แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต

ข่าวดี    มาระโก 1:12-15
    (12)ทันใดนั้น พระจิตเจ้าทรงดลให้พระองค์เสด็จเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร  (13)พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นสี่สิบวัน ทรงถูกซาตานประจญ พระองค์ทรงอยู่กับสัตว์ป่า บรรดาทูตสวรรค์ปรนนิบัติรับใช้พระองค์
    (14)หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า  (15)“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้วพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด”


    ทันทีที่ทรงให้เกียรติพระเยซูเจ้าด้วยการเสด็จลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบหลังรับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน (มก 1:9-11) พระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้ทรงนำพระองค์ไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อรับการประจญจากซาตาน
    ในเมื่อเป็นพระจิตเจ้าที่ทรงนำพระเยซูเจ้าไปรับการประจญ แสดงว่าการประจญที่ถาโถมเข้าใส่ชีวิตของเราแต่ละคนดุจคลื่นสึนามินั้น มิได้มีไว้เพื่อทำลายเรา แต่มีไว้เพื่อทำให้เส้นเอ็นและเส้นประสาทภายในหัวใจ ในสมอง และในชีวิตของเราเข้มแข็งขึ้น มีพลังมากขึ้น จะได้เหมาะสมกับการเป็นอัศวินผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

    เหมือนการทดสอบนักเรียนซึ่งคงไม่มีครูหรือผู้บริหารโรงเรียนคนใดจัดขึ้นเพื่อมุ่งมั่นจะทำร้ายหรือลดชั้นเรียนของเด็ก แต่เพื่อจะทำให้แน่ใจว่าเด็กมีองค์ความรู้เหมาะสมสำหรับการเรียนในชั้นที่สูงขึ้น

    พระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ในถิ่นทุรกันดารสี่สิบวัน  จำนวน “สี่สิบวัน” เป็นสำนวนพูดในภาษาฮีบรูหมายถึง “ช่วงเวลาหนึ่งที่ยาวพอสมควร” เหมือนสำนวนในภาษาไทย “สองสามวัน” ซึ่งให้ความรู้สึกว่าเป็น “ช่วงเวลาสั้น ๆ” ต่างจาก “เดือนสองเดือน” ซึ่งให้ความรู้สึกว่ายาวนานกว่า โดยที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังไม่ได้สนใจว่าจำนวนวันจริง ๆ จะเป็นเท่าใด
    ตัวอย่างในพระธรรมเก่าเช่น “โมเสสอยู่บนภูเขาเป็นเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืน” (อพย 24:18) หรือขณะที่เอลียาห์กำลังหนีเอาชีวิตรอดหลังจากสั่งประหารบรรดาประกาศกของพระนางเยเซเบล ทูตสวรรค์นำอาหารมาให้เขา “อาหารนี้ทำให้เขามีกำลังเดินได้สี่สิบวันสี่สิบคืนจนถึงโฮเรบ ภูเขาของพระเจ้า” (1พกษ 19:8)

    ผู้ที่มาประจญพระเยซูเจ้าคือ “ซาตาน”
    ความหมายของคำ “ซาตาน” ซึ่งเป็นภาษาฮีบรู มีวิวัฒนาการควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของชาวยิว ดังจะพบเห็นได้จากการใช้คำนี้ในพระธรรมเก่า
    1.    แรกเริ่มหมายถึง “ฝ่ายตรงข้าม” หรือ “ปรปักษ์” เช่น หัวหน้าชาวฟีลิสเตียห้ามดาวิดออกรบด้วยเพราะเกรงว่า “เขาอาจจะหันกลับมาเป็นศัตรู (ซาตาน) กับเราขณะทำการรบอยู่” (1ซมอ 29:4) หรือเมื่อกษัตริย์ดาวิดเสด็จกลับกรุงเยรูซาเล็ม อาบีชัยต้องการให้ประหารชีวิตชิเมอีซึ่งเคยสาปแช่งดาวิด แต่ดาวิดตรัสกับอาบีชัยว่า “เรามีความคิดไม่ตรงกัน (ซาตาน)” (2ซมอ 19:23)
2.    ต่อมาความหมายพัฒนาไปสู่เชิงลบมากขึ้น และย้ายจากมนุษย์ไปสู่เทวดาในสวรรค์  ซาตานคือบุตรของพระเจ้า (โยบ 1:6) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนอัยการในโลกนี้ นั่นคือ “กล่าวหา” มนุษย์ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า (โยบ 1:7; 2:2; ศคย 3:2)
    ระยะนี้ชาวยิวรับอิทธิพลของคำกรีก Diabolos (ดีอาโบสอส) ซึ่งตรงกับ Devil ในภาษาอังกฤษเข้ามา ซาตานจึงมิใช่เพียง “ผู้กล่าวหา” แต่หมายถึง “ผู้กล่าวให้ร้าย” มนุษย์ต่อหน้าพระเจ้า  กระนั้นก็ตาม ซาตานยังไม่เป็นปรปักษ์กับพระเจ้า เพียงแต่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับมนุษย์
3.    ระหว่างถูกกวาดต้อนไปบาบิโลน ชาวยิวรับอิทธิพลความคิดของชาวเปอร์เซียเรื่องการตัดสินใจเลือกระหว่าง “อำนาจแห่งความสว่าง” และ “อำนาจแห่งความมืด” ซาตานจึงกลายเป็น “อำนาจแห่งความมืด” และยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับพระเจ้าและมนุษย์อย่างสุดโต่ง
ในพระธรรมใหม่ “ซาตาน” หรือ “ปีศาจ” คือผู้อยู่เบื้องหลังความเจ็บไข้และความทุกข์ทรมานต่าง ๆ “หญิงผู้นี้ (ปีศาจสิง เจ็บป่วย หลังค่อม ยืดตัวตรงไม่ได้) เป็นบุตรหญิงของอับราฮัม ซึ่งซาตานล่ามไว้เป็นเวลาสิบแปดปีแล้ว ไม่สมควรที่จะถูกแก้จากพันธนาการนี้ในวันสับบาโตด้วยหรือ” (ลก 13:16)
นอกจากนี้ ซาตานคือผู้ที่ล่อลวงยูดาสให้ทรยศพระเยซูเจ้า (ลก 22:3) ซาตานคือผู้ที่เราต้อง “ต่อสู้มันด้วยใจมั่นคงในความเชื่อ” (1ปต 5:9) และคือผู้ที่จะต้องถูกทำลายชั่วนิรันดร “แล้วพระองค์จะตรัสกับพวกที่อยู่เบื้องซ้ายว่า ‘ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดรที่ได้เตรียมไว้ให้ปีศาจและพรรคพวกของมัน’” (มธ 25:41)

ระหว่างการประจญในถิ่นทุรกันดาร พระเยซูเจ้าต้องตัดสินพระทัยเลือกระหว่างหนทางของพระเจ้ากับหนทางของซาตาน ในอันที่จะทำให้ภารกิจการไถ่กู้มนุษยชาติของพระองค์สำเร็จลุล่วงไป
พระองค์ต้องเลือกระหว่าง “หนทางแห่งความรักและไม้กางเขน” กับ “หนทางแห่งความเกลียดชัง การใช้อำนาจ และการนองเลือด”
เพื่อจะได้อยู่ฝ่ายเดียวกับพระองค์ พระองค์ทรงประกาศว่า “จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด” (เรื่อง “เชื่อข่าวดี” ดูข่าวดีวันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา ปี B)
ปัญหาคือ “กลับใจ” หมายถึงอะไร ?
เราเรียนรู้มาว่า เพื่อจะกลับใจจำเป็นต้องเป็นทุกข์ถึงบาป  แต่ในทางปฏิบัติเรามักสับสนระหว่างการเป็นทุกข์ถึง “บาป” และการเป็นทุกข์ถึง “ผลของบาป”
    มีคนเป็นจำนวนมากที่เป็นทุกข์เสียใจอย่างจริงจังถึงผลร้ายที่สืบเนื่องมาจากความผิดบาปที่ตนเองได้กระทำลงไป  แต่หากเขาแน่ใจว่าสามารถหลบหลีกหรือรอดพ้นจากผลร้ายที่น่าจะติดตามมาได้ เช่น ตำรวจจับไม่ได้ กฎหมายมีช่องโหว่ มีอิทธิพลหนุนหลัง ฯลฯ เป็นไปได้มากว่าเขาจะกลับไปทำผิดเช่นเดิมอีก  ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งที่เขาเกลียดคือผลของบาป ไม่ใช่ตัวบาปเอง
    แต่การกลับใจที่แท้จริงอยู่ที่การเกลียด “บาป” ไม่ใช่ “ผลของบาป” !
    การกลับใจตรงกับภาษากรีก metanoia (เมตานอยอา) ซึ่งหมายถึง “การเปลี่ยนจิตใจ”
    นั่นคือ ผู้ที่เคย “รักบาป” ต้องเปลี่ยนเป็น “เกลียดบาป” จึงจะเรียกว่ากลับใจจริง

เราเริ่มมหาพรตนี้ด้วยการ “เกลียดบาป” กันเลยดีไหม ?