แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    มาระโก 9:2-10
พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์
(2)ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นขึ้นไปบนภูเขาสูงตามลำพัง แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา  (3)ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้  (4)แล้วประกาศกเอลียาห์กับโมเสสแสดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า  (5)เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” (6) เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไรเพราะศิษย์ทั้งสามคนต่างตกใจกลัว (7) ครั้นแล้วเมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ มีเสียงหนึ่งออกมาจากเมฆก้อนนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด”  (8)ทันใดนั้น ศิษย์ทั้งสามคนเหลียวมองรอบ ๆ ไม่เห็นผู้ใดอยู่กับตนนอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น
(9)ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระองค์ตรัสสั่งเขามิให้เล่าเหตุการณ์ที่เห็นให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย  (10)ศิษย์ทั้งสามคนเก็บเรื่องนี้ไว้ไม่บอกใครแต่ยังปรึกษากันว่า “จนกว่าจะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” นี้ หมายความว่าอย่างไร


พระวรสารของวันอาทิตย์ที่แล้วเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าถูกซาตานประจญให้เลือกระหว่าง “หนทางของพระเจ้า” กับ “หนทางของซาตาน” ในการทำภารกิจไถ่กู้มนุษยชาติให้สำเร็จลุล่วง
แน่นอนว่าพระองค์ทรงเลือก “หนทางของพระเจ้า” และกำลังเสด็จมุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงบนไม้กางเขนซึ่งเป็นจุดสุดยอดของภารกิจของพระองค์
เพื่อให้แน่ใจว่าพระองค์กำลังเดินมาถูกทางแล้ว พระองค์จึงพาศิษย์ 3 คนขึ้นภูเขาสูง “เพื่ออธิษฐานภาวนา" (ลก 9:28) ขอความเห็นชอบจากพระบิดา

    เคยเชื่อกันว่าภูเขาสูงนี้คือภูเขาทาบอร์ (Tabor) เพราะมีการเอ่ยถึงภูเขาลูกนี้ในเพลงสดุดีที่ 89 ข้อ12  แต่ข้อเท็จจริงคือภูเขาทาบอร์ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแคว้นกาลิลี จึงอยู่ห่างจากเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปซึ่งอยู่ทางทิศเหนือมากเกินกว่าที่มาระโกจะบอกว่า “ต่อมาอีกหกวัน” ได้ (มก 9:2) อีกทั้งยอดเขายังเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร จึงไม่น่าจะเหมาะสำหรับการสำแดงพระองค์
ปัจจุบันสันนิษฐานกันว่า “ภูเขาสูง” นี้คือภูเขาเฮอร์โมน (Hermon) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป สถานที่ซึ่งเปโตรประกาศความเชื่อว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (มก 8:29) เพียง 22 กิโลเมตร  และต้องถือว่าเป็นภูเขาสูงจริง ๆ เพราะอยู่เหนือระดับน้ำในแม่น้ำจอร์แดนมากถึง 3,352 เมตร ผิดกับภูเขาทาบอร์ซึ่งไม่ใช่ภูเขาสูงเพราะอยู่เหนือระดับน้ำเพียง 300 เมตรเศษ ๆ เท่านั้น
    เนื่องจากภูเขาสูงมาก ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 5 ชั่วโมงกว่าจะถึงยอดเขา และบนยอดเขาเองก็มีอากาศเบาบางมากจนทำอะไรแทบไม่ได้เลย  จึงสันนิษฐานกันว่าพระองค์ทรงสำแดงองค์ ณ ลาดเขาแห่งใดแห่งหนึ่งของภูเขาลูกนี้

    การแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ครั้งนี้มี “คุณค่ามหาศาล” ทั้งต่อตัวพระเยซูเจ้าเอง และต่อบรรดาศิษย์ของพระองค์

สำหรับพระเยซูเจ้า
    เนื่องจากพระองค์กำลังมุ่งหน้าไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงกางเขน  พระองค์ต้องการทราบว่า “นี่เป็นน้ำพระทัยของพระบิดาจริงหรือไม่ ?”
คำตอบที่พระองค์ได้รับคือ
    1.    “ประกาศกเอลียาห์กับโมเสสแสดงตนสนทนาอยู่กับพระเยซูเจ้า” (ข้อ 4)
        เอลียาห์เป็นประกาศกองค์แรกและองค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด  ส่วนโมเสสเป็นเสมือนผู้ก่อตั้งชาติอิสราเอล และเป็นผู้บัญญัติกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน
        ลูกาเล่าว่าเนื้อหาของการสนทนาคือเรื่อง “การจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31)
     “การจากไป” ตรงกับภาษากรีก exodos (เอกซ์ซอดอส) และตรงกับภาษาอังกฤษ exodus
        คำ exodus มีความหมายลึกซึ้งทางศาสนา เพราะเป็นการเดินทางผจญภัยของชนชาติหนึ่งที่มอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า แล้วออกจากแผ่นดินอียิปต์ที่อุดมสมบูรณ์ มุ่งหน้าสู่ถิ่นทุรกันดารในทะเลทรายที่ยังไม่เคยมีใครรู้จัก  แต่ในที่สุดพระองค์ทรงนำพวกเขาเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา
        พระเยซูเจ้ากำลังทำ exodus ที่มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มและไม้กางเขน !!!
         แม้จะมีกางเขนรออยู่เบื้องหน้า แต่การสนทนากับโมเสสและเอลียาห์ ทำให้พระองค์มั่นพระทัยว่า หลังจากสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนแล้ว ยังมีแผ่นดินแห่งพระสัญญาซึ่งได้แก่พระสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนชีพรอคอยพระองค์อยู่
        เท่ากับว่าบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล ได้ยืนยันกับพระองค์ว่า “ทรงมาถูกทางแล้ว”
    2.    “ครั้นแล้วเมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้” (ข้อ 7)
        นอกจากคำยืนยันของสองผู้นำชาวอิสราเอลแล้ว ยังมี “เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้” และมีเสียงหนึ่งออกมาจากเมฆก้อนนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด” 
        สำหรับชาวยิว “เมฆ” หมายถึง “พระเจ้า” นั่นเอง !
         ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ระหว่างการอพยพ “ในเวลากลางวัน พระยาห์เวห์เสด็จนำหน้าเขาเหมือนเสาเมฆเพื่อชี้ทาง” (อพย 13:21) “พระยาห์เวห์เสด็จมาในเมฆ” เพื่อประทานศิลาจารึกพระบัญญัติเป็นครั้งที่สอง (อพย 34:5) พระยาห์เวห์เสด็จมาที่สักการสถานโดย “เมฆปกคลุมกระโจมนัดพบ และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มกระโจมที่ประทับ” (อพย 40:34)
        เท่ากับว่า พระเจ้าทรงเสด็จมาหาบุตรสุดที่รักของพระองค์เอง  เพื่อให้ความเห็นชอบกับหนทางของไม้กางเขนที่พระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยเลือก
        บัดนี้คำภาวนาของพระองค์ได้รับการตอบสนองแล้ว  พระองค์มั่นใจว่า “กางเขน” คือน้ำพระทัยของพระบิดาเจ้าจริง ๆ !!!
        บนภูเขาสูงนี้ ชีวิตภายในของพระเยซูเจ้าได้บรรลุถึงขั้นสมบูรณ์สูงสุด เพราะพระองค์สามารถน้อมรับน้ำพระทัยของพระบิดาได้ แม้จะต้องถูกตรึงตายบนไม้กางเขนก็ตาม 

สำหรับบรรดาศิษย์
    พวกศิษย์กำลังมีจิตใจห่อเหี่ยวอย่างยิ่งเพราะพระเยซูเจ้ากำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับการทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
    แต่บนภูเขาแห่งการสำแดงพระองค์นี้เอง ที่บรรดาศิษย์ได้เห็น “พระวรกายของพระองค์เปลี่ยนไป” และ “ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวเจิดจ้า ขาวผ่องอย่างที่ไม่มีช่างซักฟอกคนใดในโลกทำให้ขาวเช่นนั้นได้”
    และสิ่งที่เห็นนี้ ช่วยทำให้จิตใจของบรรดาศิษย์ทุกคนชุ่มชื่นขึ้น  เพราะพวกเขามองเห็นความรุ่งโรจน์ที่จะตามมาหลังจากความทุกข์ยากผ่านพ้นไป
     พวกเขามองเห็น “ชัยชนะผ่านทางความอดสูของไม้กางเขน” และตระหนักว่า No Cross No Crown !
    นอกจากสิ่งที่เห็นแล้ว พวกเขายังได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้ายืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์อีกด้วย
    ส่วนเหตุผลที่พระเยซูเจ้าทรงห้ามพวกเขามิให้เล่าเหตุการณ์ที่ได้เห็นและได้ยินให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย เป็นเพราะว่าชาวยิวยังเข้าใจความหมายของคำ “พระเมสสิยาห์” ไม่ถูกต้อง  สำหรับชาวยิว พระเมสสิยาห์คือกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายมาจากดาวิดซึ่งจะใช้กำลังทหารปราบปรามและทำลายศัตรูรวมถึงนานาชาติ เพื่อแก้แค้นและนำชาติยิวให้กลับมายิ่งใหญ่ในพิภพอีกครั้งหนึ่ง
    หากชาวยิวรู้ว่าบุคคลระดับโมเสสและเอลียาห์ รวมถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าเองด้วย ทรงเสด็จมาสนทานากับพระเยซูเจ้า พวกเขาคงแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ แล้วความวุ่นวายทางการเมืองตลอดจนการนองเลือดคงติดตามมาอีกมากมาย
    แต่บัดนี้ เราได้รับรู้เหตุการณ์ระหว่างการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์แล้ว  เราจะทำอย่างไรกับ “พระเมสสิยาห์” ?!