แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
อิสยาห์ 11:1-10; โรม 15:4-9; มัทธิว 3:1-12

บทรำพึงที่ 1
ชายผู้เปลี่ยนไป
“จงกลับใจเถิด อาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”

    เมื่อ ค.ศ. 1911 ร้อยเอกโรเบิร์ต สก๊อต และนักสำรวจชาวบริติช อีก 4 คน ได้ออกเดินทางด้วยเท้าไปยังขั้วโลกใต้ เขาเดินทางไกล 800 ไมล์ ฝ่าหิมะที่ท่วมสูง และความหนาวจัด หนึ่งปีต่อมาเขาก็มาถึงขั้วโลกใต้

    แต่ในการเดินทางกลับ  ชัยชนะอันทรงเกียรติของเขากลายเป็นความพ่ายแพ้อันขมขื่น ชายสองคนสิ้นใจระหว่างทาง อีกสามคนหนาวตายทั้งที่เหลืออีกไม่กี่ไมล์เขาก็จะมาถึงจุดที่ปลอดภัยแล้ว

    เมื่อมีคนพบศพของชายเหล่านี้ บันทึกครั้งสุดท้ายของแต่ละคนยังชัดเจนพอจะอ่านได้ คนหนึ่งในจำนวนนี้ คือ บิล วิลสัน ผู้เป็นแพทย์ประจำคณะสำรวจ

    เมื่อ 20 ปีก่อน บิลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เพื่อนร่วมชั้นตั้งฉายาเขาว่า “คนชอบเยาะ” นอกจากเป็นคนใจแคบแล้ว เขายังปากร้ายอีกด้วย ครั้งหนึ่ง เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง และบอกว่า “ผู้รู้ว่าผมจองหอง ... ขมขื่น ... ชอบสบประมาทผู้อื่น ... และเห็นแก่ตัวเสมอ”

    ระหว่างการสำรวจขั้วโลก “บิลคนชอบเยาะ” กลายเป็น “บิลผู้สร้างสันติ” และก่อนร้อยเอกสก๊อตเสียชีวิต เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า “ถ้าจดหมายฉบับนี้ถึงมือคุณ บิลและผมก็จากไปพร้อมกันแล้ว เรากำลังเข้าใกล้เวลานั้นมากแล้ว และผมอยากให้คุณรู้ว่าบิลยอดเยี่ยมเพียงไร ... เขาร่าเริงเสมอ และพร้อมจะยอมลำบากเพื่อคนอื่น ดวงตาของเขามีแววตาสีฟ้าที่ฉายความหวัง และจิตใจของเขาสงบ”

    ระหว่างชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตของเขา บิล วิลสัน เขียนบันทึกว่า “ดังนั้น บัดนี้ ผมจึงมีชีวิตโดยรู้ว่าผมอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงใช้ผมนำผู้อื่นมาหาพระองค์ ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ให้ผมอายุยืน ... หรือให้ผมตายวันพรุ่งนี้ ... เราต้องทำสิ่งที่เราสามารถทำได้ และปล่อยส่วนที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของพระองค์ ... ผมวางใจในพระเจ้า ดังนั้น จึงไม่สำคัญว่าผมทำอะไร หรือไปไหน”

    เรื่องของบิล วิลสัน แสดงให้เราเห็นว่าพระวรสารสำหรับวันนี้เตือนให้เราทำอะไร

    ในบทอ่านที่หนึ่ง พระวรสารเตือนเราให้ใส่ใจกับถ้อยคำของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ว่า “จงกลับใจเถิด อาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”
    ในบทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลเตือนเราให้ดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้า ดังนี้ “ขอให้พระเจ้าผู้ประทานความพากเพียร และการปลอบใจ โปรดให้ท่านเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตามแบบฉบับของพระคริสตเยซู เพื่อท่านจะได้พร้อมใจกัน และเปล่งวาจาเป็นเสียงเดียวกันถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า”

    ความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประหลาดใจของบิล วิลสัน เป็นตัวอย่างแสดงให้เราเห็นว่าพระศาสนจักรกระตุ้นเตือนให้เราทำอะไรระหว่างเทศกาลเตรียมรับเสด็จ กล่าวคือ ให้เรา “กลับใจเถิด อาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”

    ระหว่างที่ บิล วิลสัน ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เขาไม่เคยนึกฝันว่าพระอาณาจักรอยู่ใกล้เขามากเพียงใด เขาไม่เคยนึกฝันว่าภายในช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ 20 ปี พระเจ้าจะทรงเรียกเขาให้ไปรายงานผลการดำเนินชีวิตของเขา และเพื่อนร่วมชั้นของ บิล วิลสัน ก็ไม่เคยนึกฝันว่าเขาจะเปลี่ยนไปมากเพียงใดภายในเวลา 20 ปีนั้น

    ชายที่จองหอง ขมขื่น และเห็นแก่ตัว กลายเป็นชายผู้ยอดเยี่ยม ร่าเริง และเสียสละ ชายผู้ได้รับฉายาว่า “คนชอบเยาะ” กลายเป็นชายที่ได้ชื่อว่า “ผู้สร้างสันติ”

    ในประวัติศาสตร์มีชายหญิงจำนวนมากที่เหมือนกับ บิล วิลสัน คนเหล่านี้เริ่มต้นชีวิตเป็นบุคคลที่เห็นแก่ตัว แต่ในบั้นปลายชีวิต พวกเขากลายเป็นคนรู้จักรักผู้อื่น และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

    ชีวิตของคนเหล่านี้เตือนใจเราว่า เราก็สามารถกลับใจจากบาปของเรา และกลายเป็นคนที่รู้จักรักผู้อื่น และจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้เช่นเดียวกัน

    ชีวิตของคนเหล่านี้เตือนใจเราว่า พระเจ้าทรงต้องทำเพื่อเรา อย่างที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนเหล่านั้น

    ชีวิตของคนเหล่านี้เตือนใจเราว่า พระเจ้าทรงต้องการประทานพระหรรษทานแก่เราเหมือนกับที่พระองค์ประทานให้แก่คนเหล่านั้น

    เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาที่เราระลึกว่า เมื่อพระเจ้าทรงสร้างเรามา พระองค์ทรงมีพระประสงค์อะไรสำหรับเรา

    เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาที่เราระลึกว่า พระเจ้าทรงต้องการให้เราเป็นอะไรในอนาคต

    เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาที่เราระลึกว่า พระเจ้าทรงต้องการทำให้ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่งดงาม

    เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาที่เราควรพยายามตอบสนองอย่างใจกว้างต่อแผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับเรา เช่นเดียวกับชายหญิงทั้งหลายที่เหมือนกับ บิล วิลสัน
    ชาร์ลส์ วอลลิส เล่าเรื่องอันน่าทึ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์ของชนชาติบริติช คนสมัยนั้นมีบทลงโทษที่บ่อยครั้งโหดร้ายและแปลกประหลาดสำหรับอาชญากรรมต่อสาธารณชน ชายคนหนึ่งถูกจับได้ว่าขโมยแกะ เจ้าหน้าที่สั่งให้ตีตราบนหน้าผากของเขาเป็นอักษร S.T. ซึ่งย่อมาจากคำว่า Sheep Thief (โจรขโมยแกะ) ชายคนนี้ใช้เวลาตลอดชีวิตของเขาพยายามทำความดีลบล้างอักษรที่ตราไว้บนหน้าผากของเขา และเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเขาล่วงเข้าสู่วัยชรา ตัวหนังสือ S.T. ยังปรากฏให้เห็นได้บนหน้าผากของเขา เมื่อเด็กๆ ถามบิดามารดาของเขาว่าคำนี้ย่อมาจากอะไร บิดามารดาตอบเขาว่า “ย่อมาจากคำว่า Saint (นักบุญ)”

    นี่คือจุดประสงค์ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ เทศกาลนี้เชิญชวนเราให้เปลี่ยนตนเองจากคนบาปให้กลายเป็นนักบุญ ให้เราปฏิบัติตามถ้อยคำของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ในพระวรสารประจำวันนี้ “จงกลับใจเถิด อาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”

    เทศกาลนี้เชิญชวนเราให้ปฏิบัติตามถ้อยคำของนักบุญเปาโลที่ภาวนาเพื่อเรา ที่ปรากฏในบทอ่านที่สอง เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยการสวดบทภาวนานี้อีกครั้งหนึ่ง

    ขอให้พระเจ้า ผู้ประทานความพากเพียร และการปลอบใจ โปรดให้ท่านเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
    ตามแบบฉบับของพระคริสตเยซู
    เพื่อท่านจะได้พร้อมใจกัน และเปล่งวาจาเป็นเสียงเดียวกัน
    ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบิดาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
    ดังนั้น ท่านจงยอมรับกันและกัน เช่นเดียวกับที่พระคริสตเจ้าทรงยอมรับท่าน
    เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 3:1-12

ในครั้งนั้น ...

    จงระวัง และอย่าเข้าใจผิด! นี่ไม่ใช่วลีที่ระบุถึงการเปลี่ยนผ่านจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง วันเวลาที่มัทธิวกำลังจะกล่าวถึงเป็นวันเวลาที่สำคัญ ... มีบรรยากาศของความเร่งด่วน เพราะวันพรุ่งนี้ก็จะสายเกินไป ... ชั่วโมงนั้นใกล้เข้ามาแล้ว...

... ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างมาประกาศสอนในถิ่นทุรกันดารแห่งยูเดีย...

    ถ้าเราอ่านพระวรสารของมัทธิวเหมือนกับผู้อ่านยุคแรกอ่าน – คืออ่านโดยไม่เคยรู้เรื่องราวในพระวรสารของลูกามาก่อน ซึ่งในพระวรสารของลูกากล่าวถึงยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ไว้มาก ควบคู่กับชีวิตปฐมวัยของพระเยซูเจ้า – ข้อความที่เราอ่านอยู่นี้จะฟังดูเหมือนเป็นจุดแรกของการเริ่มต้น “ในครั้งนั้น ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง มาประกาศสอน” พระศาสนจักรยุคแรกเริ่มต้นพระวรสารด้วยการระบุกิจกรรมของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง (มก 10:37; ยน 1:19; กจ 10:37)

    ขอให้เราย้อนกลับไปสู่ถิ่นทุรกันดารบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดนในจินตนาการของเรา ประวัติศาสตร์ของคริสตศาสนาเริ่มต้นด้วยเสียงเรียกที่เปล่งออกจากปากของยอห์น

“จงกลับใจเถิด อาณาจักรสวรรค์อยู่ใกล้แล้ว”

    นี่คือ “ความเร่งด่วน” นี่คือข่าวดี เพราะในที่สุด พระเจ้าจะทรงครองราชย์...

    เวลานั้นน่าจะเป็นฤดูใบไม้ร่วงของ ค.ศ. 27 เมื่อเราได้ยินเสียงเรียกร้องเช่นนี้ในปัจจุบัน เราคงเดาไม่ถูกว่าประชาชนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่สำหรับชาวอิสราเอลในสมัยนั้น เสียงเรียกร้องเช่นนี้คงเหมือนกับเสียงของลูกระเบิด คนพูดจะต้องเป็นบ้า แต่ถ้าเป็นความจริง ความคาดหวังอย่างกระวนกระวายของชาวอิสราเอล ก็กำลังจะกลายเป็นความจริง...

    “จะมีหน่อแตกออกมาจากตอแห่งเจสซี” ... “จะมีกิ่งงอกออกมา” ... “เขาจะพิพากษาคนจนด้วยความชอบธรรม” ... “เขาจะประหารคนอธรรม” ... “โลกจะมีสันติสุขทั่วไป สุนัขป่าจะอยู่กับลูกแกะ สิงโตจะกินฟางเหมือนวัว เด็กที่หย่านมจะเล่นอยู่ที่ปากรูงูเห่า ... สัตว์เหล่านี้จะไม่ทำให้เจ็บ หรือทำลาย ... แผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้เรื่องของพระเจ้า”  (อสย 11:1-10)

    นี่คือพระวรสาร หรือข่าวดีโดยแท้ (eu-angelion ในภาษากรีก หรือ besora ในภาษาฮีบรู) นี่คือข่าวดีที่พระเยซูเจ้าจะทรงประกาศเป็นเวลาสองปี พระองค์จะประกาศสารอันน่ายินดี (มธ 4:17) ว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้เรามาก พระเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์
    พระอาณาจักรของพระองค์อยู่ใกล้แล้ว เชิญเสด็จมาเถิด ... ขอให้พระอาณาจักรของพระองค์จงมาถึง ขอให้ความรักมาถึง ขอให้ความยุติธรรมมาถึง...

    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง บอกว่า “ทุกสิ่งเหล่านี้อยู่ที่นี่แล้ว” ... เราเข้าใจได้ว่าข่าวนี้คงทำให้ทุกคนไม่อาจเพิกเฉยอยู่ได้ ...

    ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ที่มีความปรารถนาหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นได้ว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันมีความปรารถนาอันลึกล้ำเหล่านี้หรือไม่ ... มนุษย์กำลังคาดหวังเช่นนี้หรือเปล่า...

    ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เตือนว่า “จงระวังตัว”

    เราจงอย่าพอใจแต่เพียงจะ “ปรารถนา” แต่ควรช่วยกันสร้าง “พระอาณาจักรของพระเจ้า” เราต้องออกแรง ... กลับใจ ... เปลี่ยนแปลงตนเอง
ยอห์นผู้นี้คือผู้ที่ประกาศกอิสยาห์ ได้กล่าวถึงว่า “คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่าจงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด”

    พระเจ้าข้า เราเป็นคนเฉื่อยชามากเมื่อเทียบกับคนเหล่านั้น เราทำให้พระวรสารกลายเป็นสารที่เคลือบน้ำตาล ทำให้กลายเป็นพลังของ “ธรรมประเพณี” เป็นพลังเพื่ออนุรักษ์อดีต ทั้งที่พระวรสารเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่ลัทธิอเทวนิยมสมัยใหม่ได้รับประโยชน์จากความอ่อนแอของเรา

    เราคริสตชนมีความรักร้อนแรงพอหรือเปล่า มีความกระตือรือร้นมากพอหรือไม่ ที่จะก่อสร้างเมืองใหม่ ... พระเจ้าของเราไม่ได้ประทับอยู่ “เบื้องบน” เท่านั้น พระองค์ยังประทับอยู่ “ข้างหน้า” ... พระองค์กำลังเสด็จมา พระองค์ทรงอยู่ใกล้เรามาก ... เราควรทำงานเตรียมทางสำหรับการเสด็จมาของพระองค์...

ยอห์น นุ่งห่มด้วยผ้าขนอูฐ มีสายหนังรัดเอว กินตั๊กแตน และน้ำผึ้งป่าเป็นอาหาร...

    ยอห์นไม่ใช่คนรักความสะดวกสบาย แต่เป็นคนสมบุกสมบัน ก่อนอื่น เขาปฏิบัติสิ่งที่เขาเรียกร้องให้ผู้อื่นปฏิบัติ เขาดำเนินชีวิตง่าย ๆ แบบคนโบราณ ซึ่งไม่ทำลายสุขภาพและสภาพแวดล้อม ... ไม่ก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วน โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโคเลสเตอรอลส่วนเกิน!...

ประชาชนจากกรุงเยรูซาเล็ม จากทั่วแคว้นยูเดีย และจากทั่วเขตแม่น้ำจอร์แดน พากันไปพบเขา…

    ถิ่นทุรกันดารกลับมามีชีวิต เต็มไปด้วยประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ... ทะเลทรายบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดนกลายเป็นเหมือนจุดข้ามแดน มีประชาชนมาจากทุกสารทิศ จากตัวเมือง (เยรูซาเล็ม) ทางทิศตะวันตก ... และจากเขตชนบท (แม่น้ำจอร์แดน) ทางทิศตะวันออก...
... รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดน โดยสารภาพบาปของตน

    ถูกแล้ว “ถิ่นทุรกันดารในหัวใจ” กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อาศัยความสุภาพถ่อมตนและการใช้โทษบาป การเปลี่ยนสังคมยังไม่พอ แม้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน ... แต่เราต้องเปลี่ยนตนเองก่อน...

    เทศกาลเตรียมรับเสด็จไม่ใช่เวลาที่เราเห็นหน้าต่างร้านค้าเต็มไปด้วยขนมหวาน และของขวัญ แต่เป็นเวลาสำหรับการเปลี่ยนหัวใจอย่างสิ้นเชิง ... เทศกาลเตรียมรับเสด็จไม่ใช่เวลาฝันหวานสำหรับ “เด็กดี” แต่เป็นเวลาที่เราต้องตัดสินใจ...

    การกลับใจในพระคัมภีร์หมายถึง “การหันกลับและมุ่งหน้าไปในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่เรากำลังเดินอยู่” คำภาษาละตินว่า conversio ซึ่งเป็นรากของคำภาษาอังกฤษว่า conversion (การกลับใจ) เป็นคำที่แปลมาจาก metanoia ในภาษากรีก ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า การเปลี่ยน (meta) จิตใจ (noia) ... และสองคำนี้เป็นคำแปลมาจากคำว่า shub ในภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นคำที่ประกาศกใช้กันเสมอ...

    สำหรับข้าพเจ้า เทศกาลเตรียมรับเสด็จปีนี้จะเป็นเวลาของ “การหันหลังกลับ” เวลาของการเปลี่ยนชีวิต และการกลับใจหรือเปล่า ... หรือข้าพเจ้าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างสุขสบาย ด้วยเท้าทั้งสองวางพาดบนตั่ง นั่งทอดอารมณ์อย่างสบายใจ...

    เมื่อประชาชนในยุคนั้นได้ยินข่าวดีว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว พวกเขาพากันออกไปยังถิ่นทุรกันดาร และ “สารภาพบาปของตน” … คนในยุคปัจจุบันอย่างเราทำอะไรบ้าง....

    มโนธรรมของเราไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของบาปเลยหรือ ... เราตาบอดหรือ ... เราขาดสายตาที่กระจ่างซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างนั้นหรือ...

    เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันพระคริสตสมภพ เราจะไปสารภาพความชั่วที่อยู่ในตัวเรา และขอรับ “ศีลล้างบาปครั้งที่สอง” คือศีลอภัยบาปหรือไม่ ... หรือเราจะทำตัวเหมือนชาวฟาริสี และชาวสะดูสี...

เมื่อยอห์นเห็นชาวฟาริสี และสะดูสีหลายคนมารับพิธีล้าง จึงพูดว่า “เจ้าสัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำเจ้าให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด อย่าอวดอ้างเองว่า ‘เรามีอับราฮัมเป็นบิดา’ ข้าพเจ้าบอกท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมได้”

    ในขณะที่บางสิ่งที่ “ใหม่เอี่ยม” กำลังเริ่มต้นสำหรับฝูงชนที่ตาสว่างแล้ว ... มีบางคนที่ยังปฏิเสธที่จะเดินไปข้างหน้า เพราะเชื่อมั่นในความปลอดภัยจอมปลอมของตน คนเหล่านี้คิดว่าอย่างน้อยพวกเขาก็ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน เพราะเขาเป็น “ชนชาติที่ได้รับเลือกสรร”...

    เขาคิดว่าเขาเป็นอิสระ แต่เขาไม่ตระหนักว่าเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลของศัตรูของแผนการของพระเจ้า ... ยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง เผยโฉมหน้าของศัตรูผู้นี้ ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยตนเอง แต่กระทำการต่าง ๆ อย่างซ่อนเร้น บุคคลนั้นคือ “งูร้าย” ซึ่งตั้งแต่ในยุคของเอวา ได้หลอกมนุษย์ชายหญิงว่าไม่มีอันตรายที่จะกินผลไม้ต้องห้าม และเป็นผู้เปลี่ยนสภาพคนทั้งหลายที่ฟังมันให้กลายเป็น “ลูกหลานของงู” (ปฐก 3:15) และกลายเป็น “สัญชาติงูร้าย” (มธ 3:7)

    การไม่ยอมกลับใจหมายถึงการยอมเป็นทาสของงูร้ายต่อไป...

“บัดนี้ ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่เกิดผลดีจะถูกโค่น และโยนใส่ไฟ”

    นี่คือเวลาที่เร่งด่วนมากที่สุด ... เราจงรีบเร่งเถิด

    คมขวานจะจะโค่นต้นไม้ลงในพริบตา ต้นไม้ที่ไร้ประโยชน์ และไม่เกิดผลดีจะถูกโยนเข้ากองไฟ จากถ้อยคำเหล่านี้ เราก็เดาได้แล้วว่าต้นไม้ที่ไร้ผล ที่พระเยซูเจ้าทรงสาปแช่งระหว่างที่พระองค์ทรงเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็มในอีกสองปีต่อมา จะมีชะตากรรมอย่างไร (มธ 21:18)...
    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้ผลิต “ผลที่ดี” ด้วยเทอญ...

ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย เพื่อให้สำนึกผิดกลับใจ แต่ผู้ที่จะมาภายหลังข้าพเจ้าทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะถือรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้า และไฟ

    “ผู้ที่จะมาภายหลัง ... ทรงอำนาจยิ่งกว่า” (เทียบ มก 1:7; ลก 3:16)

    ถ้อยคำที่ออกมาจากปากของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งเป็นประกาศกคนสุดท้าย ไม่ได้เป็นเพียงคำประกาศความถ่อมตน (“ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะเป็นทาสของเขา”) แต่เป็นคำประกาศยืนยันความเชื่อว่า “ผู้ที่จะมาในภายหลังเป็นพระเจ้า” พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์” แห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า ... พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาแห่งกาลอวสาน ผู้ทรงได้รับอำนาจให้แสดงความโกรธของพระเจ้าต่อความชั่ว...

“เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้น จะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ”

    นี่คือภาพลักษณ์ที่นิยมใช้ในพระคัมภีร์เมื่อกล่าวถึงวันพิพากษา การพิพากษาซึ่งสงวนไว้สำหรับพระเจ้าเท่านั้น ... และคำบอกเล่าทั้งหมดนี้บังคับให้เรามองเห็นว่า “ผู้ที่จะมาภายหลัง” นี้ก็คือพระเยซูเจ้า ... ถูกแล้ว นี่คือคำประกาศความเชื่อทางเทววิทยา...

    ลานนวดข้าวคือสถานที่คัดแยกข้าวสาลีออกจากแกลบ ... เขาจะเก็บข้าวสาลีไว้ในยุ้งฉาง ส่วนแกลบเขาจะโยนเข้ากองไฟ...

    ความดี และความชั่วต่างก็ไม่สามารถลดทอนซึ่งกันและกันได้…

    ใครก็ตามที่ไม่ยอม “สารภาพบาปของตน” กำลังทำให้ตนเองกลายเป็นแกลบที่ภายในว่างเปล่า แทนที่จะเป็น “ข้าวสาลี”...