แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต 

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 9:28ข-36)                                                

เวลานั้น พระองค์ทรงพาเปโตร ยอห์น และยากอบ ขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ลักษณะของพระพักตร์เปลี่ยนไปและฉลองพระองค์มีสีขาวเจิดจ้า ทันใดนั้น บุรุษสองคนคือโมเสสและประกาศกเอลียาห์มาสนทนากับพระองค์ ทั้งสองคนปรากฏมาในสิริรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม เปโตรและเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก เมื่อตื่นขึ้นก็เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และเห็นบุรุษทั้งสองคนยืนอยู่กับพระองค์ ขณะที่บุรุษทั้งสองคนกำลังจะจากพระเยซูเจ้าไป เปโตรทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” เขาไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร ขณะที่เขากำลังพูดอยู่นั้น เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ เมื่ออยู่ในเมฆ เขากลัวมาก เสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” เมื่อสิ้นเสียงนั้นแล้ว ศิษย์ทั้งสามก็เห็นพระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว  เขาเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ได้บอกเรื่องที่เห็นให้ผู้ใดรู้เลยในเวลานั้น 


ลก 9:28-36  การสำแดงพระองค์ของพระเยซูเจ้าทำให้ศิษย์ที่ใกล้ชิดที่สุดได้เห็นพระพักตร์ที่รุ่งโรจน์ของพระองค์ การที่พระคริสตเจ้าทรงสำแดงความเป็นพระเจ้าของพระองค์อย่างน่าประทับใจเช่นนี้ได้เพิ่มพูนความเชื่อของพวกเขา เช่นเดียวกับการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าเหตุการณ์นี้ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่สำแดงถึงพระตรีเอกภาพด้วย อีกทั้งยังเป็นการยืนยันถึงการที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้ธรรมบัญญัติและประกาศกสำเร็จไปด้วยการแสดงว่าพระองค์ทรงอยู่กับโมเสส ผู้มอบบัญญัติ และเอลียาห์ ประกาศกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในพันธสัญญาเดิม     

คุณลักษณะทั่วไปของพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 516 พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้า พระวาจาและพระภารกิจ ความเงียบและพระทรมาน วิธีการเป็นอยู่ วิธีตรัสของพระองค์ เป็นการเปิดเผยพระบิดาให้เรารู้จัก พระเยซูเจ้าจึงตรัสได้ว่า “ผู้ที่เห็นเราก็เห็นพระบิดาด้วย” (ยน 14:19) พระบิดายังตรัสอีกว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราเลือกสรร จงฟังท่านเถิด” (ลก 9:35) เนื่องจากว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา ลักษณะแม้เพียงเล็กน้อยจากพระธรรมล้ำลึกของพระองค์จึงแสดงให้เราเห็นความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา    

การมีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงพระอาณาจักร ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง

CCC ข้อ 554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้ ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์, โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ “กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด”(ลก 9:35)    

จะต้องประกอบพิธีกรรมอย่างไร – เครื่องหมายและสัญลักษณ์

CCC ข้อ 1151 เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงรับมา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างเป็นเครื่องหมายเพื่อทรงสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ทรงใช้วัตถุหรือการกระทำแบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายเมื่อทรงรักษาโรคหรือเทศน์สอน พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์และเครื่องหมายต่างๆ ในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะการอพยพและฉลองปัสกา เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งหมด    

เอลียาห์ บรรดาประกาศพ และการกลับใจ

CCC ข้อ 2583 ลังจากที่ประกาศกเอลียาห์ได้เรียนรู้ถึงพระกรุณาเมื่อเขาหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ลำธารเครีทแล้ว เขายังสอนหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัทให้เชื่ออย่างจริงจังต่อพระวาจาของพระเจ้าที่เขายืนยันด้วยการอธิษฐานภาวนา และพระเจ้าทรงทำให้บุตรชายของหญิงม่ายกลับมีชีวิตขึ้นมาอีก เมื่อมีการถวายบูชาบนภูเขาคาร์เมล ไฟขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงมาเผาเครื่องบูชาตามคำวอนขอของประกาศก เป็นการพิสูจน์อย่างเด็ดขาดสำหรับความเชื่อของประชากรของพระเจ้า “เมื่อถึงเวลาถวายเครื่องบูชา” ตอนเย็น  “โปรดทรงตอบข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงตอบข้าพเจ้าเถิด” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จารีตตะวันออกยังคงใช้ถ้อยคำเดียวกันนี้ของประกาศกเอลียาห์ในบทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า (epiclesis) ของพิธีบูชาขอบพระคุณจนถึงเวลานี้ด้วย          ในที่สุด ประกาศกเอลียาห์ก็เดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารไปถึงสถานที่ที่พระเจ้าเที่ยงแท้และทรงพระชนม์ได้ทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากร(อิสราเอล) เขาเข้าไปหลบซ่อนเหมือนโมเสส “ในถ้ำ” จนกระทั่งการประทับอยู่อย่างลึกลับของพระเจ้า “ได้ผ่านมา” แต่ในการแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาเท่านั้นที่พระพักตร์ของผู้ที่ทั้งโมเสสและเอลียาห์เคยพยายามแสวงหาจะเปิดเผยให้เห็น คือการรู้จักพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าบนพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ    

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2600 พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเน้นการกระทำของพระจิตเจ้าและความหมายของการอธิษฐานภาวนาในการปฏิบัติพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาก่อนการปฏิบัติพันธกิจที่สำคัญของพระองค์ เช่น ก่อนที่พระบิดาจะทรงเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในการรับพิธีล้าง เมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ ก่อนจะทรงทำให้แผนการความรักของพระบิดาสำเร็จไปโดยการรับทนทรมานของพระองค์ พระองค์ยังทรงอธิษฐานภาวนาก่อนถึงเวลาที่จะทรงมอบพันธกิจอย่างเด็ดขาดแก่บรรดาอัครสาวก ก่อนจะทรงเลือกและเรียกศิษย์สิบสองคน ก่อนที่เปโตรจะประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระคริสต์ของพระเจ้า และเพื่อหัวหน้าของบรรดาอัครสาวกจะไม่เสียความเชื่อเมื่อถูกประจญ การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าก่อนเหตุการณ์ความรอดพ้นที่พระบิดาทรงขอให้พระองค์ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นการมอบถวายความตั้งพระทัยแบบมนุษย์ของพระองค์ไว้กับพระประสงค์ที่เปี่ยมด้วยความรักของพระบิดา   


ลก 9:33-35  ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้พระเยซูเจ้าทรงเข้มแข็งขึ้นและค้ำจุนความหวังของพระองค์ในการเผชิญหน้ากับกางเขน  

เมฆก้อนหนึ่ง : พระคัมภีร์มักกล่าวถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าในรูปแบบของการสำแดงพระองค์ -เป็นการแสดงถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าแบบแลเห็นได้- ซึ่งในกรณีนี้เป็นภาพลักษณ์ของก้อนเมฆ ส่วนในโอกาสอื่นอาจเป็นในรูปแบบของไฟ เสียงฟ้าร้อง หรือแสงสว่าง     

การทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง

CCC ข้อ 556 การรับพิธีล้างเป็นเสมือนการก้าวเข้าสู่พระพันธกิจเทศน์สอนประชาชน การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นการก้าวเข้าสู่พระธรรมล้ำลึกปัสกา พิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นการ “ประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องการบังเกิดใหม่ครั้งแรก” คือศีลล้างบาปของเรา การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือการบังเกิดใหม่ครั้งที่สอง” คือการ กลับคืนชีพของเรา ตั้งแต่บัดนี้แล้ว เรามีส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยทางพระจิตเจ้าซึ่งทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้า การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์โปรดให้เรามีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า “ซึ่งจะทรงเปลี่ยนรูปร่างอันต่ำต้อยของเราให้เหมือนพระกายรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ฟป 3:21) แต่เหตุการณ์นี้ยังเตือนเราให้ระลึกด้วยว่า “พวกเราจำเป็นต้องฟันฝ่าความทุกข์ยากเป็นอันมากจึงจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้” (กจ 14:22): “เปโตรยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อเขาปรารถนาจะอยู่บนภูเขากับพระคริสตเจ้า[319] เปโตรเอ๋ย พระองค์ทรงสงวนเรื่องนี้ไว้สำหรับท่านเมื่อท่านตายแล้ว แต่บัดนี้พระองค์ตรัสว่า จงลงไปทำงานในโลก ลงไปรับใช้ในโลก ลงไปถูกสบประมาทและถูกตรึงกางเขนในโลก ชีวิตลงไปเพื่อถูกประหาร อาหารลงไปเพื่อหิว หนทางลงไปเพื่อหมดแรงขณะเดินทาง พุน้ำลงไปเพื่อกระหายน้ำ แล้วท่านยังปฏิเสธไม่ยอมลำบากเทียวหรือ?”    

พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ

CCC ข้อ 659  “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก    

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 697 “เมฆและแสงสว่าง”  สัญลักษณ์ทั้งสองประการนี้แยกกันไม่ได้ในการสำแดงองค์ของพระจิตเจ้า ตั้งแต่การสำแดงพระองค์ในพันธสัญญาเดิมแล้ว เมฆทั้งที่มืดคลุ้มหรือส่องแสงจ้าเปิดเผยพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์   และกอบกู้ เป็นการเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ที่อยู่เหนือทุกสิ่งของพระองค์ เช่นกับโมเสสบนภูเขาซีนาย เหนือกระโจมนัดพบ ตลอดเวลาการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร แก่กษัตริย์ซาโลมอนในโอกาสถวาย พระวิหาร ดังนั้น พระคริสตเจ้าทรงทำให้ภาพลักษณ์เหล่านี้สำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรง “แผ่เงา” ปกคลุมพระนางมารีย์พรหมจารีเพื่อให้พระนางปฏิสนธิและให้กำเนิดพระเยซูเจ้า บนภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระจิตเจ้าเสด็จมาในเมฆซึ่งปกคลุมพระเยซูเจ้า โมเสสและประกาศกเอลียาห์รวมทั้งเปโตร ยากอบและยอห์น “และเสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด’” (ลก 9:35) เมฆเช่นเดียวกันนี้เองในที่สุดก็ “บังพระเยซูเจ้าจากสายตา” ของบรรดาศิษย์ในวันที่เสด็จสู่สวรรค์ และจะเปิดเผยบุตรแห่งมนุษย์ในพระสิริรุ่งโรจน์ในวันที่พระองค์จะเสด็จกลับมา    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)