แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สตรีกับสังคม
23.  ณ  ที่นี้  เป็นการยากที่จะกล่าวถึงปัญหาที่ซับซ้อนนานัปการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสตรีและสังคมได้  ดังนั้น  จึงต้องวิเคราะห์เฉพาะในบางประเด็นที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเท่านั้น  กระนั้นก็ดี  จำเป็นต้องยอมรับว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวโดยเฉพาะนั้น  มีทัศนะอย่างหนึ่งซึ่งแพร่หลายทั่วไปในสังคมและที่แสดงออกทางวัฒนธรรมด้วย  นั่นก็คือ  ทัศนะคติที่ว่าสตรีต้องมีบทบาทเป็นเพียงภรรยาและมารดา  โดยไม่ได้รับความสะดวกพอสมควรในการมีบทบาททางสังคมซึ่งส่วนมากถูกสงวนไว้สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ
    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า  ศักดิ์ศรีและความรับผิดชอบที่เท่าเทียมกันของชายและหญิงนั้น  เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้สตรีเข้ามีส่วนรับผิดชอบในสังคมอย่างเต็มที่  แต่อย่างไรก็ตาม  การส่งเสริมบทบาทของสตรีอันถูกต้อง เรียกร้องให้เน้นความสำคัญของบทบาทความเป็นแม่และบทบาทภายในครอบครัว  ให้เป็นที่ยอมรับกันอย่างชัดเจนไม่น้อยหน้าบทบาททางสังคมและอาชีพอื่นๆ ทั้งสิ้น  อันที่จริง  บทบาทและอาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องประสานกันอย่างกระชับถ้าเราต้องการให้การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมสอดคล้องกับความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงและอย่างครบบริบูรณ์
    สิ่งนี้จะเป็นไปได้โดยง่ายขึ้นตามความประสงค์ของสมัชชาพระสังฆราชถ้าหากว่า  “เทววิทยาว่าด้วยการงาน”  แบบใหม่  สามารถจะชี้แจงและวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งซึ่งความหมายของการทำงานในชีวิต คริสตชน  รวมทั้งชี้แนวพันธะพื้นฐานระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว  ดังนั้น  เทววิทยาดังกล่าวจะได้แสดงถึงความหมายดั้งเดิมและที่ทดแทนมิได้ทั้งของงานภายในบ้านและของการอบรมเลี้ยงดูลูก   เพราะฉะนั้น  พระศาสนจักรควรและต้องช่วยสังคมปัจจุบัน  โดยเรียกร้องให้งานของสตรีภายในบ้านได้เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับและยกย่องว่า  มีคุณค่าพิเศษซึ่งหาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้  การขอร้องของพระ-ศาสนจักรนี้มีความสำคัญยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับการอบรมลูก  อันที่จริง  การเหลื่อมล้ำระหว่างงานและอาชีพต่างๆ  จะถูกลบล้างโดยสิ้นเชิงก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจว่า  ทุกๆ คนในทุกสาขาอาชีพลงมือทำงานด้วยสิทธิและจิตสำนึกรับผิดชอบเท่าเทียมกัน  ดังนั้น  ภาพลักษณ์ของพระเจ้าในชายและหญิงจะได้สว่างไสวยิ่งขึ้น
    ถ้าสิทธิของสตรีในการมีบทบาทต่างๆ ทางสังคมเป็นที่ยอมรับเท่าเทียมกับบุรุษโดยทั่วไปแล้ว  ยังคงต้องมีการจัดระบบสังคมในแนวที่บรรดาภรรยาหรือแม่ทั้งหลายนั้นไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน  และเมื่อเธอทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ครอบครัวแล้ว  ครอบครัวของเธอก็ควรจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้และเจริญก้าวหน้าอย่างเหมาะสม
    นอกจากนั้นทัศนะคติที่ว่า เกียรติของสตรีเกิดจากงานนอกบ้านมากกว่าจากงานภายในบ้านนั้น ควรได้รับการแก้ไขให้หมดไป  ผู้ชายจึงต้องให้เกียรติและให้ความรักแก่สตรีอย่างแท้จริงโดยเชิดชูศักดิ์ศรีของเธอในฐานะที่เป็นคน  และสังคมเองจักต้องสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการทำงานในบ้าน
    โดยการเคารพต่อภารกิจที่แตกต่างกันของชายและหญิง  พระศาสนจักรจึงต้องส่งเสริมสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันในการดำเนินงานของพระศาสนจักรเองด้วย  ทั้งนี้  เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของทุกฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายครอบครัว  ฝ่ายสังคม และฝ่ายพระศาสนจักรด้วย  แน่นอนทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า  สตรีจะต้องทอดทิ้งลักษณะความเป็นหญิงของตนหรือจะต้องเลียนแบบลักษณะความเป็นชาย  แต่ขอให้เน้นความเป็นมนุษย์ในเพศหญิงอย่างแท้จริงและครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมภายในบ้านหรือของนอกบ้านก็ตาม  โดยต้องคำนึงถึงขนบธรรมเนียมและรูปแบบวัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย