วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ
อิสยาห์ 2:1-5; โรม 13:11-14; มัทธิว 24:37-44
บทรำพึงที่ 1
เครื่องจำลองสถานการณ์
พระเยซูเจ้าจะเสด็จมาเป็นครั้งที่สองในเวลาที่เราไม่คาดหมาย เราจึงควรเตรียมพร้อมไว้เสมอ
เมื่อหลายปีก่อน นักประพันธ์ชื่อ ฮัล เฮลแมน ได้เขียนบทความหนึ่งที่น่าประทับใจในนิตยสาร Omni ซึ่งกล่าวถึงเครื่องจำลองสถานการณ์ และการฝึกใช้เครื่องจำลองนี้ เพียงย่อหน้าแรกก็ทำให้ผู้อ่านสนใจได้แล้ว บทความนี้กล่าวไว้ดังนี้
“ผมไม่เคยขับเครื่องบินมาก่อนเลยในชีวิต ผมจึงรู้สึกประหม่าเมื่อผมเข้าควบคุมเครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่งในไมอามี่ และเตรียมนำขึ้นบินไปยังวอชิงตัน ดี.ซี.
การเดินทางครั้งนี้มีเรื่องตื่นเต้นมากกว่าที่ผม หรือผู้ช่วยนักบินที่มีประสบการณ์ของผม คาดหมาย เครื่องยนต์เครื่องหนึ่งหยุดทำงาน สายน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดรั่ว และหางเสือของเครื่องบินก็ติดขัด แต่ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเราเตรียมลงจอดที่สนามบินวอชิงตัน เราเห็นได้ในทันใดว่าทางวิ่งพุ่งเข้ามาหาเราอย่างรวดเร็วเกินไป
มีเสียงดังโครม! เรากระแทกพื้นทางวิ่งอย่างแรง แล้วกระดอนขึ้น ร่อนลง และกระแทกพื้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้ช่วยนักบินของผมตะโกนบอกให้ผมจับคันบังคับให้มั่น จากนั้นเขาก็เบรกอย่างแรง เมื่อเขาทำเช่นนั้น เราหยุดนิ่งพร้อมกับเสียงดังสนั่น เราอยู่ห่างจากหายนะเพียงไม่กี่ฟุตเท่านั้น
หัวใจของผมเต้นรัวราวกับตีกลอง แต่แล้วผมก็เริ่มผ่อนคลาย ผมนึกขึ้นได้ว่าเราไม่เคยออกจากไมอามี่เลย เราอยู่ในเครื่องจำลองการบิน ประสบการณ์ครั้งนั้นชัดเจน และเหมือนจริง จนผมต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะรวบรวมสติได้อีกครั้งหนึ่ง”
ในบทความของเขา เฮลแมนบรรยายถึงบทบาทสำคัญของเครื่องจำลองสถานการณ์ และการฝึกใช้เครื่องจำลองสถานการณ์ ที่มีต่อชีวิตสมัยใหม่ เช่น โรงพยาบาลจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อจะได้รู้ว่าแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ต่าง ๆ จะรับมือกับเหยื่อจำนวนมากมายอย่างไร
โรงเรียนจำลองสถานการณ์เพลิงไหม้ เพื่อหาวิธีที่เร็วที่สุดที่จะอพยพเด็กนักเรียนหลายพันคนออกจากห้องเรียน 70 หรือ 80 ห้อง
กองทัพจำลองสถานการณ์การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อค้นหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะประสานงานระหว่างเครื่องบิน เรือ และเรือดำน้ำ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด
พระศาสนจักรต้องการให้เรามองเทศกาลเตรียมรับเสด็จโดยให้คิดว่าเป็นการจำลองเหตุการณ์เช่นนี้ ให้เราถือว่าเรากำลังจำลองเหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาในโลกของเรา และพระศาสนจักรไม่เพียงต้องการให้เราจำลองเหตุการณ์การเสด็จมาของพระองค์เมื่อวันพระคริสตสมภพครั้งแรก แต่ยังต้องการให้เราจำลองเหตุการณ์การเสด็จมาครั้งที่สองเมื่อสิ้นพิภพด้วย
การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้านี้เองที่พระศาสนจักรเน้นย้ำในวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ ดังนั้น ขอให้เราให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่เถิด
เรื่องแรกที่พระศาสนจักรบอกเรา คือ การเสด็จมาเป็นครั้งที่สองของพระคริสตเจ้าอาจใกล้กว่าที่เราคิด ดังนั้น นักบุญเปาโลจึงบอกไว้ในบทอ่านที่สองของวันนี้ว่า “กลางคืนล่วงไปมากแล้ว กลางวันก็ใกล้จะมาถึง”
เรื่องที่สองที่พระศาสนจักรบอกเรา คือ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้าจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว มัทธิว บอกเราว่า “สมัยของโนอาห์เป็นเช่นไร เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาก็จะเป็นเช่นนั้น ในสมัยก่อนน้ำวินาศนั้น ผู้คนกินดื่ม แต่งงานกัน จนถึงวันที่โนอาห์เข้าไปในเรือ ไม่มีใครนึกระแวงว่าอะไรจะเกิดขึ้น”
มัทธิวสรุปว่า “ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน จงเตรียมพร้อมไว้ เพราะว่าบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย”
ใครบางคนเคยบอกว่า วันที่อันตรายที่สุดในชีวิตของเรามาถึงเมื่อเรารู้จักคำว่า “วันพรุ่งนี้” ในวันนั้น เราเริ่มทำตัวเหมือนว่าเรามีเวลามากมายที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่เราปรารถนา
นักเทววิทยาชาวสก๊อต ชื่อวิลเลียม บาร์เคลย์ เล่าเรื่องปีศาจสามตัวที่กำลังเตรียมตัวมาฝึกงานล่อลวงมนุษย์บนโลก ก่อนออกเดินทาง ปีศาจแต่ละตัวเข้ารับการสัมภาษณ์จากซาตาน เจ้าแห่งปีศาจ
ซาตานถามปีศาจตัวแรกว่า “เจ้าวางแผนจะหลอก และทำลายมนุษย์อย่างไร” ปีศาจตัวแรกตอบว่า “ข้าจะทำให้เขาเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีจริง”
ซาตานถามปีศาจตัวที่สองว่า “แล้วเจ้าล่ะ เจ้าวางแผนจะหลอกมนุษย์อย่างไร” ปีศาจตัวที่สองตอบว่า “ข้าจะทำให้เขาเชื่อว่านรกไม่มีจริง”
ซาตานถามปีศาจตัวที่สามว่า “แล้วเจ้าล่ะ” ปีศาจตัวที่สามตอบว่า “วิธีการของข้าไม่ต้องใช้สติปัญญามาก ข้าเพียงแต่วางแผนจะทำให้มนุษย์เชื่อว่าเขายังมีเวลาเหลือเฟือที่จะเตรียมตัวตาย และเตรียมตัวสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า”
ซาตานยิ้ม และบอกปีศาจตัวที่สามว่า “จงทำดังนั้นเถิด แล้วเจ้าจะล่อลวงคนได้จำนวนมาก”
ประเด็นของเรื่องนี้ คือ มีบางสิ่งบางอย่างในชีวิตที่เราไม่ควรผลัดผ่อนไปถึงวันพรุ่งนี้ เพราะเราไม่มีทางรู้แน่ว่าวันพรุ่งนี้จะมาถึงสำหรับเรา
คำถามข้อใหญ่ที่พระศาสนจักรต้องการถามเราในวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จนี้ คือ “เรามีความพร้อมมากน้อยอย่างไรที่จะพบกับพระเยซูเจ้า ถ้าพระองค์เสด็จมาในนาทีนี้”
ถ้าเรามีเวลาเตรียมตัวตายเพียง 5 นาที เราจะใช้เวลา 5 นาทีนั้นอย่างไร ไม่ว่าเราจะเตรียมตัวอย่างไร นั่นคือสิ่งที่พระศาสนจักรต้องการให้เราทำในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ
หญิงชราคนหนึ่งจะกวาด และเช็ดบ้านทุกคืนก่อนเข้านอน คืนหนึ่ง สามีของเธอพูดกับเธอว่า “ที่รัก คืนนี้คุณเหนื่อยมากแล้ว ทำไมคุณไม่กวาดและเช็ดบ้านเช้าวันพรุ่งนี้เล่า ไม่มีใครมาเยี่ยมเรากลางดึกหรอก”
ภรรยาของเขาตอบว่า “ที่รัก พระเยซูเจ้าอาจเสด็จมากลางดึก พระองค์อาจเสด็จมารับคุณ หรือรับฉันไปก็ได้ ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จมารับใคร ฉันก็ไม่ต้องการให้พระองค์เสด็จเข้ามาในบ้านที่สกปรก”
คำตอบของหญิงชราตรงกันจิตตารมณ์ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ โดยเฉพาะจิตตารมณ์ของวันอาทิตย์ที่หนึ่ง เราสรุปความคิดของเธอได้ว่าเราควรเตรียมพร้อมสำหรับความตาย หรือสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้าในทุกนาทีในชีวิตของเรา
เราจะสรุปบทรำพึงของเราด้วยบทภาวนาสั้น ๆ ดังนี้
ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า
พระองค์ไม่ได้ทรงเผยให้เรารู้ว่าพระองค์จะเสด็จมาเมื่อใด
เราเพียงแต่รู้ว่าพระองค์จะเสด็จมาอย่างแน่นอน
เมื่อพระองค์เสด็จมา
ขอให้พระองค์ทรงพบว่าบ้านของเราได้รับการกวาดถูจนสะอาด
ขอให้พระองค์ทรงพบว่าเรากำลังตื่นเฝ้า และสวดภาวนา
และพร้อมจะต้อนรับพระองค์ด้วยเทอญ
บทรำพึงที่ 2
มัทธิว 24:37-44
นี่คือวันเริ่มต้นปีพิธีกรรมใหม่ ซึ่งเป็นปี A ในวันอาทิตย์แต่ละสัปดาห์ เราจะอ่านบทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (ปี B เป็นบทอ่านจากพระวรสารของนักบุญมาระโก และปี C เป็นบทอ่านจากพระวรสารของนักบุญลูกา)
สมัยของโนอาห์เป็นเช่นไร เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาก็จะเป็นเช่นนั้น
เราอยู่ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จ (Advent) คำนี้มาจากภาษาละติน adventum แปลว่า “การมาถึง” ... “การมา”...
นี่คือหัวข้อของพระวรสารตอนนี้ คือ ใครบางคนจะมา ... เขากำลังมา
พระเยซูเจ้าไม่ทรงแนะนำพระองค์เองเสมือนว่าทรงเป็น “บุรุษจากอดีต” แต่ทรงเป็นบุรุษแห่งอนาคต พระองค์ตรัสถึงการเสด็จมาของพระองค์ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยังจะต้องเกิดขึ้น
การฉลองวันพระคริสตสมภพที่ใกล้เข้ามาไม่ใช่โอกาสสำหรับเราที่จะจัดฉากละคร เหมือนกับว่าเราเพียงกำลังจำลองเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประชาชนรอคอยใครบางคน ซึ่งเคยมาเยือนเขาแล้ว และเรากำลังรำลึกถึงเรื่องราวอันน่าพิศวงของเขาอย่างมีความสุข...
พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่าพระองค์กำลังเสด็จมา “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาก็จะเป็นเช่นนั้น”...
พระเจ้ากำลังเสด็จมา เราจงยอมให้พระเจ้าเสด็จมาเถิด...
พระเจ้าเสด็จมาหาเราทุกเช้า...
ในสมัยก่อนน้ำวินาศนั้น ผู้คนกิน ดื่ม แต่งงานกันจนถึงวันที่โนอาห์เข้าไปในเรือ...
คนที่ความคิดตื้นเขินอาจสงสัยว่า ทำไมต้องย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องน้ำวินาศ และเรือของโนอาห์ เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับเรา...
พระเยซูเจ้าทรงคิดว่าเรายังอยู่ – และจะอยู่เสมอไป - ใน “สมัยของโนอาห์” และกิจกรรมที่พระองค์ทรงบรรยายว่าทำให้มนุษย์วุ่นวายก็เป็นภาพที่สะท้อนสังคมร่วมสมัยอย่างชัดเจน คือ เราทำงาน เรากิน เราแต่งงานกัน ... ไม่มีอะไรประหลาดพิสดารในกิจกรรมเหล่านี้...
ปฐมกาล 6:5-13 บอกเล่าว่าน้ำวินาศเป็นการลงโทษความไร้ศีลธรรมของมนุษย์ในยุคนั้น “พระเจ้าทรงเห็นว่าความชั่วร้ายของมนุษย์มีมากบนแผ่นดิน และใจของเขาคิดแต่สิ่งชั่วร้ายอยู่ตลอดเวลา” ธรรมประเพณีของรับบี บรรยายเหตุการณ์นี้อย่างรุนแรงว่า “ความต่ำช้าทางเพศของคนร่วมสมัยของโนอาห์ ซึ่งนำไปสู่การไม่เคารพกฎเกณฑ์ใด ๆ ทางศีลธรรม ... และทำให้เกิดสภาวะตกต่ำทางศีลธรรมและสังคม จนมนุษยชาติกำลังทำลายตนเองโดยไม่มีความหวังว่าจะดำรงอยู่ต่อไปได้” (คำอธิบาย “หนังสือปฐมกาล” ของราชี (Rachi))
ตรงกันข้าม พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถึงความไร้ศีลธรรมเลย พระองค์ไม่ทรงกล่าวหาว่ามนุษย์มีพฤติกรรมวิปริต อันที่จริง มนุษย์ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเพียงแต่กำลังวุ่นวายกับการดำรงชีวิตตามปกติ โดยไม่มีเหตุจูงใจซ่อนเร้น ... เขาเพียงแต่กำลังสนุกกับชีวิตของเขา
ถ้าเช่นนั้น มนุษย์ทำอะไรผิด ... พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเขาในเรื่องใด...
... ไม่มีใครนึกระแวงว่าอะไรจะเกิดขึ้น จนกระทั่งน้ำวินาศมากวาดพวกเขาไปหมดสิ้น...
เหตุผลที่ทรงตำหนิไม่ใช่บาป หรือความลุ่มหลงในโลกีย์วิสัย แต่เป็นเพราะพวกเขา “ไม่นึกระแวง” เขาไม่สงสัยเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาเห็นแก่ตัว ... เขาไม่สนใจสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ คือ การประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระเจ้า และความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ที่กำลังขัดสน...
เรายังคงอยู่ “ในสมัยของโนอาห์”...
มนุษย์ในยุคปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เหมือนกับกำลังสลบ ความก้าวหน้าทางวัตถุทำให้เราหลับไหล เราดำรงชีวิตในโลกนี้ และคิดว่าโลกนี้จะดำรงอยู่ต่อไปตลอดกาล ... จนกระทั่งถึงเวลาที่เราถูกปลุกให้ตื่นอย่างกะทันหัน ซึ่งเป็นเสมือน “น้ำวินาศ” ยุคใหม่ เช่น ภาวะเงินเฟ้อที่ไหลท่วมระบบเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก ... สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตมีราคาสูงขึ้น (เหมือนคลื่นไต้น้ำ) ... การเจ็บป่วยที่ไม่คาดคิด ... อุบัติเหตุ ... ความมั่นคงทุกด้านของเรา “ถูกกลืนหายไป”...
... เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย
พระเยซูเจ้าทรงใช้คำว่า “เสด็จมา” เป็นครั้งที่สอง คำนี้คือ parousia ในภาษากรีก และหมายถึง “การอยู่ที่นั่น(presence) ... การมาถึง (arrival) การอยู่เคียงข้าง” ... ในโลกของชาวกรีก-โรมัน คำนี้หมายถึง “การเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการของจักรพรรดิ”
เรามักคิดว่า Parousia หมายถึงอวสานกาล เป็นเหตุการณ์ที่ห่างไกลมากจนไม่มีทางที่เราจะได้เห็นจุดจบของโลก พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราไม่ให้อ่านสัจภาพ หรือความเป็นจริง นี้ผิด ๆ พระองค์ทรงกำลังบอกเราว่า พระองค์เสด็จมาเยือนเราอย่างเป็นทางการท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่แสนจะธรรมดาของเรา ... ในสถานที่ทำงานของเรา ... ในบ้านที่เรากิน และดื่ม ... ในความสัมพันธ์ของเรากับมนุษย์ชายหญิงทั่วไป...
ในทุกนาที เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับ “การเสด็จมา” หรือ Parousia นี้ - เราต้องพร้อมจะต้อนรับการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า...
เวลานั้น คนสองคนอยู่ที่ทุ่งนา คนหนึ่งจะถูกรับไป อีกคนหนึ่งจะถูกทิ้งไว้ หญิงสองคนที่กำลังโม่แป้งอยู่ คนหนึ่งจะถูกรับไป อีกคนหนึ่งจะถูกทิ้งไว้
นี่คือชีวิตประจำวัน...
พระเยซูเจ้าเสด็จมาเยือนเราขณะที่เรากำลังประกอบอาชีพของเราตามปกติ พระองค์เสด็จมาหาชาวนาที่กำลังไถนา หรือเก็บเกี่ยวพืชผล พระองค์เสด็จมาหาแม่บ้านที่กำลังทำงานภายในบ้าน และเราอาจเพิ่มเติมก็ได้ว่า พระองค์เสด็จมาหาเราในสำนักงาน หรือบนถนนขณะที่เรากำลังขี่รถจักรยาน...
จงตื่นเฝ้าระวังเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่านายของท่านจะมาเมื่อไร
พระเยซูเจ้าทรงแนะนำให้เราลุกขึ้น และตื่นขึ้น – จงเฝ้าระวัง!
พระองค์ตรัสโดยใช้คำกริยาในรูปปัจจุบันกาล “จะมา (is coming)” เพราะการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน...
การเสด็จมาของพระเยซูเจ้ายังเป็นการเลือกอย่างหนึ่งด้วย มนุษย์มองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างชายสองคนในทุ่งนา และหญิงสองคนที่กำลังโม่แป้ง แต่พระเจ้าทรงเห็นความแตกต่าง เพราะคนหนึ่งพร้อม ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่พร้อม ... คนหนึ่งอยู่ “กับพระเจ้า” ดังนั้น จึงอยู่ในแสงสว่าง อีกคนหนึ่งอยู่โดย “ปราศจากพระเจ้า” ดังนั้น จึงอยู่ในความมืด...
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยพลการอย่างแน่นอน ข้อความในพระคัมภีร์ตลอดเล่มย้ำว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” และการทำความเข้าใจคำบอกเล่าเรื่องน้ำวินาศในทางที่ถูกต้อง จะทำให้เรามองเห็นการช่วยให้รอดของพระองค์ เมื่อมนุษย์มุ่งหน้าไปหาภัยพิบัติ กระแสของประวัติศาสตร์จะพลิกกลับ อาศัยการเข้าแทรกแซงช่วยเหลือของพระเจ้า และมนุษยชาติใหม่ก็เกิดขึ้น โนอาห์ คือ “มนุษย์ผู้ที่พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น”...
แต่ขอให้สนใจว่าวันนี้ “เรือ” นั้นพร้อมแล้วสำหรับ “น้ำวินาศ” ส่วนตัวของท่านหรือยัง พระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ ทรงดำลงสู่น้ำแห่งความตาย ทรงนำ "เรือ" คือพระศาสนจักรของพระองค์ หรือมนุษย์ทุกคนที่ยอมติดตามพระองค์ ในขณะที่พระคัมภีร์บอกเราว่ามนุษย์ในสมัยของโนอาห์ถูกกวาดล้างจนเกือบหมดสิ้น พระเยซูเจ้าตรัสว่ามนุษย์ 50% ได้รับความรอดพ้น กล่าวคือ คนหนึ่งจากสองคน ... หญิงสาวที่ฉลาดห้าคนรอดพ้น ในขณะที่หญิงสาวที่โง่ห้าคนไม่รอดพ้น (มธ 25:12) ... และแน่นอน เรารู้ว่าจำนวนนี้ไม่ใช่ผลจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์...
พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการทำให้เราตื่นตระหนก แต่ทรงต้องการปลุกมนุษย์ให้ตื่นขึ้น ลุกขึ้น และเฝ้าระวัง ความเสี่ยงที่มีอยู่ในชีวิตของเราทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว เรียกร้องให้เราระมัดระวัง และเตรียมพร้อมเสมอ ผู้บริหารที่เกียจคร้านย่อมนำกิจการของเขาไปสู่หายนะ เยาวชนที่ไม่สนใจเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตย่อมต้องรับผิดชอบความล้มเหลวในชีวิตของตนเอง ... ชาย หรือหญิง ที่ไม่คิดถึงพระเจ้าอาจจะพลาดการเสด็จเยือนของพระองค์ก็ได้...
ดังนั้น จงเฝ้าระวังเถิด เพราะท่านไม่รู้เวลาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านจะเสด็จมา...
พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าบ้านรู้ว่าขโมยจะมาในยามใด เขาคงจะตื่นเฝ้า...
อย่า “หลับ” ไปจนตลอดชีวิตของท่าน ... จงตื่น และเฝ้าระวังเสมอ
เพื่อจะเฝ้าระวัง เราต้องตื่นตัวเหมือนกับเสือที่กำลังออกล่าเหยื่อ “การเฝ้าระวัง” ไม่ได้หมายถึงการแสวงหาความมั่นคงปลอดภัย หรือล็อกประตูบ้านเพื่อป้องกันโจรปล้น ... การเฝ้าระวังหมายความว่าเราต้อง “พร้อม” สำหรับการเผชิญหน้า เตรียมพร้อมเสมอสำหรับปฏิบัติการ ... การเฝ้าระวังตรงกันข้ามกับการนิ่งนอนใจ ปล่อยปละละเลย และรักความสนุกสบาย...
ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดในภายหลังว่า “ถ้าฉันรู้อย่างนี้” ... เพราะเราได้ยินคำเตือนอย่างชัดเจนแล้ว ถ้าเจ้าของบ้านรู้ว่าขโมยจะมาในเวลาใด...
... ไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตนได้
ภาพลักษณ์ของขโมยทำให้เรากลัว ดังนั้น การเฝ้าระวังหมายถึง “ความวิตกกังวล” หรือ...
เราสามารถอ่านภาพลักษณ์นี้จากแง่มุมอื่นได้แน่นอน พระเยซูเจ้าทรงบอกว่าขโมยจะมาทำไม ... ขโมยมาเพื่อเจาะรูในกำแพงบ้าน ... เพื่อเปิดสิ่งที่ปิดอยู่ ถ้อยคำจากอุปมานี้ทำให้เราค้นพบความหมายเชิงสัญลักษณ์อันน่าพิศวงทันทีว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาเสมอเพื่อเปิดโลกที่ปิดต่อตนเอง เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงประตูบ้านของเรา พระองค์เสด็จเข้ามาเพื่อประทับอยู่กับผู้ที่ตื่นเฝ้าเพื่อจะเปิดประตูรับพระองค์ ... แต่น่าเศร้าสำหรับผู้ที่ปล่อยให้พระองค์เสด็จมาโดยที่เขาไม่รู้ตัว เพราะเมื่อนั้น พระองค์ย่อมไม่สามารถเสด็จเข้ามาโดยไม่งัดแงะให้บ้านเสียหายได้...
เราจะยอมพลาดโอกาสที่จะเปิดประตูต้อนรับโลกของพระเจ้าหรือ...
ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน จงเตรียมพร้อมไว้ เพราะว่าบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย
คริสตชนควรเป็นคนที่ไม่วิตกกังวลกับ “เวลานัดหมาย” เขาควรสมัครใจ และพร้อมอยู่เสมอ...
ถูกแล้ว บุตรแห่งมนุษย์สามารถเสด็จมาได้ทุกนาทีในชีวิตของเรา การเสด็จมาของพระองค์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และอย่างเรียบง่าย และดูเหมือนว่าเป็นเวลาที่เราคาดไม่ถึงเสมอ...
เราจะเชื่อคำเผยแสดงของพระเยซูเจ้าข้อนี้อย่างจริงจังหรือไม่...