พิธีศีลมหาสนิท
พิธีศีลมหาสนิท (The Eucharist) คือคารวะกิจที่เป็นหลักสำคัญในพระศาสนจักรคาทอลิก พิธีมิสซาเป็นการแสดงออกที่ดีที่สุดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าพระบิดา ผ่านทางการช่วยให้รอดพ้นของพระบุตรและด้วยพลังของพระจิต คำว่า Eucharist มาจากคำในภาษากรีก หมายถึง “การแสดงความขอบคุณ”(thanksgiving) พิธีศีลมหาสนิทเป็นวิธีการล้ำเลิศที่เราถวายคำสรรเสริญและความรู้สึกขอบพระคุณของเราแด่พระเจ้าในฐานะกลุ่มคนหนึ่งที่มีศรัทธา
ศีลมหาสนิทเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอะไร? (CCC 1328-1332)
ศีลมหาสนิทเป็นเครื่องหมายที่ทรงประสิทธิภาพซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่าศีลมหาสนิทเป็นเครื่องหมายแสดงสิ่งที่มันจะทำให้เกิด และทำให้เกิดสิ่งที่มันเป็นตัวแทน ท่ามกลางสิ่งต่างๆ มากมาย ศีลมหาสนิทแสดงให้เห็นและนำมาซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือชีวิตฝ่ายวิญญาณและอาหารบำรุงชีวิตฝ่ายวิญญาณ; การบูชายัญความรักที่ทำให้เราศักดิ์สิทธิ์; ชุมชนคริสตชนและความเป็นเอกภาพ;การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในชีวิตของแต่ละบุคคลและในชีวิตของพระศาสนจักร;ธรรมล้ำลึกปัสกาซึ่งนำชีวิตนิรันดรมาให้
พิธีศีลมหาสนิทเป็นมื้ออาหารศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร? (CCC 1412)
พิธีศีลมหาสนิทเป็นมื้ออาหารเพื่อการระลึกถึงซึ่งนำเอาอาหารค่ำมื้อสุดท้ายที่พระเยซูเจ้าทรงจัดเลี้ยงกับบรรดาอัครสาวกในคืนก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์กลับมาอีก มื้ออาหารที่มีการแบ่งปันกันมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความสนิทสนม อันหมายถึงบางสิ่งที่มากกว่าการรับประทานอาหาร ณ ที่นั้น เขาเหล่านั้นผู้แบ่งปันความสุขใจจากมิตรภาพ รวมกลุ่มและมีส่วนร่วมในอาหารจานเดียวกัน คำว่า “มิตรภาพ” (companionship) หมายถึง “การแบ่งขนมปังให้แก่กัน” มื้ออาหารที่มีการแบ่งปันกันเป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงความเป็นเพื่อน
พระเยซูเจ้าทรงทราบถึงความหมายลึกซึ้งที่เกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร เมื่อพระองค์ทรงตั้งศีลมหาสนิทขึ้นในช่วงเทศกาลกินเลี้ยงปัสกาของชาวยิว มื้ออาหารปัสกาเตือนบรรดาประชาชนชาวยิวให้ระลึกถึงความดีงามและความซื่อสัตย์ของพระเจ้าผู้ทรงช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ “ปัสกา”ใหม่ที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดขึ้นนี้ เตือนให้เราระลึกถึงค่าไถ่ตัวเราจากการเป็นทาสของบาปและอำนาจแห่งความตาย
ในพิธีศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าเสด็จมาอยู่กับเราในรูปของอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งทั้งสองสิ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ศีลมหาสนิทกลายเป็นอาหารบำรุงวิญญาณสำหรับเรา หากปราศจากสิ่งนี้ความเชื่อของเราน่าจะย่อยยับอย่างแน่นอน พิธีศีลมหาสนิทแสดงถึงการรับสิ่งล้ำค่าสำหรับวิญญาณที่สืบทอดมาถึงเรา นั่นคืองานเลี้ยงฉลองในสวรรค์ ที่ซึ่งเราจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและกับพี่น้องของเราที่ได้ล่วงลับไปก่อนแล้ว
ขนมปังในพิธีศีลมหาสนิทหมายถึงอะไร? (CCC 1412)
ขนมปังเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความมีชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนมันก็เป็นอาหารพื้นฐานและบางทีก็เป็นอาหารเพียงอย่างเดียวสำหรับผู้คนจำนวนมาก ขนมปังไร้เชื้อที่เราใช้ในพิธีศีลมหาสนิทกลายเป็นพระกายของพระเยซูเจ้าสำหรับเรา ในพิธีศีลมหาสนิทเราพบการประทับอยู่จริงของพระคริสตเจ้า จากนั้นเราบริโภคพระคริสต์เพื่อทำให้ตัวเรากลายเป็นพระวิหารของพระองค์ในโลกนี้
การใช้ขนมปังไร้เชื้อในพิธีมิสซามีความหมายที่ยิ่งใหญ่ ในท่ามกลางการกินปัสกาที่พระเยซูเจ้าทรงจัดเลี้ยงกับบรรดาศิษย์ ขนมปังไร้เชื้อคือสิ่งช่วยเตือนความจำเรื่องความเร่งรีบของประชาชนชาวยิวที่หลบหนีออกจากประเทศอียิปต์ในสมัยของโมเสส พวกเขาไม่มีเวลาพอที่จะรอให้ขนมปังฟูขึ้น เราใช้ขนมปังไร้เชื้อเพื่อเตือนว่าเราเองก็เป็นผู้เดินทางเช่นกัน เรายังไปไม่ถึงอาณาจักรสวรรค์และยังต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างเต็มที่
เหล้าองุ่นในพิธีศีลมหาสนิทหมายถึงอะไร? (CCC 1412)
ในหลายๆ วัฒนธรรม เหล้าองุ่นเป็นเครื่องดื่มที่มีอยู่ปกติในมื้ออาหาร และในตะวันออกกลางที่พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายก็เช่นกัน เหล้าองุ่นเป็นเครื่องดื่มเพื่อความเบิกบานในการสังสรรค์ ในระหว่างพิธีศีลมหาสนิทเหล้าองุ่นจะได้รับการเสกและกลายเป็นพระโลหิตของพระเยซูเจ้าสำหรับเรา ในเหล้าองุ่นเราพบการประทับอยู่จริงของพระเยซูเจ้า และด้วยการบริโภคเหล้าองุ่นที่เสกแล้ว ทำให้เรามีส่วนร่วมการถวายยัญบูชาของพระองค์ด้วยความรักเพื่อประโยชน์ของชาวโลก บ่อยครั้งที่เลือดในพระคัมภีร์เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงมอบพระโลหิตของพระองค์เองให้เป็นเครื่องหมายของพันธสัญญาใหม่ระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์
พิธีศีลมหาสนิทเป็นการถวายยัญบูชาได้อย่างไร? (CCC 1333-1334)
สัญลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของงานเลี้ยงปัสกาก็คือ ลูกแกะปัสกา ซึ่งชาวยิวถวายเป็นเครื่องบูชาสำหรับพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงกลายเป็นลูกแกะใหม่ อันเป็นเครื่องบูชาที่วิเศษสุด เพราะทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเราทุกคน งานเลี้ยงปัสกาแสดงให้เห็นพันธสัญญาเดิม ส่วนความตายและการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเป็นการเริ่มพันธสัญญาใหม่อย่างเป็นทางการ
คำว่า “ยัญบูชา” (Sacrifice) มาจากคำในภาษาลาตินหมายถึง “ทำให้ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ทำบางอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์” ความศักดิ์สิทธิ์หมายถึง การแบ่งปันชีวิต, ความเป็นอยู่และความรักของพระเจ้า มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถทำให้เราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ จุดประสงค์ของการถวายยัญบูชาแด่พระเจ้าก็คือ การบูชาพระเจ้าและการยอมรับว่าพระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดชีวิตของเราอีกทั้งเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เรายังต้องการถวายยัญบูชาเพื่อชดเชยบาป, ขอบพระคุณสำหรับความดีงามของพระเจ้า และอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า
พระแท่นเป็นตัวแทนอย่างดีเยี่ยมทั้งเรื่องการเลี้ยงอาหารและการใช้ศีลมหาสนิทเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องบูชา มันเป็นพระแท่นสำหรับการถวายยัญบูชาและเป็นโต๊ะอาหารของพระคริสตเจ้า ยิ่งกว่านั้นพระแท่นยังเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระเยซูเจ้าเอง ซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์เพื่อเราจะได้กลับคืนดีกับพระเจ้าและเป็นอาหารจากสวรรค์สำหรับเรา
คาทอลิกเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่มพิธีศีลมหาสนิทขึ้นในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พิธีศีลมหาสนิทแทนการถวายยัญบูชาของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญสุดที่แสดงถึงความรักของพระองค์สำหรับเรา พระเยซูพระบุตรของพระเจ้ายังทรงเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ผู้ทรงเป็นตัวแทนของเราเบื้องพระพักตร์พระเจ้า ผ่านทางพระเยซูเจ้ามนุษย์ทุกคนจะได้รับและตอบสนองต่อการประทานความรักของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เองไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา การสละพระองค์เองอย่างเชื่อฟังทำให้พระองค์ทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ
จุดมุ่งหมายของการถวายยัญบูชาด้วยศีลมหาสนิทคืออะไร? (CCC 1356-1373; 1409-1410)
เมื่อเราถวายยัญบูชาในพิธีมิสซา เรายังคงถูกทำให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์โดยการยอมรับและการมีชีวิตเลียนแบบพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพี่ชายและพระผู้ไถ่ของเรา การยอมรับความตายแบบสมัครใจของพระองค์แสดงให้เราเห็นว่าความรักคือหนทางที่นำไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเราระลึกถึง, ทำการฉลอง, และพยายามใช้ชีวิตเพื่อเป็นยัญบูชาแบบพระองค์ ซึ่งเป็นหนทางแห่งความรักของพระองค์ แล้วเราก็จะกลายเป็นที่ประทับของพระเยซูเจ้าในโลกนี้
ศีลมหาสนิทได้ชื่อว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระพร (the Blessed Sacrament)เพราะอะไร? (CCC1328-1330)
ศีลมหาสนิทเป็นหัวใจของชีวิตคริสตชนคาทอลิก อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิด ศูนย์กลางและจุดสูงสุดของชีวิตที่ครบบริบูรณ์ของพระศาสนจักร ศีลมหาสนิทเป็นศีลที่มีความสำคัญอันดับแรก ศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆก็มาจากศีลมหาสนิท และมุ่งไปสู่ศีลมหาสนิทเช่นกัน และเราให้ชื่อว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ “ที่มีพระพร” (blessed) เพราะเป็นคำหนึ่งในพระคัมภีร์ที่หมายถึง“ความมีการเป็นอยู่อย่างแท้จริงของชีวิตพระเจ้าสำหรับเรา” ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระพร(Blessed Sacrament) จึงเป็นชื่อที่เหมาะสมสำหรับศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมอบพระคริสตเจ้าให้กับเรา
ทำไมเราจึงให้ชื่อศีลมหาสนิทว่าการเข้าร่วมอันศักดิ์สิทธิ์(Holy Communion)?(CCC 1331-1332)
การเข้าร่วม (Communion) หมายถึง “การรวมกันกับ” การเข้าร่วมกับพระเยซูรวมเราเข้ากับพระเจ้าและกับคริสตชนทุกคน มันช่วยให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรักเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พระศาสนจักรสนับสนุนเราให้รับอาหารสำหรับความรอดพ้นเมื่อเราเข้าร่วมพิธีมิสซา เราควรทำอย่างคู่ควรยิ่งและรู้ถึงสิ่งที่ศีลมหาสนิทเป็นอยู่ การรับอย่างคู่ควรหมายถึงการปราศจากบาปหนัก พร้อมทั้งอดอาหารและเครื่องดื่มก่อนรับศีลมหาสนิทประมาณ 1 ชั่วโมง (ยกเว้นน้ำเปล่าและยา)
เมื่อเรารับพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทแล้ว เรากลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า ชีวิตของพระองค์เข้ามาอยู่ในเราและเปลี่ยนแปลงเรา การเข้าร่วมกับพระคริสตเจ้าคุ้มครอง, เพิ่มเติม, และรื้อฟื้นพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาป ศีลมหาสนิทช่วยให้วิญญาณของเราเข้มแข็ง, อภัยบาปเบา, และช่วยปกป้องเราจากบาปหนักที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การรับพระคริสตเจ้าในการเข้าร่วมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ช่วยให้เราจำพระคริสตเจ้าในพี่น้องชายหรือหญิงที่เป็นผู้ยากจนที่สุดได้ และรวมเราให้ใกล้ชิดกับพี่น้องคริสตชนชายหญิงของเรามากขึ้น เรารับพระกายของพระคริสตเจ้าเพื่อเราจะได้กลับกลายเป็นพระกายของพระองค์ ศีลมหาสนิทในฐานะที่เป็นเครื่องหมายและเป็นต้นเหตุของการรวมเป็นหนึ่งเดียว กระตุ้นให้เราให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคริสตชนทุกคน การรับองค์พระผู้เป็นเจ้ายังทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมในความอุดมสมบูรณ์ฝ่ายวิญญาณของคริสตชนผู้กล้าหาญทั้งมวลที่ได้ล่วงลับไปก่อนเรา
การประทับอยู่อย่างแท้จริงมุ่งหมายสิ่งใด? (CCC 1374-1381; 1413; 1418)
คาทอลิกเชื่อว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่จริงท่ามกลางกลุ่มคนที่มารวมกันเพื่อนมัสการพระเจ้า เรายังเชื่ออีกว่าพระเยซูเจ้าประทับในพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีศีลมหาสนิทในพระนามของพระคริสตเจ้า และในการประกาศพระวาจาของพระเจ้า และที่สุดเราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างพิเศษสุดในปังและเหล้าองุ่นที่ได้รับการเสกแล้ว
แน่นอนว่า วิธีการที่พระเยซูเจ้าประทับในศีลมหาสนิทนั้นก็เป็นสิ่งลี้ลับอันเป็นรากฐานของความเชื่อที่คริสตชนยังคงไตร่ตรองต่อไป พระศาสนจักรใช้คำว่า “การเปลี่ยนสาร”(transubstantiation) เพื่อแสดงว่า เมื่อมีการเสกปังและเหล้าองุ่นในพิธีมิสซา ทั้งปังและเหล้าองุ่นได้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า จากที่กล่าวมานี้เราไม่ได้หมายถึงร่างกายที่เป็นตัวตนของพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธบุคคลในประวัติศาสตร์ แต่เป็นความจริงอันลึกซึ้งยิ่งกว่า นั่นคือเป็นพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ที่มีพระกายและพระโลหิตอันน่าสรรเสริญและพระเทวภาพแห่งพระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพ การรับการประทับอยู่จริงในปังหรือเหล้าองุ่นที่เสกแล้วเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นการรับพระคริสต์ครบทั้งองค์ เพราะพระองค์ประทับอยู่อย่างสมบูรณ์ในทั้งสองสิ่ง
การประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราในปังและเหล้าองุ่นที่ได้รับการเสกแล้วมีอยู่ถาวร ในโบสถ์คาทอลิกศีลมหาสนิทจะถูกเก็บรักษาไว้ในตู้ศีล ในกล่องหรือตู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะถูกติดไว้ในวัดน้อย ที่ปกติตั้งอยู่ด้านข้างเพื่อเป็นสถานที่สำหรับเฝ้าศีล หรือไม่ก็ติดไว้บริเวณพระแท่นเล็กที่อยู่ด้านข้าง การเฝ้าศีลเป็นการภาวนารูปแบบหนึ่งที่คาทอลิกหลายคนได้พบอาหารบำรุงวิญญาณที่ดีเลิศ โดยใช้การภาวนาและการไตร่ตรองถึงการประทับอยู่ในศีลมหาสนิทที่ถูกเก็บไว้ ณ ที่นั้น
คำว่า ”มิสซา” หมายถึงอะไร? (CCC1232)
คำว่า “มิสซา” หรือ Massมาจากคำในภาษาลาตินซึ่งถูกนำมาใช้กล่าวในช่วงการส่งออกไปว่า “Ite missa est” ซึ่งหมายถึง “ไป! ท่านถูกส่งไป” คำนี้เตือนเราถึงหน้าที่ที่จะต้องรักและรับใช้องค์พระเป็นเจ้าซึ่งอยู่ในเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่เราได้พบ เมื่อเรา “หักปัง” ในพระนามของพระเยซูเจ้า เรากำลังร่วมฉลองการเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่นๆ และกำลังรับแหล่งกำเนิดชีวิตของเรานั่นคือพระเยซูเจ้าองค์พระผู้เป็นเจ้า ในมื้ออาหารศักดิ์สิทธิ์นี้ พระองค์ทรงเตือนเราให้นำพระองค์ออกไปในโลกที่กำลังต้องการความรักของพระองค์อย่างที่สุด
พิธีศีลมหาสนิทเป็นจารีตหนึ่งได้อย่างไร? (CCC 1099; 1324-1327)
พิธีมิสซาเป็นจารีตทางศาสนาอย่างหนึ่งเหมือนพิธีกรรมอื่นๆ และเป็นการรื้อฟื้นพันธสัญญาใหม่นั่นก็คือพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่เราเฉลิมฉลอง จารีตเกี่ยวกับพิธีศีลมหาสนิทเป็นอนุสรณ์ที่ถูกออกแบบไว้ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเพื่อความรอดพ้นของเรา อนุสรณ์นี้กระทำ 3 สิ่ง คือ (1) มันเฉลิมฉลอง รื้อฟื้น และเป็นระลึกถึงการไถ่บาปของเราในอดีตนั่นคือชีวิต, ความตาย, และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า; (2) มันเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาที่เปิดเผยออกมาในช่วงเวลาของเรา; และ(3) มันให้ความสนใจกับอนาคตของพระศาสนจักรและการมีชีวิตร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในงานเลี้ยงนิรันดรบนสวรรค์
ขั้นตอนในพิธีมิสซามีอะไรบ้าง? (CCC 1345-1355; 1408)
พิธีมิสซาประกอบด้วย พิธีการเกริ่นนำ ภาควจนพิธีกรรม ภาคบูชาขอบพระคุณ และพิธีการปิด ในภาควจนพิธีกรรม เราฟังพระวาจาของพระเจ้าที่ถูกประกาศในการอ่านพระคัมภีร์และได้รับอาหารบำรุงฝ่ายวิญญาณจากพระวาจาที่ได้ฟัง เราถูกเรียกร้องให้นำพระวาจามาเป็นส่วนของชีวิตเราและเชื่อฟังพระวาจา ในภาคบูชาขอบพระคุณ เราทำตามพระวาจาอย่างเที่ยงตรงโดยการถวายคำสรรเสริญและแสดงความขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับชีวิต, ความตาย, และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เรามีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์ในพิธีบูชาขอบพระคุณเมื่อเราเข้าไปรับพระองค์ในศีลมหาสนิท
พิธีเกริ่นนำ
• การแห่เข้า: พิธิมิสซาเริ่มต้นด้วยขบวนแห่ พร้อมกับเพลงเริ่มพิธีที่เหมาะสม
• การทักทาย: พระสงฆ์และสัตบุรุษทำเครื่องหมายมหากางเขน พระสงฆ์กล่าวทักทายสัตบุรุษและทุกคนตอบรับ
• การสารภาพบาป: พระสงฆ์และสัตบุรุษยอมรับความบาปของตนและวอนขอการอภัยจากพระเจ้า
• บทพระสิริรุ่งโรจน์: เพลงพระสิริรุ่งโรจน์จะถูกขับร้องเพื่อสรรเสริญและยอมรับในความดีงามของพระเป็นเจ้า
• บทภาวนาของประธาน: พระสงฆ์กล่าวบทภาวนาเพื่อชักนำให้บรรดาสัตบุรุษเป็นหนึ่งเดียวกันและช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับคารวะกิจ
ภาควจนพิธีกรรม
• บทอ่าน: บทอ่านที่หนึ่งตามปกติจะนำมาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม บทอ่านที่สองมาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ และบทอ่านที่สามมาจากหนึ่งในพระวรสาร โคลงกลอนที่เป็นบทเพลงสดุดีจะถูกอ่านระหว่างบทอ่านทั้งสองบท และบทอัลเลลูยาจะใช้ร้องก่อนการอ่านพระวรสาร
• การเทศน์: ประธานในพิธี หรือสังฆานุกรจะเป็นผู้เทศน์เกี่ยวกับบทอ่าน เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
• การประกาศความเชื่อ: บรรดาสัตบุรุษตอบรับความเชื่อเดียวกันของพวกเขาพร้อมกัน
• บทภาวนาเพื่อมวลชน: คำอ้อนวอนของชุมชนเพื่อความต้องการของพระศาสนจักร, โลก, ผู้มีอำนาจทางสังคม, บุคคล, และชุมชนท้องถิ่นถูกนำเสนอ
ภาคบูชาขอบพระคุณ
• การเตรียมพระแท่นและเครื่องบูชา: เครื่องบูชาในพิธีคือปังและเหล้าองุ่นถูกนำมายังพระแท่นที่ถูกจัดไว้โดยขบวนแห่ ต่อจากนั้นมีการภาวนาเหนือเครื่องบูชา
• บทขอบพระคุณ: บทขอบพระคุณประกอบด้วย คำพูดของพระเยซูเจ้าที่ทรงกล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย, การประกาศพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ, และบทยอพระเกียรติท้ายบทหรือคำภาวนาสรรเสริญพระตรีเอกภาพ บทขอบพระคุณมีหลากหลายให้เลือกใช้สำหรับโอกาสต่างๆ
• การรับศีลมหาสนิท: ในขั้นตอนนี้ของพิธีมิสซา ประกอบด้วย บทข้าแต่พระบิดา บทภาวนาวอนขอการช่วยให้รอดพ้น บทภาวนาเพื่อสันติสุข (หลังบทภาวนานี้ มีการมอบสันติสุขให้แก่กันด้วยเครื่องหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง) และการบิปังในขณะที่มีการขับบทเพลงหรือท่องบท “ลูกแกะพระเจ้า” หลังการรับศีลมหาสนิท พระสงฆ์ภาวนาวอนขอในนามของชุมชน
• ปิดพิธี: พิธีมิสซาจบด้วยการอวยพรปิดพิธีอย่างสง่า และการส่งออกเพื่อส่งผู้ร่วมพิธีออกไปทำหน้าที่ประกาศพระวรสารต่อไป
ในวันอาทิตย์เรามีภาระหน้าที่อะไร? (CCC 1382-1390; 1415; 1417)
ในยุคแรกของพระศาสนจักร การฉลองพิธีศีลมหาสนิทเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นสิทธิพิเศษสุด และเป็นส่วนสำคัญของการเป็นคริสตชน แต่ในเวลาต่อมาพระศาสนจักรต้องออกกฎข้อหนึ่งเพื่อเตือนคาทอลิกทุกคนถึงภาระหน้าที่ในการนมัสการสรรเสริญพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิททุกอาทิตย์ การเข้าร่วมพิธีมิสซาอาทิตย์ละครั้งในวันอาทิตย์หรือวันเสาร์เย็นจึงเป็นที่เข้าใจกันอีกครั้งว่าคือรากฐานของชีวิตคาทอลิก ในการไปร่วมพิธีมิสซา ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือไปอย่างง่ายๆ เราต้องไม่รู้สึกว่าเป็นการไปแสดงความรักต่อพระเจ้าและผู้เดินทางแสวงบุญร่วมกับเรา เราต้องไปเพื่อเข้าร่วมและประกาศอย่างเป็นทางการว่าเราต้องการนมัสการและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญดีๆทั้งหมดที่พระองค์มอบให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรอดพ้นของเราโดยอาศัยพระเยซูเจ้าบุตรของพระองค์
เมื่อเรานึกถึงความหมายของพิธีกรรม (liturgy) ซึ่งก็คือ “งานเพื่อชุมชน” เราพบว่าพระเยซูเจ้าเองตรัสกับเราว่าในการติดตามพระองค์เราต้องพยายามขึ้นอีกเพื่อให้ถึงจุดหมาย, ก้าวมาข้างหน้าและไม่ทำแบบธรรมดา ชีวิตคริสตชนยังเป็นชีวิตที่อยู่แบบชุมชนหมายความว่า เราต้องช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจและรักกัน ที่ยิ่งกว่าสิ่งใดคือเราต้องการพระเจ้า เราต้องการพระวาจาของพระเจ้าเพื่อบำรุงเลี้ยงและกระตุ้นเรา เราต้องการพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเราและทำให้เราคล้ายกับพระองค์