แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สมโภชพระจิตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 20:19-23)                                                

เวลานั้น เป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงสำแดงพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกายแก่บรรดาศิษย์ เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”   


ยน 20:19-20 พระคริสตเจ้าทรงมีพระวรกายรุ่งโรจน์ พร้อมกับร่องรอยแห่งการตรึงกางเขนของพระองค์ในลักษณะที่รุ่งโรจน์ อันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะที่ดังกึกก้อง ร่างกายของผู้ชอบธรรมก็จะได้รับสิริรุ่งโรจน์ในการพิพากษาครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน

สภาพความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”) แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

“พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ”

CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก

พันธกิจต่อเนื่องกันของพระบุตรและพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 690 พระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้า “พระผู้ทรงรับเจิม” เพราะพระจิตเจ้าทรงเจิมพระองค์ และไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ทรงรับสภาพมนุษย์ ก็ล้วนหลั่งไหลมาจากความบริบูรณ์นี้ ในที่สุด เมื่อพระคริสตเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว พระองค์ก็จะประทับอยู่กับพระบิดาและสามารถส่งพระจิตเจ้ามายังผู้ที่เชื่อในพระองค์ได้ด้วย พระจิตเจ้าจะทรงแบ่งปันพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แก่เขา ซึ่งหมายถึงพระจิตเจ้าผู้ประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระคริสตเจ้า[11]ตั้งแต่นี้ไป พันธกิจร่วมกัน (ของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า )ก็จะครอบคลุมทุกคนที่พระบิดาทรงรับเป็นบุตรบุญธรรมร่วมอยู่ในพระกาย (ทิพย์) ของพระบุตร การส่งพระจิตการรับเป็นบุตรบุญธรรมจะเป็นการรวมมนุษย์กับพระคริสตเจ้าและทำให้เขามีชีวิตในพระองค์

“การเจิมหมายความว่า... เราต้องคิดว่าไม่มีช่องว่างระหว่างพระบุตรกับพระจิตเจ้า เช่นเดียวกับไม่มีช่องว่างที่เรารู้สึกหรือคิดได้คั่นกลางอยู่ระหว่างผิวหนังกับน้ำมันที่เจิม ดังนั้นผู้ที่อยากจะสัมผัสกับพระคริสตเจ้าด้วยความเชื่อ จึงต้องเข้าไปสัมผัสกับน้ำมันที่เจิมเสียก่อน เพราะไม่มีส่วนใดของร่างกายที่ไม่สัมผัสกับพระจิตเจ้า ดังนั้น การจะประกาศว่าพระบุตรทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้นได้จากผู้ที่รับพระจิตเจ้า พระองค์เสด็จจากทุกทิศมายังทุกคนที่เข้ามาหาพระองค์”

ความหวังถึงฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่

CCC ข้อ 1042 เมื่อสิ้นพิภพ พระอาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ หลังการพิพากษามวลมนุษย์แล้ว บรรดาผู้ชอบธรรมจะรับความรุ่งโรจน์ทั้งกายและวิญญาณ จะครองราชย์ตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้า และโลกจักรวาลเองก็จะรับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ เวลานั้น พระศาสนจักร “จะบรรลุถึงความบริบูรณ์ในสิริรุ่งโรจน์แห่งเมืองสวรรค์ เมื่อ […] โลกจักรวาลทั้งหมดซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์และบรรลุถึงจุดหมายของตนอาศัยมนุษย์ ก็จะรับการสถาปนาขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้าพร้อมกับมนุษยชาติทั้งมวลด้วย”

ชีวิตนิรันดร

CCC ข้อ 1060 พระอาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงความบริบูรณ์ของตนเมื่อสิ้นพิภพ เวลานั้นบรรดาผู้ชอบธรรมจะครองราชย์ตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้า ได้รับสิริรุ่งโรจน์ทั้งกายและวิญญาณ และโลกจักรวาลที่เป็นวัตถุก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เวลานั้น พระเจ้าจะทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) ในชีวิตนิรันดร


ยน 20:21-23 ทันทีหลังจากการกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งเป็นเครื่องหมายสูงสุดของชัยชนะเหนือบาปและความตาย พระคริสตเจ้าทรงตั้งศีลแห่งการอภัยบาปและการคืนดี โดยประทานอำนาจแห่งการอภัยบาปในพระนามของพระองค์ให้แก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อมา การเป่าลมเหนือบรรดาอัครสาวก ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า “วันเปนเตกอสเตของยอห์น” นั้น เป็นการบอกล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระจิตเจ้า ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้รับพระจิตจากพระคริสตเจ้า และได้รับอำนาจให้กระทำในพระนามของพระองค์ สำหรับบรรดาอัครสาวกของพระองค์ ที่ได้รับศีลบวชเป็นกลุ่มแรกนี้ ได้รับอำนาจในการอภัยบาปซึ่งเป็นส่วนสำคัญในบทบาทของพวกเขาในการทำให้ประชากรศักดิ์สิทธิ์ ในการส่งพวกเขาออกไปในโลก พระองค์ทรงกำชับพวกเขาให้สืบทอดภารกิจของการเยียวยารักษาฝ่ายจิตต่อไปโดยทางศีลล้างบาปและศีลอภัยบาป ความเชื่อในเรื่องการอภัยบาป เป็นสาระสำคัญของบทยืนยันความเชื่อของบรรดาอัครสาวก และบทข้าพเจ้าเชื่อของสังคายนานิเชอา ซึ่งเราภาวนาในพิธีกรรมของพระศาสนจักร

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)

พันธกิจของบรรดาอัครสาวก

CCC ข้อ 858 พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)

“ข้าพเจ้าเชื่อการอภัยบาป”

CCC ข้อ 976  สูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวกเชื่อมเรื่องการอภัยบาปกับความเชื่อถึงพระจิตเจ้า และยังเชื่อมกับความเชื่อเรื่องพระศาสนจักรและความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพประทานพระจิตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก ประทานอำนาจพระเจ้าของพระองค์ที่จะอภัยบาปแก่เขาทั้งหลาย “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัย” (ยน 20:22-23) (อีกภาคหนึ่งของหนังสือคำสอนนี้จะกล่าวอย่างแจ้งชัดถึงการอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาป ศีลอภัยบาป และศีลอื่นๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท ดังนั้น ที่ตรงนี้จึงเพียงพอแล้วที่จะกล่าวสั้นๆ ถึงคำสอนพื้นฐานบางประการเท่านั้น)

ศีลล้างบาปหนึ่งเดียวเพื่ออภัยบาป

CCC ข้อ 977 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงผูกมัดการอภัยบาปเข้ากับความเชื่อและศีลล้างบาป “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งมวล ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น” (มก 16:15-16) ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดของการอภัยบาป เพราะศีลนี้รวมเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมสละพระชนมชีพเพราะบาปของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม เพื่อ “ให้เราดำเนินชีวิตแบบใหม่” (รม 6:4)

CCC ข้อ 978 “เมื่อเราประกาศยืนยันความเชื่อเป็นครั้งแรกและรับศีลล้างบาป เราก็ได้รับการอภัยบาปโดยสมบูรณ์อย่างที่ว่าไม่มีความผิดใดเหลืออยู่ให้ต้องลบล้างอีก ทั้งความผิดของบาปกำเนิดที่เราได้รับสืบทอดมา และความผิดที่เราได้จงใจทำหรือการจงใจละเว้นไม่ทำหน้าที่ รวมทั้งโทษบาปก็ไม่มีเหลือให้ต้องชดใช้อีกด้วย แต่ถึงกระนั้น พระหรรษทานของศีลล้างบาปก็ไม่ช่วยให้เราพ้นจากความอ่อนแอทุกอย่างตามธรรมชาติของเรา ตรงกันข้าม [...] แต่ละคนต้องต่อสู้กับพลังของตัณหาที่ยังคงชักนำเราให้ทำบาปอย่างไม่หยุดยั้ง”

CCC ข้อ 979 ในการสู้รบกับความเอนเอียงไปหาความชั่วเช่นนี้มีใครบ้างที่แข็งแรงและระวังตัวอยู่ตลอดเวลาจนหลีกหนีบาดแผลของบาปได้ทุกอย่าง “ดังนั้น เนื่องจากว่าในพระศาสนจักรจำเป็นต้องมีอีกอำนาจหนึ่งเพื่ออภัยบาปนอกเหนือจากศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าจึงทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้แก่พระศาสนจักรเพื่อจะได้ใช้อำนาจนี้ให้อภัยความผิดแก่ทุกคนที่เป็นทุกข์กลับใจ แม้ว่าเขาจะยังทำบาปอีกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต”

CCC ข้อ 980 ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วยังอาจคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักรได้อีกอาศัยศีลอภัยบาป “เป็นการเหมาะสมแล้วที่บรรดาปิตาจารย์เรียกศีลอภัยบาปว่าเป็น ‘ศีลล้างบาปที่ลำบากประการหนึ่ง’ ศีลอภัยบาปนี้เป็นศีลที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ตกในบาปหลังจากรับศีลล้างบาปแล้วเท่ากับศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังไม่บังเกิดใหม่มาเป็นคริสตชน”

ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น

CCC ข้อ 1287 ความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าเช่นนี้ต้องไม่คงอยู่เพียงกับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่ต้องแบ่งปันกับประชากรทั้งหมดของพระเมสสิยาห์ด้วย พระคริสตเจ้าทรงสัญญาถึงการหลั่งของพระจิตเจ้านี้หลายครั้ง และทรงทำให้พระสัญญานี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันปัสกา หลังจากนั้นในวันเปนเตกอสเต ด้วยวิธีการที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น บรรดาอัครสาวกซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเริ่มประกาศ “กิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (กจ 2:11) และเปโตรก็ประกาศว่าการหลั่งพระจิตเจ้าลงมานี้เป็นเครื่องหมายของเวลาของพระเมสสิยาห์ ผู้ที่ขณะนั้นมีความเชื่อต่อการประกาศเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกรับศีลล้างบาป ก็ได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน

สรุป - บาปและการอภัย

CCC ข้อ 1485 ค่ำวันปัสกา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวก ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับอภัยด้วย” (ยน 20:22-23)

CCC ข้อ 1486 การอภัยบาปที่ได้ทำหลังรับศีลล้างบาปเกิดขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์เฉพาะที่เรียกว่า ศีลแห่งการกลับใจ การสารภาพบาป ศีลอภัยบาป หรือศีลแห่งการกลับคืนดี

CCC ข้อ 1487 ผู้ที่ทำบาป ทำร้ายต่อพระเกียรติและความรักของพระเจ้า ทำร้ายต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ต่อสภาพความดีฝ่ายจิตของพระศาสนจักรที่คริสตชนแต่ละคนต้องเป็นศิลาทรงชีวิตที่ก่อสร้างพระศาสนจักรนี้

CCC ข้อ 1488 จากมุมมองของความเชื่อ ไม่มีภยันตรายใดที่ร้ายแรงกว่าบาป และไม่มีสิ่งใดที่มีผลร้ายมากกว่าสำหรับคนบาป สำหรับพระศาสนจักรและสำหรับทั่วโลก

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)