แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมโภชพระตรีเอกภาพ

ข่าวดี    ยอห์น 3:16-18
(16)พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศแต่จะมีชีวิตนิรันดร (17)เพราะพระเจ้าทรงส่งพระบุตรมาในโลกนี้ มิใช่เพื่อตัดสินลงโทษโลก แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้นเดชะพระบุตรนั้น (18)ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษอยู่แล้วเพราะเขามิได้มีความเชื่อในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า


1. กำเนิดพระตรีเอกภาพ
    ในบท “ข้าพเจ้าเชื่อ” ของสภาสังคายนานีเชอาได้กล่าวถึงกำเนิดของพระบุตรไว้ ว่า “ทรงบังเกิดจากพระบิดา”  ในขณะที่พระจิต “ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร”
    นักบุญโธมัส อะไควนัส อธิบายความแตกต่างระหว่าง “บังเกิด” และ “เนื่อง” ไว้ดังนี้
    1.    พระเจ้าทรงมีสติปัญญาสำหรับคิด และน้ำใจสำหรับรัก
    2.    สิ่งที่พระเจ้าทรงคิดตั้งแต่นิรันดรคือ “ตัวพระองค์เอง”
    3.    เมื่อทรงคิด “ย่อมก่อให้เกิดตัวแทน” ของสิ่งที่ทรงคิด (เช่น เวลาเราคิดถึงมนุษย์ต่างดาว เรากำลังก่อให้เกิดตัวแทนหรือ “มโนภาพ” ของมนุษย์ต่างดาวขึ้นในความคิดของเรา)
    4.    เนื่องจากพระเจ้าทรงไม่มีขอบเขต ความคิดของพระองค์ย่อมไม่มีขอบเขต นั่นคือทรงคิด “ครั้งเดียว” ก็ครบครันและครอบคลุมทุกสิ่ง  อีกทั้ง “ตัวแทน” ของสิ่งที่ “เกิด” จากความคิดของพระองค์ก็ย่อมไม่มีขอบเขตไปด้วย  พระคัมภีร์เรียก “ตัวแทน” ที่เกิดจากความคิดนี้ว่า “ภาพที่แลเห็นได้ของพระเจ้าที่แลเห็นไม่ได้”, “พระวจนาตถ์”, “พระปรีชาญาณ” ฯลฯ
    5.    เพราะความคิดของพระเจ้าก่อให้เกิดพระวจนาตถ์  ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับพระวจนาตถ์จึงได้แก่ “พ่อ-ลูก” หรือ “พระบิดาและพระบุตร”
    จากภาษาเชิงเปรียบเทียบเหล่านี้ จึงนำมาสู่การยืนยันว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเป็นเจ้า  ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกัปก่อนกัลป์  เป็นพระเป็นเจ้าจากพระเป็นเจ้า  เป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง  เป็นพระเป็นเจ้าแท้จากพระเป็นเจ้าแท้  มิได้ถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา….”
    ดังได้กล่าวแล้วว่า พระเจ้าทรงมีสติปัญญาสำหรับคิด และน้ำใจสำหรับรัก
    1.    ตั้งแต่นิรันดร พระบิดาทรงรักพระบุตรอย่างไม่มีขอบเขต
    2.    แต่ความรักของพระบิดาไม่ได้ก่อให้เกิดมโนภาพของพระบุตรผู้เป็นที่รัก เพียงแต่โน้มน้าวให้ทั้งพระบิดาและพระบุตรมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน
    3.    ความรักซึ่งไม่มีขอบเขตของพระบิดาจึงไม่ได้เกิดจากพระบิดา แต่ “เนื่อง” มาจากพระบิดาและพระบุตรทรงรักกันและกัน
    4.    ความรักอันเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตรนี้ เป็นผลงานของ “น้ำใจ” หรือ “จิตใจ” ของพระเจ้า จึงได้รับพระนามว่า “พระจิต”
    เราจึงยืนยันว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระจิตทรงเป็นพระเป็นเจ้าผู้บันดาลชีวิต  ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร  ทรงรับสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร  พระองค์ดำรัสทางประกาศก”
นักเทววิทยามักยกคุณสมบัติให้แต่ละพระบุคคลแตกต่างกันไปทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ทั้งสามพระบุคคลต่างมีคุณสมบัติทั้งหมดร่วมกัน
    สิ่งที่นักเทววิทยายกให้เป็นคุณสมบัติของพระบิดาคือทรงสรรพานุภาพ และผลงานที่เด่นชัดคือการเนรมิตสร้างโลก
    ปรีชาญาณและผลงานทั้งหมดของปรีชาญาณคือคุณสมบัติของพระบุตร เพราะว่าพระองค์ทรงบังเกิดจากสติปัญญาของพระบิดา
    ส่วนคุณสมบัติของพระจิต ผู้ทรงเนื่องมาจากความรักของพระบิดาและพระบุตร คือความรักและความดี  และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว พระจิตเจ้าทรงประทานพระพรสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
    1.    พระคุณเจ็ดประการเพื่อทำให้แต่ละคนศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยปรีชาญาณ ความเข้าใจ คำแนะนำ ความกล้าหาญ ความรู้ ความศรัทธา และความยำเกรงพระเจ้า
    2.    พระคุณพิเศษ (Charismata) ที่ทรงประทานแก่บางคนเพื่อความดีของส่วนรวม

2. พระเจ้าทรงรักโลก
    สำหรับผู้ที่มีพระเจ้าอยู่ในหัวใจ นี่คือสาระสำคัญของข่าวดี
    ที่ว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะพระพระเยซูเจ้าทรงเผยความจริงว่า “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)
     ความจริงข้อนี้ทำให้เราทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระบิดา และบทบาทของพระองค์ใน “พระตรีเอกภาพ” ชนิดที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน นั่นคือ
    1.    พระบิดาคือผู้ริเริ่มแผนการแห่งความรอด
        หลายครั้ง ศาสนาของเราได้รับการนำเสนอราวกับว่า อับราฮัม โมเสส หรือบรรดาประกาศกต้องคอยทำให้พระบิดาทรงสงบสติอารมณ์ หรือต้องคอยชักนำพระองค์ให้ทรงยกโทษชาวอิสราเอลบ่อยครั้ง
        บางคนพูดถึงพระบิดาว่าทรงเป็นพระเจ้าที่น่าเกรงขาม โกรธง่าย และชอบจดจำความผิด  ส่วนความอ่อนโยน ความรัก และการให้อภัยนั้นเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพระบุตร  ยิ่งไปกว่านั้นบางคนถึงกับพูดว่าเป็นพระบุตรนั่นเองที่ทรงเปลี่ยนทัศนคติของพระบิดาจากชอบลงโทษมาเป็นให้อภัยมนุษย์
        แต่วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงฟันธงว่า พระบิดาคือผู้เริ่มต้นแผนการแห่งความรอด พระองค์คือผู้ที่ “ประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์” ลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์
        พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้เพราะ “ทรงรักโลกอย่างมาก”
        “ความรัก” คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแผนการแห่งความรอด
         “ความรัก” คือสิ่งที่ทำให้พระบิดา พระบุตร และพระจิตเป็น “พระตรีเอกภาพ” นั่นคือ มีสามพระบุคคล แต่เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว
    2.    ธาตุแท้ของพระเจ้าคือความรัก
        เป็นการง่ายมากที่เราจะคิดและเชื่อว่า พระเจ้าทรงเฝ้าคอยจับผิดมนุษย์ที่เลินเล่อ ไม่เชื่อฟัง หรือทรยศพระองค์ แล้วทรงลงโทษเฆี่ยนตีเพื่อให้เขาหันกลับมาหาพระองค์
        และเป็นการง่ายอีกเช่นกันที่จะคิดว่า พระเจ้าทรงเรียกร้องให้มนุษย์สามิภักดิ์และจงรักภักดีต่อพระองค์ และให้ทั่วพิภพยอมจำนนต่อพระองค์ เพียงเพราะต้องการอวดศักดาบารมีของพระองค์เอง
        แต่พระเยซูเจ้าทรงตรัสชัดถ้อยชัดคำว่า พระเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งเพื่อมนุษย์จะ “ไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)
        นั่นคือพระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งมิใช่เพื่ออวดศักดาหรือทำให้โลกสยบอยู่แทบพระบาทของพระองค์ แต่เพื่อให้เรามนุษย์มีชีวิตนิรันดรเหมือนพระองค์
        พระองค์จะไม่มีวันมีความสุขจนกว่าบรรดาลูก ๆ อย่างเราจะกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย
        ทั้งนี้เพราะธาตุแท้ของพระเจ้าคือ “ความรัก” !
    3.    สิ่งที่พระเจ้าทรงรักคือโลก
        พระวาจานี้บ่งบอกถึงความกว้าง ความยาว และความลึกแห่งความรักของพระตรีเอกภาพว่ายิ่งใหญ่เพียงใด
        พระเจ้าไม่ได้ทรงรักเฉพาะชาวยิว เฉพาะคนดี หรือเฉพาะผู้ที่รักพระองค์
        พระองค์ทรงรักคนทั้งโลก !
        แม้แต่ผู้ที่น่ารังเกียจ หรือโดดเดี่ยวไร้คนเหลียวแล ล้วนรวมอยู่ในความรักอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระเจ้าโดยไม่เว้นใครเลย ดังที่นักบุญเอากุสตินกล่าวไว้ว่า “พระเจ้าทรงรักเราแต่ละคนราวกับว่ามีเราเพียงคนเดียวให้พระองค์รัก”

3. ผู้ที่ไม่มีความเชื่อจะถูกตัดสินลงโทษ
    เราพึ่งได้ยินว่า “พระเจ้าทรงรักโลกมากจนประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์แก่มนุษย์” แล้วอีกสองบรรทัดต่อมายอห์นกลับพูดว่า “ผู้ที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อก็ถูกตัดสินลงโทษ” (ยน 3:18)  ยิ่งไปกว่านั้น พระเยซูเจ้าเองยังตรัสว่า “เรามาในโลกนี้เพื่อพิพากษา” (ยน 9:39)
    ปัญหาคือ พระเจ้าทรงรักและตัดสินลงโทษมนุษย์ในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ?
    เราสามารถอธิบายได้ดังนี้
    สมมุติว่าเรารักและคลั่งไคล้ดนตรีคลาสสิกมาก  เมื่อมีวงออแคสตราจากต่างประเทศเดินทางมาเปิดการแสดงในเมืองไทย เราอุตสาห์เก็บเงินนับหมื่นบาทเพื่อซื้อบัตรเข้าชมการแสดงสำหรับตนเองหนึ่งใบและสำหรับคนรักของเราอีกหนึ่งใบ โดยคิดว่าคนรักของเราต้องชอบและมีความสุขอย่างแน่นอน  แต่เมื่อการแสดงเริ่มไปได้สัก 10 นาที คนรักของเราเริ่มออกอาการหงุดหงิดและเบื่อหน่ายอย่างเห็นได้ชัด
    จะเห็นว่าความรักของเรากลายเป็นการตัดสินคนรักของเราไปแล้ว
    และคนตัดสินย่อมไม่ใช่ตัวเราที่รักเขามากแน่ ๆ  แต่เป็นคนรักของเรานั่นเองที่ตัดสินตัวเองว่าเป็นผู้ไม่มีดนตรีอยู่ในหัวใจ !
    ปฏิกิริยาของคนรักที่มีต่อดนตรีคือการตัดสินตนเอง
    พระเยซูเจ้าทรงเปรียบได้กับวงดนตรี  พระบิดาทรงส่งพระองค์มาด้วยความรักเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดและมีชีวิตนิรันดร  เมื่อเผชิญหน้ากับพระองค์แล้วเราเชื่อ วางใจ และรักพระองค์ เรากำลังตัดสินตัวเองให้อยู่ในหนทางแห่งความรอด
    ตรงกันข้ามเมื่อเผชิญหน้ากับพระองค์แล้วเรารู้สึกเฉย ๆ  เย็นชา ซ้ำร้ายบางคนยังรู้สึกว่าพระองค์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของตนมากเกินไป หากพระองค์ถอยไปห่าง ๆ หน่อยก็จะดี  ถ้าปฏิกิริยาของเราเป็นดังนี้ เรานั่นแหละกำลังตัดสินลงโทษตัวเอง
    พระตรีเอกภาพทรงมี “ความรัก” เป็นธาตุแท้  เป็นเรานั่นเองที่ตัดสินลงโทษตัวเอง !