การกลับคืนพระชนมชีพ (Resurrection)
การกลับคืนพระชนมชีพเป็นรหัสธรรมที่มีความสำคัญที่สุดคู่ไปกับการรับทรมานและการสิ้นพระชนม์ บรรดาสาวกได้เริ่มต้นประกาศ “ศาสนาคริสต์” จากรหัสธรรมทั้งสองนี้ดังที่เซนต์ปอลได้เขียนถึงชาวโครินธ์ในจดหมายฉบับแรกว่า “ขณะที่ชาวยิวเรียกร้องขอดูอัศจรรย์ และชาวกรีกเสวงหาปรีชาญาณ เรากลับประกาศเรื่องพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขน อันเป็นข้อขัดข้องมิให้ชาวยิวรับไว้ได้และเป็นเรื่องโง่” (1คร 1:22-23) เซนต์ปอลเป็นแบบอย่างของผู้ที่เชื่อและผู้ประกาศความเชื่อนี้โดยการยืนยันว่า
“พี่น้องทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้ามาหาท่าน ข้าพเจ้ามิได้มาประกาศธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าโดยใช้สำนวนโวหาร หรือโดยใช้หลักเหตุผลอันฉลาดปราดเปรื่อง ข้าพเจ้าตัดสินใจว่าจะไม่สอนเรื่องใดแก่ท่านนอกจากเรื่องพระเยซูคริสตเจ้า คือพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขน ข้าพเจ้ายังอยู่กับท่านด้วยความอ่อนแอ มีความกลัวและหวาดหวั่นมาก วาจาและคำเทศน์ของข้าพเจ้ามิใช่คำพูดชวนเชื่ออย่างชาญฉลาด แต่เป็นถ้อยคำแสดงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า เพื่อมิให้ความเชื่อของท่านเป็นผลจากปรีชาญาณของมนุษย์ แต่เป็นผลจากพระอานุภาพของพระเจ้า” (1คร 2:1-5)
ในบทที่ 15 ของจดหมายฉบับเดียวกันนี้ เซนต์ปอลได้กล่าวถึงการกลับคืนพระชนมชีพไว้ทั้งบท โดยเน้นให้เห็นว่าเรื่องที่ท่านได้ประกาศสอนไว้เกี่ยวกับการคืนชีพของพระเยซูนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน” (1คร 15:14) ทั้งหมดนี้คือ “หัวใจ” ของการไถ่บาป และความเชื่อที่ว่าผู้ที่เชื่อในองค์พระเยซูก็จะกลับคืนพระชนมชีพเช่นเดียวกัน เพราะพระองค์ได้ชนะความตาย และทรงช่วยให้มนุษย์ชนะความตายได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนเรื่องที่ว่าพระเยซูทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างไรนั้น พระวรสารทั้งสี่ได้กล่าวถึงในลักษณะที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม และได้ปรากฏพระองค์ให้บรรดาสาวกเห็นในที่ต่างๆ ทั้งในขณะที่รวมกันอยู่เกือบครบ และที่อยู่แยกกัน ทำให้บรรดาสาวกเชื่อในสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ขณะที่ทรงพระชนม์อยู่ท่ามกลางพวกเขา