แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บัญญัติสำคัญที่สุด


ในคำสอนข้างต้นพระเยซูไม่ได้ทรงปฏิเสธคำสอนแบบประเพณีและสอนคำสอน “ใหม่” เพราะในทุกเรื่องที่ทรงสอนจะสามารถโยงไปถึงคำสอนเดิมทั้งของโมเสสและบรรดาประกาศก    อย่างไรก็ดี  ก็มีการเพิ่มเติมและเน้นจุดที่สำคัญคือ การปฏิบัติตามกฎบัญญัติต่างๆ  ไม่ใช่เพื่อตัวกฎบัญญัติเอง  ซึ่งมักจะทำกันตามตัวอักษร หากแต่ด้วยชีวิตจิตใจ (Spirit)  ความดีความชั่วไม่ได้วัดแต่ที่การกระทำ แต่ที่เจตนาและความนึกคิดด้วย  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องบัญญัติแห่งความรัก บัญญัตินี้มีมาแต่เดิมแล้ว แต่พระเยซูได้เน้นให้เห็นว่าเป็นข้อบัญญัติที่สำคัญที่สุด ชีวิตและคำสอนของพระองค์อาจสรุปได้ด้วยบัญญัตินี้
ต่อคำถามที่ว่า  “ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร?” พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร? ท่านอ่านว่าอย่างไร?” เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (ลก 10:25-27) เพื่อให้ความข้อนี้ชัดเจน พระเยซูทรงเล่าเรื่องชาวสะมาเรียผู้อารีผู้ซึ่งรักเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง  โดยช่วยเหลือคนที่ถูกปล้นและทำร้าย  ขณะที่พระและเณรผ่านไปโดยไม่ได้สนใจ
นอกจากนี้  พระเยซูได้ทรงสอนเกี่ยวกับความรักไว้อีกหลายแห่ง  ซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กันโดยเริ่มจากคำสอนที่ว่า พระเจ้าทรงรักมนุษย์เหมือนบิดารักบุตร ความรักของบิดายิ่งใหญ่ดังที่ยอห์นบันทึกไว้ว่า  “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมาก จึงได้ประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่มีความเชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16)
พระเจ้าไม่ทรงรักแต่คนดีหรือคนที่รักพระองค์ แม้แต่คนบาปก็ทรงรักเช่นกัน ซึ่งแสดงออกในรูปของการให้อภัยผู้ที่กระทำผิดเหมือนชุมพาบาลเที่ยวตามหาลูกแกะที่หายไปจนกระทั่งพบ  และแบกใส่บ่ากลับบ้านด้วยความยินดี (ลก 15:4-7) หรือลูกล้างผลาญที่กลับไปหาบิดา  บิดารอรับด้วยความยินดี  จัดงานเลี้ยงต้อนรับลูกที่ “ตายแล้วเกิดใหม่” (ลก 15:11-32)
สำหรับความรักที่มนุษย์ควรมีต่อพระเจ้าก็ต้องเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกัน  การแสดงออกซึ่งความรักนี้ก็คือการปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ “ผู้ที่มีบทบัญญัติของเรา และปฏิบัติตามผู้นั้นแหละรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขา และจะแสดงตนแก่เขา” (ยน 14:21) การปฏิบัติตามบัญญัติของพระเยซูคือการติดตามและกระทำตามแบบอย่างของพระองค์  “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้” (มก 8:34-35)
    ในเรื่องของความรักต่อเพื่อนมนุษย์นั้น ในบทเทศน์บนภูเขา  พระเยซูได้ทรงสอนให้รักแม้กระทั่งศัตรูและผู้หวังร้าย  รักอย่างเพียรทนและไม่มีเงื่อนไข  รักด้วยสันติ  ไม่ตอบโต้ความรุนแรง  “หากเขาตบแก้มขวาจงเอียงแก้มซ้ายให้”  เป็นความรักที่ให้อภัยอย่างไม่มีสิ้นสุด ไม่ว่าพี่น้องจะทำผิดสักกี่ครั้ง นี่ก็คือเงื่อนไขที่พระเจ้าจะให้อภัยตนเองด้วย  ดังในบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ก็ดี หรือว่า “จงให้อภัย ถ้าท่านมีเรื่องบาดหมางกับผู้ใด เพื่อว่าพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตบนสวรรค์จะทรงอภัยความผิดให้ท่านด้วย” (มก 11:25)
    บัญญัติแห่งความรักซึ่งแยกเป็นความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์นี้ ไม่ได้บอกว่าข้อไหนสำคัญกว่า  เพราะเป็นเงื่อนไขสองประการที่แยกจากกันไม่ได้ ใครที่บอกว่าตนรักพระเจ้าแต่ในทางปฏิบัติไม่รักเพื่อนมนุษย์ คนนั้นมุสา (ดู 1ยน 4:19-21) จึงน่าจะถือได้ว่าบัญญัติทั้งสองข้อมีความสำคัญเท่ากันประหนึ่งสองหน้าของเหรียญเดียวกัน
ชาวคริสต์ถือเป็นประเพณีตลอดมานับแต่เริ่มต้นว่า บัญญัติแห่งความรักนี้เป็นบัญญัติที่สำคัญที่สุด เพราะเป็น “พินัยกรรม” ของพระเยซูเองผู้ทรงมอบให้กับบรรดาสาวกก่อนจะถูกจับและถูกประหารว่า “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด ถ้าท่านมีความรักต่อกันและกัน ทุกคนจะรู้ว่า ท่านเป็นศิษย์ของเรา” (ยน 13:34-35)
    การที่พระเยซูทรงกล่าวถึงบัญญัติแห่งความรักว่าเป็นบัญญัติใหม่ ในที่นี้หมายถึง “มิติ” ใหม่ คือการรวมศูนย์ความรักนี้ในองค์พระเยซูเอง หมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวที่พระองค์ทรงย้ำเตือนอยู่เสมอ (ดู ยน 17) และหมายความว่าหัวใจของอาณาจักรพระเจ้าอยู่ที่ความรัก  และพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นก็จะคงอยู่และเติบโตด้วยบัญญัตินี้