รศ. จฑาทิพย์ อุมะวิชนี ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การสวดมนต์เป็นเครื่องเหนี่ยวนำทำให้เกิดสมาธิ โดยผู้สวดต้องจดจ่ออยู่กับเสียงสวด เมื่อใจไม่ฟุ้งไปที่อื่น จึงเกิดสมาธิได้ง่าย เมื่อร่างกายเข้าสู่สมาธิ จะหลั่งสารที่ช่วยกระตุ้นให้ระบบต่างๆทำงานเป็นปกติ ร่างกายและจิตใจมีการผ่อนคลาย ทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้น อาการป่วยก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่ รศ. ดร. สมพร กันทรดุษฎี-เตรียมชัยศรี ได้สรุปว่า การสวดมนต์ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วย และช่วยเยียวยารักษาโรค เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ซึมเศร้า ไมเกรน ออทิสติก ย้ำคิดย้ำทำ โรคอ้วน นอนไม่หลับ พาร์กิสัน เป็นต้น
การสวดมนต์บำบัดทำได้หลายแบบ ได้แก่
1. การสวดมนต์ด้วยตัวเอง เป็นวิธีการที่ดีที่สุด อาจสวดมนต์ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า และเวลาก่อนเข้านอน ไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที การสวดมนต์อาจสวดบทสั้นๆ 3-4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายหลั่งสารซีโรโทนิน แต่หากสวดมนต์ด้วยบทยาวๆ จะได้ความผ่อนคลายและเกิดความศรัทธา ขณะสวดมนต์ให้หลับตาสวด ให้เกิดเสียงดังให้ตัวเองได้ยิน
2. การฟังคนอื่นสวดมนต์ การฟังเสียงพระสวดมนต์ หรือเสียงผู้นำสวดในศาสนาต่างๆ หากผู้สวดมีสมาธิ เสียงสวดนั้นจะนุ่น ทุ้ม ทำให้เกิดคลื่นที่ช่วยเยียวยาผู้ฟังได้ แต่หากผู้สวดไม่มีสมาธิ ไม่มีความเมตตา จะไม่ช่วยเยียวยาอาการป่วย
3. การสวดมนต์ให้ผู้อื่น คลื่นสวดมนต์เป็นคลื่นบวก เกิดจากจิตใจที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อผู้ป่วย เมื่อเราคิดจะส่งสัญญาณนี้ออกไปสู่ที่ไกลๆ มันจะเดินทางไปในรูปของคลื่นไฟฟ้า ซึ่งมนุษย์เรามีเซลล์สมองที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าได้
จะเลือกสวดมนต์บทไหน ผู้สวดสามารถประเมินได้ด้วยตนเอง เมื่อสวดแล้วทำให้ผ่อนคลาย ร่างกายเบาโล่งโปร่งสบาย มีความสุขได้นาน อาการเจ็บป่วยดีขึ้น การสวดมนต์ต้องสวดเป็นประจำอย่างน้อยเช้าเย็น สวดมนต์ให้ตนเอง แล้วแผ่เมตตา ส่งความปรารถนาดี ความรักอย่างไม่มีประมาณ แล้วท่านจะพบความสุขสบายได้อย่างง่ายๆ อาการป่วยจะบรรเทาและดีขึ้น
ที่มา: นิตยสารแม่พระยุคใหม่ เดือนมีนาคม-เมษายน 2016 หน้า 28