แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 19:25-34)                                                     

เวลานั้น พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า “นี่คือแม่ของท่าน” ตั้งแต่เวลานั้น ศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางเป็นมารดาของตน

หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า “เรากระหาย” พระคัมภีร์ตอนนี้จึงเป็นจริงด้วย ที่นั่นมีภาชนะใบหนึ่งบรรจุน้ำองุ่นเปรี้ยวจนเต็มวางอยู่ ทหารจึงใช้ฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายกิ่งหุสบยื่นถึงพระโอษฐ์ พระเยซูเจ้าทรงจิบน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้ว ตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” พระองค์ทรงเอนพระเศียร สิ้นพระชนม์

วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลอง ชาวยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโต เพราะวันสับบาโตวันนั้นเป็นวันฉลองยิ่งใหญ่ เขาจึงขออนุญาตปีลาตให้ทุบขาผู้ที่ถูกตรึงและนำศพไป บรรดาทหารทุบขาคนทั้งสองคนซึ่งถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ เมื่อทหารมาถึงพระเยซูเจ้าและเห็นว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมิได้ทุบขาของพระองค์ แต่ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกาย โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที


ยน 19:25-27  หญิงเอ๋ย : ในงานมงคลสมรสที่เมืองคานา พระคริสตเจ้าทรงเรียกพระมารดาของพระองค์ด้วยคำว่า “สตรี” เป็นคำที่ชวนให้ระลึกถึง เอวา “สตรี”แห่งสวนเอเดน ความนบนอบเชื่อฟังของพระนางมารีย์ต่อพระเจ้าได้พลิกกลับบาปที่เอวาได้ทำ ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงได้ยกย่องพระนางมารีย์เป็น เอวาใหม่  นี่คือแม่ของท่าน : เป็นคำกล่าวที่มอบความไว้วางใจต่อศิษย์สุดที่รักให้ดูแลมารดาของพระองค์ และมอบศิษย์ให้แด่มารดาของพระองค์ พระคริสตเจ้าได้ทรงแต่งตั้งพระนางมารีย์ให้เป็นมารดาของพระศาสนจักร พระนางจึงทรงเป็นมารดาฝ่ายจิตของบรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ คำว่า ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” มักเป็นคำที่ใช้หมายถึง ร่างกายทั้งครบของพระศาสนจักร ในบทวันทามารีย์ เราวอนขอพระมารดา “โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย” เพื่อวอนขอให้พระนางประทับกับเราในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ดังที่พระนางได้ทรงอยู่แทบเชิงไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า  

พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า

CCC ข้อ 495 พระนางมารีย์ ซึ่งในพระวรสารได้รับพระนามว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (ยน 2:1; 19:25) แม้ก่อนจะประสูติพระบุตร นางเอลีซาเบธก็ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าประกาศว่าพระนางทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:43) แล้ว พระองค์ที่พระนางได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์เดชะพระจิตเจ้า และทรงรับสภาพมนุษย์มาเป็นพระบุตรของพระนางนี้ก็มิใช่ผู้ใดอื่นจากพระบุตรนิรันดรของพระบิดา พระบุคคลที่สองของพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า (Theotokos) โดยแท้จริง

พระนางมารีย์ “ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ”

CCC ข้อ 501 พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระนางมารีย์ แต่ความเป็นพระมารดาฝ่ายจิตของพระนางมารีย์แผ่ขยายครอบคลุมมนุษย์ทุกคนที่พระองค์เสด็จมาทรงกอบกู้ “พระนางประสูติพระบุตรซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก (เทียบรม 8:29) ซึ่งหมายถึงผู้มีความเชื่อที่พระนางทรงร่วมมือให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนด้วยความรักเยี่ยงมารดา”

“วันทา ท่านผู้เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน”

CCC ข้อ 726 พระพันธกิจนี้ของพระจิตเจ้าจบลงเมื่อพระนางมารีย์ทรงเป็น “หญิง” เป็นเหมือนกับ “นางเอวาคนใหม่” ซึ่งเป็น “มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย” พระนางทรงเป็นพระมารดา “ของพระคริสตเจ้าทั้งองค์” (totius Christi) เมื่อเป็นเช่นนี้ พระคัมภีร์จึงกล่าวถึงพระนางว่าทรง “ร่วมภาวนาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” พร้อมกับศิษย์ทั้งสิบสองคน (กจ 1:14) ในช่วงเริ่มแรกของ “ยุคสุดท้าย” ตอนเช้าของวันเปนเตกอสเตเมื่อพระศาสนจักรแสดงตนแก่มวลมนุษย์

พระนางมารีย์ – พระมารดาของพระคริสตเจ้า พระมารดาของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 963 หลังจากที่เราได้กล่าวถึงบทบาทของพระนางพรหมจารีในพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้าแล้ว บัดนี้เราต้องพิจารณาว่าพระนางทรงอยู่ที่ไหนในพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรด้วย “พระนางพรหมจารีมารีย์ […] ทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับเกียรติเป็นพระมารดาของพระเจ้า และพระผู้ไถ่โดยแท้จริง […] ยิ่งกว่านั้น พระนางยังเป็นมารดาอย่างสมบูรณ์ของส่วนต่าง ๆ ของพระวรกาย (ของพระคริสตเจ้า)... เพราะพระนางทรงร่วมงานไถ่กู้นี้ด้วยความรักเพื่อให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้เกิดในพระ ศาสนจักร เป็นเสมือนส่วนต่าง ๆ ของ (พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น) ศีรษะ” “พระนางมารีย์พระมารดาของพระคริสตเจ้าจึงทรงเป็นพระมารดาของพระศาสนจักรอีกด้วย”

พระนางทรงเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์กับพระบุตรของพระนาง

CCC ข้อ 964 บทบาทของพระนางมารีย์ต่อพระศาสนจักรนั้นแยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ของพระนาง กับพระคริสตเจ้า และยังสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์นี้ด้วย “ความสัมพันธ์นี้ของพระนางมารีย์กับพระบุตรในงานไถ่กู้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เวลาที่พระคริสตเจ้าทรงปฏิสนธิจากพระนางพรหมจารีจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์” ความสัมพันธ์นี้เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในเวลาที่ทรงรับทรมาน “พระนางพรหมจารียังทรงก้าวหน้าอยู่เสมอในวิถีทางแห่งความเชื่อ และทรงรักษาความสัมพันธ์ของพระนางกับพระบุตรไว้อย่างมั่นคงจนถึงไม้กางเขนที่ซึ่งพระนางทรงยืนอยู่ด้วยตามแผนการที่พระเจ้าทรงจัดไว้ (เทียบ ยน 19:25) ทรงร่วมทุกข์อย่างแสนสาหัสกับพระบุตรแต่องค์เดียวของพระนางและร่วมถวายตนด้วยจิตใจเยี่ยงมารดาเป็นบูชาร่วมกับพระบุตร เต็มพระทัยยอมถวายพระบุตรที่ทรงบังเกิดจากพระนางเป็นเครื่องบูชาด้วยความรัก และในที่สุดพระนางยังทรงรับเป็นมารดาของศิษย์ที่พระเยซูเจ้าซึ่งกำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนทรงมอบให้ด้วยพระวาจาที่ตรัสว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” (เทียบ ยน 19:26-27)”

ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า

CCC ข้อ 2677 “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลาย...” เรารู้สึกแปลกใจเหมือนนางเอลีซาเบธ “ทำไมพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า” (ลก 1:43) เพราะเหตุที่พระนางมารีย์ทรงให้พระเยซูพระบุตรของพระนางแก่เรา พระนางจึงเป็นพระมารดาพระเจ้าและพระมารดาของเรา เราจึงอาจฝากตัวเรา ความกังวลและความต้องการทุกอย่างของเราไว้กับพระนางและวอนขอได้ พระนางทรงวอนขอเพื่อเราเช่นเดียวกับเพื่อพระนางเอง “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) เราฝากตัวไว้กับคำวอนขอของพระนาง เรามอบตัวเราพร้อมกับพระนางไว้กับพระประสงค์ของพระเจ้า “พระประสงค์จงสำเร็จไปเถิด” “โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตายเทอญ” เมื่อวอนขอให้พระนางมารีย์ภาวนาเพื่อเรา เรายอมรับว่าเป็นคนบาปน่าสงสารและหันมาหา “พระมารดาผู้ทรงเมตตากรุณา” มาหาพระนางผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ เราฝากตัวเราไว้กับพระนาง “บัดนี้” ในวันนี้ชีวิตของเรา ความวางใจของเรายังขยายออกไปอีกเพื่อมอบ “เวลาที่เราจะสิ้นใจ” แก่พระนาง ณ บัดนี้ด้วย ขอให้พระนางอยู่กับเราในเวลานั้นเหมือนกับที่ได้ทรงอยู่กับพระบุตรเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และขอให้พระนางทรงรับเราเหมือนกับเป็นมารดาของเรา และนำเราไปพบพระบุตรของพระนางในสวรรค์ด้วย

CCC ข้อ 2678 ความศรัทธาของคริสตชน พระศาสนจักรตะวันตกในสมัยกลางได้พัฒนาการสวดสายประคำขึ้นเป็นการทดแทนพิธีทำวัตรแบบชาวบ้าน ส่วนในพระศาสนจักรตะวันออก การภาวนาที่มีรูปแบบการตอบรับซํ้าๆ กันเช่น Akathistos และ Parklesis ยังคงเป็นรูปแบบการอธิษฐานภาวนาคล้ายกับการขับร้องทำวัตรในพระศาสนจักรต่างๆ ของจารีตไบแซนไทน์ ขณะที่ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรอาร์เมเนีย ค็อปต์ และซีเรียคชอบบทเพลงสรรเสริญแบบชาวบ้านต่อพระมารดาพระเจ้ามากกว่า แต่บท “วันทามารีย์” บท Theotokia เพลงสรรเสริญของนักบุญเอเฟรมหรือเกรโกรีแห่งนาเร็ก ต่างยังรักษาธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีรากฐานเดียวกัน

CCC ข้อ 2679 พระนางมารีย์เป็นผู้อธิษฐานภาวนาที่สมบูรณ์ เป็นรูปแบบของพระศาสนจักร เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระนาง เราก็ใกล้ชิดกับแผนการของพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาเพื่อช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น เรารับพระนางมาเป็นมารดาของเรา พระมารดาของพระเยซูเจ้ากลับมาเป็นพระมารดาของทุกคนผู้มีชีวิต เราอาจอธิษฐานภาวนากับพระนางและอธิษฐานภาวนาตอ่ พระนางได้ การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรคล้ายกับว่าได้รับการอุดหนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กับพระองค์ในความหวัง


ยน 19:28  เรากระหาย : พระคริสตเจ้าทรงประสบกับความกระหายแบบมนุษย์ แต่ในที่นี้มีอีกนัยหนึ่งคือพระองค์ทรงกระหายที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดา จากประโยคที่ว่า “ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เรา” (ยน 18:11) ซึ่งยังหมายถึงความกระหายของพระองค์สำหรับความรอดพ้นของวิญญาณทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงแสดงต่อหญิงชาวสะมาเรีย (เทียบ ยน 4:7)

การแจ้งข่าวเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 544 พระอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของคนยากจนและต่ำต้อย นั่นคือเป็นของคนเหล่านั้นที่รับพระอาณาจักรด้วยจิตใจถ่อมตน พระเจ้าทรงส่งพระเยซูเจ้ามา “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18) พระองค์ทรงประกาศว่าคนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3) พระบิดาทรงโปรดที่จะเปิดเผยเรื่องที่ถูกปิดบังไว้จากผู้มีปรีชาและรอบรู้ให้แก่ “บรรดาผู้ต่ำต้อย” เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงร่วมชีวิตของผู้ยากจนนับตั้งแต่ทรงสมภพในรางหญ้าจนถึงไม้กางเขน ทรงมีประสบการณ์ความหิวโหย ความกระหาย และความขัดสน ยิ่งกว่านั้น  พระองค์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับคนยากจนทุกชนิดและทรงกำหนดให้ความรักต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้หนึ่งจะเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ได้

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา

CCC ข้อ 607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” (ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (ยน 19:28)

การอธิษฐานภาวนาในฐานะของประทานจากพระเจ้า

CCC ข้อ 2561 “ท่านคงกลับเป็นผู้ขอ และผู้นั้นจะให้น้ำที่ให้ชีวิตแก่ท่าน” (ยน 4:10) ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ คำภาวนาวอนขอของเรากลับเป็นคำตอบ เป็นคำตอบต่อคำวอนขอของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต “เขาได้ละทิ้งเราซึ่งเป็นพุน้ำไหล แล้วไปสกัดหินเป็นที่ขังน้ำสำหรับตน เป็นที่ขังน้ำรั่วซึ่งเก็บน้ำไว้ไม่ได้” (ยรม 2:13) เป็นคำตอบของความเชื่อต่อพระสัญญาที่จะประทานความรอดพ้นให้เปล่าๆ เป็นคำตอบของความรักต่อความกระหายของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว


ยน 19:29  กิ่งหุสบ : กิ่งไม้ที่ใช้ปะพรมในพิธีกรรม ชาวยิวได้ใช้กิ่งของต้นไม้นี้เพื่อทาเลือดของลูกแกะบูชายัญที่ประตูบ้านและที่แท่นในบ้านของพวกเขาในวันปัสกาดั้งเดิม


ยน 19:30  สำเร็จบริบูรณ์แล้ว : โดยการทำให้ “ถ้วย” ที่ได้รับสมบูรณ์ พระคริสตเจ้าทรงจำเป็นต้องดื่ม และทำให้แผนการของพระบิดาสำเร็จไป พระองค์จึงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน

CCC ข้อ 607 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 19:28)

พระเยซูคริสตเจ้าทรงถูกฝังไว้

CCC ข้อ 624 “อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า พระองค์ทรงลิ้มรสความตายเพื่อมนุษย์ทุกคน” (ฮบ 2:9) พระเจ้าทรงจัดไว้ในแผนการความรอดพ้นให้พระบุตรของพระองค์ไม่เพียงแต่ “สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา” (1 คร 15:3) เท่านั้น แต่เพื่อทรง “ลิ้มรสความตาย” ด้วย ซึ่งหมายความว่าเพื่อทรงรู้จักสภาวะของความตาย คือสภาวะที่พระวิญญาณแยกจากพระกายในช่วงเวลาที่ทรงสิ้นพระชนม์กับเวลาที่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ สภาพของพระคริสตเจ้าที่สิ้นพระชนม์นี้เป็นธรรมล้ำลึกของพระคูหาและการเสด็จลงไปในแดนผู้ตาย  เป็นธรรมล้ำลึกของวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เมื่อพระคริสตเจ้าทรงถูกฝังอยู่ในพระคูหา ทรงแสดงถึงการพักผ่อนยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในวันสะบาโต หลังจากที่การประทานความรอดพ้นแก่มนุษย์เสร็จบริบูรณ์แล้วความรอดพ้นนี้นำสันติมาให้ทุกสิ่งในจักรวาล

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)


ยน 19:31-42 ทั้งโยเซฟชาวอาริมาเทียและนิโคเดมัสเป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน เป็นเพื่อนที่จริงใจต่อพระคริสตเจ้า ได้มาขอพระศพของพระคริสตเจ้าเพื่อนำไปทำพิธีฝังอย่างเหมาะสม ความอาจหาญของพวกเขาคือแบบอย่างที่แท้จริงของคุณธรรมแห่งความกล้าหาญ ซึ่งสวนทางกับความลับที่พวกเขายอมรับคำสอนของพระคริสตเจ้าเพราะกลัวการตำหนิจากผู้มีอำนาจของชาวยิว

การแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)


ยน 19:33 บางครั้งพวกทหารได้ทำการหักขาของผู้ที่ถูกตรึงกางเขน เพื่อทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น


ยน 19:34  โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที : โลหิตและน้ำเป็นเครื่องหมายถึงศีลล้างบาปและพิธีบูชาขอบพระคุณ ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตใหม่ เอวาได้ถูกสร้างมาจากสีข้างของอาดัมฉันใด พระศาสนจักรก็ถูกสร้างมาจากสีข้างของพระคริสตเจ้าฉันนั้น น้ำยังหมายถึงพระจิตเจ้าที่หลั่งมายังโลกนี้โดยพระคริสตเจ้า เป็น “น้ำแห่งชีวิต” ที่พระองค์ทรงกล่าวแก่หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ (เทียบ ยน 4:10)

พระหทัยของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์

CCC ข้อ 478 พระเยซูเจ้าทรงรู้จักและรักเราทุกคน แต่ละคนในพระชนมชีพของพระองค์ ในขณะที่ทรงเป็นทุกข์ในสวนมะกอกเทศ และเมื่อทรงรับทรมาน พระองค์ยังทรงมอบพระองค์เพื่อพวกเราแต่ละคนด้วย พระบุตรของพระเจ้า “ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20) พระองค์ทรงรักเราทุกคนด้วยพระหทัยมนุษย์ เพราะเหตุนี้ พระหทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าซึ่งถูกแทงเพราะบาปของเราและเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น “จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นสัญลักษณ์ [...] ของความรักที่พระผู้ไถ่ทรงรักพระบิดานิรันดรและมวลมนุษย์อยู่ตลอดเวลา”

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 694 “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึงการกระทำของพระจิตเจ้าในศีลล้างบาป เนื่องจากว่าหลังจากการเรียกขานพระจิตเจ้าแล้ว น้ำกลายเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์ของการเกิดใหม่ การเกิดครั้งแรกของเราเกิดขึ้นในน้ำภายในครรภ์มารดาฉันใด อันที่จริงน้ำศีลล้างบาปก็หมายความว่าเราได้เกิดมารับชีวิตของพระเจ้าเดชะพระจิตเจ้าฉันนั้น แต่ “เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนได้รับการล้างมารวมกัน […] เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน” (1 คร 12:13) พระจิตเจ้าเองจึงทรงเป็นน้ำทรงชีวิตที่เกิดจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนประหนึ่งจากพุน้ำซึ่งไหลรินในตัวเราเพื่อชีวิตนิรันดร

พระศาสนจักร – พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น

CCC ข้อ 766 แต่ก่อนอื่นหมด พระศาสนจักรเกิดจากการที่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์ทั้งหมดเพื่อความรอดพ้นของเรา พระองค์ทรงแสดงล่วงหน้าให้เห็นการมอบนี้แล้วในการทรงตั้งศีลมหาสนิท และทรงทำให้การมอบพระองค์นี้สำเร็จเป็นจริงบนไม้กางเขน “พระโลหิตและน้ำที่ไหลออกมาจากด้านข้างพระวรกายของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์หมายถึงจุดเริ่มต้นและการเจริญเติบโต (ของพระศาสนจักร)” “เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์น่าพิศวงของพระศาสนจักรทั้งหมดเกิดจากด้านข้างพระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” นางเอวาถูกสร้างขึ้นจากสีข้างของอาดัมฉันใด พระศาสนจักรก็เกิดมาจากพระหทัยที่ถูกแทงของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน”

พิธีล้างของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1225 ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5)

  “เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”

การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 2669 การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรถวายพระเกียรติและเคารพนับถือดวงพระทัยของพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับที่เรียกขานพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ กราบนมัสการพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์และดวงพระทัยของพระองค์ที่ทรงยอมให้ถูกแทงเพราะความรักต่อมนุษย์และเพราะบาปของเรา การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนยังชอบเดินตามทางไม้กางเขน สถานที่ต่างๆ จากจวนผู้ว่าราชการถึงเนินกลโกธา ไปจนถึงพระคูหาเป็นการเดินตามหนทางของพระเยซูเจ้าผู้ทรงไถ่โลกด้วยไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)