การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ของสภาสังคายนา - คำแนะนำที่ต้องยึดถือ
34. เมื่อพิจารณาภูมิหลังนี้แล้ว เราก็จะเห็นคุณค่าหลักการอธิบายความหมายพระคัมภีร์แบบคาทอลิกที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 วางไว้ได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะหลักการที่มีอยู่ในธรรมนูญ Dei Verbum: “เนื่องจากในพระคัมภีร์ พระเจ้าตรัสทางมนุษย์และตามแบบอย่างมนุษย์ ผู้อธิบายความหมายพระคัมภีร์จะรู้ชัดแจ้งว่าพระเจ้ามีพระประสงค์จะสื่ออะไรกับเขา จึงต้องพิจารณาด้วยความเอาใจใส่ว่า ผู้เขียนพระคัมภีร์ต้องการจะให้ข้อความที่เขียนนั้นมีความหมายว่าอย่างไร และพระเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงสิ่งใดโดยใช้ถ้อยคำของผู้เขียน” สภาสังคายนาเน้นการศึกษารูปแบบวรรณกรรมและสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ ว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานเพื่อเข้าใจความหมายที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ต้องการจะแสดงออก นอกจากนั้นเราจะต้องอธิบายความหมายพระคัมภีร์ในแบบเดียวกันกับความหมายที่ผู้เขียนตั้งใจให้มี ธรรมนูญนี้จึงให้หลักการพื้นฐานสามประการเพื่อเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าในพระคัมภีร์ นั่นคือ 1) เราจะต้องอธิบายข้อความตอนใดตอนหนึ่งโดยคำนึงถึงเอกภาพของพระคัมภีร์ทั้งหมด ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าการอธิบายความหมายที่ได้รับการรับรองเป็นทางการ (exegesis canonica) 2) เราต้องคำนึงถึงธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อมาถึงปัจจุบันของพระศาสนจักรทั้งหมด และในที่สุด 3) เราต้องให้ความสำคัญแก่ “ความกลมกลืนของข้อความเชื่อ” (analogia fidei) “เมื่อใช้วิธีการทั้งสองระดับนี้เท่านั้น คือการวิเคราะห์ด้านประวัติศาสตร์และเทววิทยา เราจึงจะกล่าวถึงการตีความทั้งด้านเทววิทยา และอธิบายความหมายของหนังสือนี้ได้อย่างเหมาะสม”
บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมสมัชชากล่าวไว้อย่างถูกต้องว่าไม่มีผู้ใดอาจปฏิเสธผลทางบวกที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าปัจจุบันโดยการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ได้เลย ถึงกระนั้น แม้การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ตามหลักวิชาการในปัจจุบัน รวมทั้งของนักวิชาการคาทอลิกด้วย ซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็จำเป็นต้องกล่าวด้วยว่า การศึกษาตัวบทในด้านเทววิทยาตามหลักการทั้งสามประการที่ธรรมนูญ Dei Verbum กล่าวไว้ก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน