แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

แต่งงานกับคู่สมรสที่ไม่ใช่คาทอลิก
แนวทางที่พระศาสนจักรแนะนำในสถานการณ์ที่แตกต่าง

1.    การสมรสต่างความเชื่อ
สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนในความหมายของคำว่า “การสมรสต่างความเชื่อ” ซึ่งการให้คำจำกัดความนั้นหากไม่พิจารณาดี ๆ อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ในภายหลัง สำหรับการสมรสต่างความเชื่อนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.    การสมรสของคาทอลิกกับคริสตชนอื่น (Mixed Marriage) ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า “การสมรสผสม” เป็นการสมรสระหว่างคริสต์ศาสนา (Inter Church) คือ การสมรสที่มีฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิกกับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปอย่างถูกต้องแต่ไม่ใช่คาทอลิก
2.    การสมรสของคาทอลิกกับผู้ไม่เป็นคริสตชน (Disparity of Cult) ที่เรียกกันว่า “การสมรสของผู้มีวัฒนธรรมทางความเชื่อที่แตกต่างกัน หรือการสมรสแบบต่างฝ่ายต่างถือศาสนาของตนเอง” คือ “การสมรสระหว่างศาสนา” (Inter Religious) หมายความว่า มีฝ่ายหนึ่งเป็นคาทอลิกกับอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับศีลล้างบาป ซึ่งจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

2.    การสมรสของคาทอลิกกับคริสชนอื่น (Mixed Marriage)
“ถ้าไม่มีอนุญาตอย่างแจ้งชัดจากผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ ห้ามการสมรสระหว่างผู้รับศีลล้างบาปสองคน โดยที่ฝ่ายหนึ่งได้รับศีลล้างบาปในคริสต์ศาสนาจักรคาทอลิก ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่สังกัดศาสนาจักร” (มาตรา 1124)
เงื่อนไขสำหรับการขออนุญาต : ฝ่ายคาทอลิกยืนยันว่า จะหลีกเลี่ยงอันตรายต่อการเสียความเชื่อคาทอลิก และสัญญาว่า จะอบรมและให้การศึกษาแบบคาทอลิกแก่บุตร ส่วนฝ่ายที่ไม่ใช่คาทอลิก ก็ต้องรับรู้ถึงข้อบังคับ หน้าที่และคำสัญญาของฝ่ายคาทอลิก พร้อมทั้งยอมรับที่จะเคารพสิทธิและหน้าที่ของฝ่ายคาทอลิก และที่สำคัญทั้งสองฝ่ายจะต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและอัตลักษณ์ของการสมรส (มาตรา 1125)

3.    การสมรสของคาทอลิกกับผู้ไม่เป็นคริสตชน (Disparity of Cult)
เงื่อนไขของการให้ข้อยกเว้นจากข้อขัดขวางของการสมรสแบบต่างฝ่ายต่างถือนั้น เป็นเช่นเดียวกันกับการสมรสกับผู้รับศีลล้างบาปแต่ไม่ใช่คาทอลิกแต่เข้มงวดกว่า และการให้ข้อยกเว้นควรจะพิจารณาอนุญาตอย่างเข้มงวดเป็นการณี ๆ ไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องรักษารูปแบบการสมรสไว้เพื่อให้การสมรสนั้นถูกต้อง และที่สำคัญเป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจที่มีต่อคู่สมรสและบุตรของพวกเขา (มาตรา 1128)

4.    สถานที่สำหรับการสมรสของคาทอลิกกับคริสตชนอื่นหรือกับผู้ที่ไม่ได้เป็นคริสตชน
การสมรสระหว่างคาทอลิกด้วยกัน หรือระหว่างคาทอลิกฝ่ายหนึ่งกับผู้รับศีลล้างบาปที่ไม่ใช่คาทอลิกอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องประกอบพิธีสมรสในโบสถ์ของตน จะประกอบพิธีสมรสในโบสถ์อื่น หรือในวัดน้อยก็ได้ นอกจากนั้นยังสามารถประกอบพิธีสมรสในสถานที่อื่นที่สะดวกก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาติจากผู้ใหญ่ท้องถิ่นเสียก่อน
เช่นเดียวกันการสมรสของคาทอลิกกับผู้ที่ไม่เป็นคริสตชน พิธีสมรสต้องกระทำในโบสถ์คาทอลิกหรือสถานที่เหมาะสมก็ได้(มาตรา 1118 วรรค 3) แต่ต้องกระทำต่อหน้าศาสนบริกร ในขณะเดียวกันก็ต้องมีพยานสองคนด้วย จึงจะถือว่าถูกต้อง และพิธีดังกล่าวนี้ จะต่อเติมพิธีกรรมทางศาสนาของฝ่ายที่ไม่ใช่คาทอลิกเข้าไปด้วยไม่ได้(มาตรา 1127)

5.    คู่สมรสของข้าพเจ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนาหรือต้องมาเป็นคาทอลิกหรือไม่?
คำตอบง่าย ๆ คือ “ไม่”  อันที่จริงแล้วมันค่อยข้างจะผิดที่บังคับให้คู่สมรสเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิกเพียงเพื่อแต่งงานกับท่าน สิ่งที่พระศาสนจักรเรียกร้องจากคู่สมรสของท่านมีเพียงการไม่ต่อต้านการประกาศความเชื่อของท่าน และการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตขึ้นในพระศาสนจักรคาทอลิก “เพราะสามีที่ไม่ใช่คริสตชนได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า โดยทางภรรยา และภรรยาที่ไม่ใช่คริสตชน ก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า โดยทางสามีคริสตชน (เทียบ 1คร 7:14)
แต่จะเป็นความยินดีที่ยิ่งใหญ่สำหรับฝ่ายคริสตชนและสำหรับพระศาสนจักร ถ้า “ฝ่ายที่ได้รับเจิม” สามารถทำให้คู่ของตนกลับใจอย่างอิสระมาสู่ความเชื่อคริสตชน(เทียบ 1คร 7:16) ความรักจริงใจของคู่สามีภรรยา การปฏิบัติที่สุภาพถ่อมตน ความอดทนของคุณธรรมทางการครองเรือน และการอธิษฐานที่สม่ำเสมอ สามารถตระเตรียมคู่สามีหรือภรรยาที่ไม่เชื่อให้รับพระหรรษทานมาสู่การกลับใจ (CCC 1638)

การแต่งงานที่ผสมผสานกัน
    การแต่งงานผสม คือ การแต่งงานระหว่างคริสตชนคาทอลิก กับผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปที่ไม่ใช่คาทอลิก
    การแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ คือ การแต่งงานระหว่างคาทอลิกและผู้ที่นับถือศาสนาอื่น
    แผ่นพับนี้จะช่วยตอบคำถามท่านได้ แต่สิ่งสำคัญคือท่านจะต้องปรึกษาพระสงฆ์เมื่อท่านพร้อมโดยเร็วที่สุด การอนุญาตอย่างถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทางวัดที่จะบันทึกการแต่งงานของท่านไว้เป็นเอกสารสำคัญ

ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับผู้ไม่ใช่คริสตชนในวัดคาทอลิกหรือไม่?
    ได้ อันที่จริงแล้ว พระศาสนจักรต้องการให้ท่านแต่งงานในโบสถ์คาทอลิกเท่านั้น ไม่ว่าคู่สมรสท่านจะเป็นใคร ถ้าคู่สมรสท่านไม่ผ่านการรับศีลล้างบาป บางส่วนของพิธีกรรมจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย การแต่งงานของท่านจะถูกพิจารณาว่าเป็น”พันธสัญญาของคู่บ่าวสาว”มากกว่าที่จะเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ รูปแบบคำพูดที่ใช้แลกเปลี่ยนคำสาบานระหว่างกันในคำสัญญายังคงเหมือนเดิม

ข้าพเจ้าแต่งงานกับผู้ที่ไม่ใช่คาทอลิกและเป็นสมาชิกของนิกายอื่น ข้าพเจ้าควรจะทำอย่างไรดี?
    ท่านจำเป็นต้องพูดกับพระสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ คาดเดาได้ว่า ท่านปรารถนาจะแต่งงานในโบสถ์คาทอลิก ทำพิธีโดยพระสงฆ์คาทอลิก อย่างไรก็ตาม นักบวชจากนิกายอื่นสามารถเข้าร่วมการแต่งงานในรูปแบบพิเศษได้ ทั้งนี้ผู้อนุญาตการแต่งงานของท่านและทำสัญญาแต่งงานให้ท่านจะต้องเป็นพระสงฆ์ในศาสนาคาทอลิกเท่านั้น ในสถานการณ์ยกเว้น เช่น ท่านจะแต่งงานในโบสถ์ที่ไม่ใช่คาทอลิก ท่านต้องขออนุญาตจากพระสังฆราชก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนอื่น ในกรณีนี้ผู้ประกอบพิธีแต่งงานจะเป็นศาสนบริกรของนิกายอื่น
    พระสังฆราชของพระศาสนจักรคาทอลิกแนะนำให้ใช้บทอวยพรและขอบคุณพระเป็นเจ้าในศาสนพิธีครั้งที่สองที่จัดในศาสนสถานอื่นที่ไม่ใช่โบสถ์คาทอลิก แม้ว่าจะไม่ใช่การรับศีลสมรส แต่เป็นการให้นิกายอื่นได้มีโอกาสเป็นพยานถึงความรับผิดชอบที่บุคคลนั้นแสดงในเห็นต่อกลุ่มคริสตชนที่เขาสังกัด

คู่สมรสของข้าพเจ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นคาทอลิกหรือไม่?
    คำตอบง่ายๆ คือ ไม่ อันที่จริงแล้ว มันค่อนข้างจะผิดที่บังคับให้คู่สมรมเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิกเพียงเพื่อแต่งงานกับท่าน สิ่งที่พระศาสนจักรเรียกร้องจากคู่สมรสของท่านมีเพียงการไม่ต่อต้านการประกาศความเชื่อของท่าน ซึ่งท่านจะต้องทำก่อนการแต่งงาน โดยทำต่อหน้ากันและกันพร้อมทั้งพระสงฆ์ด้วย
    “ข้าพเจ้าขอประกาศ ว่าข้าพเจ้าพร้อมที่จะสานต่อความเชื่อคาทอลิกและจะหลีกเลี่ยงอันตรายทั้งปวงที่จะทำให้สูญเสียความเชื่อนั้น ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้ารับรองด้วยความเต็มใจว่า ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ภายในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคู่สมรส เพื่อให้บุตรทุกคนจากการแต่งงานของเราได้รับศีลล้างบาปและเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นในพระศาสนจักรคาทอลิก”

ข้าพเจ้าควรจะพยายามเปลี่ยนศาสนาของคู่สมรสภายหลังการแต่งงานหรือไม่?
      หนังสือคำสอนกล่าวไว้ว่า การแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ คู่สมรสที่เป็นคาทอลิกมีพิเศษในการแต่งงาน ดังนี้
    “เพราะสามีที่ไม่มีความเชื่อได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางภรรยา  และภรรยาที่ไม่มีความเชื่อก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางโดยทางสามีที่มีความเชื่อ“ (1คร.7:14)ความยินดียิ่งใหญ่สำหรับฝ่ายคริสตชนและสำหรับพระศาสนจักร ถ้า “ฝ่ายที่ได้รับการเจิม”สามารถทำให้คู่ของตนกลับใจอย่างอิสระมาสู่ความเชื่อคริสตชน (เทียบ 1คร.7:16) ความรักจริงใจของคู่สามีภรรยา  การปฏิบัติที่สุภาพถ่อมตน ความอดทนของคุณธรรมทางการครองเรือนและการอธิษฐานที่สม่ำเสมอ  สามารถตระเตรียมคู่สามีหรือภรรยาที่ไม่เชื่อให้รับพระหรรษทานมาสู่การกลับใจ (CCC 1637)

บุคคลที่ข้าพเจ้าต้องการแต่งงานด้วยเป็นพวกอเทวนิยมและไม่ต้องการแต่งงานในโบสถ์ ข้าพเจ้าควรจะทำเช่นไร?
    ถ้าท่านดำเนินชีวิตเป็นคาทอลิกที่ดี ท่านต้องใคร่ครวญให้ดี โดยเฉพาะคำประกาศข้างต้นที่ว่าด้วยการล้างบาปของบุตรที่เกิดจากการแต่งงานนี้ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านต้องซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่ท่านต้องการมาเป็นคู่สมรส เกี่ยวกับผลที่จะเกิดตามมาและความเกี่ยวพันต่อพระศาสนจักรคาทอลิกของท่าน “อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก” ถ้านี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับท่าน พระศาสนจักรจะเป็นกังวลที่สุดเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆที่จะขัดขวางการปฏิบัติแห่งศาสนกิจและความเชื่อของท่าน

บุคคลที่ข้าพเจ้าต้องการแต่งงานด้วยเคยผ่านการแต่งงานมาก่อนในทางกฎหมาย จะนับหรือไม่?
    อาจเป็นเพราะบุคคลที่กำลังกล่าวถึงนี้ไม่ใช่คริสตชน บางคนจึงอาจคิดว่าการแต่งงานที่ผ่านมาจึงไม่นับ อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรคาทอลิกกล่าวว่า การแต่งงานนั้นเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันกับกฎหมาย หมายความว่า การแต่งงานที่ผ่านมานั้นถูกนำมานับด้วย เฉพาะคริสตชนเท่านั้นที่ผูกมัดด้วยกฎของพระศาสนจักรคาทอลิกว่าการแต่งงานจะต้องทำในโบสถ์เท่านั้น ท่านควรปรึกษาพระสงฆ์เกี่ยวกับรายละเอียดแบบเฉพาะเจาะจงของการแต่งงานที่ผ่านมาเพื่อความถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุด

บทอ่านจากหนังสือโทบิต
    ในตอนเย็นของวันแต่งงาน โทบียาห์ บอกนางซาราห์ว่า “น้องเอ๋ย จงลุกขึ้น เราจงอธิษฐานภาวนาวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ประทานพระเมตตาและความรอดพ้น แก่เรา”  เขาทั้งสองเริ่มอธิษฐานภาวนาขอให้พระองค์ประทานความรอดพ้นแก่ตน กล่าวว่า
    “ข้าแต่พระเจ้าของบรรพบุรุษ ขอถวายพระพรแด่พระองค์
    ขอพระนามของพระองค์ได้รับการถวายพระพรตลอดไปทุกยุคทุกสมัย
    ขอให้สวรรค์และสิ่งสร้างทั้งมวล จงถวายพระพรแด่พระองค์ตลอดนิรันดร
  พระองค์ทรงสร้างอาดัม
    และทรงสร้างนางเอวา ภรรยาของเขา
    ให้เป็นผู้ช่วยเหลือและค้ำจุน
    มนุษยชาติก็ได้ถือกำเนิดจากเขาทั้งสองคน
    พระองค์ตรัสว่า “มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวไม่ดีเลย
    เราจะสร้างผู้ช่วยที่เหมาะกับเขาให้”
  บัดนี้ ข้าพเจ้ารับน้องสาวของข้าพเจ้าผู้นี้ไว้เป็นภรรยา
    ไม่ใช่เพราะความใคร่ แต่ด้วยเจตนาบริสุทธิ์
    ขอพระองค์โปรดให้ข้าพเจ้าและนางได้รับพระเมตตา
    และให้ข้าพเจ้าทั้งสองคนมีชีวิตอยู่ด้วยกันจนถึงวัยชราเถิด”
เขาทั้งสองคนกล่าวพร้อมกันว่า “อาเมน อาเมน”  (ทบต 8:4-8)