แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธสัปดาห์ที่ 18 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 15:21-28)

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จจากที่นั่น มุ่งไปเขตเมืองไทระและเมืองไซดอน ทันใดนั้น หญิงชาวคานาอันคนหนึ่งจากเขตแดนนี้ร้องว่า “โอรสกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิด บุตรสาวของข้าพเจ้าถูกปีศาจสิงต้องทรมานมาก” แต่พระองค์มิได้ตรัสตอบประการใด บรรดาศิษย์จึงเข้ามาทูลพระองค์ว่า “โปรดประทานตามที่นางทูลขอเถิด เพราะนางร้องตะโกนตามหลังพวกเรามา” พระองค์ทรงตอบว่า “เราถูกส่งมาเพื่อแกะที่พลัดหลงของวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น” แต่นางเข้ามากราบพระองค์ทูลว่า “พระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด” พระองค์ทรงตอบว่า “ไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูก มาโยนให้ลูกสุนัขกิน” นางทูลว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า แต่แม้แต่ลูกสุนัขก็ยังได้กินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของนาย” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับนางว่า “นางเอ๋ย ความเชื่อของเจ้ายิ่งใหญ่ จงเป็นไปตามที่เจ้าปรารถนาเถิด” และบุตรหญิงของนางก็หายเป็นปกติตั้งแต่บัดนั้น


มธ 15:21-28  โอรสกษัตริย์ดาวิด : ชาวต่างศาสนาบางคน เช่น หญิงชาวคานาอัน ก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าได้สัญญาไว้กับชาวยิวด้วยเช่นกัน ความพากเพียรของหญิงคนนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทำไมเราต้องภาวนา ถึงแม้ว่าคำภาวนาของเรานั้นดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองในทันที หรืออาจจะตามมาด้วยความทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม พระคริสตเจ้าทรงชมเชยและประทานอัศจรรย์สำหรับความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ของหญิงชาวคานาอันนี้ เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ประทานแก่นายร้อยชาวโรมัน (มธ 8:10)

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 439 ชาวยิวจำนวนมาก และแม้แต่ชนต่างชาติบางคนที่ร่วมความหวังของชาวยิว ยอมรับคุณลักษณะพื้นฐานของพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า คือการที่ทรงเป็น “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด” ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล พระเยซูเจ้าทรงยอมรับตำแหน่งพระเมสสิยาห์ตามสิทธิที่ทรงมี แต่ก็ยังคงสงวนท่าที เพราะผู้ร่วมสมัยของพระองค์หลายคนเข้าใจตำแหน่งนี้ตามความ เข้าใจแบบมนุษย์มากเกินไป38 คือเข้าใจตามความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ

CCC ข้อ 448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้า ทูลเรียกพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)

CCC ข้อ 2610 เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณพระบิดาก่อนที่จะได้รับของประทานจากพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีความกล้าเยี่ยงบุตร “ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ และท่านก็จะได้รับ” (มก 11:24) พลังของการอธิษฐานภาวนาเป็นเช่นนี้ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้มีความเชื่อ” (มก 9:23) ความเชื่อที่ไม่สงสัย พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยที่บรรดาพระประยูรญาติของพระองค์ “ไม่มีความเชื่อ” (มก 6:6) และเพราะความเชื่อที่น้อยเกินไปของบรรดาศิษย์ จนทรงประหลาดพระทัยเมื่อทรงเห็นความเชื่อของนายร้อยชาวโรมัน และของหญิงชาวคานาอัน

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)