แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา


ข่าวดี     ยน 15:1-8
1เราเป็นเถาองุ่นแท้ และพระบิดาของเราทรงเป็นชาวสวน  2กิ่งก้านใดในเราที่ไม่เกิดผล พระองค์จะทรงตัดทิ้งเสีย กิ่งก้านใดที่เกิดผล พระองค์จะทรงลิดเพื่อให้เกิดผลมากขึ้น 3ท่านทั้งหลายก็สะอาดอยู่แล้วเพราะวาจาที่เรากล่าวกับท่าน  4ท่านทั้งหลายจงดำรงอยู่ในเราเถิด ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน กิ่งองุ่นเกิดผลด้วยตนเองไม่ได้ถ้าไม่ติดอยู่กับเถาองุ่นฉันใด ท่านทั้งหลายก็จะเกิดผลไม่ได้ ถ้าไม่ดำรงอยู่ในเราฉันนั้น  5เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย  6ถ้าผู้ใดไม่ดำรงอยู่ในเรา ก็จะถูกโยนทิ้งไปข้างนอกเหมือนกิ่งก้านและจะเหี่ยวแห้งไป กิ่งก้านเหล่านั้นจะถูกเก็บไปทิ้งในไฟและถูกเผา  7ถ้าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในเรา และวาจาของเราดำรงอยู่ในท่าน ท่านอยากได้สิ่งใด ก็จงขอเถิด และท่านจะได้รับ  8พระบิดาของเราจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เมื่อท่านเกิดผลมากและกลายเป็นศิษย์ของเรา

****************************

“เราเป็นเถาองุ่นแท้” (ยน 15:1)
ภาพและความนึกคิดเกี่ยวกับเถาองุ่นฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของชาวยิวเสมอมา  ในพระธรรมเก่าชาวยิวได้รับการเปรียบเทียบเป็นเถาองุ่นหรือสวนองุ่นหลายครั้งหลายคราว  ประกาศกอิสยาห์กล่าวว่า “สวนองุ่นของพระยาห์เวห์จอมจักรวาลคือพงศ์พันธุ์อิสราเอล” (อสย 5:1-7)  เอเสเคียลเปรียบอิสราเอลว่า “เป็นเสมือนเถาองุ่นในสวนองุ่น” (อสค 19:10) ส่วนเยเรมีย์กล่าวถึงคุณสมบัติของเถาองุ่นที่พระเจ้าทรงปลูกว่า “เป็นเถาองุ่นชนิดดี” (ยรม 2:21) และโฮเชยาเสริมว่า “อิสราเอลเป็นเหมือนเถาองุ่นเขียวชอุ่มที่มีผลมาก” (ฮชย 10:1)

น่าเสียดายที่พระเจ้าทรงใช้เถาองุ่นอย่างดี แต่ผลที่ได้กลับออกมาตรงกันข้าม  ทุกครั้งที่บรรดาประกาศกเปรียบเทียบชาวอิสราเอลกับเถาองุ่น มันกลับกลายเป็นเถาองุ่นป่าและเปรี้ยว จนอิสยาห์แปลกใจว่า “ไฉนสวนนั้นผลิตผลองุ่นเปรี้ยว” (อสย 5:2)
พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า ““เราเป็นเถาองุ่นแท้”  ไม่ใช่เถาองุ่นกลายพันธุ์หรือเถาองุ่นป่าและเปรี้ยว
ความหมายที่พระองค์ต้องการสื่อถึงชาวยิวคือ “พวกท่านคิดว่าชนชาติของท่านเป็นเถาองุ่นแท้ของพระเจ้า แต่เถาองุ่นนั้นได้กลายพันธุ์ไปแล้ว  บัดนี้เราเป็นเถาองุ่นแท้  การเกิดมาเป็นยิวไม่ช่วยให้ท่านรอด  หนทางรอดมีอยู่ทางเดียวคือดำเนินชีวิตสนิทสัมพันธ์กับเราเหมือนกิ่งก้านองุ่นที่ต้องติดอยู่กับเถาองุ่น”
เราจึงสรุปหลักการของพระเยซูเจ้าได้ว่า ไม่ใช่สายโลหิต แต่เป็น “ความเชื่อ” และ “ความสนิทสัมพันธ์” กับพระองค์ที่ช่วยให้ทุกคนรอด !

“กิ่งก้านใดในเราที่ไม่เกิดผล พระองค์จะทรงตัดทิ้งเสีย กิ่งก้านใดที่เกิดผล พระองค์จะทรงลิดเพื่อให้เกิดผลมากขึ้น” (ยน 15:2)
ปาเลสไตน์เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยเถาองุ่นจวบจนทุกวันนี้  เคล็ดลับในการปลูกองุ่นให้ได้ผลอุดมอยู่ที่การดูแลดินให้สะอาดและการลิดกิ่ง  สามปีแรกต้องหมั่นตัดหรือลิดกิ่งอย่าให้เกิดผลเพื่อจะได้รักษาชีวิตและความแข็งแรงของเถาองุ่นเอาไว้  เมื่อเถาองุ่นโตเต็มที่แล้วต้องลิดกิ่งในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมของทุกปีเพื่อจะได้ผลอุดมในฤดูเก็บเกี่ยว และกิ่งก้านใดที่ไม่เกิดผลต้องตัดทิ้ง อย่าปล่อยให้มันดูดน้ำเลี้ยงและทำให้เถาองุ่นไม่แข็งแรง
พระเยซูเจ้าทรงทราบดีว่า เถาองุ่นจะบังเกิดผลโดยปราศจากการตัดและลิดกิ่งไม่ได้ !
กิ่งก้านใดถูกตัดทิ้งจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเลวร้ายสุด ๆ  เพราะกิ่งองุ่นเป็นไม้เนื้ออ่อน ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย  แม้กฎหมายของโมเสสที่กำหนดให้ประชาชนนำไม้มาถวายที่พระวิหารเป็นครั้งคราวเพื่อใช้เผาเครื่องบูชา ยังห้ามนำไม้จากเถาองุ่นมาถวาย  สิ่งเดียวที่ทำได้กับกิ่งก้านองุ่นที่ถูกตัดหรือถูกลิดออกคือเผาไฟทิ้ง !
เมื่อพระองค์พูดถึงกิ่งองุ่นที่ไม่เกิดผลและต้องถูกตัดทิ้งในกองไฟ พระองค์กำลังคิดถึงคน 2 กลุ่มคือ
1.    ชาวยิว  พวกเขาเป็นกิ่งก้านของเถาองุ่นของพระเจ้า แต่กลับปฏิเสธที่จะฟังและยอมรับพระองค์  พวกเขาจึงกลายเป็นกิ่งก้านที่เหี่ยวแห้งและไม่เกิดผล
2.    คริสตชน ที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้
2.1    พวกที่ไม่ยอมฟังพระองค์เลย
2.2    พวกที่ฟังและยอมรับพระองค์แต่ปากโดยไม่มีกิจกรรมหรือการปฏิบัติใดรองรับ เข้าตำรา “ดีแต่พูด”
2.3    พวกที่ฟังและยอมรับพระองค์ แต่เมื่อประสบความยากลำบากในชีวิตก็ทอดทิ้งและทรยศพระองค์ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยสัญญาว่าจะเชื่อ จะนบนอบ และจะรับใช้พระองค์
เราต้องไม่ลืมว่า “การไร้ประโยชน์คือหนทางสู่หายนะ”  อนาคตของกิ่งก้านที่ไม่เกิดผลจึงน่ากลัวยิ่งนัก !
เพื่อจะบังเกิดผลมาก เคล็ดลับแรกคือ “ทำดินให้สะอาด” ซึ่งพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายก็สะอาดอยู่แล้วเพราะวาจาที่เรากล่าวกับท่าน” (ยน 15:3)
เคล็ดลับที่สองคือ “ลิดกิ่งที่ไม่เกิดผล” เช่นความเห็นแก่ตัว ความเกลียดชัง การอิจฉาริษยา ความมักใหญ่ใฝ่สูง ฯลฯ ซึ่งรังแต่จะแย่งน้ำเลี้ยงไปจากเรา และทำให้เราอ่อนแอ ไม่แข็งแรง
และเคล็ดลับสุดท้ายซึ่งเป็นสูตรเด็ดของพระเยซูเจ้านั้น อยู่ตรงพระวาจาที่ตรัสว่า “ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก” (ยน 15:5)

“ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก” (ยน 15:5)
เป็นที่ยอมรับกันว่า “การมีพระเยซูเจ้าอยู่ในตัวเรา และเราอยู่ในพระเยซูเจ้า” เป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัวกับพระองค์หรือเป็นการเข้าฌานชนิดหนึ่ง  แต่เนื่องจากคริสตชนส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ของการเข้าฌาน เราจึงต้องอธิบายโดยอาศัยการเปรียบเทียบ
สมมุติว่ามีคนหนึ่งอ่อนแอมากทางด้านศีลธรรม และพ่ายแพ้การประจญอยู่เป็นประจำ บังเอิญเขามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนดีและน่ารักมาก  เพื่อนคนนี้ช่วยฟื้นฟูและพยุงเขาให้รอดพ้นจากวิกฤติในชีวิตและกลับมาอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง  เขาจึงต้องติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อนคนนี้เป็นประจำ  เมื่อใดก็ตามที่เขาขาดการติดต่อกับเพื่อนคนนี้ ความอ่อนแอและการพ่ายแพ้ก็จะหวนกลับมาหาเขาอีก  ความรอดของเขาจึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและพลังของเพื่อนคนนี้
เราทุกคนต่างเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้มาแล้ว เช่นการได้กำลังใจเมื่อรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังจากพ่อแม่หรือจากคนรักของเรา  การได้พลังใจจากแม่พระหรือนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเราเมื่อถูกประจญล่อลวง  หรือบรรดาทหารที่ออกรบด้วยขวัญและกำลังใจดีเยี่ยมเมื่อมีธงชัยเฉลิมพลซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วย
การดำรงอยู่ในพระเยซูเจ้า และพระองค์ดำรงอยู่ในเรา ก็เปรียบได้กับการมีเพื่อนที่แสนดี  หรือการมีคนที่รักและห่วงใยเราอยู่กับเราฉันนั้น
เคล็ดลับความสำเร็จของพระเยซูเจ้าอยู่ที่การมีชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาฉันใด  ความสำเร็จและความรอดของเราก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ฉันนั้น
พระองค์จึงตรัสว่า “ถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย”
อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกอยู่เสมอคือ ความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่ “เริ่มต้นก้าวไปหาพระองค์”
ก้าวแรก ขอให้เราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการ “สวดภาวนา” เพราะการสวดภาวนาเป็นเสมือนยาปฏิชีวนะที่ช่วยป้องกันเราจากอันตรายรูปแบบต่าง ๆ ที่แฝงมาตลอดทั้งวัน
ก้าวต่อ ๆ ไป ขอให้เราจัดระเบียบชีวิตเพื่อให้มีเวลาสำหรับติดต่อกับพระองค์  อย่าเปิดโอกาสให้เราหลงลืมพระองค์แม้แต่ชั่วครู่เดียวหรือวันเดียวเป็นอันขาด !

“พระบิดาของเราจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เมื่อท่านเกิดผลมากและกลายเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 15:8)
พระเยซูเจ้าทรงถือว่า การดำเนินชีวิตคริสตชนที่ดีก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ต่อด้วยกันคือ
1.    ชีวิตของคริสตชนเองเจริญงอกงามและบังเกิดผลมากทั้งในโลกนี้และในโลกที่กำลังจะมาถึง
2.    เขาทำให้พระบิดาได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ เพราะเมื่อผู้อื่นมองเห็นความดีของเขาก็จะหวนคิดถึงพระบิดาเจ้าผู้โปรดให้เขาประพฤติดีเช่นนั้น

เกียรติยศยิ่งใหญ่สุดสำหรับเราคริสตชนเกิดขึ้นเมื่อชีวิตและความประพฤติของเราสามารถนำพระสิริรุ่งโรจน์มาสู่พระเจ้าได้ !!!!