แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พัฒนาการของการศึกษาพระคัมภีร์และอำนาจสอนของพระศาสนจักร


32.    ก่อนอื่น เราต้องยอมรับว่าการศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์โดยการวิเคราะห์ด้านประวัติศาสตร์ และการวิเคราะห์ตัวบทที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ไม่นานมานี้ ได้นำประโยชน์ไม่น้อยเข้ามาในชีวิตของพระศาสนจักร  เพื่อเข้าใจพระคัมภีร์ในแบบคาทอลิก จำเป็นต้องพิจารณาวิธีการเหล่านี้อย่างระมัดระวัง โดยสัมพันธ์กับความจริงเรื่องการที่พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์  “ความจำเป็นนี้สืบเนื่องมาจากหลักความเชื่อในพระคริสตเจ้าดังที่กล่าวไว้ใน ยน 1:14 ว่า พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นมิติสำคัญของความเชื่อในพระคริสตเจ้า ประวัติศาสตร์ความรอดพ้นไม่ใช่ที่รวมของตำนานเทพต่างๆ แต่เป็นประวัติศาสตร์แท้จริง ดังนั้นจึงต้องศึกษาโดยการค้นคว้าประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง”  เพราะเหตุนี้การศึกษาพระคัมภีร์จึงต้องการความรู้วิธีการค้นคว้าเหล่านี้ และใช้ให้ถูกต้อง ถ้าเป็นความจริงว่า ในปัจจุบันนี้ความรู้สึกเช่นนี้เป็นที่ยอมรับว่ามีความสำคัญมากขึ้น แม้จะไม่เท่ากันทุกแห่งในแวดวงการศึกษา ถึงกระนั้นธรรมประเพณีที่ถูกต้องของพระศาสนจักรก็แสดงอย่างชัดเจนว่ามีความสนใจอยู่ตลอดมาที่จะศึกษา “ตัวอักษร”   ที่นี่เราจำเป็นต้องกล่าวถึงการศึกษาตามอารามต่างๆซึ่งในที่สุดคือรากฐานของอารยธรรมในยุโรป และมีรากอยู่ที่การศึกษาพระวาจา ความปรารถนาจะพบพระเจ้ายังรวมความรักพระวาจาในทุกมิติ “เนื่องจากว่าพระเจ้าเสด็จมาหาเรา และเราเข้าไปพบพระองค์ได้ในพระวาจาของพระคัมภีร์ เราจึงต้องเรียนรู้เพื่อเข้าถึงความลับของภาษา เพื่อเข้าใจภาษาในโครงสร้างและวิธีการแสดงความหมายของภาษา ดังนั้น เพื่อแสวงหาพระเจ้า ความรู้ทางโลกที่นำเราให้เข้าใจภาษาได้ดีขึ้นย่อมมีความสำคัญด้วย”

33.    อำนาจสอนที่ยังเป็นปัจจุบันของพระศาสนจักรซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำ “หน้าที่อธิบายความหมายพระวาจาของพระเจ้าทั้งที่บันทึกไว้ และที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมาทางวาจาได้อย่างถูกต้องนั้น”  ย่อมเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างรอบคอบตามสมควรในการนำวิธีการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์มาใช้ ข้าพเจ้าคิดโดยเฉพาะถึงพระสมณสารสองฉบับ คือพระสมณสาร Providentissimus Deus ของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 และ Divivo afflante Spiritu ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ก่อนหน้าข้าพเจ้าได้ทรงระลึกถึงความสำคัญของเอกสาร ทั้งสองฉบับนี้ ในแวดวงการอธิบายความหมายพระคัมภีร์และในแวดวงของเทววิทยา ในโอกาสที่เอกสารเหล่านี้ได้ประกาศใช้มาครบ 100 ปีและ 50 ปี
สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อทรงปกป้องการอธิบายความหมายพระคัมภีร์แบบคาทอลิกให้พ้นจากการถูกโจมตีของลัทธิเหตุผลนิยม โดยไม่ปฏิเสธความหมายด้านประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายเพียงความหมายด้านจิตใจเท่านั้น  พระศาสนจักรไม่ได้ปฏิเสธการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับ “ความคิดอคติที่อ้างว่าตั้งอยู่บนเหตุผลทางวิชาการ แต่ในความเป็นจริงแล้วพยายามใช้กลอุบายตัดวิชาการออกไปจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้”  ส่วนสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทรงต่อต้านการโจมตีของการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ที่เรียกกันว่า “ฌาณนิยม” (mystical) ซึ่งปฏิเสธการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทางวิชาการทุกรูปแบบ พระสมณสาร Divino afflante Spiritu ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงความคิดที่ว่า “การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ตามหลักวิชาการ” เพื่อใช้ปกป้องความเชื่อ แตกต่างกับ “การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ที่สงวนไว้ใช้ในด้านจิตใจ” แต่ย้ำ “ความสำคัญด้านเทววิทยาของความหมายตามตัวอักษรจากการค้นคว้าทางวิชาการ” และยังบอกด้วยว่า “การค้นหาความหมายด้านจิตใจ...ก็อยู่ในแวดวงของการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ตามหลักวิชาการด้วย”  โดยวิธีนี้เอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่ยอมรับว่ามี “ความแตกแยกระหว่างเรื่องราวของมนุษย์กับเรื่องราวของพระเจ้า ระหว่างการค้นคว้าทางวิชาการกับการมองโลกด้วยความเชื่อ ระหว่างความหมายตามตัวอักษรกับความหมายด้านจิตใจ”  ในช่วงเวลาต่อมา ความสมดุลนี้ยังได้รับการรับรองในเอกสารของสมณกรรมาธิการพระคัมภีร์ในปี 1993 ว่า “ในการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ คาทอลิกผู้อธิบายความหมายจะต้องไม่ลืมว่าถ้อยคำที่เขากำลังอธิบายความหมายนั้นคือ พระวาจาของพระเจ้า บทบาทของเขาจึงไม่จบลงเพียงที่การกำหนดแหล่งที่มา การบรรยายถึงรูปแบบหรืออธิบายกระบวนการทางวรรณกรรมเท่านั้น เขาจะบรรลุถึงจุดหมายการทำงานของตน ก็เมื่อได้อธิบายความหมายของตัวบทพระคัมภีร์ในฐานะที่เป็นพระวาจาแท้จริงของพระเจ้าเท่านั้น”