บทที่ 1 พระพรอันน่ามหัศจรรย์แห่งการสอน - ความปิติยินดีและความท้าทายของการสอน
หลายครั้ง เราอาจเคยรู้สึกว่าการเตรียมตัวสำหรับสอนคำสอนนั้นเป็นงานประจำที่เรียกร้องเวลาและพลังงานค่อนข้างมาก ซึ่งบางทีก็ทำให้เรารู้สึกหมดเรี่ยวแรงได้ จนกระทั่งต้องภาวนาดั่งในบทสดุดีว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดทรงเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้ากำลังจะสิ้นแรงอยู่แล้ว โปรดทรงบำบัดรักษาข้าพเจ้าด้วย” (สดด. 6:2) ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าเด็กๆ ของเราค่อยๆ เติบโตขึ้นและเราค่อยๆ ตระหนักว่าเรากำลังขับเคลื่อนพันธกิจที่น่ามหัศจรรย์ยิ่ง เพราะเรากำลังเสริมสร้างพระกายของพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ. 4:11)
เราคือผู้ที่อุทิศตนด้วยความรักโดยมุ่งหวังที่จะช่วยให้ผู้เรียนคำสอนเติบโตด้านชีวิตฝ่ายจิตใจ ดังเช่นที่เราเองก็ต้องเติบโตด้วยเช่นกัน ผู้เรียนคำสอนนั้นจึงเป็นดัง “ต้นไม้ที่เติบโตอย่างดีในวัยเยาว์” (สดด. 144:12)
ความปิติยินดีของการสอน
จุดมุ่งหมายของการสอนคือ การตั้งใจที่จะถ่ายทอดและให้ความรู้ ไม่ใช่ความบังเอิญหรือเผลอไผล แต่เป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาและธรรมประเพณีของหมู่คณะคริสตชน ให้ผู้เรียนฝึกทักษะในการนำความรู้มาเจริญชีวิตประจำวัน และให้ผู้เรียนมีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องสำหรับการดำเนินชีวิต
ครูคำสอนต้องทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่ได้รับกับธรรมประเพณีให้กลายมาเป็นแนวทางการปฏิบัติจริงในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องราวอันทรงคุณค่าในอดีต เป็นมรดกแห่งความเชื่อที่ถ่ายทอดกันต่อๆ มาผ่านทางบุคคลสำคัญๆ ในพระศาสนจักร เช่น บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
การสอนจึงเป็นการนำเอาความหมายต่างๆ ในอดีตเหล่านั้นมาไตร่ตรองด้วยแสงแห่งพระวาจา ผ่านทางชีวิตของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการเจริญชีวิตแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ แล้วมาทำให้เกิดเป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้ การสอนจึงเป็น “กระแสเรียก” ที่เรียกร้องทั้งจิตและใจ การเตรียมตัวให้พร้อม และการสร้างบูรณาการระหว่างสิ่งเดิมและสิ่งใหม่ให้สมดุล (เทียบ GE 5) อาศัยบุคลิกภาพที่ชัดเจนและพระพรพิเศษ ที่สำคัญคือมีชีวิตจิตที่หยั่งรากลึก ดังเช่นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมลำธาร ซึ่งออกผลตามฤดูกาลและใบก็ไม่มีวันเหี่ยวแห้งไป (เทียบ สดด. 1:3)
ความท้าทายของการสอน
ใครว่าการสอนเป็นสิ่งที่ง่าย? มันมิใช่เช่นนั้นเลย แม้แต่พระคัมภีร์ก็ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่สมัยประกาศกอิสยาห์ว่า เพราะประชาชนนี้มีจิตใจที่ด้านชา แม้หูก็ฟังไม่เข้าใจ ตาดูก็ไม่รู้เรื่อง หูฟังก็ไม่ได้ยิน (เทียบ อสย. 32:3-5)
ประสบการณ์ของผู้เป็นครูย่อมบอกเสมอว่า การสอนมิใช่สิ่งที่ง่ายเลย แต่ความเป็นจริงนี้มิต้องทำให้เราท้อแท้หรือท้อถอยเลย ตรงกันข้าม เราต้องก้าวผ่านไปให้ได้ มิเพียงเท่านั้น เราต้องรู้สึกถึงความชื่นชมยินดีที่จะสอนด้วยซ้ำ เราต้องรู้สึกดีทุกครั้งที่ต้องสอนเพราะนี่เองคือขุมพลังของเรา ชีวิตชีวาของเรานั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความอ่อนแอ แม้พระเยซูเจ้าเองก็ยังทรงกล่าวถึงเรื่องทำนองนี้ในเรื่องเปรียบเทียบ “ผู้หว่าน” ว่า พระวาจาเปรียบเสมือนเมล็ดพืชที่ตกในดินปนหิน หรือที่มีวัชพืชปกคลุม (เทียบ มก. 4:1-9)
แน่นอน เราไม่ชอบโอ้อวดความอ่อนแอให้ใครเห็น หรือให้ใครคิดว่าเราโง่ และมันก็ไม่ง่ายที่จะยอมรับขอบเขตจำกัดของตนเอง แต่เราก็ถูกสั่งสอนมาว่า ในความอ่อนแอนี้แหละที่จะแสดงถึงความเข้มแข็ง ดังที่ น.เปาโลสอนว่า “เรามีทรัพย์สมบัตินี้เก็บไว้ในภาชนะดินเผา เพื่อแสดงว่าอานุภาพล้ำเลิศนั้นมาจากพระเจ้า มิใช่มาจากตัวเรา” (2คร. 4:7)
แต่ปรีชาญาณของพระเจ้ายังสอนเราอีกว่า พระวาจาที่พระเจ้าตรัสนั้นจะคงอยู่ตลอดไป จะกลายเป็นกิจการถาวร ดังนั้นจึงเกิดเป็นพลังเชิงบวกของการสอนขึ้น ดังฝนและหิมะจากท้องฟ้าที่ทำให้เมล็ดพันธุ์เติบโตและเกิดผล ตามพระประสงค์ของพระเจ้า (เทียบ อสย. 55:10-11) ซึ่งเป็นดังเช่นพระสัญญาของพระองค์
เช่นเดียวกัน เมื่อเราสอนคำสอน คำสัญญานี้ก็กลายเป็นจริงด้วย การสอนจึงเป็นพระพรที่มหัศจรรย์ที่สุด ดังเรื่องเล่าของซิสเตอร์มีเรียมเกี่ยวกับซิสเตอร์เวอร์นาที่ได้สอนคำสอนจนกระทั่งถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ท่านสอนทุกคน ทุกวัย ทุกฐานะ จนทำให้เด็กชายสองคนมารอเรียนคำสอน แม้หลังจากที่ท่านสิ้นชีวิตไปแล้วโดยที่เด็กสองคนนั้นไม่ทันทราบข่าว ท่านสอนด้วยชีวิตจึงทำให้ชีวิตของผู้เรียนได้รับผลกระทบเชิงบวกในด้านชีวิตแห่งความเชื่อ
ดังนี้ งานคำสอนจึงท้าทายเราอยู่เสมอ ให้อุทิศตนทั้งครบด้วยความรักเพื่อช่วยเพื่อนพี่น้องทุกคนให้พบและรักพระเจ้า
คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
+ ทำไมคุณจึงมาเป็นครูคำสอน?
+ หยุดคิดทบทวนสักครู่ถึงผู้เรียนของคุณ... เมื่อสอนพวกเขาคุณรู้สึกถึงประสบการณ์แห่งความชื่นชมยินดีอะไรบ้างไหม?
+ อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคสำหรับคุณ?
+ คุณได้พบแนวทางที่จะลดทอนอุปสรรคเหล่านั้นลงได้หรือไม่? อย่างไร?
+ คุณสามารถค้นพบแนวทางที่จะเพิ่มความสุข ความยินดีหรือไม่? อย่างไร?
ที่มา: หนังสือความปิติยินดีของครูคำสอน