แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำไมจึงถวายพิธีบูชาขอบพระคุณบนพระแท่น

e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b981e0b897e0b988e0b899    พระแท่นเป็นสถานที่เด่นชัดในวิหารต่างๆ โดยเฉพาะศาสนาที่มีการถวายบูชา อย่างเช่นศาสนาของชาวฮินดู (บราห์มานัส) ชาวยิวและชาวอาสเต็กส์ โดยทั่วไปบนพระแท่นจะมีการวางเครื่องถวายบูชาแด่พระเจ้า เป็นต้นการวางเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่า พระแท่นนั้นถือว่าเป็นสถานที่พบปะฝ่ายจิตระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์
    การถวายคารวกิจของคริสตชนนั้น ไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือไม่มีการหลั่งโลหิต พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณนั้นไม่มีการหลั่งโลหิต การบิขนมปังเกิดขึ้นบนโต๊ะ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่ที่โต๊ะกับบรรดาศิษย์ของพระองค์ และพระองค์ทรงตั้งศีลมหาสนิท “ครั้นถึงเวลาค่ำ พระองค์ประทับร่วมโต๊ะกับศิษย์ทั้งสิบสองคน” (มธ 26:20)

    ในทำนองเดียวกัน พระศาสนจักรยุคแรกเริ่มจัดพิธีบิขนมปังที่โต๊ะอาหาร ช่วงต่อมา โต๊ะที่ใช้ในพิธีถวายบูชาศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ได้เริ่มถือว่าเป็นโต๊ะอาหารขององค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “จะร่วมโต๊ะทั้งกับองค์พระผู้เป็นเจ้าและร่วมโต๊ะกับพวกปีศาจไม่ได้” (1คร 10:21)
    ระหว่างที่มีการเบียดเบียนศาสนายุคแรกๆนั้น บรรดาคริสตชนเคยชุมนุมกันในสุสานใต้ดิน ที่ซึ่งต้องการแสงสว่าง และถวายบูชาศักดิ์สิทธิ์บนหลุมหรือใกล้กับหลุมศพของบรรดามรณสักขี ตามจารีตโรมันนั้นต้องมีพิธีมิสซาโดยจุดเทียนไว้บนพระแท่นหรือใกล้พระแท่น และเหนือพระธาตุของมรณสักขี นั่นเป็นการรำลึกถึงพิธีถวายนมัสการพระเจ้าในสุสานใต้ดิน
    เมื่อการเบียดเบียนศาสนาสิ้นสุดลง ก็ได้เริ่มมีการสร้างวัดเพื่อทำพิธีถวายนมัสการพระเจ้า ถ้าวัดนั้นเป็นดัง “ที่ประทับของพระเจ้าและเป็นประตูสวรรค์” (ปฐก 28:17) พระแท่นก็กลายเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระคริสตเจ้าเอง  เราถวายบูชาแด่พระเจ้าโดยอาศัยพระองค์ “พวกเรามีแท่นบูชาแท่นหนึ่ง และสมณะชาวยิวที่ถวายคารวกิจรับใช้ในพระวิหารไม่มีสิทธิ์จะกินของถวายบนแท่นบูชานี้” (ฮบ 13:10)
    โดยการเชื่อมโยงกับศีลมหาสนิทนั้น พระแท่นได้รับความหมายอื่นฝ่ายจิต นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระคริสตเจ้า เป็นสถานที่ถวายบูชาและรับศีลมหาสนิท พระแท่นเป็นสถานที่พบปะระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ เป็นสถานที่ซึ่งคริสตชนมีประสบการณ์กับพระคริสตเจ้าดังเช่นบรรดาศิษย์ที่เอมมาอุส “ขณะประทับที่โต๊ะกับเขา พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขา เขาก็ตาสว่างและจำพระองค์ได้” (ลก 24:30-31)
    การที่ประธานในพิธีจูบพระแท่น และถวายกำยานนั้นเป็นวิธีแสดงความเคารพยำเกรงเนื่องจากเป็นการใช้อย่างพิเศษ
    ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งพระแท่น  เพื่อให้พระสงฆ์หันหน้าเข้าหาผู้ที่มาชุมนุม แม้ก่อนสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 นั้นก็ได้มีการถือปฏิบัติเช่นนี้แล้วในบางแห่งของประเทศฝรั่งเศส สเปน และเยอรมัน พระแท่นบูชาของพระสันตะปาปาในมหาวิหารนักบุญเปโตร ซึ่งสร้างขึ้น (ศตวรรษที่ 16) เพื่อให้พระสันตะปาปามีประชาคมอยู่ล้อมรอบพระองค์ ผลดีของการเปลี่ยนที่ตั้งพระแท่นนั้นช่วยให้พระสงฆ์ได้ใกล้ชิดกับสัตบุรุษมากขึ้น เพราะท่านสามารถเห็นหน้าผู้ที่มาชุมนุม อาจเป็นรูปทรงกลมก็ได้เพื่อเมื่อถวายกำยาน สัตบุรุษจะมองเห็นได้ดียิ่งขึ้น
    เนื่องจากมีการใช้โต๊ะถวายบูชามิสซา และอุดมไปด้วยการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งมีมาหลายศตวรรษ พระศาสนจักรยังคงใช้พระแท่น โดยให้ความเคารพอย่างเหมาะสม “ต้องถวายมิสซาบนพระแท่นที่มีการถวายอุทิศหรือเสกแล้ว นอกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะใช้โต๊ะที่เหมาะสมก็ได้ แต่ต้องปูด้วยผ้าปูพระแท่นและผ้ารองพระกายเสมอ” (ม.932 วรรค 2)