แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

มก 10:32-45…

32บรรดาศิษย์กำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระเยซูเจ้าเสด็จนำเขาไป เขาต่างประหลาดใจ ผู้ติดตามต่างมีความกลัว พระองค์ทรงพาอัครสาวกสิบสองคนออกไปอีกครั้งหนึ่ง ทรงบอกเขาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ว่า 33”บัดนี้ พวกเรากำลังจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบให้บรรดามหาสมณะและบรรดาธรรมาจารย์ จะถูกตัดสินประหารชีวิต และถูกมอบให้คนต่างชาติ34สบประมาทเยาะเย้ย ถ่มน้ำลายรด โบยตี และฆ่าเสีย แต่หลังจากนั้นสามวัน เขาจะกลับคืนชีพ”
35ยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี เข้ามาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้” 36พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด”

37ทั้งสองคนทูลตอบว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด” 38พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไร ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” 39ทั้งสองคนทูลว่า “ได้ พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะได้ดื่ม และการล้างที่เราจะรับนั้น ท่านก็จะได้รับ 40แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้”
41เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น 42พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ 43แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น 44และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน 45เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย”


อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• “บรรดาศิษย์กำลังเดินทาง....พระเยซูเจ้าเสด็จนำเขาไป” 

o สังเกตความชัดเจน และความเข้มข้นของการติดตามพระเยซูเจ้า บรรดาศิษย์ติดตามพระองค์ไปเยรูซาเล็ม และท่านนักบุญมาระโกเน้นว่า พระองค์เสด็จนำเขาไป (ย้อนกลับไปพิจารณา การทำนายครั้งแรก และเปโตรปฏิเสธ “Satana”) ทำให้เห็นยิ่งขึ้นว่า ข้อสรุปที่ว่าเปโตรขวางทางพระองค์เป็นความจริง พระองค์จึงตรัสว่า “Get behind me, Satana”


o “ขึ้นไปยังกรุงเยรูซาแล็ม” สังเกตว่า พระองค์เสด็จมาจากทางเหนือ จากกาลิลีไปเยรูซาเล็ม ความจริงที่นี่แสดงให้เห็นไม่ใช่ความหมายทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นเทววิทยาเกี่ยวกับเยรูซาแล็ม เพราะที่ตั้งพระวิหาร ดังนั้นเป็นที่ประทับของพระเจ้า “ภูเขาโมริยาห์” บริบทที่ใช้จึงแสดงออกซึ่งความเคารพเสมอและยกให้เป็นที่สูงเสมอไป

• “เขาต่างประหลาดใจ ผู้ติดตามต่างมีความกลัว” พ่ออธิบายแล้วว่า..ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ พวกเขากลัวเพราะกลุ่มคนตามพระองค์มากขึ้น และทิศทางของพระองค์นั้นเด่นชัดว่ากำลังไปเยรูซาเล็มจริงๆ อาจมีความเข้าใจแตกต่างกันสองระดับ

o พระเยซูเจ้า มุ่งไปสู่หนทางแห่งกางเขน พระคริสตเจ้าที่ต้องรับทรมาน

o ประชาชนและศิษย์ มุ่งไปเพื่อปราบดาภิเษก ถ้าเป็นเช่นนี้มีเหตุผลที่จะประหลาดใจและกลัว เพราะหมายถึงการกบฎต่อจักรวรรดิโรมัน (สังเกต ความหวาดกลัว และความประหลาดใจของบรรดาศิษย์ในพระวรสารนักบุญมาระโกนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่ต้องร่วมรหัสธรรมปัสกาของพระเยซูเจ้า)

• “ทรงพาอัครสาวกสิบสองคนออกไปตามลำพังอีกครั้งหนึ่ง” 

o ยืนยันคำสอนเรื่องลักษณะแท้ ๆ ของพระคริสตเจ้า พระคริสต์ที่ต้องรับทรมานนั้นเป็นคำสอนที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ และ

o เป็นเจตนาของพระเยซูเจ้าในพระวรสาร ที่จะอบรมศิษย์ของพระองค์ ให้รับสัจธรรมแห่งความรอดประการนี้ เพื่อ “Per Crucem ad Lucem” (ผ่านกางเขน สู่แสงสว่าง)


• “สบประมาท เยาะเย้ย ถ่มน้ำลายรด โบยตี และฆ่าเสีย แต่หลังจากนั้นสามวัน พระองค์จะทรงกลับคืนชีพ” 

o ในการทำนายครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม พระองค์ได้ให้รายละเอียดมากที่สุด เป็นการทำนายถึงสิ่งที่จะเกิดกับพระองค์ในวาระสุดท้ายที่เยรูซาเล็ม ซึ่งสิ่งที่ระบุมานี้ล้วนเป็นวิธีปฏิบัติต่อผู้ที่เป็นกบฎต่อจักรวรรดิ คือ การรวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้นไป และที่สำคัญในมาระโกบทที่ 11 เน้นว่า พระองค์ประทับบนหลังลา และทุกคนร้อง “โฮซานนาแด่โอรสดาวิด (หมายถึง กษัตริย์แห่งอิสราเอล) 

o แต่ข้อสังเกตคือ การทำนายถึงพระทรมานครั้งนี้ พระองค์บอกพวกเขาอย่างเปิดเผย และที่สำคัญ พระองค์จะทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพหลังการสิ้นพระชนม์ด้วยเสมอ ซึ่งนั่นคือมิติที่สูงกว่า แต่บรรดาศิษย์ของพระองค์ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมเข้าใจ แต่ที่แปลกคือทำไมไม่ถามพระองค์ในเรื่องนี้สักที

• เรื่องของการขออภิสิทธิ์นั่งข้างขวาและข้างซ้าย ยากอบและยอห์น... 

o ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุด การขออภิสิทธิ์ของสองพี่น้องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทันที หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงพระทรมานครั้งที่สาม ซึ่งพระองค์ทรงเน้นว่า “เรากำลังขึ้นไปกรุงเยรูซาแล็ม”

o นั่นหมายความว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าเข้าใจการเข้าเยรูซาแล็มของพระองค์นั้นแตกต่างอย่างสิ้น เชิงกับที่พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจ และที่พระองค์ทรงสอน

o การขอของพี่น้องสองคนนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และเลือกที่จะเข้าใจเฉพาะความรุ่งโรจน์ของพระองค์แบบที่พวกเขาต้องการ คือ การไปเป็นกษัตริย์ที่ล้มล้างอาณาจักรโรมัน แม้พระองค์ทรงสอนรหัสธรรมของพระองค์อย่างเปิดเผย แต่บรรดาศิษย์ดูเหมือนไม่เข้าใจเอาเสียเลย 

o โดยตลอดการเดินทาง... ดูเหมือนพวกเขายังคงไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ รหัสธรรมปัสกาของพระองค์ สำหรับมาระโก ศิษย์ของพระองค์ยังคงบอดมืดในความเข้าใจถึงพระองค์นั่นเอง 

o กุญแจสำคัญเริ่มชัดเจนว่า ทำไมทั้งสองช่วงของพระวรสารช่วงเดินทางจากกาลิลีสู่เยรูซาเล็ม มก 8:27-10:52 นี้จึง..
1. เริ่มขึ้นต้นด้วยเรื่องคนตาบอดที่เบธไซดา 8:22-26 และ
2. การเดินทางนี้จบลงด้วยเรื่องคนตาบอดที่ชื่อบาร์ทิอัสที่เยรีโค 10:46-52


• “ยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี” ทั้งสองคนอยู่ในลำดับแรกของลำดับรายชื่อของอัครสาวกทั้ง 12 ของพระเยซูเจ้า (1:16-20) และทั้งสองนี้จะอยู่ร่วมกับเปโตร (รวมเป็นสามคน) บ่อยๆ ในเหตุการณ์สำคัญ (5:37; 9:2; 14:33)
• “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด” คำขอนี้ทำให้เห็นความเข้าใจของทั้งสองต่อการเสด็จเข้าเยรูซาแล็มของพระเยซู เจ้า และแสดงให้เห็นความโง่เขลา หรือความไม่รู้อย่างแท้จริงถึงความเป็นพระคริสต์ของพระเยซูเจ้า


• “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” 

o เขาทั้งสองตอบรับ เพราะคิดว่า การนั่งข้างกษัตริย์นั้น ต้องดื่มถ้วยเดียวกับกษัตริย์และดื่มก่อน ล้างมือในน้ำเดียวกับที่กษัตริย์จะล้าง เพราะถ้วยและน้ำล้าง เป็นโอกาสวางยาพิษเพื่อโค่นกษัตริย์ และปกติคนที่นั่งข้างซ้ายข้างขวากษัตริย์ต้องดื่มหรือล้างก่อนเสมอ... เรียกว่าตายแทนกันได้ ทั้งสองจึงตอบรับว่ารับได้...

o แต่ในพระคัมภีร์... “ถ้วย” และ “การล้าง” เครื่องหมายทั้งสองประการนี้ ถือได้ว่าเป็นแสดงออกถึงเรื่องเดียวกันคือ พระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า “พระดาเข้าข้าโปรดให้ถ้วยนี้พ้นไปเถิด...” และ “การล้างคือการร่วมในความตายกับพระเยซูเจ้า” (เทียบ ลก 12:50; รม 6:3)
o ดังนั้น การเสนอถ้วยและการล้างสำรหับพระเยซูเจ้า... หมายถึงการที่พวกเขาจะได้มีส่วนในรหัสธรรมของพระเยซูเจ้า

• การขอของพี่น้องสองคน คือ ยากอบและยอห์นบุตรของเศเบดี ขอนั่งข้างซ้ายและข้างขวาในพระสิริของพระองค์นั้น ดูเหมือนจะเข้าใจผิด และเป็นการขอที่มากเกินไป เขาหวังจะนั่งในพระสิริรุ่งโรจน์... และคิดแบบกระแสโลก ขออำนาจตามกระแสโลก... แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกพวกเขามาพบ เพราะว่า ศิษย์อีกสิบคนไม่พอใจยากอบและยอห์น ซึ่งนี่ก็เป็นกระแสโลก อำนาจ และความอยากได้ตำแหน่งแห่งอำนาจนั่นเอง... และดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงเรียกพวกเขาทั้งหลายมาพบเพื่อสอนความจริงที่สำคัญมากๆ 

o “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ”

o “แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน”

• ข้อสังเกตสำคัญ ภาษาไทยแปล “รับใช้” เหมือนกัน แต่น่าสังเกตว่าภาษากรีกต้นฉบับคำกริยาที่ใช้ทั้งสองแห่งไม่เหมือนกัน ภาษาอังกฤษแปลตรงกับต้นฉบับภาษากรีกมากกว่า... 


• But it shall not be so among you; but whoever would be great among you must be your servant (diakonos), and whoever would be first among you must be slave of all (doulos). (RSV)
o ภาษากรีกใช้คำว่า “diakonos” (อ่านว่า ดีอาโกนอส) สำหรับคนที่อยากเป็นใหญ่ต้อง “รับใช้” การรับใช้แบบผู้รับใช้ที่โต๊ะ การบริการ เอาใจใส่ช่วยเหลือ การรับใช้แบบนี้เป็นลักษณะของความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับโดยสภาพที้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการรับใช้ด้วยหัวใจอิสระ

o ส่วนคนที่เป็นที่หนึ่ง... พระองค์เน้น ต้องรับใช้ โดยที่ภาษากรีกต้นฉบับใช้คำว่า“doulos” (อ่านดูลอส) คือ การรับใช้แบบ “ทาส” ขาดอิสระภาพ และเป็นการรับใช้ที่ไม่ใช่เพื่อค่าตอบแทน แต่เป็นการรับใช้ที่ติดมากับสภาพที่ไม่สามารถแยกออกจากสภาพของตนได้ ไม่สามารถทำตนเองให้เป็นอิสระจากหน้าที่นี้ คำตีความที่น่าจะดีที่สุดคือ “ศิษย์ของพระเยซูเจ้าที่ปรารถนาจะเป็นที่หนึ่งนั้นไม่สามารถเป็นโดยขาดซึ่ง การรับใช้ทุกคน เป็นพันธะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

• และพระองค์ได้ให้ตัวอย่างของพระองค์เอง... “เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” 
o หลักการของพระเยซูเจ้า พระองค์อ้างถึงซึ่งหมายถึงพระองค์เอง “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งสอดคล้องกับคำทำนายของพระองค์ทั้งสามครั้ง

o และพันธกิจของพระองค์คือ เป็นทาสรับใช้ เพื่อเป็นสินไถ่คนจำนวนมาก

• พ่อสรุปแล้วครับ... เขียนมายาวเพราะพระวรสารนี้สำคัญมากๆ ในการติดตามพระเยซูเจ้า จากกาลิลีสู่เยรูซาเล็ม พ่อต่อเนื่องจากเมื่อว่าน


• ศิษย์พระเยซูเจ้าแท้จริงๆ การติดตามพระองค์ คือ การติดตามในหนทางเดียวกับพระองค์ “หนทางแห่งความรักจนยอมรับทรมานเพื่อรักจนถึงที่สุด”

• อำนาจแท้จริง ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ความยิ่งใหญ่ อำนาจ การนั่งข้างซ้ายและข้างขวา แต่ต้องเป็นการรับใช้ตลอดไป รับใช้จนถึงที่สุดให้จงได้ ต้องอยู่บนบัลลังก์ข้างพระองค์ คือ “บนไม้กางเขน” เพราะกางเขนถือบัลลังก์แห่งความรักนิรันดรของพระองค์เสมอไป...
o พี่น้องที่รัก ความรัก คือการรับใช้ สำหรับพวกเราคริสตชนทุกคน ถ้าเป็นที่หนึ่ง เช่นพระสังฆราชในสังฆมณฑลฯ พระสงฆ์เจ้าอาวาสในวัดของตน นักบวชที่เป็นเจ้าคณะฯ อธิการบ้าน พ่อบ้านแม่บ้านในครอบครัว ผู้อำนวยการครูใหญ่ทั้งหลาย.. คือในที่ใดๆ ที่เราเป็นที่หนึ่ง... จำไว้...อย่าทำตามกระแสโลก แต่ต้องทำตามจิตตารมณ์พระเยซูเจ้าเท่านั้น คือ
o “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ

o แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน”

• พ่อเองและพี่น้องที่รัก จงจำไว้เสมอว่า ความยิ่งใหญ่ หรือเป็นใหญ่ ของเรา คือ “การรับใช้” เท่านั้น อย่าหลงใช้คนอื่นจนลืมว่าเราต้องรับใช้ดูแลจนถึงที่สุดครับ ถ้าไม่รับใช้ ก็ไม่ได้รักจริงๆนะครับ ถ้ามัวแต่ใช้ๆๆคนอื่น จะเรียกว่ารักได้อย่างไร ถ้าความรักคือการรับใช้ ขอพระเจ้าอวยพรครับ