141. ความรับผิดชอบของพระสันตะปาปาคืออะไร
ในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร และเป็นหัวหน้าคณะพระสังฆราช สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นบ่อเกิด และผู้รับรองเอกภาพของพระศาสนจักร ท่านมีอำนาจสูงสุดในการอภิบาล และมีอำนาจตัดสินสุดท้ายในเรื่องข้อคำสอนและกฎระเบียบวินัย (880-882, 936-937)
พระเยซูเจ้าทรงประทานตำแหน่งเฉพาะเหนืออัครสาวกองค์อื่น ๆ แก่นักบุญเปโตร ทำให้ท่านมีอำนาจสูงสุดในพระศาสนจักยุคแรก กรุงโรม ซึ่งเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ท่านดำเนินชีวิต และเป็นสถานที่ที่ท่านสิ้นใจเป็นมรณสักขีนั้น ได้กลายเป็นสถานที่อ้างอิงถึงภายในของพระศาสนจักรโรมที่ยังเยาว์อยู่ กล่าวคือชุมชนคริสตชนทุกแห่งต้องเห็นด้วยกับโรม ในฐานะเป็นมาตรฐานความเชื่อที่เป็นจริง สมบูรณ์และบริสุทธิ์ จากบรรดาอัครสาวก จนถึงทุกวันนี้ ผู้ที่เป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม ยังคงเป็นเช่นเดียวกับบุญเปโตร คือเป็นชุมพาบาลสูงสุดของพระศาสนจักร ซึ่งมีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประมุขแท้จริง พระสันตะปาปาเป็น “ผู้แทนของพระคริสตเจ้าในโลกนี้” ในฐานะผู้อภิบาลสูงสุดและผู้มีอำนาจในข้อคำสอน พระสันตะปาปาดูแลการถ่ายทอดความเชื่อที่แท้จริง หากจำเป็น พระองค์สามารสั่งเพิกถอนหน้าที่การสอนข้อความเชื่อ หรือปลดศาสนบริกรที่ได้รับการบวชออกจากตำแหน่งหน้าที่ ในกรณีที่เป็นความผิดร้ายแรงเรื่องความเชื่อและศีลธรรม เอกภาพเรื่องของความเชื่อและศีลธรรม ซึ่งได้รับการรับรองจากอาจารยานุภาพ หรืออำนาจการสอนของพระศาสนจักร ร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปาผู้เป็นประมุข เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกแผ่ขยาย และมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง
กรุงโรม (ROME)
ตั้งแต่แรกเริ่ม กลุ่มคริสตชนในกรุงโรม ถูกมองว่าเป็น “พระศาสนจักรที่ยิ่งใหญ่ และเก่าแก่ที่สุด เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ได้รับการก่อตั้งและบริหารจัดการที่กรุงโรม โดยอัครสาวกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดสองท่านคือ เปโตร และเปาโล…
พระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ซึ่งมีต้นกำเนิดอันสูงส่ง พระศาสนจักรทุกแห่งคือ สัตบุรุษทุกคนทั่วโลกจึงต้องเห็นพ้องกับพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม และในพระศาสนจักรนี้เองที่สัตบุรุษทุกหนแห่ง ได้บำรุงรักษาธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกไว้
(นักบุญอิเรเนอุสแห่งลีออง 135-202)
ด้วยเหตุที่อัครสาวกทั้งสองท่านต้องทุกข์ทรมานและเป็นมรณสักขีที่กรุงโรม จึงทำให้ชุมชนคริสตชนชาวโรมมีความสำคัญมากขึ้น