แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือพันธสัญญาเดิม
(Introduction to the Old Testament)

แปลจาก The New Jerusalem Bible
โดยคุณพ่อทัศไนย์  คมกฤส

1. ความรู้เกี่ยวกับหนังสือปัญจบรรพ

1. ชื่อหนังสือ การแบ่ง และเนื้อหา
    หนังสือห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์รวมกันเป็นหนึ่งหน่วย ชาวยิวเรียกหนังสือกลุ่มนี้ว่า Torah คือ “ธรรมบัญญัติ” หรือ “กฎหมาย” หลักฐานแรกที่น่าเชื่อถือถึงชื่อนี้คือหนังสือบุตรสิรา และเมื่อเริ่มคริสตกาล ชาวยิวนิยมใช้ชื่อนี้แล้ว ดังที่พบได้ในพันธสัญญาใหม่ (มธ 5:17; ลก 10:26; ดู ลก 24:44)

    ชาวยิวแบ่งหนังสือ “ธรรมบัญญัติ” นี้ออกเป็นห้าเล่มที่มีความยาวใกล้เคียงกันเพื่อความสะดวกในการคัดลอกเนื้อหายืดยาวนี้ ชาวยิวที่พูดภาษากรีกจึงเรียกหนังสือธรรมบัญญัตินี้ว่า “ปัญจบรรพ” [Pentateuchos (biblos)] ซึ่งแปลว่า “หนังสือที่มีห้าเล่ม” และเขียนทับศัพท์เป็นภาษาละตินว่า “Pentateuchus (liber)” และกลายเป็นภาษาอังกฤษว่า Pentateuch แต่ชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรูจะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่า “ห้าหนึ่งในห้าของธรรมบัญญัติ”

    พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกที่เรียกว่า Septuagint เป็นพยานว่าการแบ่งหนังสือธรรมบัญญัติเป็นห้าเล่มนี้มีมาก่อนคริสตกาลแล้ว ผู้แปลหนังสือพันธสัญญาเดิมจากภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีก ตั้งชื่อหนังสือแต่ละเล่มตามเนื้อหา และพระศาสนจักรในภายหลังก็ใช้ชื่อเหล่านี้ด้วย ดังนั้น หนังสือซึ่งเริ่มต้นด้วยเรื่องราวการสร้างโลกจึงได้ชื่อว่า “Genesis” (ซึ่งแปลว่า “ต้นกำเนิด” ส่วนชื่อภาษาไทย “ปฐมกาล” นั้นใกล้เคียงกับชื่อหนังสือในภาษาฮีบรูมากกว่า) หนังสือเล่มที่สองซึ่งเล่าถึงการอพยพของชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์จึงมีชื่อว่า “Exodus” (อพยพ) เล่มที่สามได้ชื่อว่า “Leviticus” (เลวีนิติ) เพราะบรรจุกฎหมายของบรรดาสมณะเผ่าเลวี สี่บทแรกของหนังสือเล่มที่สี่กล่าวถึงการสำรวจสำมะโนประชากรของอิสราเอล จึงได้ชื่อว่า “Numbers” (จำนวน) แต่ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “กันดารวิถี” เพราะเล่าเรื่องการเดินทางของชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร เล่มที่ห้าได้ชื่อว่า “Deuteronomy” (กฎหมายฉบับที่สอง) ตามคำแปลภาษากรีกของ ฉธบ 17:18 ภาษาไทยเรียกว่า “เฉลยธรรมบัญญัติ” อย่างไรก็ตาม ชาวยิวไม่ใช้ชื่อเหล่านี้เรียกหนังสือทั้งห้าเล่ม แต่ใช้คำภาษาฮีบรูคำแรกของหนังสือแต่ละเล่มเป็นชื่อหนังสือ
หนังสือปฐมกาล แบ่งเป็นสองภาคที่มีความยาวไม่เท่ากัน คือ บทที่ 1-11 และบทที่ 12-50 ภาคแรก กล่าวถึงเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์เป็นการนำเข้าสู่ประวัติศาสตร์แห่งความรอด ซึ่งเป็นความคิดหลักของพระคัมภีร์ทั้งหมด เรื่องเล่าในภาคนี้กล่าวถึงการเริ่มต้นของโลกและการสำรวจมนุษยชาติทั้งหมด กล่าวถึงการสร้างจักรวาลและมนุษยชาติ การที่มนุษย์ตกในบาปและผลที่ตามมา มนุษยชาติทำบาปมากยิ่งขึ้นจนพระเจ้าทรงบันดาลให้เกิดน้ำวินาศเป็นการลงโทษ หลังจากโนอาห์มนุษยชาติเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่พระคัมภีร์จะให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่อับราฮัม บิดาของประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร โดยค่อยๆจำกัดลำดับวงศ์วานของมนุษยชาติให้แคบลง ภาคที่สอง (บทที่ 12-50) เล่าประวัติศาสตร์ของบรรดาบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล โดยบรรยายลักษณะเด่นเฉพาะของแต่ละคน อับราฮัมเป็นผู้มีความเชื่อ พระเจ้าทรงตอบแทนความนอบน้อมเชื่อฟังของเขาโดยทรงสัญญาว่าเขาจะมีลูกหลาน และลูกหลานเหล่านี้จะได้ครอบครองแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (12:1-25:18) ยาโคบเป็นคนมีเล่ห์เหลี่ยม ใช้เล่ห์เหลี่ยมแย่งชิงสิทธิบุตรคนแรกจากเอซาวพี่ชาย หลอกอิสอัคผู้เป็นบิดาให้อวยพรตน และยังใช้เล่ห์เหลี่ยมเอาชนะลาบัน ลุงของตนซึ่งมีเล่ห์เหลี่ยมพอๆ กัน แต่การใช้เล่ห์เหลี่ยมทั้งหมดนี้จะไร้ประโยชน์ถ้าพระเจ้าไม่ทรงเลือกเขามากกว่าเอซาวตั้งแต่ก่อนเขาจะเกิดมา และทรงรื้อฟื้นทั้งพระสัญญาและพันธสัญญาที่ทรงกระทำไว้กับอับราฮัม (25:19 จนถึงบทที่ 36) เรื่องราวของอิสอัค บุตรของอับราฮัมและบิดาของยาโคบไม่มีรายละเอียดพอที่จะทำให้เราเข้าใจบุคลิกของเขาเด่นชัดนัก แต่เล่าไว้เพื่อเสริมความเข้าใจถึงอับราฮัมหรือยาโคบเท่านั้น บุตรทั้งสิบสองคนของยาโคบเป็นต้นตระกูลของเผ่าทั้งสิบสองของอิสราเอล บทสุดท้ายของหนังสือปฐมกาล (บทที่ 37-50 เว้นบทที่ 38 และ 49) กล่าวถึง บุตรคนหนึ่งของยาโคบ คือโยเซฟผู้มีปรีชาญาณ เรื่องชุดเกี่ยวกับโยเซฟต่างจากเรื่องราวที่เล่าก่อนหน้านั้น ไม่เล่าว่าพระเจ้าทรงเข้ามาแทรกแซงในชีวิตของโยเซฟอย่างอัศจรรย์หรือทรงเปิดเผยความจริงใหม่แต่อย่างใด กระนั้นก็ดี ยังมีบทสอนว่าพระเจ้าทรงตอบแทนคุณธรรมของผู้มีปรีชาญาณ และพระญาณเอื้ออาทรจะบันดาลให้ความบกพร่องของมนุษย์บังเกิดผลดีได้
หนังสือปฐมกาลมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เล่าประวัติศาสตร์ของบรรดาบรรพบุรุษ หนังสืออีกสามเล่มที่ตามมาชีวิตของโมเสสเป็นกรอบ เล่าเรื่องการก่อตั้งประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร และอธิบายว่ากฎหมายทางสังคมและศาสนาได้ถูกกำหนดขึ้นอย่างไร
หนังสืออพยพ มีความคิดหลักสองประการ คือ การปลดปล่อยอิสราเอลจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์ (1:1 – 15:21) และพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย (19:1 – 40:38) ความคิดหลักที่สำคัญน้อยกว่าคือการเดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นตัวเชื่อมความคิดหลักทั้งสองเข้าด้วยกัน (15:22 – 18:27) หลังจากโมเสสได้รับการเผยให้ทราบพระนามของพระยาห์เวห์ที่ภูเขาของพระเจ้าแล้ว เขานำชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ไปถึงภูเขานั้น พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง ทรงกระทำพันธสัญญากับประชากรอิสราเอลและทรงประกาศกฎหมายของพระองค์ ประชากรละเมิดพันธสัญญาเกือบจะทันทีหลังจากทำพันธสัญญานั้น   พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับเขา เขากราบนมัสการรูปลูกโคทองคำ แต่พระเจ้าทรงให้อภัยบาปและรื้อฟื้นพันธสัญญากับเขา  ต่อจากนั้นเป็นรายการข้อกำหนดต่างๆ ที่ควบคุมศาสนพิธีในสภาพแวดล้อมของการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร
หนังสือเลวีนิติ เป็นตัวบทกฎหมายเกือบทั้งเล่มเข้ามาคั่นเรื่องเล่า สาระสำคัญก็คือ พิธีการถวายเครื่องบูชา (บทที่ 1-7) พิธีแต่งตั้งสมณะโดยเล่าพิธีอภิเษกอาโรนและบรรดาบุตร (บทที่ 8-10) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งมีมลทินและไม่มี (บทที่ 11-15) วันขออภัยบาป (บทที่ 16) ประมวลกฎหมายว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ (บทที่ 17-26) ซึ่งรวมพิธีการในวันฉลองประจำปีไว้ด้วย (บทที่ 23) และจบด้วยคำอวยพรและสาปแช่ง (บทที่ 26) บทที่ 27 เป็นบทผนวก กำหนดอัตราถวายเงินแทนบุคคล สัตว์และสิ่งของที่บนไว้แด่พระยาห์เวห์
หนังสือกันดารวิถี  เล่าเรื่องการเดินทางในถิ่นทุรกันดารต่อไป การสำรวจสำมะโนประชากร (บทที่ 1-4) และการถวายอุปกรณ์และบรรณาการในโอกาสการอภิเษกกระโจมที่ประทับ (บทที่ 7) เป็นอารัมภบทของเรื่องการเดินทางจากภูเขาซีนาย ชาวอิสราเอลฉลองปัสกาครั้งที่สองแล้วออกเดินทางจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ (บทที่ 9-10) มาถึงคาเดชหลังจากได้หยุดพักตามทางหลายครั้ง จากคาเดชชาวอิสราเอลพยายามจะเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันจากทิศใต้แต่ไม่สำเร็จ (บทที่ 11-14) หลังจากหยุดพักที่คาเดชเป็นเวลานาน ประชากรได้ออกเดินทางต่อไปจนถึงที่ราบโมอับซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเยริโค (บทที่ 20-25) ชาวอิสราเอลมีชัยชนะเหนือชาวมีเดียน ชนเผ่ากาดและเผ่ารูเบนเข้าตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (บทที่ 31-32) บทที่ 33 สรุปเส้นทางการเดินทางจากประเทศอียิปต์ถึงที่ราบโมอับ เรื่องเล่าเหล่านี้มีกฎหมายต่างๆ แทรกอยู่ประปรายเป็นชุดๆ กฎหมายเหล่านี้เสริมประมวลกฎหมายที่พระเจ้าประทานให้ที่ภูเขาซีนาย หรือไม่ก็เป็นกฎหมายที่จะบังคับใช้เมื่อจะตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินคานาอัน (บทที่ 5-6; 8; 15-19; 26-30; 34-36)
หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ มีโครงสร้างต่างจากเล่มอื่น หนังสือเล่มนี้บรรจุประมวลกฎหมายทางบ้านเมืองและทางศาสนา (บทที่ 12 – 26:15) ซึ่งอยู่ในกรอบของคำปราศรัยยืดยาวของโมเสส (บทที่ 5-11 และ 26:16-28) ข้อเขียนทั้งหมดนี้อยู่หลังจากคำปราศรัยแรกของโมเสส (บทที่ 1-4) และตามด้วยคำปราศรัยที่สาม (บทที่ 29-30) ต่อมาจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโมเสส คือการมอบอำนาจให้โยชูวา บทเพลง คำอวยพร และมรณกรรมของโมเสส (บทที่ 31-34) ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติย้ำกฎหมายส่วนหนึ่งที่ประกาศใช้ระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร คำปราศรัยทั้งหมดของโมเสสระลึกถึงเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ คือการอพยพ เหตุการณ์ที่ภูเขาซีนายและการริเริ่มเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอัน โดยอธิบายความหมายทางศาสนาของเหตุการณ์เหล่านี้ และเน้นถึงความสำคัญของธรรมบัญญัติและเตือนประชากรที่ทรงเลือกสรรให้ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์

2. ความเป็นมาของการเรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพ
    อย่างน้อยตั้งแต่ต้นคริสตกาล ประชาชนทั่วไปคิดว่าโมเสสเป็นผู้ประพันธ์หนังสือปัญจบรรพทั้งห้าเล่มนี้ พระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์ไม่เคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย (ยน 1:45; 5:45-47; รม 10:5) อย่างไรก็ตาม ธรรมประเพณีโบราณที่สุดไม่เคยยืนยันโดยตรงว่าโมเสสเป็นผู้เขียนหนังสือปัญจบรรพทั้งหมด แม้บางครั้ง (ซึ่งน้อยมาก) หนังสือปัญจบรรพจะใช้วลี “โมเสสเขียนว่า” แต่ก็หมายถึงเพียงข้อความสั้นๆ เท่านั้น โดยแท้จริง นักวิชาการสมัยใหม่ได้สังเกตเห็นว่าลีลาการเขียนไม่คงที่เป็นแบบเดียวกัน มีข้อความเล่าเรื่องซ้ำหรือขัดแย้งกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่หนังสือปัญจบรรพทั้งหมดจะเป็นผลงานของผู้เขียนคนเดียว นักวิชาการพยายามค้นคว้าหาคำตอบแก่ปัญหาดังกล่าวด้วยความยากลำบาก ในที่สุดปลายศตวรรษที่ 19 สมมติฐานข้อหนึ่งก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป สมมติฐานนี้ส่วนใหญ่เป็นผลงานของกราฟและของเวลล์ฮาวเซน ตามทฤษฎีนี้ หนังสือปัญจบรรพเป็นผลการรวบรวมเอกสารสี่ฉบับ ซึ่งเขียนในสถานที่และเวลาต่างกัน แต่ทั้งหมดเขียนภายหลังสมัยโมเสสนานทีเดียว ตามทฤษฎีนี้ แรกเริ่มเดิมทีมีเอกสารที่เป็นเรื่องเล่าสองฉบับ เรียกว่า “ตำนานยาห์วิสต์” (เอกสาร J) ซึ่งใช้พระนาม “พระยาห์เวห์” ที่พระเจ้าทรงเผยให้โมเสส เรียกพระเจ้าตั้งแต่เล่าเรื่องการเนรมิตสร้าง เอกสารที่สองเรียกว่า “ตำนานเอโลฮิสต์” (เอกสาร E) เพราะเรียกพระเจ้าด้วยสามัญนามว่า “เอโลฮิม” เอกสารยาห์วิสต์เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในอาณาจักรยูดาห์ราวศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล ส่วนเอกสารเอโลฮิสต์เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในอาณาจักรอิสราเอลหลังจากนั้นไม่นาน หลังจากที่อาณาจักรเหนือถูกทำลาย เอกสารทั้งสองฉบับนี้ถูกนำมารวมกัน (กลายเป็น JE) ต่อมาหลังรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์ “เอกสารเฉลยธรรมบัญญัติ” (เอกสาร D) ได้ถูกต่อเติมเข้าไป กลายเป็น JED และในที่สุดหลังจากสมัยเนรเทศที่บาบิโลน “ตำนานสงฆ์” (เอกสาร P) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่มีเรื่องเล่าปนอยู่บ้างด้วย ได้ถูกต่อเติมเข้ามาอีก กลายเป็น JEDP
    “ทฤษฎีเอกสาร” ในแบบดั้งเดิมผูกติดอยู่กับทฤษฎีวิวัฒนาการความคิดทางศาสนาของชาวอิสราเอล จึงไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการบางคน บางคนยอมรับโดยมีเงื่อนไขจะต้องปรับปรุงความคิดบางประการเสียก่อน โดยแท้จริงแล้วไม่มีนักวิชาการสองคนที่เห็นพ้องกันทุกประการในการตัดสินว่าข้อความตอนไหนมาจากเอกสารใดจาก “เอกสาร” สี่ฉบับข้างต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าการค้นคว้าพิจารณาคำที่เขียนเพียงอย่างเดียวไม่พอเพื่ออธิบายว่าหนังสือปัญจบรรพถูกเขียนขึ้นอย่างไร สิ่งที่จะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมคือรูปแบบวรรณกรรมและธรรมประเพณีทั้งปากเปล่าและเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีอยู่ก่อนการเขียนเอกสารทั้งสี่ฉบับ เอกสารแต่ละฉบับ แม้แต่ตำนานสงฆ์ที่เขียนก็ยังมีข้อมูลที่โบราณมาก การค้นพบวรรณกรรมโบราณในภาษาที่ตายแล้วของตะวันออกกลางและข้อมูลต่างๆ จากนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ทำให้เราสามารถรู้จักอารยธรรมเก่าแก่ของชนชาติเพื่อนบ้านของอิสราเอล แสดงว่ากฎหมายและสถาบันหลายอย่างที่กล่าวถึงในหนังสือปัญจบรรพมีความคล้ายคลึงกันกับกฎหมายและสถาบันที่มีกล่าวถึงในวรรณกรรมเหล่านั้นซึ่งเขียนไว้ก่อนที่จะมีการบันทึก “เอกสาร” ทั้งสี่ของหนังสือปัญจบรรพเสียอีก ยิ่งกว่านั้นเรื่องเล่าหลายเรื่องสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างและโบราณกว่าสภาพความเป็นอยู่เมื่อ “เอกสาร” เหล่านี้เขียนขึ้น การค้นพบและข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่าเรื่องราวจากธรรมประเพณีต่างๆ เก็บรักษาไว้ตามสักการสถานหลายแห่ง หรือรับการถ่ายทอดต่อกันมาโดยนักเล่าเรื่องแบบชาวบ้าน เรื่องราวเหล่านี้ถูกจัดไว้ด้วยกันเป็นชุดๆ แล้วเขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อโอกาสอำนวย แต่ข้อเขียนในครั้งแรกนี้ยังไม่ตายตัว มีการเรียบเรียง ปรับปรุง ต่อเติมและนำมารวมกันเป็นหนังสือปัญจบรรพเช่นที่เรามี “แหล่งข้อมูล” ที่เป็นลายลักษณ์อักษรของหนังสือปัญจบรรพเป็นเพียงขั้นตอนพิเศษช่วงหนึ่งของวิวัฒนาการอันยาวนานของเรื่องราวจากธรรมประเพณีต่างๆ ที่แม้จะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ก็ยังรับการปรับปรุงแก้ไขต่อไปในภายหลังอีก
    ความคิดที่ว่ามีธรรมประเพณีหลายสายในการเรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพนั้นเห็นได้ชัดในข้อความสองตอนที่เล่าเรื่องเดียวกันโดยมีรายละเอียดทั้งที่เหมือนกันและที่ขัดแย้งกัน ผู้อ่านพระคัมภีร์จะพบเรื่องราวซ้ำเช่นนี้ตั้งแต่หน้าแรกของหนังสือปฐมกาลทีเดียว เช่นเรื่องการเนรมิตสร้างสองเรื่อง (1:1 – 2:4ก และ 2:4ข – 3:24) ลำดับวงศ์วานของคาอิน/เคนาน (4:17ฯ และ 5:12-17) เรื่องน้ำวินาศสองเรื่องซึ่งผสมกัน (บทที่ 6-8) เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษก็มีเรื่องซ้ำกันด้วย เช่นเรื่องเล่าว่าพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม (บทที่ 15 และ 17) นางฮาการ์ถูกขับไล่ (บทที่ 16 และ 21) เรื่องภรรยาของบรรพบุรุษอยู่ในอันตรายในต่างแดน (สามครั้งใน 12:10-20; 20; 26:1-11) เรื่องโยเซฟกับบรรดาพี่น้องในบทสุดท้ายของหนังสือปฐมกาล นอกนั้นยังมีเรื่องพระเจ้าทรงเรียกโมเสสสองครั้ง (อพย 3:1 – 4:17 และ 6:2 – 7:7) อัศจรรย์เรื่องน้ำที่เมรีบาห์สองเรื่อง (อพย 17:1-7 และ กดว 20:1-13) มีข้อความสองตอนเกี่ยวกับบทบัญญัติสิบประการ (อพย 20:1-17 และ ฉธบ 5:6-21) ปฏิทินพิธีกรรมสี่ครั้ง (อพย 23:14-19; 34:18-23; ลนต 23; ฉธบ 16:1-16) และยังมีเรื่องซ้ำเช่นนี้อีกหลายเรื่อง เรายังพบข้อความที่ใช้ภาษา ลีลาการเขียนและทรรศนะความคิดใกล้เคียงกันที่สามารถรวมเข้าเป็นเรื่องต่อเนื่องคล้ายกัน 4 กลุ่มในหนังสือปัญจบรรพ ตรงกับธรรมประเพณีทั้ง 4 สาย
    จากเรื่องต่อเนื่องแต่ละกลุ่มนี้ทำให้เราสามารถสรุปและรู้ลักษณะของธรรมประเพณีแต่ละสายได้ ธรรมประเพณียาห์วิสต์ ได้ชื่อนี้เพราะใช้พระนาม “ยาห์เวห์” เรียกพระเจ้าตั้งแต่เล่าเรื่องการเนรมิตสร้างเป็นต้นไป เป็นธรรมประเพณีที่เล่าเรื่องอย่างมีชีวิตชีวาและให้รายละเอียดเป็นรูปธรรม ผู้เขียนมีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องอย่างเห็นจริงเห็นจังน่าสนใจ พยายามให้คำตอบที่ลึกซึ้งต่อปัญหาสำคัญที่มนุษย์มักจะถามตนเอง แม้ผู้เขียนจะกล่าวถึงพระเจ้าโดยใช้ลักษณะของมนุษย์ เขาก็มีจิตสำนึกที่สูงส่งมากเกี่ยวกับพระเจ้า ธรรมประเพณีนี้สรุปประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่การสร้างมนุษย์ชายหญิงคู่แรกเป็นเหมือนอารัมภบทของประวัติศาสตร์ของบรรดาบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ธรรมประเพณีนี้เริ่มมีขึ้นในแคว้นยูดาห์ และส่วนใหญ่คงจะจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรในรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน ในข้อความที่นักวิชาการคิดว่าเป็นตำนานยาห์วิสต์เราพบว่ามีแนวความคิดคล้ายคลึงกันอีกสายหนึ่งแทรกอยู่ด้วยซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกัน แต่บางครั้งสะท้อนความคิดที่โบราณกว่าหรือบางครั้งแตกต่างกันด้วย ธรรมประเพณีที่คล้ายคลึงเช่นนี้ได้ชื่อว่า J1 (“ตำนานยาห์วิสต์ดั้งเดิม”) หรือ L (Lay source หรือ “ตำนานฆราวาส”) หรือ N (Nomadic source หรือ “ตำนานชนเร่ร่อน”) การแยกธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งออกมาเช่นนี้มีเหตุผลสนับสนุนพอสมควร แต่เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าเคยมีธรรมประเพณีนี้อีกสายหนึ่งต่างหากจริงๆ หรือเป็นเพียงข้อมูลที่ผู้เขียนตำนานยาห์วิสต์ได้เสริมเข้าไปในข้อเขียนของตนโดยรักษาเอกลักษณ์ของข้อมูลเหล่านั้นไว้เช่นเดิม
    ธรรมประเพณีเอโลฮิสต์ (เพราะใช้สามัญนาม “เอโลฮิม” เรียกพระเจ้า) แตกต่างจากธรรมประเพณียาห์วิสต์ทั้งในวิธีเขียนที่ให้รายละเอียดน้อย ไม่มีสีสันน่าสนใจ มีมาตรฐานทางศีลธรรมที่เข้มงวดมากกว่า และเน้นอย่างมากถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ธรรมประเพณีนี้ไม่เล่าประวัติศาสตร์ของโลกและมนุษยชาติ แต่เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยของอับราฮัมเป็นต้นมา ธรรมประเพณีนี้อาจได้เขียนขึ้นภายหลังธรรมประเพณียาห์วิสต์ไม่นาน นักวิชาการมักจะคิดว่าเป็นธรรมประเพณีของชนเผ่าในอาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) นักวิชาการบางคนไม่ยอมรับว่ามีธรรมประเพณีเอโลฮิสต์แยกจากธรรมประเพณียาห์วิสต์ และอธิบายว่าข้อความเหล่านี้เป็นเพียงการต่อเติมหรือการเรียบเรียงปรับปรุงธรรมประเพณียาห์วิสต์เท่านั้น ถึงกระนั้นเรื่องร่างต่างๆ ตั้งแต่อับราฮัมจนถึงมรณกรรมของโมเสสมีถิ่นกำเนิดต่างกัน การเล่าเหตุการณ์ซ้ำกันบ่อยๆ โดยมีรายละเอียดทั้งที่เหมือนและไม่เหมือนชวนให้คิดว่าจะต้องมีธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งโดยเฉพาะที่แตกต่างจากธรรมประเพณียาห์วิสต์ ธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งนี้ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม เราต้องระลึกถึงข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งไว้เสมอ แม้ว่าธรรมประเพณียาห์วิสต์และเอโลฮิสต์มีลักษณะต่างกัน แต่ก็เล่าเรื่องเดียวกันในสาระสำคัญ ธรรมประเพณีทั้งสองนี้จึงน่าจะมีต้นกำเนิดเดียวกัน บรรดาเผ่าทางใต้และทางเหนือล้วนมีธรรมประเพณีร่วมกันที่มาจากความทรงจำของประชากรที่เคยมีประวัติศาสตร์เดียวกัน ได้แก่ การระลึกถึงบรรพบุรุษสามคน อับราฮัม อิสอัคและยาโคบ ตามลำดับเดียวกัน ระลึกถึงการอพยพจากประเทศอียิปต์ไปถึงการสำแดงพระองค์ของพระเจ้าที่ภูเขา     ซีนาย ระลึกถึงการทำพันธสัญญาที่ภูเขาซีนายจนถึงการเข้ายึดครองตั้งถิ่นฐานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนการเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญา ธรรมประเพณีร่วมกันนี้เริ่มขึ้นโดยการเล่าปากเปล่า และอาจเขียนไว้บ้างก็ได้ในสมัยผู้วินิจฉัย คือเมื่ออิสราเอลกำลังเริ่มมีความเป็นอยู่เป็นชนชาติหนึ่ง
ธรรมประเพณียาห์วิสต์และเอโลฮิสต์มีข้อความที่เป็นกฎหมายน้อยมาก ยกเว้น “ประมวลกฎหมายแห่งพันธสัญญา” ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง แต่ ธรรมประเพณีสงฆ์จะมีกฎหมายเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งกำหนดระเบียบการเกี่ยวกับสักการสถาน การถวายบูชาและวันฉลองทางศาสนา กล่าวถึงคุณสมบัติและหน้าที่สมณะของอาโรนและบุตรหลาน นอกจากข้อความเกี่ยวกับกฎหมายและสถาบัน ธรรมประเพณีสงฆ์ยังเล่าเรื่องที่จงใจเขียนขึ้นเพื่ออธิบายปัญหาทางกฎหมายและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของธรรมประเพณีนี้ นอกจากความสนใจในปัญหาดังกล่าวแล้ว ธรรมประเพณีสงฆ์ยังชอบกล่าวถึงจำนวนเลขและลำดับวงศ์วาน ศัพท์ที่ใช้และวิธีเขียนโดยทั่วไปมักเป็นนามธรรมและใช้คำขยายฟุ่มเฟือย ทำให้เห็นง่ายว่าข้อความใดมาจากธรรมประเพณีนี้ ธรรมประเพณีสงฆ์เป็นธรรมประเพณีของบรรดาสมณะในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม รักษาเรื่องราวโบราณ แต่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเพียงระหว่างการเนรเทศที่บาบิโลนเท่านั้น และไม่ได้รวมเข้ากับธรรมประเพณีอื่นในหนังสือปัญจบรรพจนกระทั่งกลับจากเนรเทศแล้ว เราสามารถพบว่าธรรมประเพณีนี้ได้รับการเรียบเรียงปรับปรุงหลายครั้ง เป็นการยากที่จะตัดสินว่าธรรมประเพณีสงฆ์นี้เคยเป็นผลงานทางวรรณกรรมชิ้นหนึ่งต่างหาก หรือว่ามีสมณะคนหนึ่งหรือหลายคนที่ได้เสริมข้อมูลจากธรรมประเพณีนี้เข้ากับตำนานยาห์วิสต์/เอโลฮิสต์ที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดหนังสือปัญจบรรพดังที่เรามีในปัจจุบัน นักวิชาการส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างหลังนี้
ในหนังสือปฐมกาล เราสามารถแยกเรื่องราวต่อเนื่องของธรรมประเพณีแต่ละสาย คือตำนาน    ยาห์วิสต์ ตำนานเอโลฮิสต์ และตำนานสงฆ์ได้โดยไม่ยากนัก ในหนังสือปัญจบรรพอื่นๆ หลังจากหนังสือปฐมกาลเราสามารถแยกตำนานสงฆ์ออกได้ง่ายโดยเฉพาะตอนปลายของหนังสืออพยพ ในหนังสือเลวีนิติทั้งเล่มและในส่วนใหญ่ของหนังสือกันดารวิถี แต่เป็นการยากจะตัดสินว่าข้อความที่เหลือส่วนใดเป็นของตำนานยาห์วิสต์และส่วนใดเป็นของตำนานเอโลฮิสต์ ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเราไม่พบตำนานทั้งสามนี้อีกต่อไป แต่พบธรรมประเพณีอีกสายหนึ่งคือตำนานเฉลยธรรมบัญญัติ ยกเว้นบทที่ 31-32 ตำนานเฉลยธรรมบัญญัติมีลักษณะเฉพาะของตน ลีลาการเขียนสังเกตได้ง่ายเพราะใช้สำนวนโวหารรุ่มร่ามและเร้าใจคล้ายบทเทศน์ มีสูตรเฉพาะที่ซ้ำบ่อยๆ และย้ำคำสอนเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าพระเจ้าทรงเลือกชาวอิสราเอลจากนานาชาติในโลกให้เป็นประชากรของพระองค์โดยไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากความรัก แต่การเลือกสรรและพันธสัญญาที่รับรองการเลือกสรรนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าอิสราเอลจะต้องมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแต่พระองค์เดียว ต้องนมัสการพระองค์ในสักการสถานเพียงแห่งเดียวตามกฎเกณฑ์ที่ทรงบัญชาไว้ ตำนานเฉลยธรรมบัญญัติเป็นจุดสุดยอดของธรรมประเพณีที่มีความสัมพันธ์กับธรรมประเพณีเอโลฮิสต์ และกับขบวนการของบรรดาประกาศก อิทธิพลของธรรมประเพณีเฉลยธรรมบัญญัตินี้เห็นได้แล้วในข้อความค่อนข้างโบราณ เป็นไปได้ว่าสาระสำคัญของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติบันทึกธรรมประเพณีของชาวอิสราเอลในอาณาจักรเหนือและชนเผ่าเลวีนำเข้ามาในอาณาจักรยูดาห์หลังจากกรุงสะมาเรียถูกทำลาย ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติซึ่งอาจมีคำปราศรัยของโมเสสเป็นกรอบอยู่แล้วถูกเก็บไว้ในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ต่อมาในรัชสมัยของกษัตริย์โยสิยาห์จะมีผู้ค้นพบ และเมื่อประกาศใช้จะเป็นหลักการในการปฏิรูปทางศาสนาในสมัยนั้น ประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้รับการเรียบเรียงขึ้นใหม่ในตอนแรกของการถูกเนรเทศที่บาบิโลน
หนังสือปัญจบรรพค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นขั้นตอนจากธรรมประเพณีต่างๆ หลายสายที่กล่าวนี้ แต่เราไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนของขั้นตอนต่างๆ นี้ได้ ธรรมประเพณียาห์วิสต์และเอโลฮิสต์น่าจะรวมเข้าด้วยกันในอาณาจักรยูดาห์ในศตวรรษสุดท้ายของสมัยมีกษัตริย์ปกครอง อาจจะเป็นในรัชสมัยของกษัตริย์เฮเซคียาห์ เพราะเราทราบจาก สภษ 25:1 ว่าในเวลานั้นมีการรวบรวมงานวรรณกรรมโบราณต่างๆ ไว้ด้วยกัน ต่อมาก่อนที่ชาวอิสราเอลกลับจากเนรเทศ หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติที่คิดกันว่าเป็นประมวลกฎหมายซึ่งโมเสสประกาศไว้ ณ ที่ราบโมอับ ถูกแทรกเข้าไว้ตอนท้ายหนังสือกันดารวิถีก่อนเรื่องราวเกี่ยวกับการมอบอำนาจหน้าที่แก่โยชูวาและมรณกรรมของโมเสส (ฉธบ 31 และ 34) ต่อมาไม่นาน บรรดาสมณะอาจเสริมตำนานสงฆ์เข้ามาอีกด้วย หรืออาจได้เรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพทั้งหมดเป็นครั้งแรก เราไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไรแน่ แต่เรามั่นใจว่า “ธรรมบัญญัติของโมเสส” ที่เอสรานำกลับมาจากบาบิโลนนั้นคือหนังสือปัญจบรรพทั้งหมดเกือบจะเหมือนกับที่เรามีในปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือปัญจบรรพกับหนังสือพระคัมภีร์ฉบับที่ตามมาทำให้เกิดสมมติฐานสองทฤษฎีที่ขัดกัน ตั้งแต่นานมาแล้วนักวิชาการมักจะเสนอทฤษฎี “ฉบรรพ” (อ่านว่า “ฉอ-บับ”) หมายความว่าหนังสือหกเล่มแรกของพระคัมภีร์ (คือ ปัญจบรรพรวมกับ ยชว และตอนต้นของ วนฉ) มีความต่อเนื่องเป็นชุดเดียวกัน ทั้งนี้เพราะพบว่าตำนานทั้งสามสาย (J, E และ P) ยังมีอยู่ต่อไปใน ยชว และตอนต้นของ วนฉ อีกด้วย นอกจากนั้นนักวิชาการเหล่านี้ยังอ้างว่าความคิดเรื่อง “พระสัญญา” ที่พบได้บ่อยๆ ในเรื่องราวของหนังสือปัญจบรรพยังเล่าให้เห็นว่าพระสัญญานั้นเป็นความจริงอย่างไร คือเล่าการเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญาด้วย ตามทฤษฎีนี้ หนังสือโยชูวาซึ่งแต่เดิมเป็นเล่มสุดท้ายของ “ฉบรรพ” ถูกแยกออกมาในภายหลัง เป็นหนังสือเล่มแรกของภาคประวัติศาสตร์ แต่ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งไม่นานมานี้เสนอทฤษฎี “จตุรบรรพ” คือ ปฐก อพย ลนต และ กดว เท่านั้นรวมเป็นหนังสือชุดเดียวกันโดยไม่มี ฉธบ ตามทฤษฎีนี้ ฉธบ ตั้งแต่แรกเริ่มเขียนขึ้นเป็นบทนำของ “ประวัติศาสตร์เฉลยธรรมบัญญัติ” ที่รวมหนังสือต่างๆ จนถึงหนังสือพงศ์กษัตริย์ ต่อมาหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติถูกแยกออกจากหนังสือชุดประวัติศาสตร์นี้ เพราะต้องการจะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับบุคลิกและกิจการของโมเสสเข้าไว้ในหนังสือชุดเดียวกัน ซึ่งได้แก่หนังสือปัญจบรรพดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน เรามีความเห็นคล้อยตามทฤษฎีที่สองนี้โดยมีข้อแม้บางประการซึ่งเราจะอธิบายใน “ความรู้เกี่ยวกับหนังสือประวัติศาสตร์เฉลยธรรมบัญญัติ” และจะใช้เป็นหลักในการอธิบายเชิงอรรถบางข้อ กระนั้นก็ดี ทฤษฎี “จตุรบรรพ” นี้เป็นเพียงความเห็นที่ต่างกันเช่นเดียวกับทฤษฎี “ฉบรรพ” เท่านั้น
เราจึงไม่สามารถทราบอย่างแน่ชัดเลยว่าหนังสือปัญจบรรพเขียนขึ้นอย่างไร กระบวนการเขียนใช้เวลาอย่างน้อยหกร้อยปี และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของชาวอิสราเอลทั้งด้านบ้านเมืองและด้านศาสนา แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน เรากล่าวไว้แล้วว่าธรรมประเพณีต่างๆ ที่เป็นเรื่องเล่าเริ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวอิสราเอลมีจิตสำนึกเป็นชนชาติเดียวกัน เราอาจกล่าวเช่นเดียวกันเกี่ยวกับข้อความที่เป็นกฎหมายซึ่งรวมทั้งกฎหมายบ้านเมืองและศาสนาที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่ใช้กฎหมายเหล่านี้ แต่กฎหมายเหล่านี้ได้เริ่มมีมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณตั้งแต่เริ่มมีประชาชนนั่นเอง การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกฎหมายเหล่านี้มีพื้นฐานในศาสนาได้แก่ความเชื่อในพระยาห์เวห์ที่ทำให้เผ่าต่างๆ รวมเข้าเป็นชนชาติเดียวกัน และความเชื่อเดียวกันนี้ทำให้ธรรมประเพณีสายต่างๆ รวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวเช่นกัน โมเสสเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการก่อตั้งศาสนาที่นับถือพระยาห์เวห์เป็นพระเจ้า โมเสสได้สั่งสอนประชาชนให้เข้ามานับถือศาสนานี้และเป็นคนแรกที่ออกกฎหมายให้ประชาชนปฏิบัติ ธรรมประเพณีโบราณเกี่ยวกับเขาและเรื่องราวซึ่งระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเขาเป็นผู้นำจึงรวมเข้าด้วยกันและกลายเป็นตำนานประจำชาติ ศาสนาของโมเสสได้ปั้นความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาไว้เป็นมรดกของชาติ กฎหมายของโมเสสก็เป็นมาตรฐานถาวรของชาติด้วย การปรับปรุงแก้ไขซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามสภาพการณ์ใหม่ๆ จึงดำเนินไปตามความคิดของโมเสสและมีผลบังคับโดยอำนาจของเขา ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่อย่างใดถ้าเราไม่สามารถบอกได้ชัดว่าข้อเขียนตอนใดในหนังสือปัญจบรรพเป็นของโมเสส เพราะเขาเป็นพระเอกของหนังสือปัญจบรรพ และธรรมประเพณีของชาวยิวมีเหตุผลสนับสนุนเต็มที่ที่จะเรียกหนังสือปัญจบรรพว่าเป็นหนังสือธรรมบัญญัติของโมเสส

3. เรื่องเล่าในหนังสือปัญจบรรพมีความจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงไร
    การเรียกร้องให้เรื่องเล่าตามธรรมประเพณีต่างๆ เหล่านี้มีรายละเอียดชัดเจนแน่นอนดังที่นักประวัติศาสตร์สมัยนี้เรียกร้อง นับว่าไม่สมเหตุสมผล ธรรมประเพณีเหล่านี้ไม่ใช่เอกสารที่ตายแล้วแต่เป็นมรดกที่มีชีวิตของชนชาติซึ่งมีธรรมประเพณีเหล่านี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวและส่งเสริมความเชื่อทางศาสนา การปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์เพียงเพราะขาดรายละเอียดชัดเจนแน่นอนก็ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน
    เราจะต้องแยกพิจารณาสิบเอ็ดบทแรกของหนังสือปฐมกาลต่างหาก บทเหล่านี้ใช้วิธีเล่าแบบชาวบ้านบรรยายถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติ ใช้วิธีเขียนที่เรียบง่ายให้รายละเอียดเป็นรูปธรรม เหมาะสำหรับคนโบราณที่ไม่มีการศึกษาสูงนัก และประกาศความจริงหลักซึ่งเป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์แห่งความรอด ความจริงเหล่านี้คือ พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างทุกอย่างในปฐมกาล พระองค์ทรงมีบทบาทพิเศษในการสร้างมนุษย์ชายหญิง มนุษยชาติมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน มนุษย์คู่แรกทำบาปจึงตกอยู่ในสภาพสูญเสียความโปรดปรานของพระเจ้าและถูกลงโทษโดยที่ลูกหลานจะต้องรับผลของบาปเป็นมรดก ความจริงทั้งหมดนี้มีความสำคัญทางคำสอนด้านเทววิทยาและมีพระคัมภีร์เป็นเอกสารรับรอง ในเวลาเดียวกันยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย แม้ว่าเราไม่สามารถทราบและอธิบายลักษณะแท้จริงของเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะพระคัมภีร์ใช้ภาษาของตำนานเทพที่เหมาะกับความคิดของคนสมัยโบราณที่เล่าเรื่องถ่ายทอดความจริงเหล่านี้แก่เรา
    ตั้งแต่บทที่ 12 หนังสือปฐมกาลเล่าประวัติศาสตร์ของบรรดาบรรพบุรุษโดยที่เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นประวัติครอบครัว คือเป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านเล่าถ่ายทอดสืบต่อกันมาเกี่ยวกับอับราฮัม อิสอัค ยาโคบและโยเซฟ เรื่องเหล่านี้ยังเป็นประวัติศาสตร์แบบชาวบ้าน ชอบเล่าเรื่องน่าสนใจส่วนตัวของบุคคล ให้รายละเอียดเฉพาะตัวที่น่าจดจำโดยไม่มีความพยายามจะแสดงความสัมพันธ์ที่เรื่องราวเหล่านี้มีกับประวัติศาสตร์สากลของโลก เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษคนใดคนหนึ่งอาจเคยเล่ามาก่อนถึงบรรพบุรุษอีกคนหนึ่งแล้ว  และรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อาจเลอะเลือนไปในการถ่ายทอดสืบต่อกันมาทางปากเปล่า ในที่สุดเรื่องราวเหล่านี้ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยมีทรรศนะทางศาสนา คือพยายามแสดงว่าเหตุการณ์สำคัญที่เล่าถึงนั้นเกิดขึ้นโดยมีพระเจ้าทรงเข้าแทรกแซง เราสามารถเห็นพระญาณเอื้ออาทรได้ในทุกเหตุการณ์ ทรรศนะทางเทววิทยาเช่นนี้มองข้ามบทบาทของสาเหตุระดับรอง คือสาเหตุตามธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนชอบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้นไว้ด้วยกันเพื่ออธิบายความหมายพร้อมกัน เป็นการพิสูจน์แนวคิดทางศาสนาที่ว่ามีพระเจ้าพระองค์เดียว พระองค์ทรงอบรมประชากรหนึ่งเดียว ทรงมอบแผ่นดินหนึ่งเดียวแก่ประชากรนี้ พระเจ้าพระองค์นี้คือพระยาห์เวห์ ประชากรนี้คือชาวอิสราเอลและแผ่นดินนี้คือแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ถึงกระนั้นเรื่องเล่าต่างๆ นี้เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ในแง่ที่ว่ากล่าวโดยวิธีของตนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง บรรยายอย่างน่าเชื่อถือถึงที่มาและการโยกย้ายถิ่นฐานของบรรดาบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล ถึงภูมิหลังทางภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ ถึงวิธีดำเนินชีวิตทั้งด้านศีลธรรมและทางศาสนา ในอดีตเรามักจะสงสัยว่าเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ในสมัยนี้การค้นพบของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในสถานที่ต่างๆ ของดินแดนทางตะวันออกกลางทำให้ข้อสงสัยดังกล่าวตกไป
    เหตุการณ์ที่เล่าในหนังสืออพยพและกันดารวิถี และที่มีกล่าวพาดพิงถึงในบทแรกๆ ของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติเป็นการเล่าประวัติศาสตร์สมัยหลังบรรดาบรรพบุรุษหลายศตวรรษทีเดียว เริ่มต้นโดยเล่าการเกิดของโมเสสและจบลงด้วยการตายของเขา เหตุการณ์ที่เล่าไว้คือการอพยพจากประเทศอียิปต์ การหยุดพักที่ภูเขาซีนาย การเดินทางในถิ่นทุรกันดารถึงคาเดช การเดินทางผ่านฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนและเข้าพำนัก ณ ที่ราบโมอับ ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง และไม่ยอมรับว่าโมเสสมีตัวตนจริงดังที่พระคัมภีร์บอก เราจะไม่สามารถอธิบายประวัติศาสตร์ของอิสราเอลที่ตามมาหลังจากนั้น ทั้งไม่สามารถอธิบายความยึดมั่นของชาวอิสราเอลต่อศาสนาของพระยาห์เวห์และต่อธรรมบัญญัติได้ ในเวลาเดียวกันเราต้องยอมรับว่าเรื่องราวที่บันทึกไว้นี้มีความสำคัญมากต่อชีวิตของประชากรอิสราเอลและมีบทบาทในศาสนพิธีจนทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้มีลักษณะเป็นตำนานประจำชาติ (เช่นเรื่องการข้ามทะเลต้นกก) และบางครั้งเป็นพิธีกรรมประจำปี (เช่นการฉลองปัสกา) เราไม่มีข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโมเสสนอกจากพระคัมภีร์ แต่เมื่ออิสราเอลเป็นประชากรชาติหนึ่งแล้วก็เข้าสู่ประวัติศาสตร์โลก แม้ว่าเราไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้นอกจากการกล่าวพาดพิงไม่ชัดเจนในศิลาจารึกของพระเจ้า    ฟาโรห์ เมร์เนปทาห์ แต่สิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวถึงชาวอิสราเอลก็สอดคล้องอย่างกว้างขวางกับข้อเขียนและข้อมูลทางโบราณคดีซึ่งกล่าวถึงชาวเซมีติคกลุ่มต่างๆ เข้ารุกรานประเทศอียิปต์ กล่าวถึงระบบปกครองของชาวอียิปต์ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ และสถานการณ์ทางการเมืองในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน
    หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่คือทดสอบข้อมูลจากพระคัมภีร์เหล่านี้กับข้อเท็จจริงที่เราทราบจากประวัติศาสตร์สากล แม้เราจะมีข้อมูลน้อยมากทั้งจากพระคัมภีร์และจากหลักฐานอื่นๆ ว่าเหตุการณ์ที่พระคัมภีร์กล่าวถึงเกิดขึ้นเมื่อไร เราก็พอจะกล่าวได้ว่าอับราฮัมมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินคานาอันราวปี 1850 ก่อนคริสตกาล โยเซฟมีตำแหน่งสูงในประเทศอียิปต์ราวปี 1700 ก่อนคริสตกาล และ “บุตรอื่นๆ ของยาโคบ” อพยพลงไปสมทบกับเขาที่นั่นไม่นานหลังจากนั้น ในปัจจุบันนี้นักวิชาการดูเหมือนจะมีข้อมูลแน่นอนว่าไม่ใช่ชาวฮีบรูทุกเผ่าได้อพยพไปอยู่ในประเทศอียิปต์ (ดู “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือโยชูวา”) เราไม่อาจใช้ข้อมูลจาก 1 พกษ 6:1 และ วนฉ 11:26 เพื่อกำหนดเวลาของการอพยพจากประเทศอียิปต์ได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้เขียนขึ้นในภายหลังและเป็นเพียงการคาดคะเนโดยใช้ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น แต่พระคัมภีร์ก็มีข้อมูลสำคัญข้อหนึ่ง ตามข้อความโบราณใน อพย 1:11 ชาวฮีบรูถูกเกณฑ์ให้ทำงานก่อสร้างเมืองเก็บเสบียงที่ปิโธมและราเมเสส ดังนั้น การอพยพน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ พระเจ้าฟาโรห์รามเสสที่ 2 ทรงครองราชย์ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งเมืองราเมเสสนี้ตามพระนามของพระองค์ การก่อสร้างขนาดใหญ่เริ่มต้นที่นั่นตอนต้นรัชกาลของพระองค์ ดังนั้นกลุ่มชาวฮีบรูที่มีโมเสสเป็นผู้นำออกจากประเทศอียิปต์น่าจะอพยพออกมาตอนต้นหรือกลางรัชกาลอันยาวนี้ (1290-1224) คือราวปี 1250 ก่อนคริสตกาล หรือก่อนนั้นไม่นาน ผู้อพยพครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงชาวฮีบรูกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่มซึ่งเดินทางจากประเทศอียิปต์เข้าไปในแผ่นดินคานาอันในช่วงเวลานั้น และต่อมาได้รวมตัวกันเป็น “สิบสองเผ่า” ของอิสราเอล พระคัมภีร์เล่าว่าชาวอิสราเอล เดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วอายุคน การตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนจึงน่าจะเกิดขึ้นราวปี 1225 ก่อนคริสตกาล การกำหนดเวลาเช่นนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์สากล เช่น กษัตริย์ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 19 ทรงสถาปนาราชธานีอยู่ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ อำนาจปกครองของชาวอียิปต์เหนือ แคว้นซีเรียและปาเลสไตน์อ่อนกำลังลงตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าฟาโรห์รามเสสที่ 2 และสถานการณ์ทางการเมืองทั่วบริเวณตะวันออกกลางตอนปลายศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาลมีแต่ความวุ่นวาย การกำหนดเวลาเช่นนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลทางโบราณคดีเกี่ยวกับยุคเหล็กตอนต้น ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ชาวอิสราเอลเข้าตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินคานาอันอีกด้วย

4. กฎหมายต่างๆ
    ในพระคัมภีร์ของชาวยิว หนังสือปัญจบรรพมีชื่อว่า “ธรรมบัญญัติ” (Torah) หรือ “กฎหมาย” และโดยแท้จริงก็เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อกำหนดต่างๆ ครอบคลุมชีวิตทั้งหมดของชนชาติอิสราเอลทั้งในด้านศีลธรรม สังคมและศาสนา สำหรับคนในสมัยนี้ ลักษณะที่น่าสังเกตที่สุดของข้อกำหนดเหล่านี้ก็คือลักษณะทางศาสนา เรายังพบลักษณะเช่นนี้ได้ในประมวลกฎหมายบางฉบับของชนชาติในตะวันออกกลางสมัยโบราณ แต่เราไม่พบว่าประมวลกฎหมายใดรวมเรื่องศักดิ์สิทธิ์เข้ามาครอบคลุมเรื่องราวทางโลกมากเท่าในหนังสือปัญจบรรพ สำหรับชาวอิสราเอล พระเจ้าทรงตราธรรมบัญญัตินี้ซึ่งกำหนดหน้าที่ของประชาชนต่อพระเจ้า และข้อกำหนดต่างๆ มีแรงบันดาลใจจากความคิดทางศาสนา ที่เป็นเช่นนี้ดูไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับกฎศีลธรรมที่รวมไว้เป็นบทบัญญัติสิบประการหรือสำหรับกฎทางพิธีกรรมในหนังสือเลวีนิติ แต่สิ่งที่แปลกและมีความหมายมากกว่าก็คือกฎหมายทางบ้านเมืองและกฎหมายอาญาปนอยู่กับบทบัญญัติทางศาสนาในประมวลกฎหมายเดียวกัน ธรรมบัญญัติทั้งหมดนี้นับว่าเป็นกฎบัตรของพันธสัญญาระหว่างชาวอิสราเอลกับพระยาห์เวห์ จึงไม่น่าแปลกที่พระคัมภีร์เล่าว่าพระเจ้าทรงตรากฎหมายต่างๆ เหล่านี้เมื่อชาวอิสราเอลกำลังเดินทางในถิ่นทุรกันดารเพราะพระองค์ทรงทำพันธสัญญากับอิสราเอลในช่วงเวลานั้น
    เนื่องจากกฎหมายมีไว้เพื่อนำไปปฏิบัติ กฎหมายเหล่านี้จึงต้องปรับให้เข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามเวลาและสถานที่ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในประมวลกฎหมายต่างๆ ที่เรากำลังพิจารณาเราพบกฎโบราณมากอยู่เคียงข้างกับสูตรและข้อกำหนดซึ่งสะท้อนปัญหาในสมัยต่อมา นอกจากนั้นชาวอิสราเอลยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชนชาติเพื่อนบ้านในเรื่องกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย ข้อกำหนดบางประการในประมวลกฎหมายพันธสัญญาและในประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติมีความคล้ายคลึงมากกับประมวลกฎหมายของชนชาติในแคว้นเมโสโปเตเมีย กับประมวลกฎหมายของชาวอัสซีเรียและประมวลกฎหมายของชาวฮิตไทต์ ความคล้ายคลึงกันเช่นนี้ไม่ได้เป็นผลของการคัดลอกโดยตรง แต่มาจากอิทธิพลของประมวลกฎหมายของชนต่างชาติ หรือจากกฎหมายที่ประชาชนในตะวันออกกลางโบราณใช้กันโดยทั่วไป นอกจากนั้นหลังการอพยพ ประเพณีปฏิบัติของชาวคานาอันยังมี อิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดข้อความของกฎหมายและรูปแบบของศาสนพิธีของอิสราเอลด้วย
    บทบัญญัติสิบประการ หรือ “วาจาสิบคำ” ที่จารึกไว้บนศิลาสองแผ่นที่ภูเขาซีนายกำหนดกฎหมายพื้นฐานของพันธสัญญา เป็นกฎหมายทั้งในด้านศีลธรรมและศาสนาในเวลาเดียวกัน พระคัมภีร์เขียนบทบัญญัติสิบประการนี้ไว้สองแห่ง คือใน อพย 20:2-17 และใน ฉธบ 5:6-18 ข้อความทั้งสองแห่งนี้แตกต่างกันพอสมควร แต่มาจากแหล่งข้อมูลโบราณเดียวกันที่สั้นกว่า เราไม่มีเหตุผลใดพอจะปฏิเสธว่าบทบัญญัติในรูปแบบโบราณนี้ไม่ได้มาจากโมเสส
    ประมวลกฎหมายพันธสัญญา (จากตำนานเอโลฮิสต์ อพย 20:22 – 23:33 หรือถูกกว่านั้น อพย 20:24 – 23:9) แม้จะแทรกอยู่ระหว่างบทบัญญัติสิบประการและพิธีทำพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย ก็สะท้อนสภาพสังคมของชาวอิสราเอลหลังยุคโมเสส เป็นประมวลกฎหมายของชุมชนคนเลี้ยงแกะและชาวนา ให้ความสำคัญแก่สัตว์ใช้งาน การทำไร่ทำนา ทำสวนองุ่นและการสร้างบ้านเรือน จึงชี้ให้เห็นว่าชุมชนดังกล่าวได้ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหลักแหล่งและไม่ดำเนินชีวิตแบบเร่ร่อนอีกต่อไปเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ในสภาพเช่นนี้เท่านั้นชาวอิสราเอลสามารถรู้และปฏิบัติตามกฎที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ประมวลกฎหมาย     พันธสัญญาได้ข้อมูลต่างๆ มากมายจากกฎที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนี้เอง เราจึงพบตัวบทกฎหมายเหมือนกันในประมวลกฎหมายของชาวเมโสโปเตเมียด้วย อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายพันธสัญญานี้มีแรงจูงใจจากความเชื่อต่อพระยาห์เวห์แทรกซึมอยู่ทั่วไป บ่อยครั้งจึงมีข้อกำหนดต่อต้านค่านิยมทางวัฒนธรรมของชาวคานาอัน ประมวลกฎหมายนี้มีรูปแบบการเขียน 2 อย่าง คือ “กฎหมายพิจารณาโทษการกระทำผิด” (มีรูปแบบ “ถ้า...”) และ “กฎหมายสั่งหรือห้าม” (มีรูปแบบ “ต้อง” หรือ “อย่า”) ประมวลกฎหมายนี้น่าจะเขียนไว้เป็นเอกสารต่างหากก่อนจะเขียนหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติอย่างแน่นอน เพราะหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติยืมข้อมูลหลายประการมาจากประมวลกฎหมายพันธสัญญานี้ ประมวลกฎหมายนี้ไม่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์เลย จึงน่าจะได้เขียนไว้ในสมัยผู้วินิจฉัย ประมวลกฎหมายฉบับนี้น่าจะนำมารวมกับเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่ภูเขาซีนายก่อนที่หนังสือธรรมบัญญัติจะเขียนขึ้น
    ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติ (ฉธบ 12:1 – 26:15) เป็นสาระสำคัญของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติซึ่งเราได้บรรยายลักษณะและประวัติการเขียนไว้แล้วข้างต้น ประมวลกฎหมายฉบับนี้ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งจากประมวลกฎหมายพันธสัญญา แต่นำมาปรับปรุงแก้ไขตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเรื่องการยกหนี้ (เทียบ ฉธบ 15:1-11 กับ อพย 23:10-11) และกฎหมายเรื่องทาส (เทียบ ฉธบ 15:12-18 กับ อพย 21:2-11) ถึงกระนั้นประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติมีความขัดแย้งสำคัญข้อหนึ่งกับประมวลกฎหมายพันธสัญญาตั้งแต่ข้อกำหนดข้อแรกทีเดียว นั่นคือประมวลกฎหมายพันธสัญญาอนุญาตให้มีสักการสถานหลายแห่ง (อพย 20:24) แต่ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติมีกฎบังคับให้มีสักการสถานเพียงแห่งเดียว (ฉธบ 12:2-12) การกำหนดให้มีสักการสถานเพียงแห่งเดียวนี้ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงกฎโบราณเกี่ยวกับการถวายบูชา การถวายหนึ่งในสิบและวันฉลองต่างๆ ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติยังมีข้อกำหนดที่ไม่พบในประมวลกฎหมายพันธสัญญาอีกหลายข้อ ข้อกำหนดนี้บางข้อโบราณมาก และมาจากแหล่งข้อมูลที่เราไม่รู้จัก แต่ลักษณะเฉพาะของประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติชี้ให้เห็นสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว มีความห่วงใยที่จะปกป้องผู้อ่อนแอ ย้ำอยู่เสมอถึงสิทธิของพระเจ้าเหนือแผ่นดินและประชากรของพระองค์ นอกจากนั้นข้อกำหนดต่างๆ ของประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติยังมีลีลาการเขียนในรูปแบบของการเทศน์เตือนใจอีกด้วย
    ถึงแม้ว่าหนังสือเลวีนิติจะไม่ได้เรียบเรียงครั้งสุดท้ายให้มีรูปแบบอย่างที่เรามีในปัจจุบันจนกระทั่งชาวยิวกลับจากเนรเทศที่บาบิโลนแล้ว หนังสือฉบับนี้ก็มีข้อมูลที่โบราณมากหลายประการ เช่นข้อกำหนดเกี่ยวกับอาหารที่กินได้กินไม่ได้ (บทที่ 11) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการมีมลทินหรือไม่มีเพื่อร่วมศาสนพิธี (บทที่ 13-15) ส่วนพิธีกรรมในวันขออภัยบาปที่กำหนดขึ้นในภายหลัง (บทที่ 16) ยังรักษาพิธีชำระที่โบราณมากไว้ขณะที่มีความเข้าใจที่พัฒนามากแล้วเรื่องบาปรวมอยู่ด้วย บทที่ 17-26 เป็นกฎหมายชุดหนึ่งที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมายว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเดิมน่าจะเป็นเอกสารต่างหากแยกจากหนังสือปัญจบรรพ ประมวลกฎหมายนี้รวบรวมข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งบางข้ออาจมาจากสมัยที่ชนอิสราเอลยังเป็นชนเร่ร่อนอยู่ (เช่นบทที่ 18) บางข้อคงจะมีอยู่ก่อนสมัยเนรเทศ และอีกบางข้ออาจะเขียนขึ้นหลังจากนั้น ประมวลกฎหมายนี้คงจะได้รวบรวมขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเยรูซาเล็มก่อนสมัยเนรเทศ และประกาศกเอเสเคียลคงได้รู้จักประมวลกฎหมายฉบับนี้แล้ว เพราะเขาใช้ภาษาและมีความคิดคล้ายคลึงกับประมวลกฎหมายว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์หลายประการ แต่ประมวลกฎหมายฉบับนี้คงได้ประกาศใช้เพียงในระหว่างการเนรเทศที่บาบิโลน และบรรดาสมณะผู้เรียบเรียงหนังสือปัญจบรรพในภายหลังคงจะนำประมวลกฎหมายนี้เสริมเข้ามาโดยปรับให้เข้ากับเรื่องราวที่มีอยู่แล้ว

5. ความหมายทางศาสนาของหนังสือปัญจบรรพ
    ศาสนาของพันธสัญญาเดิม เช่นเดียวกับศาสนาของพันธสัญญาใหม่เป็นศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ กล่าวคือเป็นศาสนาที่ขึ้นอยู่กับการที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์และแผนการของพระองค์แก่ปัจเจกบุคคลบางคนในเวลาและสภาพแวดล้อมที่เจาะจง พระองค์ทรงเข้าแทรกแซงในช่วงเวลาที่เจาะจงของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หนังสือปัญจบรรพเล่าเรื่องความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับโลก เป็นเหมือนศิลารากฐานของศาสนายิว หนังสือเล่มนี้จึงนับว่าเป็น “ธรรมบัญญัติ” หรือหนังสือบรรทัดฐานของศาสนายูดายในภายหลัง
    ในหนังสือปัญจบรรพชาวอิสราเอลพบความหมายของชะตากรรมของตน ในบทแรกๆ ของหนังสือปฐมกาลเขาไม่พบเพียงคำตอบปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์ทุกคนถามตนเองเกี่ยวกับความหมายของโลกและของชีวิต ปัญหาเรื่องความทุกข์และความตายเท่านั้น แต่ยังพบคำตอบสำหรับปัญหาเฉพาะของตนในฐานะที่เป็นชาวอิสราเอลว่าทำไมพระยาห์เวห์ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวจึงทรงเป็นพระเจ้าของอิสราเอล ทำไมในบรรดาชนชาติทั้งหลายในโลก อิสราเอลเท่านั้นจะต้องเป็นประชากรของพระองค์ และคำตอบก็คือเพราะอิสราเอลได้รับพระสัญญาจากพระเจ้า
    หนังสือปัญจบรรพเป็นหนังสือว่าด้วยพระสัญญา คือพระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่อาดัมและ  เอวาหลังจากที่ทั้งสองตกในบาปแล้ว (นับเป็น “ข่าวดีชิ้นแรก” เรื่องความรอดพ้นที่จะมาถึงในอนาคต หรือ “Proto-evangelium”) พระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่โนอาห์หลังน้ำวินาศว่าพระองค์จะทรงจัดระเบียบใหม่ของโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่อับราฮัม พระองค์ทรงรื้อฟื้นพระสัญญานี้แก่อิสอัค ยาโคบและบรรดาลูกหลานทั้งปวง พระสัญญานี้กล่าวว่าชาวอิสราเอลจะเป็นเจ้าของแผ่นดินที่บรรดาบรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่ คือแผ่นดินแห่งพระสัญญา แต่ยังมีความหมายมากกว่านี้คือทรงสัญญาว่าจะมีความสัมพันธ์พิเศษโดยเฉพาะระหว่างชาวอิสราเอลกับพระเจ้าของบรรดาบรรพบุรุษ
    พระยาห์เวห์ทรงเรียกอับราฮัม และการเรียกนี้เป็นเครื่องหมายล่วงหน้าว่าพระองค์จะทรงเลือกอิสราเอลในภายหลังตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลกแล้วพระยาห์เวห์ทรงมีแผนการแสดงความรักของพระองค์ต่อมนุษย์และแผนการนี้ดำเนินต่อไปแม้มนุษย์จะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระองค์ทรงเลือกอย่างอิสระ ให้ลูกหลานของอับราฮัมเป็นชนชาติหนึ่ง และทรงทำให้ชนชาตินี้เป็นชนชาติของพระองค์
    การที่พระเจ้าทรงเลือกสรรและทรงสัญญาเช่นนี้ได้รับการรับรองด้วยพันธสัญญา หนังสือ        ปัญจบรรพเป็นหนังสือว่าด้วยพระสัญญา ในเวลาเดียวกันยังเป็นหนังสือว่าด้วยพันธสัญญาเช่นกัน พระองค์ทรงทำพันธสัญญาเป็นนัยๆ แล้วกับอาดัม ทรงทำพันธสัญญาอย่างชัดเจนกับโนอาห์ กับอับราฮัม และในที่สุดกับชนชาติอิสราเอลทั้งหมดโดยมีโมเสสเป็นคนกลาง พันธสัญญานี้ไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาเท่าเทียมกัน เพราะพระเจ้าไม่ทรงมีความจำเป็นต้องทำข้อตกลงกับผู้ใด พันธสัญญาจึงเกิดจากการริเริ่มของพระองค์เท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงเข้าร่วมพันธสัญญาโดยทรงผูกมัดพระองค์ที่จะปฏิบัติตามพระสัญญาที่ทรงให้ไว้ แต่พระองค์ก็ทรงเรียกร้องความซื่อสัตย์จากประชากรของพระองค์เป็นการตอบแทน สำหรับอิสราเอลบาปคือการปฏิเสธไม่ยอมซื่อสัตย์ต่อพระองค์ เป็นการละเมิดความสัมพันธ์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นด้วยความรักบริสุทธิ์ของพระองค์
    พระเจ้าทรงออกกฎหมายสำหรับชนชาติที่ทรงเลือกสรรเป็นการกำหนดเงื่อนไขให้ชาวอิสราเอลแสดงความซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ธรรมบัญญัตินี้ของพระองค์สั่งสอนประชากรให้รู้จักหน้าที่ของตน ให้รู้จักประพฤติตนตามพระประสงค์และการปฏิบัติตามพันธสัญญานี้จะทำให้พระสัญญาเป็นความจริงสำหรับเขา
    พระสัญญา การเลือกสรร พันธสัญญา ธรรมบัญญัติทั้งหมดนี้เป็นความคิดหลักของหนังสือ     ปัญจบรรพเปรียบได้กับดิ้นทองที่ทอขึ้นเป็นผืนผ้าประเสริฐ เป็นความคิดหลักที่เราพบได้อีกในหนังสืออื่นของพันธสัญญาเดิม เพราะหนังสือปัญจบรรพไม่จบบริบูรณ์ในตัวเอง กล่าวถึงพระสัญญาแต่ยังไม่แสดงว่าพระสัญญานี้เป็นความจริงได้อย่างไร เพราะเรื่องราวจบลงก่อนจะเล่าว่าชาวอิสราเอลเข้ายึดครองแผ่นดินแห่งพันธสัญญา หนังสือปัญจบรรพเล่าเรื่องไม่จบเพราะต้องการปลุกทั้งความหวังและความมุ่งมั่น ต้องการปลุกความหวังในพระสัญญาซึ่งการเข้ายึดครองแผ่นดินคานาอันจะทำให้เป็นความจริง (ยชว 23) แต่บาปของประชากรจะเป็นอุปสรรคมิให้บรรลุถึงจุดหมายนี้ และการเนรเทศที่บาบิโลนจะทำให้ชาวอิสราเอลระลึกถึงพระสัญญานี้อีกครั้งหนึ่ง หนังสือปัญจบรรพยังปลุกความมุ่งมั่นเพราะชาวอิสราเอลทุกสมัยจะต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างถี่ถ้วน และธรรมบัญญัตินี้จะเป็นพยานปรักปรำเขาอยู่เสมอ (ฉธบ 31:26)
    ธรรมบัญญัติมีบทบาทเช่นนี้ตลอดมาจนถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น  ทำให้ความจริงต่างๆ  ชัดเจนขึ้น  นักบุญเปาโลอธิบายบทบาทนี้ของพระคริสตเจ้าโดยเฉพาะใน กท 3:15-29 ว่าพระองค์ทรงทำพันธสัญญาใหม่ตามที่พันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบล่วงหน้าไว้ บัดนี้พระองค์ทรงทำพันธสัญญากับบรรดาคริสตชนซึ่งเป็นทายาทของอับราฮัมอาศัยความเชื่อ บทบาทของธรรมบัญญัติคือการปกป้องพระสัญญา เหมือนกับครูพี่เลี้ยงหรือแม่นมที่นำประชากรของพระเจ้ามาพบพระคริสตเจ้า เพราะพระสัญญาเป็นความจริงแล้วในพระคริสตเจ้านี้เอง
    คริสตชนไม่เป็นเด็กที่ต้องมีธรรมบัญญัติเป็นครูพี่เลี้ยงอีกแล้ว เขาเป็นอิสระไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของธรรมบัญญัติแต่ยังต้องปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาและศีลธรรมที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบในธรรมบัญญัติ เพราะพระคริสตเจ้ามิได้เสด็จมาเพื่อล้มล้างธรรมบัญญัติ แต่ทรงมาเพื่อทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ (มธ 5:17) พันธสัญญาใหม่ไม่ลบล้างพันธสัญญาเดิมแต่ขยายให้กว้างขึ้น พระศาสนจักรไม่เพียงจะยอมรับว่าเหตุการณ์ในพันธสัญญาใหม่ (การถวายบูชาของพระคริสตเจ้า ศีลล้างบาป การสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า) มีรูปแบบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของบรรพบุรุษและโมเสส รวมทั้งในการฉลองและศาสนพิธีในระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร (การถวายบูชาอิสอัค การข้ามทะเลต้นกก ปัสกา) เท่านั้น แต่คริสตศาสนายังเรียกร้องคริสตชนให้มีท่าทีเดียวกันกับที่กำหนดไว้สำหรับชาวอิสราเอลในเรื่องราวและกฎหมายของหนังสือปัญจบรรพอีกด้วย
นอกจากนั้น มนุษย์แต่ละคนที่กำลังเดินทางไปพบพระเจ้าจะต้องผ่านขั้นตอนเดียวกันกับที่ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรได้ผ่านมาแล้ว คือต้องตัดใจละทิ้งทุกอย่าง ต้องกล้าเผชิญความทุกข์ยากซึ่งเป็นการทดลอง และต้องชำระตนให้เหมาะสมที่จะพบพระองค์ ดังนั้นคริสตชนจึงสามารถรับคำสั่งสอนจากประสบการณ์ต่างๆ ของชาวอิสราเอลด้วย

    เราควรอ่านหนังสือปัญจบรรพอย่างไร เราควรอ่านหนังสือปฐมกาล อพยพ และกันดารวิถีต่อเนื่องกันตามลำดับเหตุการณ์ที่เล่า  หนังสือปฐมกาลแสดงให้เราเห็นพระทัยดีของพระเจ้าพระผู้สร้าง ตรงข้ามกับความอกตัญญูของมนุษยชาติที่ทำบาป เรื่องราวของบรรดาบรรพบุรุษแสดงว่าพระเจ้าประทานรางวัลแก่ผู้ที่มีความเชื่อ หนังสืออพยพเป็นรูปแบบล่วงหน้าของการไถ่กู้ของเราทุกคน หนังสือกันดารวิถีกล่าวถึงช่วงเวลาความทุกข์ยากซึ่งเป็นการทดลอง พระเจ้าทรงสั่งสอนและลงโทษบรรดาบุตรของพระองค์ที่ทำผิด จะเป็นประโยชน์มากถ้าจะอ่านหนังสือเลวีนิติพร้อมกับบทท้ายๆ ของหนังสือประกาศกเอเสเคียล หรือหลังจากหนังสือเอสราและเนหะมีย์ แม้ว่าการถวายบูชาเพียงครั้งเดียวของพระคริสตเจ้าลบล้างพิธีกรรมทั้งหลายในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว หนังสือเลวีนิติก็ยังเน้นว่าผู้นมัสการรับใช้พระเจ้าจะต้องเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ปราศจากมลทิน ข้อเรียกร้องนี้เป็นบทสอนสำหรับมนุษย์ทุกสมัย จะเป็นประโยชน์มากเช่นเดียวกันถ้าจะอ่านหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติพร้อมกับหนังสือประกาศกเยเรมีย์ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์และมีจิตตารมณ์ใกล้เคียงกับหนังสือนี้