แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

140. ทำไมพระศาสนจักร จึงไม่ใช่องค์กรประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยทำงานบนหลักการที่ว่าอำนาจทั้งปวงมาจากประชาชน ในพระศาสนจักร อำนาจทุกประการมาจากพระคริสตเจ้า ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงมีโครงสร้างในลักษณะฐานานุกรม  อย่างไรก็ตาม พระคริสตเจ้าทรงประทานโครงสร้างในลักษณะหมู่คณะแก่พระศาสนจักรด้วยเช่นกัน (874-879)

 

ฐานานุกรมแรกในพระศาสนจักร ประกอบด้วยความจริงที่ว่า พระคริสตเจ้าเองทรงเป็นผู้ทำงานในพระศาสนจักร เมื่อพระสงฆ์ที่ได้รับการบวช ด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า กระทำหรือมอบบางสิ่งที่ตัวเขาเองไม่สามารถกระทำหรือมอบให้ได้ กล่าวคือ การโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ในพระนามของพระคริสตเจ้า และสั่งสอนด้วยอำนาจของพระองค์ ประเด็นเรื่อง หมู่คณะ ในพระศาสนจักรประกอบด้วยความจริงที่ว่า พระคริสตเจ้าทรงมอบหมายความเชื่อทั้งมวลแก่กลุ่มอัครสาวกทั้ง 12 คน  ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งปกครองพระศาสนจักร อันมีพระสันตะปาปาเป็นประมุข ในหมู่คณะนี้ มีการประชุมสภาต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งของพระศาสนจักร พระพรที่หลากหลายของพระจิตเจ้า และความเป็นสากลของพระศาสนจักร ได้ก่อให้เกิดผลมากมายในการชุมนุมต่าง ๆ ทั้งการประชุมสมัชชา และสภาต่าง ๆ ในพระศาสนจักร

 

ฐานานุกรม (HIERARCHY)

(ภาษากรีก hieros และ arche’ ต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์) โครงสร้างการแบ่งลำดับชั้นของพระศาสนจักรภายใต้พระคริสตเจ้า พระศาสนจักรได้รับพละกำลังและอำนาจทุกประการจากพระองค์

 

สมเด็จพระสันตะปาปา (POPE)

(ภาษากรีก pappas บิดา) ผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตรอัครสาวก พระสังฆราชแห่งกรุงโรม เนื่องจากนักบุญเปโตรเป็นผู้นำในบรรดาอัครสาวก สมเด็จพระสันตะปาปาในฐานะผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน จึงทำหน้าที่เป็นประธานเหนือคณะพระสังฆราช ในฐานะผู้ช่วยหรือผู้แทนของพระคริสตเจ้า พระสันตะปาปาทรงเป็นผู้อภิบาล สงฆ์ และผู้สอน ในลำดับสูงสุดของพระศาสนจักร

 

พระสังฆราช (BISHOP)

(ภาษากรีก episkopein  การกำกับดูแล) ผู้สืบตำแหน่งของบรรดาอัครสาวก ผู้นำของสังฆมณฑล (พระศาสนจักรท้องถิ่น) ในฐานะสมาชิกของคณะพระสังฆราช ภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อพระศาสนจักรสากล

 

พระสงฆ์ (PRIEST)

(ภาษากรีก presbyteros ผู้อาวุโส) ผู้ร่วมงานกับพระสังฆราชในการประกาศพระวรสาร และเป็นผู้โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ท่านปฏิบัติหน้าที่ในความเป็นหนึ่งเดียวกับคณะสงฆ์ ภายใต้การนำของพระสังฆราช

 

สังฆานุกร (DEACON)

(ภาษากรีก diakonos ผู้รับใช้ ผู้ช่วย) สังฆานุกรได้รับการบวช เพื่อเป็นศาสนบริกรของพระวาจา พิธีกรรม และงานเมตตาจิตต่าง ๆ รวมทั้งมีอำนาจในการโปรดศีลล้างบาป การเทศน์ในพิธีบูชามิสซา และเป็นประธานในพิธีศีลสมรส