แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

615 people who are poor in spiritบทที่ 3 : ปลูกฝังรากเหง้า ติดปีกให้บิน - เราสอนอะไร?
    ฉันกำลังทำสิ่งใดในการสอนคำสอน? โดยทั่วไปแล้ว งานคำสอนมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เตรียมพร้อมให้เราแล้ว เช่น แผนการสอนที่กำหนดเนื้อหาของแต่ละชั้นเรียน คู่มือนักเรียน สื่อ-อุปกรณ์หลากหลายรูปแบบสำหรับใช้ในการสอน งานคำสอนที่เราทำก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอภิบาลของโรงเรียนหรือของวัดอยู่แล้ว ฯลฯ
    ดังนั้น สำหรับเรา งานคำสอนจึงเป็นดังการสร้างรากฐานของสิ่งที่ผู้เรียนเคยรับรู้มา ให้ฐานรากนี้มีความลึกและกว้างสำหรับสิ่งที่เขาจะได้รับอีกในปีต่อๆ ไป ช่วยให้เขารู้และเข้าใจเนื้อหาคำสอนที่เรียนอย่างชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้น เห็นคุณค่ามากขึ้น ไม่ด้วยเพียงคำพูดเท่านั้นแต่ด้วยชีวิตของผู้เป็นศิษย์ เป็นประกาศก และมรณสักขีผู้ยืนยันความเชื่อ นี่คือพระพรที่ช่วยเราให้รู้จักเอกลักษณ์ในด้านจิตใจของตน ซึ่งก็คือ รู้จักรากเหง้าของเราเอง 

ปลูกฝังรากเหง้า
    ไม่ว่าใครย่อมชื่นชอบในเรื่องราวดีๆ โดยเฉพาะเรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นสามารถทำให้ความเชื่อของเรามีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ชีวิตของบรรดานักบุญจะให้ภาพลักษณ์ของการดำเนินชีวิตว่าสิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ เราสามารถเข้าไปในประวัติศาสตร์ได้อาศัยชีวประวัติของบุคคลเหล่านี้ ประวัติศาสตร์สามารถสร้างแรงบันดาลใจและให้ความหวังแก่เราได้
    ตัวอย่างของซิสเตอร์แอน วัย 90 ปี ซึ่งสมัครเรียนคอร์สที่ชื่อว่า “ความเชื่อและวัฒนธรรมในสังคมปัจจุบัน” ร่วมกับนักศึกษาอีกมากมายหลายคนที่สมัครเรียนเช่นกัน การที่คนสองยุคได้ทำกิจกรรมและใช้ชีวิตร่วมกัน ทำให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์และชีวิตแก่กันและกัน คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับปรีชาญาณของคนรุ่นก่อน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และความมั่งคั่งให้แก่กัน ทำให้ประวัติคริสต์ศาสนาได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งสำหรับพวกเขา
    จิตวิทยาพัฒนาการสอนว่า มิติหนึ่งที่สำคัญของวัยรุ่นคือการสร้างเอกลักษณ์ การสอนคำสอนจึงเป็นการร่วมในกระบวนการสร้างเอกลักษณ์ของพวกเขา การสัมผัสกับประวัติศาสตร์ทำให้เขาเข้าใจเอกลักษณ์ของตนในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้า การเรียนคำสอนทำให้พวกเขาค่อยๆ ซึมซับและรับเอาคุณค่าแห่งพระวรสารเข้าในตนเอง 

ไหนคือคุณค่า “การจับต้อง” หรือ “การสอนด้วยคำพูด”?
    ยุคประมาณปี ค.ศ. 1970 ในแวดวงการศึกษามีการเผยแผ่ความคิดที่ว่า สิ่งจับต้องได้นั้นมีคุณค่ามากกว่าการสอน จากวลีที่ว่า “การกระทำดังกว่าคำพูด” การสอนด้วยกิจกรรมจึงมีค่ามากกว่าการอธิบายด้วยคำพูดล้วนๆ เป็นความเข้าใจที่ว่าการเรียนรู้นั้นได้มาจากการสังเกตและการเลียนแบบ แต่หลังจากผ่านไปเกือบครึ่งศตวรรษจึงค่อยมีความเข้าใจใหม่ว่า ทั้งสิ่งที่จับต้องได้และการสอนด้วยคำพูดนั้นล้วนมีคุณค่า เมื่อสอนเนื้อหา เราก็กำลังแบ่งปันคุณค่าให้แก่ผู้เรียน อาศัยการสนทนาและการไตร่ตรองจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรียนกับชีวิตของพวกเขา ทำให้เกิดการเลือกโดยอิสระที่จะยอมรับและปฏิบัติตามคุณค่าแบบคริสต์ที่ได้เรียนรู้จากพระคัมภีร์และข้อความเชื่อ
ครูคำสอนจึงมีหน้าที่อนุรักษ์และถ่ายทอดคุณค่าต่างๆ ที่ได้รับมา เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้รับพระพรที่มีค่านี้อย่างถูกต้องและมั่นคง นี่แหละคือความหมายที่ว่า การสอน คือการหยั่งรากให้ลึก 

ติดปีกให้บิน
    เราทุกคนย่อมฝันและย่อมต้องการฝัน เหตุว่าความหวังนั้นย่อมทำด้วยความฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นเยาว์ ที่เราต้องช่วยให้พวกเขาเชื่อว่ามันคุ้มค่าที่จะมีชีวิต และชีวิตของพวกเขานั้นสามารถทำให้โลกเปลี่ยนไปได้ มนุษย์มีลักษณะเฉพาะคือสามารถหวัง ฝัน และจินตนาการได้ คำว่า “education” มาจากคำรากศัพท์เดิมที่มีความหมายว่า “เอาออกมา” นี่เป็นความหมายแท้ของ “การให้ความรู้” คือเป็นการดึงเอาจากสิ่งที่เรียนรู้ไปแล้วให้เกิดความรู้ใหม่ เป็นการดึงเอาความหวังและความเชื่อในตัวบุคคลออกมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 
    ความหวังจึงต้องได้รับการดูแลและค้ำจุน เพราะความหวังเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งของศาสนาคริสต์ (เทียบ กจ. 2:16-17)  การเรียนคำสอนจะต้องช่วยสร้างกำลังใจและกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งใจมากขึ้น ไปให้ไกลขึ้น เชื่อในตนเองและผู้อื่นอย่างเข้มแข็งขึ้น เติบโตขึ้นด้วยความไว้ใจในความสามารถของตนเอง ชื่นชมที่จะค้นพบและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
    นี่คือความหมายของการ “ติดปีกให้บิน”  แน่นอนคนบินไม่ได้ แต่นี่เป็นคำที่มีความหมายเชิงอุปมา “ปีก” หมายถึงความรักที่มั่นคงของพระเจ้าต่อเรา การสอนคำสอนเป็นการสร้างความไว้ใจในตนเอง ทำให้เขาสัมผัสประสบการณ์แห่งความรักของพระเจ้าต่อเขา ดังเพลงสดุดีที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ความรักมั่นคงของพระองค์ประเสริฐยิ่งนัก บุตรแห่งมนุษย์จึงเข้ามาลี้ภัยอยู่ใต้ร่มปีกของพระองค์” (สดด. 36:8)
    การสอนคำสอนอย่างดีด้วยความเอาใจใส่และความตั้งใจจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้เรียนได้ นี่คือความหมายส่วนหนึ่งของการ “ติดปีกให้บิน”

คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
+ คุณยังจำเหตุการณ์พิเศษนั้นที่ผู้เรียนของคุณได้ “พบเจอ” อย่างแท้จริงได้ไหม? หรือเหตุการณ์ที่มีผู้เรียนสักคนเกิดความรู้สึกดีๆ กับตนเองไหม? ที่ทำให้คุณอยากจะหยุดเวลานั้นไว้ด้วยความรู้สึกรู้คุณในช่วงวเลานั้นหรือไม่?
+ คุณคิดถึงช่วงเวลาพิเศษนั้นอย่างไร?
+ ให้บรรยายถึงประสบการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึก “ทึ่ง” ในขณะที่สอน