การรับทรมาน (Passion)
ชีวิตการเทศนาของพระเยซูมีระยะสั้นเพียงสามปีเท่านั้น เหตุการณ์ในบั้นปลายชีวิตของพระองค์ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด และเป็นศูนย์กลางรหัสธรรมแห่งความเชื่อของชาวคริสต์เลยทีเดียว เหตุการณ์ดังกล่าวคือ การรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งพระวรสารได้เล่าถึงเหตุการณ์เหล่านี้ไว้โดยละเอียดกว่าเหตุการณ์อื่นๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้นิพนธ์พระวรสารเชื่อมเหตุการณ์ของการรับทรมานกับสิ่งที่บรรดาประกาศกได้กล่าวไว้ในพันธสัญญาเกือบจะโดยตลอด โดยเน้นที่เรื่อง “ข้ารับใช้ของพระยาห์เวห์” ของอิสยาห์ และบทสดุดีว่าด้วยผู้ชอบธรรมที่รับทรมานและมีชัยชนะ ในบทที่ 53 ของอิสยาห์มีบันทึกไว้ว่า
“ท่านได้แบกความเจ็บปวดของเราทั้งหลาย และหอบความเจ็บปวดของเราไป กระนั้น เราทั้งหลายก็ยังถือว่าท่านถูกตี คือพระเจ้าทรงโบยตีและข่มใจ แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเรา ทั้งท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์ ตกแต่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี เราทุกคนได้เจิ่นไปเหมือนแกะ เราทุกคนต่างหันไปตามทางของตนเอง และพระเจ้าทรงวางลงบนท่านซึ่งความบาปผิดของเราทุกคน ท่านถูกบีบบังคับและท่านถูกข่มใจ ถึงกระนั้นท่านก็ไม่ปริปากเหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่าและเหมือนแกะที่เป็นใบ้อยู่หน้าผู้ตัดขนของมันฉันใด ท่านก็ไม่ปริปากของท่านเลยฉันนั้น…” (อสย 53:4-7)
มีกล่าวไว้ในลักษณะที่คล้ายกันในบทสดุดีที่ 22 และ 69 อย่างไรก็ดี พันธสัญญาเดิมก็เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบั้นปลายชีวิตของพระเยซูนี้เป็นรหัสธรรม (Mistery) อันเป็นพื้นฐานแห่งความเชื่อ เซนต์ปอลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการสั่งสอนของท่านมากกว่าสาวกองค์ใด (ดู รม 4:25; 1คร 15:3-17) และถือว่าเป็น “หัวใจ” ของความเชื่อทั้งหมด เพราะพระภารกิจการไถ่บาปของพระเยซูได้เสร็จสมบูรณ์ด้วยเหตุการณ์นี้ กางเขนหมายถึงความรักของพระเจ้าที่ทรงแสดงออกทางพระบุตรที่ถูกตรึง และหมายถึงการไถ่บาป การรับทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้
1. การวางแผนของสภาซันเฮดริน (ดู มก 14:1-2 หรือ มธ 26:11-15; ลก 22:1-2; ยน 11:47-53) เป็นการบ่งบอกถึงการปฏิเสธของชาวยิวว่า พระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์และเป็นบุตรของพระเจ้า
2. การชโลมน้ำมันที่เบธานี (ดู มก 14:3-9; ยน 12:1-11) พระเยซูประทับที่บ้านของซีโมนคนโรคเรื้อน มีสตรีนางหนึ่งได้นำน้ำมันที่มีค่ามาชโลมพระบาทซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความเคารพและศรัทธาอย่างสูง แม้ว่าสาวกบางองค์จะไม่เห็นด้วย เพราะเห็นเป็นการฟุ่มเฟือย แต่ในสภาวการณ์ก่อนจะรับทรมานเช่นนี้ พระเยซูไม่ได้ตรัสห้าม เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่ง การรับทรมานของพระองค์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
3. การทรยศของยูดาส (ดู มก 14:10-11; ยน 13:2) สาวกผู้นี้ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้ถือถุงเงินกองกลาง แต่สาเหตุที่ทรยศและไปบอกผู้นำชาวยิวให้ไปจับกุมพระเยซูนั้น ลูกาและยอห์นพูดถึง “ซาตาน” เข้าสิง อย่างไรก็ดีก็คงเป็นส่วนหนึ่งของรหัสธรรมที่ว่าด้วยการไถ่บาป เพราะคำอธิบายที่มีอยู่ในพระวรสารนั้นเขียนขึ้นในบริบทนี้
4. งานเลี้ยงครั้งสุดท้าย (The Last Supper) (ดู มก 14:12-21; มธ 26:17-19; ลก 22:7-13) เย็นวันก่อนฉลองปัสกา ซึ่งเป็นการฉลองประจำปีรำลึกถึงการออกจากประเทศอียิปต์ พระเยซูทรงสั่งให้บรรดาสาวกจัดงานเลี้ยงตามประเพณี คือ เตรียมอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อแกะและขนมปังไม่มีเชื้อ เมื่อทุกคนพร้อมกันที่โต๊ะแล้ว พระองค์ทรงประกาศว่า สาวกผู้หนึ่งจะทรยศ จากนั้นพระองค์ทรงเริ่มงานเลี้ยง ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าเป็นการเริ่มต้นประกาศพันธสัญญาใหม่ ซึ่งพระองค์เองทรงเป็นเครื่องบูชา ไม่ใช่ลูกแกะ ไม่ใช่ขนมปังและเหล้าองุ่นธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์เอง ยอห์นได้ให้รายละเอียดอีกว่า ระหว่างการรับประทานอาหารนั้นพระเยซูทรงลุกขึ้นและล้างเท้าบรรดาอัครสาวก แล้วทรงสอนว่า
“ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้ากันและกันด้วย เราได้วางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้กระทำเหมือนกับที่เราได้กระทำกับท่าน” (ยน 13:14-15)
นอกนั้น ยอห์นได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งสอนและบทภาวนาของพระองค์ ซึ่งเปรียบเสมือน “พินัยกรรม” เป็นการสรุปคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระองค์ โดยพระเยซูทรงนำสาวกที่ใกล้ชิดไปที่สวนเกทเสมนีเพื่อทรงสวดภาวนาเตรียมรับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
5. การรับทรมาน หลังจากที่พระเยซูทรงภาวนาในสวนเกทเสมนีไม่นาน ยูดาสก็พาชาวยิวมาจับกุมพระองค์ด้วยข้อกล่าวหาซึ่งเป็นที่รู้จักกันก่อนหน้านั้นนานแล้วว่า พระเยซูอ้างตนเองเป็นบุตรพระเจ้า ดูหมิ่นพระเจ้าและศาสนาตามประเพณี นอกนั้นก็คงเป็นความวุ่นวายทางสังคมที่เกิดขึ้นเนื่องจากคำสอนของพระองค์เอง พระองค์ถูกนำไปสอบสวนต่อหน้ามหาปุโรหิตและปิลาต ซึ่งเป็นข้าหลวงโรมัน ระหว่างนั้นก็ถูกโบยและสบประมาทจากบรรดาทั้งผู้นำและทหาร ปิลาตเองไม่ขอรับผิดชอบในกรณีนี้ จึงปล่อยให้เป็นเรื่องที่ชาวยิวตัดสินใจเอง ซึ่งก็ได้ตัดสินประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน
ในระหว่างนี้ บรรดาสาวกที่ติดตามดูสถานการณ์ห่างๆ เซนต์ปิเตอร์ได้รับการกล่าวถึงว่า ได้ปฏิเสธว่าเป็นศิษย์ของพระเยซูถึงสามครั้ง แต่ก็รู้สึกเสียใจเพราะการปฏิเสธนั้นเป็นอย่างยิ่ง พระเยซูได้ทรงกล่าวถึงการปฏิเสธนี้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ปิเตอร์เองก็ยืนยืนด้วยชีวิตว่าจะไม่ปฏิเสธ
6. การตรึงกางเขน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากการตัดสินโดยไม่มีการอุทธรณ์แต่อย่างใด การตรึงกางเขนเป็นการประหารชีวิตสำหรับผู้กระทำความผิดฉกรรจ์ พร้อมกับพระเยซู มีอีกสองคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในลักษณะเดียวกันด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น “โจร” ทั้งหมดถูกตรึงกางเขนนอกเมืองตามประเพณีของชาวยิวและชาวโรมัน โดยปิลาตให้นำป้ายไปติดไว้บนกางเขนของพระเยซูว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19) ผู้คนที่ผ่านไปมา หรือที่ไป “ดู” ต่างก็เยาะเย้ยและดูหมิ่น
ในระหว่างนี้ พระวรสารได้เล่ารายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับความทรมาน ความเจ็บปวด การดูหมิ่นแม้กระทั่งจากโจรที่ถูกตรึงอยู่ด้านซ้ายและการกลับใจของโจรที่อยู่ด้านขวามือ การเฝ้าอยู่เชิงกางเขนของพระนางมารีย์และยอห์น โดยพระองค์ทรงขอให้ยอห์นดูแลพระนางมารีย์ประหนึ่งมารดาของตนเอง (ยน 19:26-27) พระองค์สิ้นพระชนม์เวลาบ่ายสามโมง จากนั้นบรรดาศิษย์ได้นำพระศพไปฝังไว้ในคูหา เนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันฉลองใหญ่ จึงไม่เก็บพระศพไว้