อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ข่าวดี ยอห์น 2:13-25
การชำระพระวิหาร
(13)เทศกาลปัสกาของชาวยิวใกล้จะมาถึง พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม (14)ในบริเวณพระวิหาร พระองค์ทรงพบพ่อค้าขายโค พ่อค้าขายแกะ พ่อค้าขายนกพิราบ และคนแลกเงินนั่งอยู่ที่โต๊ะ (15)พระองค์ทรงใช้เชือกเป็นแส้ ทรงขับไล่ทุกคนรวมทั้งแกะและโคออกจากพระวิหาร ทรงปัดเงินกระจายเกลื่อนกลาด และทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน (16)แล้วตรัสแก่คนขายนกพิราบว่า “จงนำของเหล่านี้ออกไป อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด” (17)บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า” (18)ชาวยิวจึงเข้ามาทูลถามพระองค์ว่า “ท่านมีเครื่องหมายอะไรแสดงให้เรารู้ว่าท่านมีอำนาจทำดังนี้” (19)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” (20)ชาวยิวพูดว่า “วิหารหลังนี้ต้องใช้เวลาสร้างถึงสี่สิบหกปี แล้วท่านจะสร้างขึ้นใหม่ในสามวันหรือ” (21)แต่พระองค์กำลังตรัสถึงพระวิหารซึ่งหมายถึงพระกายของพระองค์ (22)ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ว่าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้ เขาจึงเชื่อทั้งพระคัมภีร์และพระวาจาที่พระองค์ตรัสไว้
(23)ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกา คนจำนวนมากเชื่อในพระนามของพระองค์เพราะได้เห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ทรงกระทำ (24)แต่พระเยซูเจ้าไม่วางพระทัยในคนเหล่านั้น ทรงรู้จักทุกคน (25)พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้ผู้ใดเป็นพยานในเรื่องมนุษย์ เพราะทรงทราบดีว่ามีสิ่งใดอยู่ในใจมนุษย์
เทศกาลปัสกาของชาวยิวตรงกับวันที่ 15 เดือนนิสาน ซึ่งตกประมาณกลางเดือนเมษายน ตามกฎหมาย ชาวยิวที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงเยรูซาเล็มต้องไปร่วมฉลองปัสกาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม
แม้พระเยซูเจ้าจะไม่ถูกบังคับโดยกฎหมายเพราะอยู่ไกลนอกรัศมี แต่พระองค์ก็เสด็จไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มด้วย
สิ่งที่ดูเหมือนเป็นปัญหาสำหรับเราคือ มัทธิว มาระโก และลูกา ล้วนบันทึกตรงกันว่าพระองค์เสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อร่วมฉลองปัสกาเพียงครั้งเดียว และเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเพราะพระองค์ถูกตรึงตายบนไม้กางเขนก็ในโอกาสปัสกานี้เอง
ส่วนยอห์นเล่าว่าพระองค์เสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อร่วมงานปัสกาอย่างน้อย 3 ครั้ง (ยน 2:13; 6:4; 11:55) งานเทศกาลอยู่เพิง 1 ครั้ง (ยน 7:2,10) งานฉลองพระวิหาร 1 ครั้ง (ยน 10:22) และงานฉลองที่ไม่ระบุชื่ออีก 1 ครั้ง (ยน 5:1)
ความแตกต่างนี้มิได้หมายความว่าพระวรสารทั้งสี่ขัดแย้งกัน ตรงกันข้าม กลับเป็นการเสริมซึ่งกันและกันเพื่อทำให้เห็นภาพของพระเยซูเจ้าสมบูรณ์มากขึ้นโดยผ่านทางมุมมองที่ต่างกันของผู้เขียนพระวรสารแต่ละคน กล่าวคือยอห์นเน้นภารกิจของพระองค์ในกรุงเยรูซาเล็ม ส่วนผู้เขียนพระวรสารอื่น ๆ เน้นภารกิจของพระองค์ในแคว้นกาลิลี
เหตุผลหนึ่งที่แสดงว่าไม่มีความขัดแย้งกันคือ แม้แต่มัทธิวเองยังบันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าทรงเตือนชาวกรุงเยรูซาเล็มว่า “เยรูซาเล็มเอ๋ย เยรูซาเล็ม เจ้าฆ่าประกาศก เอาหินทุ่มผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมาพบเจ้า กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของท่านเหมือนดังแม่ไก่รวบรวมลูกไว้ใต้ปีก แต่ท่านไม่ต้องการ” (มธ 23:37)
คำ “กี่ครั้งกี่หนแล้ว” แสดงถึงความคุ้นเคยและบ่งบอกว่าพระองค์เสด็จมากรุงเยรูซาเล็มหลายครั้งแล้ว
ภาพที่ได้คือ พระเยซูเจ้าทรงกระทำภารกิจทั่วอิสราเอล ทั้งในแคว้นกาลิลีทางเหนือ และในแคว้นยูเดียทางใต้ !
แต่ที่เป็นปัญหาจริง ๆ คือ ยอห์นเล่าเรื่อง “การชำระพระวิหาร” ตั้งแต่เริ่มต้นภารกิจ ส่วนพระวรสารสหทรรศน์เล่าเรื่องเดียวกันนี้ในช่วงสุดท้ายของภารกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่นำไปสู่การตัดสินประหารชีวิตพระองค์ (มธ 21:12,13; มก 11:15–17; ลก 19:45,46)
เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีความคิดเห็นหลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ บางคนถือว่ายอห์นเป็นฝ่ายถูก บางคนประนีประนอมว่าถูกทุกฝ่ายคือมีการชำระพระวิหาร 2 ครั้ง บางคนคิดว่ายอห์นเสียชีวิตก่อนเย็บเล่มต้นฉบับ และเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ที่เรียงหน้าผิด ฯลฯ
แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระวรสารสหทรรศน์ระบุวันได้สมเหตุสมผลมากกว่า เพราะผู้เขียนพระวรสารทั้ง 3 ท่านสนใจข้อเท็จจริงมาก ในขณะที่ยอห์นสนใจ “ความจริง” มากกว่า “ข้อเท็จจริง”
ประกาศกมาลาคีทำนายไว้ว่า “พระเจ้าผู้ซึ่งเจ้าแสวงหานั้นจะเสด็จมายังพระวิหาร....แต่ใครจะทนอยู่ได้ในวันที่ท่านมา....เพราะว่าท่านเป็นประดุจไฟถลุงแร่ และประดุจสบู่ของช่างซักฟอก...ท่านจะชำระบุตรหลานของเลวีให้บริสุทธิ์.....แล้วเครื่องบูชาของยูดาห์และเยรูซาเล็มจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าดังสมัยก่อน” (มลค 3:1-4)
คำทำนายนี้ชัดเจนว่าหมายถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า เพื่อ “ชำระพระวิหารและการถวายบูชาให้บริสุทธิ์” จะได้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า
เมื่อมีคำทำนายนี้อยู่ในหัวใจ สิ่งที่ยอห์นสนใจคือ “พระเยซูเจ้าทรงชำระพระวิหาร” ส่วนจะชำระเมื่อใดท่านไม่สนใจ
เพราะ “การชำระพระวิหาร” นำมาสู่ “ความจริง” ที่ว่า “พระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์ ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้า”
และยอห์นต้องการประกาศ “ความจริง” นี้ให้ทุกคนทราบตั้งแต่เริ่มต้นพระวรสาร
นี่คือวิธีคิดของยอห์น !
“พระองค์ทรงใช้เชือกเป็นแส้ ทรงขับไล่ทุกคนรวมทั้งแกะและโคออกจากพระวิหาร ทรงปัดเงินกระจายเกลื่อนกลาด และทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน” (ข้อ 15)
ทำไม ? ทำไมพระเยซูเจ้าจึงเกรี้ยวกราดปานนี้ ?
ปัสกาเป็นงานฉลองสำคัญที่สุดของชาวยิว ชาวยิวที่มีภูมิลำเนาภายในรัศมี 24 กิโลเมตรจากกรุงเยรูซาเล็มต้องไปร่วมฉลองที่พระวิหาร ส่วนชาวยิวที่กระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ตามประเทศต่าง ๆ แม้ไม่มีข้อบังคับ แต่ทุกคนล้วนพยายามมาร่วมพิธีที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตก็ยังดี มีการประเมินว่า บางปีมีชาวยิวจากที่ต่าง ๆ มาชุมนุมกันที่พระวิหารมากถึง 2,250,000 คน
ชาวยิวทุกคนที่มีอายุเกิน 19 ปีขึ้นไปต้องชำระภาษีพระวิหารปีละครึ่งเชเขล ซึ่งมีมูลค่าเทียบได้กับค่าแรงงานขั้นต่ำในปัจจุบันประมาณหนึ่งวันครึ่ง ปกติชาวยิวยอมรับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของโรม กรีก อียิปต์ ไทระ ไซดอน รวมทั้งของปาเลสไตน์เอง แต่การชำระภาษีพระวิหารจำเป็นต้องใช้เงินเชเขลของพระวิหาร หรือเงินเชเขลของปาเลสไตน์เท่านั้น จะใช้เงินตราต่างชาติไม่ได้เด็ดขาด
ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราจึงเกิดขึ้น ค่าธรรมเนียมในการแลกเงินตกประมาณร้อยละ 17 ของจำนวนเงินที่ต้องการแลก มากกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาตเสียอีก
ค่าธรรมเนียมนี้เรียกว่า kollubos (คอลลูบอส) และคนรับแลกเปลี่ยนเงินตราเรียกว่า kollubistai (คอลลูบิสไตย) ซึ่งต่อมาพฤติกรรมการเก็บค่าธรรมเนียม (คอลลูบอส) แบบมหาโหดเช่นนี้ได้กลายเป็นตัวละครกรีกที่มีชื่อเสียงคือ Kollybos (คอลลีบอส) แปลเป็นภาษาลาตินว่า Collybus (คอลลีบุส) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ Shylock (ไชลอค) ในภาษาอังกฤษ
ไชลอค จึงดูเหมือนจะถือกำเนิดมาจากชาวยิวที่รับแลกเปลี่ยนเงินตรานี้เอง !
นอกจากเรื่องแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว ยังมีเรื่องค้ากำไรเกินควรอีกด้วย !
ชาวยิวมีธรรมเนียมถวายสัตว์เป็นเครื่องเผาบูชาแด่พระเจ้า การนำสัตว์เข้ามาในพระวิหารจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าสัตว์ที่จะถวายแด่พระเจ้าต้องสมบูรณ์ไม่มีที่ติ ทางวิหารจึงแต่งตั้งผู้ตรวจสอบ ค่าตรวจสอบแต่ละครั้งตกประมาณร้อยละ 25 ของค่าแรงงานขั้นต่ำหนึ่งวัน นอกจากแพงแล้วผู้ตรวจสอบของพระวิหารยังพยายามหาเหตุทำให้สัตว์ที่ผู้จาริกแสวงบุญนำมาเองไม่ผ่านการตรวจสอบอีกด้วย
ธุรกิจค้าโค แกะ นกพิราบ ฯลฯ ภายในพระวิหารจึงเกิดขึ้น ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นสิ่งดีเพราะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บรรดาผู้จาริกแสวงบุญ แต่ข้อเท็จจริงคือ ราคานกพิราบในพระวิหารสูงกว่านอกพระวิหาร 18 - 19 เท่า
สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว การไร้จรรยาบรรณในการตรวจสอบสัตว์ รวมถึงการตั้งราคาขายสัตว์แบบขูดรีดขูดเนื้อเช่นนี้ แปลเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก เป็นความอยุติธรรมในสังคม เป็นการค้ากำไรเกินควร และที่สำคัญ พวกเขาทำในนามของศาสนา
พระองค์ไม่อาจนิ่งเฉยปล่อยให้ผู้นมัสการพระเจ้าถูกกดขี่เช่นนี้ได้
และนี่คือสาเหตุที่ทำให้พระองค์ต้องเกรี้ยวกราด !
นอกจากทนเห็นผู้นมัสการพระเจ้าถูกกดขี่ไม่ได้แล้ว พระเยซูเจ้ายังมีเหตุผลลึก ๆ ในการชำระพระวิหารอีกด้วย
1. บ้านของพระเจ้าถูกทำให้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนขาดความเคารพยำเกรงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับนมัสการพระเจ้า จนพระองค์ต้องตรัสว่า “จงนำของเหล่านี้ออกไป อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด” (ข้อ 16)
การนมัสการพระเจ้าโดยขาดความเคารพยำเกรงเป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เราสักแต่ว่าสวด ร้องเพลง หรือทำพิธีกรรมทุกอย่างตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยขาดสำนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า หรือซ้ำร้ายกว่านั้นอีก หากผู้นำสวด ผู้นำขับร้อง หรือแม้แต่พระสงฆ์เองขาดการเตรียมตัวนมัสการพระองค์อย่างพอเพียง !
2. พระองค์ต้องการชี้ให้เห็นว่า “การถวายบูชาด้วยสัตว์ไม่ช่วยให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้า” จึง “ทรงขับไล่แกะและโคออกจากพระวิหาร” (ข้อ 15)
อันที่จริงความคิดนี้มีมาตั้งแต่พระธรรมเก่าแล้ว ดังจะเห็นได้จากคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “พระเจ้าตรัสว่า เครื่องบูชาอันมากมายของเจ้านั้นจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เรา....เรามิได้ปีติยินดีในเลือดของวัวผู้ หรือลูกแกะ หรือแพะผู้.... อย่านำเครื่องถวายอนิจจังมาอีกเลย.....เราทนต่อความบาปชั่วและการประชุมตามพิธีไม่ได้อีก....จงเลิกกระทำชั่ว จงฝึกกระทำดี....” (อสย 1:11-17)
หรือตามคำของประกาศกโฮเชยาที่ว่า “ส่วนเครื่องสัตวบูชาที่ถวายแก่เรานั้น เขาถวายเนื้อและรับประทานเนื้อนั้น แต่พระเจ้ามิได้พอพระทัยในตัวเขา” (ฮชย 8:13)
ปัจจุบันเราไม่ได้ถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาแล้ว แต่เราพยายามสรรหาออร์แกนเสียงดี ๆ กระจกสีสวย ๆ หินอ่อนจากอิตาลี เครื่องเงินเงาวับ ไม้สักแกะสลัก ฯลฯ โดยหวังว่าพระเจ้าจะทรงพอพระทัยของถวายเหล่านี้
จริงอยู่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นของประทานจากพระเจ้า และมีคุณค่ามากเพราะช่วยให้เรายกจิตใจขึ้นหาพระองค์ แต่เมื่อใดก็ตามที่สิ่งเหล่านี้เข้ามาแทนที่ “หัวใจที่รักและอุทิศตนแด่พระเจ้า” เมื่อนั้นเรากำลังทำให้การนมัสการพระเจ้าที่แท้จริงห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ
และสักวันหนึ่งเราคงถูกพระองค์ลงแส้เหมือนในพระวรสารวันนี้เป็นแน่ !
3. พระองค์ต้องการทำลายอุปสรรคที่กีดกั้นผู้แสวงหาพระเจ้า
พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับคนแต่ละกลุ่ม ชั้นนอกสุดเป็นลานสำหรับคนต่างศาสนา ถัดเข้ามาเป็นลานสำหรับผู้หญิงและเด็ก ตามด้วยลานสำหรับผู้ชาย และสำหรับพระสงฆ์ตามลำดับ การแลกเปลี่ยนเงินตราและค้าสัตว์ทำกันที่ลานชั้นนอก จึงเต็มไปด้วยเสียงคนต่อรองราคา เสียงสัตว์ร้อง เสียงเหรียญกระทบกัน และเสียงอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อคนต่างชาติต่างศาสนาที่ปรารถนาจะแสวงหาและนมัสการพระเจ้าทั้งสิ้น
พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์มิใช่หรือว่า บ้านของเราจะได้ชื่อว่าบ้านแห่งการอธิษฐานภาวนาสำหรับนานาชาติ แต่ท่านทั้งหลายกลับมาทำให้เป็นซ่องโจร” (มก 11:17)
เท่ากับว่าพระองค์ต้องการตำหนิบรรดาผู้มีอำนาจของพระวิหาร ที่ได้ร่วมมือกับบรรดาพ่อค้าแม่ขายในการสร้างอุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงพระเจ้า
ในปัจจุบัน อุปสรรคทำนองนี้ใช่ว่าจะหมดสิ้นไปเสียทีเดียว มีบ้างไหมที่เราทำหน้าตาบอกบุญไม่รับใส่คนแปลกหน้าแปลกถิ่น มีบ้างไหมที่เราวางมาดกีดกันราวกับว่าม้านั่งตัวนี้ หนังสือเล่มนี้ หรือแม้แต่วัดนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของฉันคนเดียว คนอื่นห้ามแตะห้ามยุ่ง เราเคยช่วยคนรอบข้างเปิดหนังสือสวดหรือหนังสือเพลง รวมถึงเคยแนะนำหรือช่วยเหลือผู้อื่นให้มาวัด เช่นให้โดยสารรถมาด้วยบ้างไหม ?
“จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” (ข้อ 19)
ดังได้กล่าวแล้วว่า “การชำระพระวิหาร” ของพระเยซูเจ้าเท่ากับเป็นการเปิดเผย “ความจริง” ว่า “พระองค์คือพระเมสสิยาห์”
“ความจริง” นี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยา 2 ด้านที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
ปฏิกิริยาแรกเป็นของพวกศิษย์ที่ระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า” (ข้อ 17)
ข้อความนี้มาจากเพลงสดุดีที่ 69 ข้อ 9 ที่ว่า “ความร้อนใจในเรื่องพระนิเวศของพระองค์ได้ท่วมท้นข้าพระองค์.....”
ผลที่ตามมาคือพวกศิษย์เชื่อและยอมรับอย่างสนิทใจว่า “พระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์และทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า”
ปฏิกิริยาที่สองเป็นของชาวยิว พวกเขาไม่เชื่อว่าพระองค์จะมีสิทธิ์ชำระพระวิหาร และต้องการข้อพิสูจน์ พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน”
พระองค์คงได้พูดถ้อยคำทำนองนี้จริง จึงมีคนกล่าวหาพระองค์ต่อหน้ามหาสมณะคายาฟาสว่า “คนคนนี้ได้พูดว่า ‘ฉันมีอำนาจจะทำลายพระวิหารของพระเจ้า และสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในสามวัน’” (มธ 26:61)
ทำไมพระองค์จึงตรัสเช่นนี้ ?
แน่นอนว่าพระองค์ไม่ได้หมายถึง “พระกายและการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายของพระองค์” ดังที่ปรากฏในข้อ 21 และ 22 เพราะทั้งสองข้อนี้ยอห์นเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง อีกทั้งความคิดเช่นนี้ย่อมไปไกลเกินกว่าชาวยิวในขณะนั้นจะเข้าใจได้
และแน่นอนอีกเช่นกันว่า พระองค์ไม่ได้ต้องการทำลายพระวิหารของพระเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็มจริง ๆ แม้จะทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่าสักวันหนึ่งพระวิหารนี้จะถูกทำลายจนไม่มีหินเหลือซ้อนกันแม้แต่ก้อนเดียวก็ตาม
เพื่อจะเข้าใจความคิดของพระเยซูเจ้า ให้เรานึกถึงคำสนทนาระหว่างพระองค์กับหญิงชาวสะมาเรียที่ว่า “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขาเกรีซิม หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่ผู้นมัสการแท้จริงจะนมัสการพระบิดาเจ้าด้วยจิต และตามความจริง” (ยน 4:21)
และอีกตอนหนึ่งเป็นข้อกล่าวหาต่อพระองค์ที่บันทึกไว้โดยมาระโก “เราได้ยินเขาพูดว่า “ฉันจะทำลายวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์นี้ และภายในสามวัน จะสร้างขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์”“ (มก 14:58)
เราอาจสรุปได้ว่าการมนัสการที่แท้จริงตามความคิดของพระเยซูเจ้าคือ “การนมัสการด้วยจิตและตามความจริงในวิหารที่ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์”
เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” พระองค์ต้องการสื่อให้ทุกคนทราบว่า ทรงปรารถนาให้ “พระวิหารที่สร้างด้วยมือมนุษย์ รวมถึงพิธีกรรม และการถวายสัตวบูชาทั้งมวลจบสิ้นไป” เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่อาจนำมนุษย์กลับไปหาพระเจ้าได้
นี่คงเป็นเนื้อหาใจความที่พระองค์ได้ตรัสกับพวกยิวจริง
ส่วนยอห์นมองไปไกลกว่านั้น ท่านเห็นว่านี่คือคำทำนายแห่งการ “กลับคืนพระชนมชีพ”
หลังการกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นวิหารของพระเจ้าที่ทุกคนสามารถนมัสการพระเจ้าอาศัยพระจิตเจ้าและตามความจริง
พระองค์คือ “วิหารใหม่” ที่สามารถนำมนุษย์กลับไปหาพระบิดาได้
นับจากนี้ไป นานาชาติทั่วโลกจะรู้ว่าพระเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางเรา โดยผ่านทางวิหารใหม่ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ แต่ด้วยพระจิตเจ้า
พระเจ้าไม่ถูกจำกัดวงอยู่ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มหรือใน “วัด” อีกต่อไป
ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในวัด ที่บ้าน บนถนน ที่ทำงาน หรือระหว่างพักผ่อน เรามี “วิหารใหม่” อยู่ภายในตัวเราทุกคน
วิหารใหม่นี้คือ พระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพ ผู้ประทับอยู่ทั่วสกลโลก และตลอดกาล…..
หรือมีใครในพวกเราทำให้วิหารนี้กลายเป็นซ่องโจรไปเสียแล้ว ?!