บทที่ 2 : ทำให้เขาอิ่มเอิบ - เราสอนเพื่ออะไร?
หากเรามองดูผู้คนในยุคนี้และยุคก่อนๆ ที่ผ่านมานั้นจะพบว่า ในบางช่วงคนเราก็แสวงหาการกินดีอยู่ดี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของยุควัตถุนิยม แต่อีกบางช่วงก็จะสลับไปแสวงหาชีวิตที่เรียบง่ายหรือพอเพียงมากขึ้น แต่ไม่ว่าในแบบใดก็ตามล้วนแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ย่อมแสวงหาบางสิ่งที่อยู่เหนือชีวิต ที่ลึกกว่าชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นอยู่
ครูคำสอนคือผู้เติมเต็มความหิวโหยทางจิตใจ
สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นในกระบวนการสอนคำสอนก็คือ การสร้างประสบการณ์ซึ่งสามารถกระตุ้น หล่อเลี้ยงและท้าทายความเชื่อ ครูคำสอนสอนเพราะเขาเชื่อในพระเจ้า ไว้ใจในพระองค์และในงานสร้างของพระองค์ เขาไว้ใจในตนเอง ในผู้อื่นและในสิ่งสร้าง พระเจ้าทรงแสดงถึงความรักใจดีและความซื่อสัตย์ของพระองค์แก่เราผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า นี่แหละคือหัวใจและวิญญาณของศาสนาคริสต์
เราไม่สามารถทำให้ความเชื่อเกิดขึ้นในผู้อื่นได้ แต่เราสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ความเชื่อเติบโตขึ้นได้ ดังนี้ ผู้เรียนจะสามารถเสริมความสัมพันธ์แห่งความไว้วางใจในพระเจ้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นใน 4 ประเด็นคือ
1. ความเชื่อในพระเจ้าคือพื้นฐานของความไว้วางใจ
2. ความสัมพันธ์ที่มั่นคงของเรากับพระเจ้าจะนำเราสู่ความสัมพันธ์แห่งความเชื่อกับผู้อื่น
3. การรับใช้พระเจ้าด้วยชีวิตที่เป็นประจักษ์พยานจะทำให้เราใช้เวลาและพละกำลังอย่างคุ้มค่า
4. การตระหนักถึงความลึกล้ำของพระเจ้าจะสร้างสำนึกถึงว่าเราสามารถรู้จักพระเจ้าได้บางส่วนเท่านั้นและไม่สามารถควบคุมพระองค์ได้
นี่คือ 4 ประเด็นหลักที่บ่งบอกว่าเราจะเป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่จะช่วยเลี้ยงดูผู้หิวโหยด้านจิตใจด้วยธรรมล้ำลึกของพระเจ้า (เทียบ 1คร. 4:1)
เลี้ยงดูผู้หิวโหยด้วยการดูแลเอาใจใส่
ในระหว่างครูคำสอนกับผู้เรียนนั้นมีความสัมพันธ์หนึ่งเป็นพื้นฐานคือ การดูแลเอาใจใส่ ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้การดูแล และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับการดูแล ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เรียนที่อยู่ในวัยเยาว์ เพราะเป็นวัยที่ต้องการการอยู่ร่วมกันและการยืนยันจากผู้อื่น ประสบการณ์เชิงบวกนี้จะช่วยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น การให้การดูแลผู้เรียนด้วยความเคารพเขาจะทำให้การเรียนคำสอนเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความหวังและความงดงาม
ดูแลเอาใจใส่ด้วยการอบรม
จิตวิทยาสอนว่า เด็กๆ จะเรียนรู้อาศัยการซึมซับจากประสบการณ์มากกว่าจากการฟังเท่านั้น ในด้านคำสอนมิติของการเป็นประจักษ์พยานจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เราจึงควรกำหนดรูปแบบแนวทางของการให้การดูแลเอาใจใส่ในชีวิตของเราด้วย อาศัยการทำให้ผู้เรียนรู้สึกชื่นชมยินดีและเห็นคุณค่าของการทำบางสิ่งที่แบบซ้ำๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์พื้นฐานของมนุษย์ เช่น ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความสุขใจ การเริ่มต้นวันใหม่ ฯลฯ เราต้องอบรมให้เด็กๆ รู้จักเฉลิมฉลองจังหวะชีวิตที่ธรรมดาด้วยความชื่นชมยินดีและความสุขใจ เช่นนี้เราก็กำลังสอนให้พวกเขารู้จักวิธีเจริญชีวิตอย่างคุ้มค่าและอย่างดีในความเชื่อ
ใครเป็นผู้เรียกเราให้สอน
ใครเป็นผู้ที่เรียกเราให้เข้ามาสู่งานสอนคำสอน อาจจะเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ผู้อำนวยการโรงเรียน... แน่นอนเป็นพระจิตเจ้าที่ทรงเรียกเราแต่ละคนมา ที่สำคัญคือศาสนบริการงานคำสอนนี้ไม่ใช่งานส่วนบุคคล ครูคำสอนถูกเรียกมาทำงานนี้โดยทางหมู่คณะคริสตชนซึ่งเป็นประชากรของพระเจ้า ให้มาอบรมสมาชิกที่ต้องการการเรียนรู้ การอบรม และการเปลี่ยนแปลงชีวิต เหตุนี้จึงต้องมีสมาชิกบางคนทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ ให้การอบรม และช่วยเหลือในกระบวนการเปลี่ยนแปลงชีวิตนี้
ครูคำสอนจึงเป็นบุคคลที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงว่า “มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน มอบภารกิจให้ท่านไปทำจนเกิดผล และผลของท่านจะคงอยู่” (ยน. 15:16)
การเรียกนี้จึงเกิดขึ้นในหมู่คณะประชากรของพระเจ้าอยู่เสมอ ครูคำสอนจึงเป็นผู้ที่เลี้ยงดูผู้หิวโหยด้านจิตใจด้วยการสรรเสริญพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจของเขา และด้วยการบอกให้ทุกคนทราบถึงพระราชกิจมหัศจรรย์ที่พระเจ้าได้ทรงกระทำ (เทียบ สดด. 9:1)
------------------------------------------------------------
+ คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
+ อะไรคือความโหยหาด้านจิตใจที่คุณพบในผู้เรียนของคุณ?
+ คุณได้พยายามที่จะบรรเทาความโหยหาเหล่านั้นอย่างไร?
+ แล้วอะไรคือความโหยหาในจิตใจของตัวคุณเอง?
+ คุณได้ดูแลเลี้ยงความโหยหานั้นอย่างไร?