แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมเราจึงจำเป็นต้องยอมตามอำนาจสอนของพระศาสนจักร (Magisterium)

442px-emblem of the papacy se-svg    คำว่าอำนาจชี้ขาด ในภาษาลาตินนั้นหมายถึงเจ้านาย อำนาจการสอนเป็นบทบาท อำนาจและการสอนของเจ้านาย สัญลักษณ์ตามประเพณีของอำนาจสั่งสอนนั้น คือ (เก้าอี้ประธาน) ธรรมาสน์ ด้วยเหตุนี้อาจารย์สอนมหาวิทยาลัยจึงนั่งสอนที่ธรรมาสน์ คำประกาศอย่างเป็นทางการของพระสันตะปาปาในเรื่องความเชื่อและหลักศีลธรรมที่ให้แก่พระศาสนจักรสากล จึงได้ชื่อว่าเป็นการประกาศ ex cathedra จากธรรมาสน์ นั่นคือพระสันตะปาปาแสดงอำนาจสั่งสอน โดยการประกาศอย่างเป็นทางการ

    เรารู้จากพระวรสารว่า พระคริสตเจ้าทรงเลือกศิษย์ 12 คน ให้เป็นอัครสาวก “พระองค์ทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามาแล้วทรงคัดเลือกไว้สิบสองคน ประทานนามว่า อัครสาวก” (ลก 6:13) ในช่วงชีวิตเปิดเผยของพระองค์นั้น บรรดาศิษย์อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ทรงสอนและส่งพวกเขาออกไปเทศนา ทรงมอบหมายให้พวกเขาประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ และก่อนเสด็จขึ้นสวรรค์ ได้ตรัสว่า “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เขา เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:18-19) “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง” (มก 16:15) พระองค์ทรงทำให้เปโตร หนึ่งในบรรดาอัครสาวก เป็นรากฐานและหัวหน้าของพระศาสนจักร โดยมอบอำนาจพิเศษให้ (เทียบ มธ 16:17-19) และทรงมอบหมายให้เขาทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกแกะทั้งหลายของพระองค์ (เทียบ ยน 21:15-17)
    จากถ้อยคำที่พระคริสตเจ้าตรัสกับบรรดาอัครสาวกนั้น เราเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมอบอำนาจสอนให้พวกเขา โดยมีหน้าที่สั่งสอนนานาชาติทั่วโลก ผู้มีอำนาจหน้าที่เทศน์สอน คือ บรรดาผู้สืบตำแหน่งนักบุญเปโตร คือ พระสันตะปาปา และบรรดาผู้สืบตำแหน่งอัครสาวก คือ บรรดาพระสังฆราช นี่แหละคือสิ่งที่เราเรียกว่า อำนาจสอนของพระศาสนจักร ถ้าพระคริสตเจ้าทรงมอบหมายให้บรรดาอัครสาวกทำหน้าที่เทศน์สอนก็เท่ากับว่าคนอื่นๆ มีหน้าที่รับฟังคำเทศน์สอนนั้น หน้าที่นี้ใช้เฉพาะกับบรรดาผู้ติดตามองค์พระคริสตเจ้า นั่นคือ บรรดาสมาชิกของพระศาสนจักร
    ที่ประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ชี้บอกถึงหน้าที่สอนนี้หรืออำนาจชี้ขาดของพระสังฆราช ในพระธรรมนูญเรื่องพระศาสนจักร “สภาสังคายนานี้สอนไว้ว่า พระสังฆราชเป็นผู้สืบตำแหน่งของอัครธรรมทูต โดยที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เช่นนั้น ท่านเป็นชุมพาบาลดูแลพระศาสนจักร” (ข้อ 20) “คณะพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งอัครธรรม-ทูต มีหน้าที่สอนและปกครองพระศาสนจักร” (ข้อ 22) พระคริสตเจ้าทรงมอบภารกิจให้พระสังฆราชในฐานะผู้สืบตำแหน่งอัครธรรมทูต ไปสั่งสอนนานาชาติและเทศน์ประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน (ข้อ 24) อำนาจสูงสุดเหนือพระศาสนจักรทั้งหมดซึ่งคณะพระสังฆราชมีอยู่นี้ใช้เป็นทางการในการประชุมสภาสังคายนาสากล (ข้อ 22) “ในตำแหน่งหน้าที่ผู้แทนองค์พระคริสตเจ้า และชุมพาบาลดูแลพระศาสนจักรทั้งสิ้น พระสังฆราชกรุงโรมมีหน้าที่อำนาจสูงสุดเต็มบริบูรณ์เหนือพระศาสนจักร” (ข้อ 22)
    อำนาจหน้าที่อาจถูกใช้ได้ด้วยวิธีการต่างๆ และในระดับต่างๆ ในอันดับแรก มีคำประกาศต่างๆที่มิรู้ผิดพลั้งของประมุขสูงสุด เมื่อพระองค์ทรงสอนพระศาสนจักรสากล แบบ ex cathedra เรื่องความเชื่อและหลักศีลธรรม ยังมีคำสั่งสอนที่มิรู้ผิดพลั้งของสภาสังคายนาสากล เมื่อคณะพระสังฆราชกับพระสันตะปาปาออกประกาศเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรม สัตบุรุษจำเป็นต้องยินยอมตามคำสั่งสอนดังกล่าว เนื่องจากมีการรับรองถึงความแน่นอน และผู้มีอำนาจที่มิรู้ผิดพลั้งรับประกันสิ่งที่สอนไปว่าถูกต้อง
    แต่ยังมีคำสั่งสอนธรรมดาของพระสันตะปาปา ที่เรียกว่าอำนาจปกติของพระสันตะปาปา นั่นคือคำสั่งสอนของพระสันตะปาปาที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นพระสมณสาร พระธรรมนูญ ฯลฯ หรือโดยทางการแสดงความเห็นชอบข้อกำหนดหลักความเชื่อที่ออกโดยสมณะกระทรวงว่าด้วยหลักความเชื่อ นี่เรียกว่าคำสั่งสอนปกติธรรมดา มิได้กำหนดเป็นข้อความเชื่อ อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของสัตบุรุษที่จะน้อมรับและปฏิบัติตามคำสอนนั้น
    พระธรรมนูญด้านพระธรรมของสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้ชี้ให้เห็นว่าสัตบุรุษควรมีทัศนคติต่ออำนาจการสอนของพระสันตะปาปาอย่างไร “อันความภักดี นอบน้อมด้านน้ำใจและด้านสติปัญญา ดังนี้ ชาวเราต้องปฏิบัติเป็นอย่างพิเศษต่ออาจารยานุภาพที่แท้จริงของพระสังฆราชกรุงโรม แม้เมื่อพระองค์มิได้ตรัส “จากธรรมาสน์” หมายความว่า ชาวเราต้องยอมรับรู้ด้วยความเคารพว่าอำนาจการสอนของพระองค์ท่านเป็นอันสูงสุดและต้องยึดถือด้วยจริงใจต่อคำตัดสินของพระองค์ท่าน ที่แสดงเปิดเผยออกมาว่า เป็นความนึกคิดน้ำพระทัยของพระองค์ท่าน” (พระศาสนจักร 25)