลือกให้เป็นพระมารดาของพระเจ้า
คำอธิบายสั้น ๆ จะช่วยให้เข้าใจได้ว่าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร
ข้อแรก พระนางมารีย์ทรงปฏิสนธินิรมลโดยไม่มีบาปเพราะเหตุผลประการเดียว คือ เพื่อเตรียมพระนางให้เป็นมารดาของพระบุตรของพระเจ้า
ข้อสอง พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีเพราะเหตุผลประการเดียว คือ เพื่อให้พระนางเป็นภาชนะที่พิเศษกว่าภาชนะใด ๆ ที่จะรองรับขุมทรัพย์ล้ำค่า คือพระกายของพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ปฏิสนธิขุมทรัพย์ล้ำค่านี้มิใช่ด้วยการแทรกแซงของมนุษย์ แต่ด้วยการแทรกแซงของพระเจ้า พระนางปฏิสนธิพระเยซูเจ้าด้วยพระอานุภาพของพระจิตเจ้า
ข้อสุดท้าย พระนางมารีย์ทรงได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายเพราะเหตุผลประการเดียว คือ เพราะพระนางปราศจากบาป และเพราะพระนางปราศจากบาป พระนางจึงไม่ต้องรับโทษที่เกิดจากบาป คือความตายของร่างกาย และการเน่าเปื่อย
ดังนั้น การปฏิสนธิ การเป็นพรหมจารี และการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางมารีย์ จึงเกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่าพระนางทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า เหมือนกับที่นักเรียนคนนั้นกล่าวไว้ในบทกลอน ความงามของพระนางมารีย์ไม่ได้เกิดจากตัวพระนางเอง แต่เกิดจากชีวิตของพระเยซูเจ้าที่พระนางโอบอุ้มไว้ในพระครรภ์
แต่คงไม่ถูกต้องถ้าเราหยุดคิดอยู่ที่เพียงจุดนี้ เราต้องพิจารณาต่อไปและบอกว่าพระนางมารีย์ทรงร่วมมืออย่างเต็มที่กับพระพรของพระเจ้า วิธีหนึ่งที่พระนางทำเช่นนี้คือด้วยชีวิตภาวนาของพระนาง ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
เมื่อทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ว่าพระนางจะตั้งครรภ์ด้วยเดชะพระจิตเจ้า พระนางมารีย์ตอบสนองด้วยการภาวนา บทภาวนาของพระนางเป็นบทภาวนาแห่งการยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า พระนางตรัสตอบทูตสวรรค์ว่า “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38)
เมื่อพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ญาติของพระนาง และได้ยินว่าเมื่อพระนางเข้าไปใกล้ ๆ บุตรในครรภ์ของนางเอลีซาเบธ “ดิ้นด้วยความยินดี” พระนางมารีย์ตอบสนองด้วยการภาวนา บทภาวนาของพระนางเป็นการสรรเสริญพระเจ้า พระนางภาวนาว่า
วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า...
พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์...
พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอล ผู้รับใช้พระองค์
โดยทรงระลึกถึงพระกรุณา
ดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเรา
แก่อับราฮัม และบุตรหลานตลอดไป” (ลก 1:46, 49, 54-55)
เมื่อคนเลี้ยงแกะบอกพระนางมารีย์และโยเซฟ ว่าทูตสวรรค์บอกอะไรพวกเขาเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ตอบสนองด้วยการภาวนา บทภาวนาของพระนางเป็นการเพ่งพินิจ ลูกาบอกเราในพระวรสารวันนี้ว่า “พระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่” (ลก 2:19)
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสกับพระนางมารีย์ในพระวิหารว่า “พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก” (ลก 2:49) พระนางมารีย์ตอบสนองด้วยการภาวนา การภาวนาของพระนางเป็นการเพ่งพินิจอีกเช่นกัน ลูกาบอกเราว่าพระนาง “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” (ลก 2:51)
ท้ายที่สุด เมื่อพระนางมารีย์ทรงสังเกตว่าคู่สมรสหนุ่มสาวที่หมู่บ้านคานาไม่มีเหล้าองุ่นเหลือสำหรับเลี้ยงแขกในงานสมรส พระนางตอบสนองด้วยการภาวนา การภาวนาของพระนางเป็นบทภาวนาวิงวอนขอให้พระเยซูเจ้าทรงช่วยเหลือคู่สมรสมิให้ต้องอับอาย (ยน 2:3)
ตัวอย่างของการภาวนาของพระนางมารีย์ ทำให้เราเข้าใจว่าพระนางทรงร่วมมือกับพระพรของพระเจ้าอย่างไร
คำสอนสำหรับวันฉลองนี้เห็นได้ชัดเจน เราควรเลียนแบบพระนางมารีย์ และร่วมมือกับพระพรของพระเจ้าเหมือนที่พระนางทรงกระทำ
พระเจ้าประทานสุขภาพแก่เรา
พระเจ้าประทานอิสรภาพแก่เรา
พระเจ้าประทานความสามารถพิเศษแก่เรา
พระเจ้าประทานมิตรสหายแก่เรา
พระเจ้าประทานความเชื่อแก่เรา
พระเจ้าประทานคำสัญญาจะให้ชีวิตนิรันดรแก่เรา
พระนางมารีย์ตอบสนองอย่างใจกว้างต่อพระพรที่พระเจ้าประทานให้พระนางอย่างไร เราก็ควรตอบสนองอย่างใจกว้างต่อพระพรที่พระเจ้าประทานให้เราอย่างนั้น
ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะกำหนดปณิธานอะไรสำหรับปีใหม่นี้ สิ่งดีที่สุดที่เราทำได้คือตั้งใจว่าจะเลียนแบบนิสัยรักการภาวนาของพระนางมารีย์ระหว่างปีนี้
ข้าพเจ้าขอสรุปบทรำพึงนี้ ด้วยบทอวยพรของอาโรน ซึ่งมีอายุมากกว่า 4,000 ปี และอยู่ในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ว่า
ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่าน และพิทักษ์รักษาท่าน
ขอพระเจ้าทรงสำแดงพระพักตร์แจ่มใสต่อท่าน และโปรดปรานท่าน
ขอพระเจ้าทรงผินพระพักตร์มายังท่าน และประทานสันติแก่ท่านด้วยเทอญ
บทรำพึงที่ 2
อัฐมวารพระคริสตสมภพ
ลูกา 2:16-21
แปดวันหลังจากวันพระคริสตสมภพ คือ วันที่ 1 มกราคม เมื่อเราอวยพรปีใหม่ให้แก่กัน พระศาสนจักรเฉลิมฉลอง “พระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า” และเชิญชวนเราให้ไตร่ตรองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าในระดับลึกมากขึ้น เพราะทุกครั้งที่พระศาสนจักรกล่าวถึงพระนางมารีย์ พระศาสนจักรต้องการบอกบางสิ่งบางอย่างแก่เราเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
เมื่อเราสวดบทวันทามารีย์ว่า “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า” เราตระหนักถึงความสำคัญของคำยืนยันของเราหรือเปล่า ... “สิ่งสร้าง” หนึ่งจะเป็น “พระมารดา” ของ “พระเจ้า” ได้หรือ ... เป็นไปได้หรือที่พระเจ้าจะ “มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” เหมือนกับที่นักบุญเปาโลบอกเราในบทอ่านที่สองของวันสมโภชนี้ (กท 4:4)...
เมื่อคนเลี้ยงแกะไปถึงเบธเลเฮม เขาพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร...
คนเลี้ยงแกะซื่อ ๆ ที่เลี้ยงแกะอยู่บนเนินเขาใกล้เมืองเบธเลเฮม รีบไปพิสูจน์ว่าข้อความที่ทูตสวรรค์บอกพวกเขาเป็นความจริงหรือไม่ “พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” ... พวกเขา “รีบไป” และพบเด็กน้อยที่ได้รับสมญานามอันทรงเกียรติถึงสามนาม นั่นคือ “พระผู้ไถ่ ... พระคริสต์ ... องค์พระผู้เป็นเจ้า”...
สิ่งที่น่าสะดุดใจยิ่งกว่า คือ ผู้นิพนธ์พระวรสารดูเหมือนว่ามองข้ามความสำคัญของพระกุมาร เขาเอ่ยถึงพระองค์เป็นลำดับสุดท้าย และยังเอ่ยถึงโยเซฟ ซึ่งเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง เป็นอันดับสอง ... ในยุคนั้นสตรีไม่มีคุณค่าตามกฎหมาย “เขาพบพระนางมารีย์” นี่คือการพลิกผันทรรศนะราวกับเป็นการปฏิวัติย่อย ๆ ครั้งหนึ่งทีเดียว ทั้งในแง่เทววิทยาและความคิดเห็นประสามนุษย์
มารีย์ “พระชนนีพระเป็นเจ้า”! สภาสังคายนาที่เอเฟซัสเพิ่งจะมอบสมญานามนี้แก่พระนางเมื่อ ค.ศ. 431 แต่ผู้มีความศรัทธากล้าเรียกพระนางมารีย์ว่าพระชนนีพระเป็นเจ้า (theotokos) มาแล้วตั้งแต่ต้น ... และเมื่อบรรดาพระสังฆราชในยุคนั้นยอมรับสมญานามนี้อย่างเป็นทางการ คนทั้งเมืองเอเฟซัสก็เฉลิมฉลองอย่างยินดีด้วยการแห่คบเพลิงไปตามถนน...
สิ่งที่นักเทววิทยาเสาะหาด้วยสติปัญญามานานถึง 4 ศตวรรษ เป็นสิ่งที่บุคคลที่รับฟังพระวรสารด้วยใจซื่อ รับไว้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนโดยไม่มีใครบีบบังคับ ... สภาสังคายนาเพียงแต่ระบุอย่างเป็นทางการ - ด้วยภาษาที่กระชับและชัดเจน - สิ่งที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้เสนอไว้ในพระวรสาร อันที่จริง ต้องใช้เวลาอีก 20 ปีหลังจากนั้น ก่อนที่สภาสังคายนาคาลซีดอน (ค.ศ. 451) จะนิยามคำอธิบายทางเทววิทยาเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าจนสมบูรณ์ โดยระบุเป็นข้อคำสอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสภาสังคายนา ว่า “ดังนั้น เราจึงเจริญรอยตามปิตาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และสั่งสอนอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า พระบุตร และพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ทรงเป็นพระบุคคลหนึ่งเดียวกัน ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ สมบูรณ์ในพระเทวภาพและสมบูรณ์ในพระมนุษยภาพ ทรงประกอบด้วยวิญญาณและร่างกายที่รู้จักเหตุและผล ในพระเทวภาพ ทรงร่วมพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดา และในพระมนุษยภาพ ทรงร่วมธรรมชาติเดียวกับเรา ‘ทุกอย่างเหมือนกับเรายกเว้นบาป’ (ฮบ 4:15) ในพระเทวภาพ ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลา และในพระมนุษยภาพ ทรงบังเกิดในกาลเวลาเมื่อไม่นานมานี้เพื่อเรา และเพื่อความรอดพ้นของเรา จากพระนางพรหมจารีมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า ... เราประกาศยืนยันว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตร องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระเอกบุตร ผู้ทรงมีสองพระธรรมชาติซึ่งไม่ปะปนกัน ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่อาจแบ่งและแยกจากกันได้”...
นี่คือบัตรประจำตัวที่ชัดเจนและน่าพิศวงของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ ... และของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระองค์...
เขาพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร ซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า
หลังจากได้ฟังคำนิยามความเชื่อของเราแล้ว เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาถ้อยคำเหล่านี้ ... ถูกแล้ว เรากำลังเผชิญหน้ากับหนึ่งในสองด้านของพระเยซูเจ้า คือพระมนุษยชาติแท้ของพระองค์...
คนเลี้ยงแกะคาดหมายว่าจะพบ “พระผู้ไถ่ พระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) และเขาพบเพียงเด็กน้อยผู้นอนอยู่ในรางหญ้าภายในคอกสัตว์) รางหญ้าสำหรับใส่อาหารเลี้ยงสัตว์ ... ทารกคนหนึ่งที่กำลังนอนบนฟาง ... ตั้งแต่ต้น พระเจ้าทรงเผยพระองค์ว่าทรงแตกต่างจากที่เราคาดหมายจากพระองค์ ... พระองค์ทรงแสดงพระองค์ในสภาพมนุษย์มาตั้งแต่ต้น จนหลายคนจำพระองค์ไม่ได้ เพราะทรงซ่อนพระองค์อย่างมิดชิดท่ามกลางมนุษยชาติ...
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่บอกเราอย่างชัดเจนมาตั้งแต่แรกแล้วว่าพันธสัญญาที่กระทำขึ้นระหว่างพระเจ้าและมนุษย์จะลึกล้ำเพียงใด จะเป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่มีทางแบ่งแยก – ไม่ปะปนกัน และไม่อาจแบ่งหรือแยกออกจากกันได้...
ในการเผยแสดงนี้มีเมล็ดพันธุ์แห่งทัศนคติทางศาสนาอันลึกล้ำ กล่าวคือ เราไม่อาจเหยียดหยามวัตถุ หรือร่างกายได้อีกต่อไป นับจากวันที่พระเจ้าทรง “รับธรรมชาติมนุษย์ในครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์” ... ไม่มีสิ่งใดเป็น “เรื่องทางโลก (profane)” อีกต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) พระองค์ทรงเป็นทั้งมนุษย์อย่างสมบูรณ์ และเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ต้องเจริญเติบโตเป็นเวลาเก้าเดือนภายในครรภ์มารดา ต้องเกิดมา ต้องนอนหลับ กิน และดื่ม ต้องหัดเดิน หัดอ่านเขียน เล่นกับเพื่อน ๆ พูดในสถานที่สาธารณะ รักเพื่อนของตน รักษาโรคให้ผู้ป่วย ตื่นแต่เช้าเพื่ออธิษฐานภาวนา ต้องทนรับความเจ็บปวดทรมาน และต้องตาย ... นี่คือความเป็นจริงของมนุษย์และพระเจ้า นี่คือความเป็นจริงอันศักดิ์สิทธิ์...
และพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า ทรงเป็นผู้ค้ำประกันการสนิทเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า และมนุษย์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้นี้ในพระบุคคลที่พิเศษของพระเยซูเจ้า...
เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร
ข้อความที่เขาได้ยินมาคือ “พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” พวกเขามาบอกสารของเขา ถ้อยคำที่เขาได้ยินมา...
จิตรกรทุกยุคสมัยได้ตีความพระวรสารหน้านี้ออกมาเป็นภาพของ “การนมัสการของคนเลี้ยงแกะ” ... อันที่จริง คนเลี้ยงแกะเป็นฝ่ายมอบ “บทเทศน์” แก่พระนางมารีย์มากกว่า พวกเขาถ่ายทอด “พระวรสาร” หรือ “ข่าวดี” ที่เขาได้ยินมาให้แก่พระนาง...
บัดนี้ ในประโยคนี้ เราได้เห็นด้านที่สองของพระเยซูเจ้า คือพระเทวภาพแท้ของพระองค์ “เกี่ยวกับเด็กคนนี้ ทูตสวรรค์บอกเราว่าเขาเป็นพระคริสต์ และองค์พระผู้เป็นเจ้า” นี่เป็นการประกาศยืนยันความเชื่อ ดังนั้นการนมัสการจึงอยู่ไม่ไกลนัก จิตรกรและภาพเขียนของเขาไม่ได้บอกอะไรที่ผิด...
ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย และยังทรงคำนึงถึงอยู่
เราต้องเห็นความแตกต่างที่ลูกาชี้ให้เห็น ระหว่างทัศนคติของคนทั่วไป และทัศนคติของพระนางมารีย์ ... เขาเน้นย้ำทัศนคติของพระนางมาโดยตลอด พระนางไม่ได้เพียงแต่ประหลาดใจ แต่พระนางยัง “คำนึงถึง” พระนางรำพึงไตร่ตรองอีกด้วย ... แม้ว่าพระนางไม่ได้เข้าใจธรรมล้ำลึกที่กำลังเกิดขึ้นกับพระนางมากไปกว่าที่คนเลี้ยงแกะเข้าใจ แต่ในส่วนลึกของหัวใจ พระนางยังย้ำคำตอบรับด้วยความเชื่อที่พระนางเคยยอมรับตั้งแต่ก่อนที่บุตรคนนี้จะบังเกิดมา ... ลูกาย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของพระนางมารีย์...
คนเลี้ยงแกะกลับไป โดยถวายพระพรและสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้
เรามักจะลดคุณค่าของธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า โดยทำให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ บางครั้ง เราทำให้พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง โดยมองว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลอัจฉริยะ ... หรือบางครั้ง เราก็มองแต่ในแง่จิตวิญญาณ โดยไม่ยอมมองเห็นความอ่อนแอตามธรรมชาติมนุษย์ในตัวพระองค์ ... แต่คนเลี้ยงแกะซื่อ ๆ เหล่านี้ “ได้เห็น และได้ยินข่าวสารที่แปลกประหลาด” และเขาก็ไม่ยอมหยุดอยู่แต่ในระดับที่ตามองเห็น เขา “ถวายพระพร และสรรเสริญพระเจ้า”...
เมื่อครบแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่า เยซู...
เด็กน้อยแห่งเบธเลเฮม แท้จริงแล้วเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่เกิดมาในชุมชนที่มีธรรมเนียม วัฒนธรรม และประเพณี ... พระองค์เป็นเด็กเพศชายซึ่งต้องทำเครื่องหมายบนเนื้อหนังอันเป็นเอกลักษณ์ของชายทุกคนของชนชาติของพระองค์ นี่คือความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงซึ่งเราต้องยอมรับ...
แต่พระนามของเด็กน้อยคนนี้ทำให้เกิดคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับตัวตนของพระองค์ ทำไมสวรรค์จึงเจาะจงให้เรียกพระองค์ว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น (God-Saves)” หรือ Yeshoua หรือเยซู ... ทำไม...
เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา
การตั้งชื่อนี้เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ลูกาจะใช้เน้นย้ำถึงความสำคัญของพระนางมารีย์ ลูกาเน้นความจริงว่าพระมารดาของพระองค์ได้รับชื่อของพระบุตรของพระนางตั้งแต่ “ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในพระครรภ์”...
ตามธรรมประเพณีอันยาวนานในพระศาสนจักร สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เสนอว่าพระนางมารีย์ทรงเป็น “ต้นแบบของพระศาสนจักร” ทรงเป็น “ผู้มีความเชื่อคนแรก” ... ในพระวรสารตอนนี้ เราตระหนักว่าพระนางทรงเป็นบุคคลแรกที่ต้อนรับพระวาจาของพระเจ้า และไตร่ตรองพระวาจานี้ในใจ – และพระนางทรงเป็นบุคคลแรกที่ประกาศยืนยันความเชื่ออันเป็นสาระสำคัญของศาสนาของเรา คือ พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น...
ในวันแรกของปีใหม่นี้ พระนางมารีย์ทรงเตือนเราให้คิดถึงสิ่งใหม่ ๆ ทั้งปวงในความเชื่อคริสตชน สิ่งที่เป็นต้นตำรับในความเชื่อของคริสตชน คือ เราไม่ได้เชื่อในพระเจ้าเท่านั้น มนุษย์ส่วนใหญ่ก็เชื่อในพระเจ้า โดยเฉพาะศาสนิกชนของศาสนาสำคัญต่าง ๆ ของโลก เช่น ศาสนายูดาย อิสลาม และความเชื่อของผู้ที่นับถือผี... แต่เอกลักษณ์ของคริสตชน คือ เขาเชื่อว่าพระเจ้าเสด็จมารับสภาพมนุษย์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า... และความศรัทธาแท้ต่อพระนางมารีย์ เตือนใจเราให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้...