แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    ยอห์น 3:14-21
(14)โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใดบุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น  (15)เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะมีชีวิตนิรันดร(16)พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร(17)เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลกแต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น(18)ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษแต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้วเพราะเขามิได้มีความเชื่อในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า (19)ประเด็นของการตัดสินลงโทษก็คือความสว่างเข้ามาในโลกนี้แล้วแต่มนุษย์รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง เพราะการกระทำของเขานั้นชั่วร้าย(20)ทุกคนที่ทำความชั่วย่อมเกลียดความสว่าง และไม่เข้าใกล้ความสว่างเกรงว่าการกระทำของตนจะปรากฏชัดแจ้ง(21)แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามความจริงย่อมเข้าใกล้ความสว่างเพื่อให้เห็นชัดว่าสิ่งที่เขาทำได้ทำโดยพึ่งพระเจ้า”


“โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใด บุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น” (ข้อ 14)
    ชาวยิวบ่นว่าพระเจ้าและโมเสสที่พาพวกเขาออกจากประเทศอียิปต์มารับความทุกข์ทรมานในถิ่นทุรกันดาร  พระเจ้าจึงลงโทษโดยให้งูพิษมากัดประชาชนตายไปเป็นจำนวนมาก  เมื่อพวกเขาสำนึกผิดและร้องขอพระเมตตาจากพระเจ้า  พระองค์ทรงสั่งโมเสสให้ทำรูปงูติดไว้ที่เสาสูงกลางค่าย  ผู้ใดถูกงูกัด ถ้ามองที่รูปงูก็หาย (กดว 21:4-9)
ต่อมาชาวยิวหลงผิดหันไปกราบไหว้และถวายเครื่องบูชาแก่รูปงูแทนพระเจ้า  กษัตริย์เฮเซคียาห์จึงสั่งให้ทำลายรูปงูที่โมเสสสร้างจนไม่เหลือซาก (2 พกษ 18:4)
     พวกรับบีพยายามอธิบายว่า ผู้ที่รักษาชาวยิวให้หายจากพิษงูร้ายคือพระเจ้าซึ่งเป็นผู้สั่งโมเสสให้สร้างรูปงูนี้ขึ้นมา หาใช่เป็นเพราะฤทธิ์อำนาจของรูปงูแต่ประการใดไม่
    ยอห์นนำเรื่องโมเสส “ยกรูปงูขึ้น” มากล่าวที่นี้เพื่อเปรียบเทียบว่า เมื่อชาวยิวมองดูรูปงู จิตใจของพวกเขาจะคิดถึงพระเจ้า และฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่พวกเขาวางใจจะช่วยพวกเขาให้รอดฉันใด  “พระเยซูเจ้าทรงถูกยกขึ้น” เพื่อว่าผู้ใดมองกางเขน จะคิดถึงพระองค์ เชื่อพระองค์ และมีชีวิตนิรันดรฉันนั้น
คำ “ยกขึ้น” ตรงกับภาษากรีก hupsoo (ฮุฟซอโอ) ใช้กับพระเยซูเจ้าใน 2 กรณีเท่านั้น คือ
     1.    เมื่อพระองค์ถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน  ดังที่พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น (ฮุฟซอโอ)  เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า เราเป็น และรู้ว่าเราไม่ทำอะไรตามใจตนเอง แต่พูดอย่างที่พระบิดาทรงสั่งสอนเราไว้” (ยน 8:28)
     และอีกตอนหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน (ฮุฟซอโอ)  เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)
     2.    เมื่อพระองค์ได้รับการยกขึ้นสู่พระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์  ดังที่เปโตรปราศรัยต่อหน้าประชาชนในวันเปนเตกอสเตว่า “พระองค์ทรงได้รับการเทิดทูน (ฮุฟซอโอ) ให้ประทับเบื้องขวาของพระเจ้า” (กจ 2:33)  และเปาโลย้ำอีกครั้งว่า “เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูน (ฮุฟซอโอ) พระองค์ขึ้นสูงส่ง และประทานพระนามให้แก่พระองค์ พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น” (ฟป 2:9)
     แสดงว่าในชีวิตของพระเยซูเจ้า การ “ยกขึ้น” ในทั้งสองกรณีมีความสัมพันธ์กันชนิดแยกจากกันไม่ออก  นั่นคือ ถ้าไม่มีกางเขนก็ไม่มีความรุ่งโรจน์
     สำหรับพระเยซูเจ้า กางเขนคือหนทางสู่ความรุ่งโรจน์ !
สำหรับเราคริสตชนก็เช่นกัน หากปราศจากกางเขน ก็ปราศจากมงกุฎ – No Cross No Crown !
   
“เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะมีชีวิตนิรันดร” (ข้อ 15)
    “เชื่อในพระองค์”  มีความหมายอย่างน้อย 3 ประการคือ
     1.    เชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นดังที่พระเยซูเจ้าบอกเรา  นั่นคือ พระองค์ทรงรักเรา ห่วงใยเรา และปรารถนาจะให้อภัยเรา
        ความเชื่อเช่นนี้ไม่ใช่ชาวยิวจะยอมรับได้ง่าย ๆ  เพราะพวกเขามองพระเจ้าเป็นผู้ตราบทบัญญัติที่พร้อมจะลงโทษทุกคนที่ล่วงละเมิด  เป็นผู้ที่เรียกร้องของถวายและเครื่องบูชามากมายจากมนุษย์  เป็นผู้พิพากษาที่จ้องจับผิดมนุษย์  ฯลฯ
        และเพื่อจะบอกว่าพระเจ้าคือ “บิดา” ที่เฝ้ารอบุตรผู้หลงผิดให้กลับบ้าน พระองค์ต้องยืนยันสิ่งนี้ด้วยชีวิตของพระองค์เองบนไม้กางเขน
        ดังนี้ เราจะเป็นคริสตชนไม่ได้เลยหากเราไม่เชื่อด้วยสิ้นสุดจิตใจว่า “พระเจ้ารักเรา”
    2.    เชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า  ด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉัน “พ่อลูก” นี้เอง พระองค์จึงล่วงรู้ความคิดและจิตใจของพระเจ้า และสามารถบอกความจริงทุกประการเกี่ยวกับพระเจ้าแก่เราได้
     3.    เชื่อฟังและนบนอบพระเยซูเจ้า เพราะทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสล้วนเป็นความจริง  เราจึงต้องเดิมพันชีวิตนิรันดรของเราด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนทุกประการของพระองค์อย่างไม่มีเงื่อนไข
    ทั้งหมดนี้คือ “ความเชื่อ” ที่จะนำเราไปสู่ “ชีวิตนิรันดร” !
     ในภาษากรีก คำ “ไอโอนีออส” ซึ่งแปลว่า “นิรันดร” นั้น มีความหมายเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ
เพราะฉะนั้น “ชีวิตนิรันดร” จึงไม่ใช่เพียง “ชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด” หรือ “ชีวิตที่ไม่รู้จักตาย” อันเป็นความหมายเชิงปริมาณเท่านั้น  แต่ยังหมายรวมถึง “ชีวิตที่มีคุณภาพเหมาะสมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือพูดง่าย ๆ คือ “ชีวิตแบบพระเจ้า”
สรุปคือ คนที่เชื่อในพระเยซูเจ้าจะมีชีวิตแบบพระเจ้า !
“ชีวิตแบบพระเจ้า” คือชีวิตแห่ง “สันติสุข”
    1.    เรามีสันติสุขกับพระเจ้า  พระองค์ทรงเป็นบิดาของเรา เราไม่ต้องกลัวพระเจ้าที่เรียกร้องเครื่องบูชา และจ้องลงโทษมนุษย์อย่างเคร่งครัดอีกต่อไป
    2.      เรามีสันติสุขกับโลก  หลังจากได้ประสบกับผลพวงจากสึนามิ เฮอริเคน ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว การก่อการร้าย ความทุกข์ยาก อุบัติเหตุ ความตาย ฯลฯ เราอาจเริ่มสงสัยว่าโลกใบนี้น่าอยู่และเป็นมิตรกับเราหรือไม่ ?
        เมื่อพระเยซูเจ้าทรงบอกว่าพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกใบนี้มีหัวใจแบบ “พ่อ”  ความกังวลสงสัยในเรื่องดังกล่าวจึงหมดไป เพราะ “พ่อ” ย่อมไม่สร้างโลกที่เป็นศัตรูให้ลูกอยู่อาศัย
         เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ เราจึงเข้าใจความหมายของความทุกข์ยากต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้นว่า “ทุกสิ่ง” ล้วนอยู่ในแผนการของ “พ่อ” เพื่อสอนและเตรียมเราให้พร้อมสำหรับโลกใหม่ที่ดีกว่า  เมื่อเข้าใจดังนี้ เราย่อมอดทนและเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากต่าง ๆ ได้อย่างมีสันติสุข
         นอกจากนั้น บางปัญหายังเป็นผลดีกับตัวเราแม้ในโลกนี้เอง เช่น “การเจ็บป่วย” แม้ไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนาแต่ก็เป็นเสมือน “สัญญาณเตือนภัย” ให้เราไปพบแพทย์ก่อนที่โรคร้ายหรือความตายจะมาเยือนเรา
    3.    เรามีสันติสุขกับเพื่อนมนุษย์  เมื่อเราได้รับการอภัยจากพระเจ้า เราจึงรู้จักให้อภัยและมองเพื่อนมนุษย์อย่างที่พระเจ้าทรงมอง  เรารวมเป็นครอบครัวเดียวกันด้วยความรักและมีสันติสุข
    4.    เรามีสันติสุขกับตัวเอง  ในโลกนี้ไม่มีใครรู้จักตัวเราเองดีไปกว่าตัวเรา  เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนบาป อ่อนแอ และเหลวไหลมากเพียงใด จนบางครั้งเรารู้สึกเกลียดตัวเอง ดูหมิ่นตัวเอง และสำนึกว่าตัวเองไร้ค่า
         แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เรามี “สันติสุข” กับตัวเอง เพราะแม้เราจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่ามากสักเพียงใดก็ตาม เรายังมีค่าเสมอในสายพระเนตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็น “พ่อ” ของเรา และพระองค์ยังทรงกางพระหัตถ์ต้อนรับเราในฐานะ “บุตรและทายาทสวรรค์” อยู่เสมอ
    “สันติสุข” เหล่านี้เริ่มต้นแล้วตั้งแต่ในโลกนี้ และยังเป็นความหวัง เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเรา เพื่อให้บรรลุถึง “สันติสุข” ที่ครบสมบูรณ์ในโลกหน้า

“พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ข้อ 16)
    นี่คือสาระสำคัญของพระวรสาร !
    ที่ว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะพระวาจานี้เผยให้เราทราบความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า “พระบิดา” ชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน จวบจนพระเยซูเจ้าทรงบอกเราในวันนี้
    1.    พระบิดาคือผู้ริเริ่มแผนการแห่งความรอด
        ในอดีต ศาสนาของเราได้รับการนำเสนอราวกับว่า อับราฮัม โมเสส หรือบรรดาประกาศกต้องคอยทำให้อารมณ์ของพระบิดาสงบ หรือต้องเฝ้าอ้อนวอนขอให้พระองค์รู้จักอภัยโทษ  แม้ทุกวันนี้บางคนยังพูดถึงพระบิดาราวกับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่น่าเกรงขาม โกรธง่าย และชอบจดจำความผิด
         ส่วนความอ่อนโยน ความรัก และการให้อภัยนั้นเป็นลักษณะเฉพาะของพระเยซูเจ้า  บางคนถึงกับพูดว่า เป็นพระเยซูเจ้าเองที่ทรงอ้อนวอนพระบิดาให้เปลี่ยนทัศนคติจากชอบลงโทษมาเป็นให้อภัยมนุษย์
        แต่วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงทุบโต๊ะบอกเราว่า พระเจ้าพระบิดาคือผู้เริ่มต้นแผนการแห่งความรอด โดยทรง “ประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” เพื่อทำให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์มีชีวิตนิรันดร
    2.    พระบิดาคือองค์ความรัก
        มนุษย์มักคิดและเชื่อว่า พระเจ้าคอยเฝ้าจับผิดมนุษย์ที่เลินเล่อ ไม่เชื่อฟัง หรือทรยศพระองค์ แล้วทรงลงโทษเฆี่ยนตีเพื่อให้มนุษย์หันกลับมาหาพระองค์
        บางคนคิดว่า พระเจ้าต้องการให้มนุษย์จงรักภักดีต่อพระองค์ และให้โลกพิภพยอมจำนนต่อพระองค์ เพียงเพื่อจะได้อวดศักดาบารมีของพระองค์เอง
        แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกเราชัดเจนว่า พระบิดาทรงกระทำทุกสิ่ง “เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร”
        หมายความว่าพระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งไม่ใช่เพื่ออวดศักดาหรือทำให้โลกสยบอยู่แทบเท้าของพระองค์ แต่ทรงทำทุกสิ่ง “เพื่อเรามนุษย์” จะได้มีชีวิตนิรันดร
        พระองค์จะไม่มีวันมีความสุขเลยจนกว่าบรรดาลูก ๆ ที่เร่ร่อนของพระองค์จะกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย
        ที่เป็นเช่นนี้เพราะธาตุแท้ของพระบิดาคือ “ความรัก”
    3.    สิ่งที่พระเจ้ารักคือโลก
        พระวาจานี้บ่งบอกถึงความกว้าง ความยาว และความลึกแห่งความรักของพระเจ้าว่ายิ่งใหญ่เพียงใด
        พระเจ้าไม่ได้รักเฉพาะชาวยิว เฉพาะคนดี หรือเฉพาะคนที่รักพระองค์เท่านั้น แต่พระองค์รักคนทั้งโลก !
        นั่นคือทุกคน “ไม่เว้นใครเลย” ล้วนรวมอยู่ในความรักอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระเจ้าทั้งสิ้น  แม้ผู้นั้นจะน่ารังเกียจ หรือโดดเดี่ยวไร้คนเหลียวแลเพียงใดก็ตาม
     ดังที่นักบุญเอากุสตินเคยพูดไว้ว่า “พระเจ้าทรงรักเราแต่ละคนราวกับว่ามีเราเพียงคนเดียวให้ทรงรัก”

“ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้ว” (ข้อ 18)
    เราพึ่งจะไดยินว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์แก่มนุษย์” แล้วอีกสองบรรทัดถัดมายอห์นกลับพูดว่า “ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษ”  ยิ่งไปกว่านั้น พระเยซูเจ้าเองยังตรัสว่า “เรามาในโลกนี้เพื่อพิพากษา” (ยน 9:39)
    พระเจ้าจะรักและตัดสินลงโทษมนุษย์ในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ?
    เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ดังนี้
    สมมุติว่าเรารักและคลั่งไคล้ละครเรื่อง “แดจังกึม” มาก จึงพยายามเก็บเงินเพื่อพาคนที่เรารักมากที่สุดไปดูสถานที่ถ่ายทำในประเทศเกาหลี  แต่เดินชมได้สักครู่เดียว คนที่เรารักก็ออกอาการเซ็ง หงุดหงิด และเบื่อหน่ายสุด ๆ
    จะเห็นว่า ความรักของเรากลายเป็นการตัดสินคนที่เรารักไปแล้ว !
    และคนที่ตัดสินย่อมไม่ใช่เราแน่ เพราะเรารักเขาอย่างสุด ๆ และปรารถนาดีต่อเขาอย่างสุด ๆ  แต่เป็นคนที่เรารักนั่นแหละที่ตัดสินตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่มีศิลปะอยู่ในหัวใจ !
    ปฏิกิริยาของคนที่เรารักนั่นเองคือการตัดสิน !
    กรณีของพระเยซูเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน  พระบิดาทรงส่งพระองค์มาพร้อมกับความรักและความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเรามนุษย์ให้รอดและมีชีวิตนิรันดร
    เมื่อเราเผชิญหน้ากับพระองค์แล้วเราเชื่อ ไว้ใจ และรักพระองค์ เราได้ตัดสินตัวเองให้อยู่ในหนทางแห่งความรอด
    ตรงกันข้ามเมื่อเราเผชิญหน้ากับพระองค์แล้วรู้สึกเฉย ๆ  เย็นชา ซ้ำร้ายบางคนยังรู้สึกไม่พอใจที่พระองค์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของตนมากเกินไป...
ถ้าปฏิกิริยาของเราเป็นดังนี้ เรานั่นแหละตัดสินลงโทษตัวเราเอง
    พระเจ้ามีแต่รัก เป็นเรามนุษย์เองแหละที่ตัดสินและพิพากษาลงโทษตัวเอง !
   
    ผู้ที่เป็นศัตรูกับพระเยซูเจ้าจะเกลียด “ความสว่าง” เพราะความสว่างทำให้เขามองเห็นความเลวร้ายของตนเอง
    ส่วนผู้ที่เชื่อในพระองค์จะอยู่ฝ่ายเดียวกับความจริง และไม่กลัว “ความสว่าง”
    คำถามคือ “เรากลัวความสว่างหรือไม่ ?”