แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 18 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 17:1-9 )

ต่ออมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูงที่ปราศจากผู้คน แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ข้าพเจ้าจะสร้างเพิงขึ้นสามหลัง หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์” ขณะที่เปโตรกำลังพูดอยู่นั้น มีเมฆสว่างจ้าก้อนหนึ่งปกคลุมพวกเขาไว้ เสียงหนึ่งดังจากเมฆนั้นว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เราพึงพอใจยิ่งนัก จงฟังท่านเถิด” เมื่อได้ยินดังนั้น ศิษย์ทั้งสามคนซบหน้าลงกับพื้นดิน มีความกลัวอย่างยิ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ทรงสัมผัสเขา ตรัสว่า “จงลุกขึ้นเถิด อย่ากลัวเลย” เมื่อเงยหน้าขึ้น เขาไม่เห็นผู้ใด นอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระเยซูเจ้าทรงกำชับศิษย์ทั้งสามคนว่า “อย่าเล่านิมิตที่ได้เห็นนี้ให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย”


มธ 17:1-8 การประจักษ์พระวรกายของพระคริสตเจ้าสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ด้วยวิธีที่พิเศษสุด เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงรับพิธีล้างนั้น มีพระสุรเสียงของพระบิดาที่เรียกพระคริสตเจ้าว่า “บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์ ทั้งโมเสสและเอลียาห์ได้พบกับพระเจ้าบนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาซีนายและภูเขาโฮเรบนั้นเป็นสัญลักษณ์หมายถึงธรรมบัญญัติและประกาศก พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของหัวข้อทั้งสาม พระองค์จึงทรงเป็นศูนย์กลางของการเปิดเผยทั้งหมด(ของพระเจ้า)

 คำสอนพระศาสนจักรCCC ข้อ 444 พระวรสารเล่าว่าในโอกาสสำคัญสองครั้ง คือเมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างและทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาทรงเปล่งพระสุรเสียงประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น“บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์ พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “พระบุตรเพียงพระองค์เดียว” ของพระเจ้า   (ยน 3:16) และทรงใช้ตำแหน่งนี้ยืนยันว่า ทรงดำรงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่นิรันดร ทรงเรียกร้องให้ทุกคนมีความเชื่อ “ในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า”(ยน 3:18) การประกาศความเชื่อของคริสตชนเช่นนี้ปรากฏแล้วเมื่อนายร้อยโรมันประกาศเฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในพระธรรมลํ้าลึกปัสกาเท่านั้น ผู้มีความเชื่อจึงอาจให้ความหมายของตำแหน่ง“พระบุตรของพระเจ้า” ได้อย่างสมบูรณ์

CCC ข้อ 554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้ ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์,  โมเสสและประกาศก เอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ “กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”(ลก 9:35)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)