แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข่าวดี    ยอห์น 10:11-18
(11)เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ผู้เลี้ยงแกะย่อมสละชีวิตเพื่อแกะของตน (12)ลูกจ้างที่ไม่ใช่ผู้เลี้ยงแกะและไม่เป็นเจ้าของแกะ เมื่อเห็นสุนัขป่าเข้ามาก็ละทิ้งบรรดาแกะและหนีไป สุนัขป่าแย่งชิงแกะ และฝูงแกะก็กระจัดกระจายไป (13)ลูกจ้างวิ่งหนีเพราะเขาเป็นเพียงลูกจ้าง ไม่มีความห่วงใยฝูงแกะเลย (14)เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เรารู้จักแกะของเรา และแกะของเราก็รู้จักเรา(15)พระบิดาทรงรู้จักเราฉันใด เราก็รู้จักพระบิดาฉันนั้น เรายอมสละชีวิตเพื่อแกะของเรา (16)เรายังมีแกะอื่น ๆ ซึ่งไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าแกะเหล่านี้ด้วย แกะจะฟังเสียงของเรา
จะมีแกะเพียงฝูงเดียวและผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว (17)พระบิดาทรงรักเรา เพราะเราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก (18)ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น
เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก นี่คือพระบัญชาที่เราได้รับจากพระบิดาของเรา


“เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี”
คนเลี้ยงแกะต้องรับผิดชอบแกะที่ตนเลี้ยงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  หากมีอันตรายเกิดขึ้นกับแกะ พวกเขาต้องหาข้อพิสูจน์มายืนยันว่าไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า “ถ้าสัตว์นั้นถูกสัตว์ป่ากัดตาย เขาจะนำซากส่วนที่เหลืออยู่มาให้ดูเป็นหลักฐาน” (อพย 22:12)

คำพูดของประกาศกอาโมสที่ว่า “ผู้เลี้ยงแกะชิงได้ขาสองขา หรือหูชิ้นหนึ่งมาจากปากสิงห์ได้อย่างไร  คนอิสราเอลผู้อยู่ในสะมาเรีย จะได้รับความช่วยเหลือให้ได้เตียงมุมหนึ่ง และได้หมอนแพรของที่นอนฉันนั้น” (อมส 3:12) ย่อมบ่งบอกความรับผิดชอบของคนเลี้ยงแกะได้เป็นอย่างดีว่า พวกเขาต้องพร้อมเสี่ยงชีวิตเพื่อแกะของตนมากสักเพียงใด
ดาวิดและอิสยาห์ก็ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อแกะที่ตนเลี้ยง (1ซมอ 17:34-36; อสย 31:4)
และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนเลี้ยงแกะหลายคนไม่เพียงเสี่ยงชีวิตเท่านั้น แต่ได้พลีชีวิตจริง ๆ เพื่อแกะของตน
แต่ใช่ว่าคนเลี้ยงแกะจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเหมือนกันหมด  มีคนเลี้ยงแกะจำนวนมากที่พร้อมจะละทิ้งแกะเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนเอง !
ความแตกต่างระหว่างคนเลี้ยงแกะสองประเภทอยู่ตรงที่คนเลี้ยงแกะจริง ๆ เกิดมาเพื่อเลี้ยงแกะโดยเฉพาะ  ทันทีที่มีอายุพอสมควร พวกเขาจะถูกส่งออกไปอยู่กับฝูงแกะและคลุกคลีอยู่กับแกะ  จนแกะกลายเป็นเพื่อนและเป็นเหมือนหุ้นส่วนชีวิตที่พวกเขาคิดถึงก่อนจะคิดถึงตัวเองเสียอีก
ส่วนคนเลี้ยงแกะที่เป็นลูกจ้างนั้น พวกเขาไม่ได้มีกระแสเรียกเป็นคนเลี้ยงแกะตั้งแต่เริ่มแรก  สาเหตุเดียวที่ทำให้พวกเขาเข้าสู่วงการเลี้ยงแกะคือความต้องการ “งานและเงิน”  พวกเขาจึงขาดสำนึกและความรับผิดชอบต่อหน้าที่อันสูงส่งเช่นนี้
ในพระธรรมใหม่ ศัตรูของฝูงแกะคือสุนัขป่า ดังที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “เราส่งท่านไปเหมือนแกะในฝูงสุนัขป่า” (มธ 10:16) หรือดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า เมื่อข้าพเจ้าจากไปแล้ว สุนัขป่าดุร้ายจะเข้ามาในกลุ่มของท่านและจะทำร้ายฝูงแกะ” (กจ 20:29) หากสุนัขป่าเข้าโจมตีฝูงแกะ ลูกจ้างเลี้ยงแกะจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมดนอกจากการวิ่งหนีเอาชีวิตรอดเท่านั้น
ประเด็นของพระเยซูเจ้าคือ
- หากเราทำงานเพียงเพราะหวัง “รางวัล” เราจะคิดถึง “เงิน” เป็นส่วนใหญ่
- แต่ถ้าเราทำงานเพราะ “ใจรัก” เราจะคิดถึง “คน” ที่เราตั้งใจรับใช้เป็นส่วนใหญ่
พระองค์คือผู้เลี้ยงแกะที่ดีเพราะพระองค์รักแกะของพระองค์ และพร้อมจะเสี่ยงหรือแม้แต่พลีชีวิตของพระองค์เองเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของแกะ !
มีข้อคิดที่เราควรนำมาใคร่ครวญ 2 ประการด้วยกัน คือ
1.    พระเยซูเจ้าคือผู้เลี้ยงแกะที่ดี  คำว่า “ดี” ในภาษากรีกใช้ 2 คำ คือ
- agathos (อากาธอส) หมายถึงสิ่งที่มีคุณภาพ หรือมีคุณสมบัติทางด้านศีลธรรมอยู่ในเกณฑ์ดี
- kalos (คาลอส) หมายถึงนอกจาก “ดี” แบบ “อากาธอส” แล้ว ยังมีความน่ารัก น่าชื่นชมแฝงอยู่ด้วย และพระองค์ทรงเลือกใช้คำ “คาลอส” เพื่อบอกว่าทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ “ดี”
หมายความว่า พระเยซูเจ้านอกจากจะเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี มีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์ต่อการปกป้องฝูงแกะของพระองค์แล้ว พระองค์ยังมีความน่ารักอีกด้วย
เหมือนเวลาเราบอกว่า “คุณพ่อคนนี้ดี” หรือ “คุณหมอคนนั้นดี” เราไม่ได้หมายความเพียงว่าคุณพ่อหรือคุณหมอคนนั้นเก่งเพียงอย่างเดียว แต่เราคิดถึงความใจดี ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอันเป็นคุณสมบัติที่น่ารัก น่าชื่นชมของท่านเหล่านั้นด้วย
2.    คนรับจ้างเลี้ยงแกะคืออันตรายใหญ่สุด  ฝูงแกะคือพระศาสนจักร  อันตรายของพระศาสนจักรมีทั้งจากภายนอกและจากภายใน  จากภายนอกคือสุนัขป่า ขโมย และโจร  จากภายในคือคนรับจ้างเลี้ยงแกะที่ไม่รับผิดชอบและพร้อมทอดทิ้งแกะให้เผชิญภยันตรายตามลำพัง
หากผู้เลี้ยงแกะมองกระแสเรียกของตนเป็น “อาชีพ” มากกว่าเป็น “การรับใช้” แกะย่อมตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะศัตรูจากภายนอกสามารถจู่โจมเข้าทำลายฝูงแกะได้โดยง่าย
มีทางเดียวที่จะเยียวยาอันตรายนี้ได้คือเราต้องเป็นผู้เลี้ยงแกะตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า !

“เรายังมีแกะอื่น ๆ ซึ่งไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าแกะเหล่านี้ด้วย แกะจะฟังเสียงของเรา จะมีแกะเพียงฝูงเดียวและผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว” (ข้อ 16)
สิ่งหนึ่งที่เอาชนะได้ลำบากยากเย็นที่สุดคือ “การกีดกัน”  เมื่อชาวยิวได้รับเลือกให้มีอภิสิทธิ์เป็นประชากรของพระเจ้า พวกเขาเชื่อว่าอภิสิทธิ์นี้เป็นของพวกเขาเพียงชาติเดียว  ชาติอื่น ๆ ถูกกีดกันออกไปจากการเป็นประชากรของพระเจ้า  คนชาติอื่นอย่างดีก็เหมาะสำหรับเป็นทาสของพวกเขา อย่างร้ายหน่อยก็เหมาะสำหรับเป็นเชื้อไฟในนรก
โชคร้ายที่ความรู้สึกกีดกันหรือดูหมิ่นคนต่างศาสนาได้ตกทอดมาสู่เราไม่มากก็น้อย จนบางคนรู้สึก “หวงข่าวดี” และไม่กระตือรือร้นในการประกาศความรักของพระเยซูเจ้า
แต่พระองค์ทรงใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่ง “จะมีแกะเพียงฝูงเดียวและผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว”
เราต้องไม่สับสนกับคำสั่งเฉพาะกาลอันเนื่องมาจากขาดกำลังคนดังเช่น “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ อย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่จงไปหาแกะพลัดฝูงของวงศ์วานอิสราเอลก่อน” (มธ 10:5-6)
เพราะก่อนเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ได้ประทานคำสั่งตลอดกาลแก่เราทุกคนว่า “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19)
จากวิสัยทัศน์ของพระเยซูเจ้าที่มองว่า สักวันหนึ่ง “จะมีแกะเพียงฝูงเดียวและผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว” นี้ ก่อให้เกิดความคิดและพลังบันดาลใจแก่เรา 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
1.    โลกจะเป็นหนึ่งเดียวกันได้ก็โดยอาศัยพระเยซูเจ้า  เพราะพระองค์คือ “ผู้เลี้ยงแกะเพียงคนเดียว” คนนั้น !
มีบันทึกการสนทนาระหว่างมิชชันนารี่คนแรกที่ไปประกาศข่าวดีแก่ชาวอินเดียนแดง กับหัวหน้าเผ่าสูงอายุผู้หนึ่ง
หลังจากเทศน์สอนเรื่องความรักของพระเจ้าแล้ว  หัวหน้าเผ่าถามมิชชันนารี่ว่า “เมื่อตะกี้ตอนที่พูดถึงเรื่องพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ฉันได้ยินท่านพูดว่า ‘บิดาของเรา’ ใช่ไหม?”
“ใช่” มิชชันนารี่ตอบ
“นี่เป็นข่าวใหม่และข่าวดีจริง ๆ” หัวหน้าเผ่ากล่าว “เราไม่เคยคิดว่าพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นบิดาของเรา  เราเคยได้ยินเสียงของพระองค์เวลาฟ้าร้อง เราเห็นพระองค์เวลาฟ้าแลบและฟ้าผ่า  เรากลัวพระองค์”  ชายชราหยุดชั่วครู่ และทันใดเขาโพล่งออกมาด้วยความตื่นเต้น “เอ ท่านมิชชันนารี่ ท่านพูดว่าพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นบิดาของท่านใช่ไหม ?”
“ใช่” มิชชันนารี่ตอบ
“แล้ว” หัวหน้าเผ่าถามต่อ “ท่านพูดว่าพระองค์ทรงเป็นบิดาของชาวอินเดียนแดงด้วยใช่ไหม ?”
“แน่นอน” มิชชันนารี่กล่าว
“ถ้างั้น” หัวหน้าเผ่าพูดด้วยความดีใจสุดขีด “ท่านและเราก็เป็นพี่น้องกันสิ !”
ความเป็นหนึ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราต่างเป็นบุตรของพระเจ้าร่วมกัน  หาไม่แล้วโลกจะแบ่งแยกเป็นชาติต่าง ๆ  และในชาติเดียวกันยังแบ่งเป็นเผ่า เป็นก๊ก เป็นชนชั้น เป็นพรรค เป็นพวก ฯลฯ ไม่มีวันจบสิ้น
เราจะเอาชนะเส้นแบ่งความแตกต่างได้ก็โดยอาศัยข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของเราเท่านั้น !
2.    วิสัยทัศน์ของพระองค์จะเป็นจริงได้ก็โดยอาศัยเราทุกคน  มนุษย์จะได้ยินข่าวดีได้อย่างไรหากไม่มีผู้ประกาศ  แกะจะเป็นฝูงเดียวกันได้อย่างไรหากไม่มีคนเลี้ยงแกะออกไปต้อนมันมารวมกัน
นี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรและของเราทุกคน !
ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่เจริญชีวิตอยู่ “นอกความรัก” ของพระเยซูเจ้า ทั้งผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเราและอยู่ห่างไกลออกไปคนละมุมโลก  เราต้องช่วยกันพาพวกเขากลับมาสู้อ้อมกอดอันอบอุ่นของพระองค์
เป็นหน้าที่ของเราจริง ๆ ที่จะช่วยกันทำให้วิสัยทัศน์ของพระองค์ที่ประสงค์จะเห็นแกะฝูงเดียวโดยมีพระองค์เป็นผู้เลี้ยง เป็นจริงขึ้นมา !

“พระบิดาทรงรักเรา เพราะเราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก”
คำพูดสั้น ๆ นี้แสดงให้เห็นตัวตนของพระเยซูเจ้าได้ดีที่สุด
1.    ชีวิตของพระองค์คือการนบนอบพระบิดา  พระองค์พร้อมน้อมรับภารกิจทุกอย่างที่พระบิดาทรงมอบหมายแก่พระองค์แม้จะต้องพลีชีพก็ตาม  ความเป็น “พระบุตร” ของพระองค์มิได้หมายความว่าพระองค์นึกจะทำอะไรตามใจชอบก็ได้ แต่พระองค์ทรงเลือกกระทำเฉพาะสิ่งที่พระบิดาทรงพอพระทัยเท่านั้น
หากเราปรารถนาเป็นบุตรของพระเจ้า เราต้องนบนอบต่อน้ำพระทัยของพระบิดาเช่นเดียวกัน !
2.    พระองค์มองกางเขนเป็นหนทางสู่ความรุ่งโรจน์  พระองค์ไม่เคยสงสัยเลยว่าจะต้องสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ไม่สงสัยเลยว่าจะกลับคืนพระชนมชีพ  เหตุผลคือพระองค์ทรงวางพระทัยในพระบิดาอย่างเต็มเปี่ยม  พระองค์ทราบดีว่าพระบิดาจะไม่มีวันทอดทิ้งพระองค์
การมีทัศนคติเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคน เพราะทุกสิ่งที่มีคุณค่าล้วนต้องขวนขวายแสวงหามาด้วยความยากลำบากทั้งนั้น  หรือพูดง่าย ๆ คือ เราต้องลำบากก่อนจึงจะสบายทีหลัง  หากเราไม่อุตส่าห์ร่ำเรียนแล้วจะได้ปริญญาอย่างไร  หรือหากเราไม่เพียรฝึกฝนเราจะเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงได้อย่างไร
ที่สำคัญเราจะบรรลุความรุ่งโรจน์เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าได้อย่างไร หากเรามีแต่สร้างกางเขนให้ผู้อื่นแบก ?!
3.    พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยความสมัครพระทัย  พระองค์ตรัสว่า “ท่านคิดว่า เราจะอ้อนวอนพระบิดาเจ้าให้ส่งทูตสวรรค์มากกว่าสิบสองกองพลมาช่วยเราบัดนี้มิได้หรือ” (มธ 26:53) และ “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้” (ยน 10:18)
แปลว่าพระองค์ไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์จนตรอก หรือเป็นเหมือนลูกแกะที่ถูกลากจูงไปฆ่าเป็นเครื่องบูชาโดยไม่เต็มใจและไม่รู้เรื่องรู้ราวใด ๆ ทั้งสิ้น
ตรงกันข้าม พระองค์เองเลือกและเต็มใจพลีชีพของพระองค์เอง...
เพื่อเรา !!!