ความเชื่อและเหตุผลในการเข้าสัมผัสกับพระคัมภีร์
36. ข้าพเจ้าคิดว่าข้อความที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงเขียนไว้ในพระสมณสาร Fides et ratio น่าจะช่วยเราให้เข้าใจการอธิบายความหมายและเข้าใจพระคัมภีร์ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเข้าใจความสัมพันธ์ของพระคัมภีร์กับเทววิทยาทั้งหมดด้วย พระองค์ทรงยืนยันว่า “เราต้องไม่มองข้ามอันตรายของการแสวงหาความจริงของพระคัมภีร์ โดยใช้วิธีการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่เห็นความจำเป็นของการอธิบายความหมายที่ครอบคลุมมากกว่าซึ่งจะช่วยให้ผู้อธิบายพระคัมภีร์เข้าใจตัวบทได้อย่างสมบูรณ์พร้อมกับพระศาสนจักรทั้งหมด ผู้ที่ศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงจังต้องจำไว้เสมอว่า วิธีการต่างๆที่ใช้อธิบายพระคัมภีร์ล้วนอิงอยู่กับสมมุติฐานทางปรัชญาของตน และจำเป็นต้องประเมินสมมุติฐานเหล่านี้อย่างจริงจังก่อนที่จะนำมาใช้กับตัวบทพระคัมภีร์”
การคิดคำนึงที่มองการณ์ไกลเช่นนี้ช่วยให้เราเห็นได้ว่า ในการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ จำเป็นต้องพิจารณาความสัมพันธ์ของความเชื่อกับเหตุผลด้วย จริงอยู่ การอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทางโลกเท่านั้นเป็นผลของความพยายามใช้เหตุผล เพื่อขจัดความคิดที่ว่าพระเจ้าอาจแทรกเข้ามาให้ชีวิตมนุษย์และตรัสเป็นภาษามนุษย์ได้ ในเรื่องนี้ด้วย เราต้องเตือนว่าจำเป็นต้องขยายขอบเขตของเหตุผล เพราะฉะนั้น เมื่อใช้วิธีศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ จึงต้องหลีกเลี่ยงมาตรการที่มีความเห็นล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วว่าพระเจ้าไม่อาจแสดงพระองค์ในชีวิตของมนุษย์ได้ การรวมงานอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งสองขั้นตอนนี้ในที่สุด จึงหมายถึงความสอดคล้องกันของความเชื่อและเหตุผล ในด้านหนึ่งจำเป็นต้องมีความเชื่อชนิดที่แม้จะรักษาความสัมพันธ์กับเหตุผลที่ถูกต้อง แต่จะต้องไม่กลายเป็นความเชื่อที่ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ (fideism) ซึ่งในที่สุดจะไปจบลงที่ความเข้าใจพระคัมภีร์ตรงตามตัวอักษร (fundamentalism) เท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องใช้เหตุผลที่เมื่อศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในพระคัมภีร์ ยังต้องเปิดตัวรับทุกสิ่งที่อยู่นอกกรอบความคิดของตนโดยไม่ปฏิเสธล่วงหน้า นอกจากนั้นศาสนาของพระวจนาตถ์ (Logos) ที่รับสภาพมนุษย์ยังจะแสดงให้เห็นว่าเป็นความจริงที่มีเหตุผลอย่างยิ่ง สำหรับมนุษย์ที่แสวงหาความจริงและความหมายสุดท้ายของชีวิตของตนและของประวัติศาสตร์อย่างจริงใจด้วย