อันตรายของการแยกศึกษาเป็นสองระดับ และการอธิบายความหมายเกี่ยวกับโลกนี้เท่านั้น
35. ในเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องกล่าวว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะแยกการศึกษาพระคัมภีร์เป็นสองระดับ (คือระดับการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์ทางเทววิทยา) การแบ่งระดับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นสองระดับต้องไม่หมายความว่า การศึกษาดังกล่าวมีความแตกต่างกัน ขัดแย้งกัน หรือเพียงแต่อยู่ด้วยกันเท่านั้น การศึกษาทั้งสองระดับต้องสอดคล้องควบคู่ไปด้วยกัน เป็นที่น่าเสียดายว่าบางครั้งการแบ่งแยกที่ไม่เกิดผลดีนี้ก่อให้เกิดการแบ่งแยกการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ออกจากเทววิทยา และการทำเช่นนี้ “ยังเกิดขึ้นแม้ในแวดวงวิชาการชั้นสูงด้วย” ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวที่นี่ถึงผลร้ายตามมาซึ่งจะต้องหลีกเลี่ยง
ก) ก่อนอื่นหมด ถ้าการอธิบายความหมายถูกลดลงมาอยู่ในระดับแรกเท่านั้น พระคัมภีร์ก็จะกลายเป็นเพียงข้อเขียนบันทึกเรื่องราวในอดีตเท่านั้น “เราอาจได้ข้อสรุปทางศีลธรรม, เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ก็จริง ถ้าพระคัมภีร์เป็นเพียงหนังสือที่กล่าวถึงแต่เรื่องราวในอดีต และการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ไม่ใช่เทววิทยาแท้จริงอีกต่อไป แต่กลายเป็นเพียงเอกสารบันทึกเหตุการณ์ของอดีต เป็นประวัติวรรณกรรม” ก็ไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อลดระดับลงเช่นนี้เราจะไม่เข้าใจการที่พระเจ้าทรงเผยแสดงอาศัยพระวจนาตถ์ของพระองค์ ซึ่งถ่ายทอดมาถึงเราทางธรรมประเพณีที่ยังเป็นปัจจุบัน และในพระคัมภีร์ได้เลย
ข) การขาดความเชื่อในการอธิบายความหมายพระคัมภีร์มิได้หมายถึงเพียงการไม่มีความเชื่อเท่านั้น แต่หมายถึงการอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องเข้ามาแทนที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ “การอธิบายความหมายทางโลก” หรือในด้านวัตถุที่สัมผัสได้เท่านั้น การอธิบายเช่นนี้มีหลักการซึ่งตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า พระเจ้าไม่อาจแสดงองค์ให้ปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้ ตามหลักการอธิบายความหมายเช่นนี้ เมื่อใดที่ดูเหมือนจะมีเรื่องพระเจ้าเป็นองค์ประกอบอยู่บ้าง เรื่องนี้ก็จะต้องอธิบายเป็นอย่างอื่น และจำกัดทุกเรื่องให้เป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับมนุษย์ ทำให้เกิดการอธิบายความหมายที่ไม่ยอมรับว่า เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระเจ้านั้นเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นจริงๆ”
ค) ความคิดเห็นเช่นนี้มีแต่นำผลร้ายมาให้ชีวิตของพระศาสนจักร ก่อให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกพื้นฐานของคริสตศาสนาว่าเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นจริงๆหรือไม่ - เช่นการตั้งศีลมหาสนิทหรือการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า และดังนี้จึงมีการเพิ่มวิธีอธิบายความหมายในแง่ปรัชญา ซึ่งปฏิเสธไม่ยอมรับว่าสารัตถะที่เป็นพระเจ้าอาจเข้ามาและประทับอยู่ในประวัติศาสตร์ได้ การยอมรับวิธีอธิบายความหมายเช่นนี้เข้ามาในการศึกษาเทววิทยาจึงก่อให้เกิดการแบ่งแยกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระหว่างการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ที่จำกัดอยู่ในระดับแรกเท่านั้นกับเทววิทยาที่มุ่งหาความหมายทางจิตใจของพระคัมภีร์ การอธิบายเช่นนี้จึงไม่สนใจความจริงที่ว่า การที่พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์
ทุกสิ่งเหล่านี้จึงต้องมีผลทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อชีวิตจิตและงานอภิบาล “ดังนั้นการขาดวิธีการศึกษาระดับที่สองจึงก่อให้เกิดช่องว่างลึกระหว่างการอธิบายความหมายตามหลักวิชาการกับ lectio divina ยิ่งกว่านั้นยังก่อให้เกิดการขาดความชัดเจนในการเตรียมบทเทศน์อธิบายพระคัมภีร์” นอกจากนั้นยังต้องกล่าวอีกว่าการแบ่งแยกเช่นนี้บางครั้งก่อให้เกิดความสับสนและการขาดความมั่นคง ในกระบวนการการอบรมด้านสติปัญญาของผู้เตรียมตัวเป็นศาสนบริกร พูดสั้นๆ “ถ้าการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ไม่ใช่เทววิทยา พระคัมภีร์ก็ไม่อาจเป็นจิตวิญญาณของเทววิทยาได้ และในทางกลับกัน เมื่อใดที่เทววิทยาในสาระสำคัญไม่ใช่การอธิบายความหมายพระคัมภีร์แล้ว เทววิทยานี้ก็ขาดพื้นฐาน” เราจึงต้องกลับไปเอาใจใส่พิจารณาข้อสังเกตที่ธรรมนูญ Dei Verbum ให้ไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง