แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ฉลองเทิดทูนไม้กางเขน

ข่าวดี  ยอห์น 3:13-17

    (13)ไม่มีใครเคยขึ้นไปบนสวรรค์นอกจากผู้ที่ลงมาจากสวรรค์คือบุตรแห่งมนุษย์เท่านั้น  (14)โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใดบุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น  (15)เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์จะมีชีวิตนิรันดร(16)พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร(17)เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลกแต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น

ความเดิม

    1.    พระเยซูเจ้าทรงสนทนากับนิโคเดมัส ซึ่งเป็นฟารีสี และผู้ปกครองคนหนึ่งของชาวยิว เกี่ยวกับเรื่อง “การเกิดใหม่”   นักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารเพิ่มข้อความที่ว่า “ไม่มีใครเคยขึ้นไปบนสวรรค์นอกจากผู้ที่ลงมาจากสวรรค์คือบุตรแห่งมนุษย์เท่านั้น”  เข้าไปในคำพูดของพระเยซูเจ้า เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเจ้ารู้และมีสิทธิพูดเรื่องการเกิดใหม่  รวมถึงทุกเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า  เพราะพระองค์ลงมาจากสวรรค์  และเพราะในฐานะบุตร พระองค์จึงมีความสนิทใกล้ชิดและรู้ความจริงทุกอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า
    2.     ชาวยิวบ่นว่าพระเจ้าและโมเสสที่พาพวกเขาออกจากอียิปต์มารับความทุกข์ทรมานในถิ่นทุรกันดาร  พระเจ้าจึงให้งูพิษมากัดประชาชนตายไปเป็นจำนวนมาก  เมื่อพวกเขาสำนึกผิด พระองค์จึงสั่งให้โมเสสทำรูปงูติดไว้ที่เสา  ใครถูกงูกัด ถ้ามองที่รูปงูก็หาย (กดว. 21:4-9)  ภายหลังมีคนหลงผิดกราบไหว้และถวายเครื่องหอมแก่รูปงูนี้ กษัตริย์เฮเซคียาห์จึงสั่งให้ทำลายเสียสิ้น (2 พกษ. 18:4)
         พวกรับบีพยายามแก้ต่างแทนโมเสสว่า ผู้ที่รักษาชาวยิวให้หายจากพิษงูร้ายคือพระเจ้า ซึ่งเป็นผู้สั่งโมเสสให้สร้างรูปงูนั้น หาใช่ฤทธิ์อำนาจของรูปงูทองสัมฤทธิ์แต่ประการใดไม่

ความหมาย

    1.    คำ “ยกขึ้น” (ภาษากรีก hupsoo อ่าน ฮุฟซอโอ) ใช้กับพระเยซูเจ้าใน 2 ความหมายเท่านั้น คือ
         1.1 เมื่อพระองค์ถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน  เช่น “พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาอีกว่า เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า เราเป็น และรู้ว่าเราไม่ทำอะไรตามใจตนเอง แต่พูดอย่างที่พระบิดาทรงสั่งสอนเราไว้” (ยอห์น 8:28)  “บัดนี้ เจ้านายแห่งโลกนี้กำลังจะถูกขับไล่ออกไป และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา”  (ยอห์น 12:32)
         1.2 เมื่อพระองค์ได้รับการยกขึ้นสู่พระสิริรุ่งโรจน์ในสวรรค์  เช่น “พระองค์ทรงได้รับการเทิดทูนให้ประทับเบื้องขวาของพระเจ้า” (กจ. 2:33)  “เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่ง และประทานพระนามให้แก่พระองค์ พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น” (ฟป. 2:9)
         ในชีวิตของพระเยซูเจ้า การยกขึ้นทั้งสองความหมายนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก  ถ้าไม่มีไม้กางเขนก็ไม่มีความรุ่งโรจน์  สำหรับพระเยซูเจ้า กางเขนคือหนทางสู่ความรุ่งโรจน์   สำหรับเราคริสตชนก็เช่นกัน หากปราศจากกางเขน (Cross) ก็ปราศจากมงกุฎ (Crown)

2.    เราอธิบายความหมายของคำเปรียบเทียบที่ว่า “โมเสสยกรูปงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใดบุตรแห่งมนุษย์ก็จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น" ได้ดังนี้
         รูปงูถูกยกขึ้น เมื่อเราดูรูปงูเราก็คิดถึงพระเจ้า และโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าที่เราไว้วางใจ เราจึงรอดตาย
         กับพระเยซูเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน พระองค์ถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน เมื่อเรามองไม้กางเขนเราก็คิดถึงพระองค์ เชื่อในพระองค์ และมีชีวิตนิรันดร
   
    3.    “เชื่อในพระเยซู”  มีความหมาย 3 ประการคือ
         3.1 เชื่อสุดจิตใจว่าพระเจ้าเป็นแบบที่พระเยซูเจ้าสอน กล่าวคือ “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร”  ซึ่งเราพอสรุปได้สามประเด็น
        - พระเจ้าเป็นผู้ริเริ่มแผนการแห่งความรอด
        - แก่นแท้ของพระเจ้าคือ “รัก”  พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่โกรธง่าย ชอบออกกฎระเบียบมากดขี่ คอยตัดสินลงโทษ เรียกร้องเครื่องบูชา ฯลฯ
        - สิ่งที่พระเจ้ารักคือ “โลก”  อันหมายถึงทุกชาติ ทุกคน ทุกฐานะ ไม่ว่าคนดีหรือคนเลว พระองค์รักและพร้อมให้อภัยทั้งหมด
         3.2 เชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้า และเพราะเป็นบุตร พระองค์จึงรู้ความจริงทุกอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า  และดังนั้นเราจึงเชื่อสุดจิตสุดใจว่าพระเจ้าเป็นองค์ความรักตามที่พระเยซูเจ้าบอก
         3.3 เมื่อเราเชื่อว่าพระเจ้าเป็นบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก และพระเยซูเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้า เราจึงวางใจในพระองค์ และมอบตัวเราทั้งหมดไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์  ไม่ว่าพระองค์จะสอน จะสั่ง หรือจะประสงค์สิ่งใด  เราพร้อมจะนบนอบ เราพร้อมจะปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

     4.    “ชีวิตนิรันดร”  คำ “นิรันดร” ตรงกับภาษากรีก “อายโอนีออส” ซึ่งมีความหมายด้านคุณภาพมากกว่าด้านเวลา  เพราะฉะนั้นคำ “ชีวิตนิรันดร” จึงหมายถึงชีวิตที่มีคุณภาพเหมาะกับพระเจ้า ชีวิตแบบพระเจ้า หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ชีวิตพระนั่นเอง
        เมื่อเราเชื่อในพระเยซู เรามีชีวิตนิรันดร หรือชีวิตพระอยู่ในตัว  ชีวิตพระทำให้เรามีแต่ความสุขสันติ
        4.1 เรามีสันติกับพระเจ้า  พระองค์เป็นบิดาของเรา  เราไม่ต้องกลัวผู้ปกครองที่กดขี่ หรือผู้พิพากษาที่เคร่งครัดอีกต่อไป
        4.2 เรามีสันติกับเพื่อนมนุษย์  เพราะเราได้รับการอภัย เราจึงให้อภัยผู้อื่น  มนุษย์กลายเป็นหนึ่งเดียวกันในความรักต่อพระเจ้า
        4.3 เรามีสันติกับชีวิตของเรา  เพราะเรามั่นใจว่าไม่มีบิดาคนใดที่หยิบยื่นน้ำตาให้ลูกโดยไม่จำเป็น  จริงอยู่เราอาจไม่เข้าใจชีวิตดีขึ้น แต่เราจะเลิกบ่นว่าชีวิตนี้อีกต่อไป
        4.4 เรามีสันติกับตัวเราเอง  อันที่จริงสิ่งที่มนุษย์กลัวมากที่สุดก็คือตัวเอง เพราะว่าตัวเองรู้ถึงความอ่อนแอ รู้ถึงการประจญล่อลวง รู้ถึงหน้าที่ รวมถึงความต้องการต่าง ๆ ของตัวเอง  แต่นับจากนี้ไป เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ตามลำพัง  “ไม่ใช่เราที่ดำเนินชีวิต แต่เป็นพระคริสต์ที่ดำเนินชีวิตในตัวเรา”
       
         ความสุขสันติเหล่านี้ ก่อให้เกิดความหวัง เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเรา เพื่อให้บรรลุความสุขสันติที่ดีที่สุดที่จะมีมาในชีวิตหน้า