แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่ 6 : ตะกละ (GLUTTONY)
    พยศชั่ว “ตะกละ” เป็นความรักที่จะกินและดื่มอย่างเกินควบคุม    มันเป็นความอยากอาหารเกินไป โดยที่เราละเมิดความสุขในการกินที่ถูกทำนองคลองธรรมซึ่งพระเจ้าได้ให้ไว้กับ “การกิน” และ “การดื่ม”    ในบางครั้งเราจึงพูดว่าพยศชั่ว “ตะกละ” นี้ทำให้คนเป็น “เหมือนกับสัตว์” ถึงแม้ว่าสัตว์ไม่ค่อยจะกินหรือดื่มมากเกินไปก็ตาม    นอกไปจากนี้ ความจริงอีกข้อหนึ่งในประโยคนี้ คือ พยศชั่ว “ตะกละ” ทำให้จิตใจทั้งสติปัญญาและเหตุผลอันเป็นส่วนที่ยกระดับให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์นั้นตกต่ำลง

    พยศชั่ว “ตะกละ” เป็นแหล่งของอุปสรรคที่สำคัญในชีวิตจิตของมนุษย์เรา    มันไม่ง่ายเลยที่จะศึกษาเล่าเรียน หรือ สวดภาวนาหลังจากการกินดื่มที่มากเกินไป    พยศชั่ว “ตะกละ” นั้นทำให้จิตใจอ่อนแอลง และทำให้ความเกียจคร้าน, ราคะและความไม่บริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น    และมักมีผลทำให้ความเซ่อซ่าและการพูดจาหยาบคายลามกสัปดนเกิดขึ้น
    เราอาจถูกเรียกว่า “นักกิน” (gourmand) โดยการที่กินมากเกินไป หรือ บริโภคอาหารเร็วเกินไปและละโมบโลภมากเกินไป        เราอาจกลายเป็น “นักกิน” ได้โดยการอยากกินอาหารที่พิถีพิถันเกินไป อยากกินอาหารแปลกๆ และ ประณีตเป็นพิเศษ    เราอาจทำบาปผิดเพียงเล็กน้อยโดยการจุกจิกเลือกอาหารยากเกินไป ไม่ชอบไปหมด ชอบวิพากษ์วิจารณ์ หรือชอบบ่นติเกี่ยวกับอาหาร
    การหมกมุ่นแต่การดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ดื่มมากเกินไปอันส่งผลให้ความเมามายก็เป็นผลเสียหนึ่งของพยศชั่วนี้    คนขี้เหล้ามักขาดสติและเหตุผลจากการดื่มสุราได้ แล้วเขาก็จะไม่รู้ตัวว่าเขากำลังทำอะไรอยู่  นิสัยชั่วร้ายนี้จะทำให้เขาสูญเสียชื่อเสียงอันดีงาม และทำให้ผู้อื่นรังเกียจเหยียดหยามเขา    บ่อยครั้งที่การดื่มสุรานำมาซึ่งความยากจน, ความอับอายขายหน้า และความอดอยากหิวโหยของครอบครัว, ความโกรธโมโห, การสาปแช่ง, การทะเลาะวิวาท, การต่อสู้กัน การลักขโมยและการคดโกงอันเป็นผลมาจากการดื่มสุราจนเป็นนิสัย
    ชายอาจทำร้ายภรรยาและลูกๆ ของเขาหรือ คนอื่นๆ     กระทั่งทำการฆาตกรรมเพราะพยศชั่วนี้    บาปความไม่บริสุทธิ์นั้นมักมาพร้อมๆ กับพยศชั่วนี้    อุบัติเหตุทางรถยนต์นับครั้งไม่ถ้วนต่างเป็นผลมาจากการขับรถยนต์ขณะเมาสุราอุบัติเหตุทั้งหมดนั้นมักนำมาซึ่งการบาดเจ็บและความตายให้กับหลายๆ คนด้วย      คนขี้เหล้านั้นบ่อยครั้งที่เสียชีวิตในขณะเมามายไม่มีสติ    ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถสำนึกบาปผิดในการทำบาปผิดของเขาได้    และหากเป็นเช่นนี้แล้วเขาจะไปถึงจุดหมายนิรันดรได้อย่างไรกันเล่า?    พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า คนอธรรมจะไม่ได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก จงอย่าหลอกตนเอง คนผิดประเวณี คนกราบไหว้รูปเคารพ คนเป็นชู้ คนลักเพศ คนรักร่วมเพศ คนขโมย คนโลภ คนขี้เมา คนปากร้าย คนฉ้อโกง คนเหล่านี้จะไม่ได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก” (1 คร 6 : 9-10)
    โชคร้ายที่ปัจจุบันนี้การดื่มเหล้าจนเมามายนั้นมิได้จำกัดแต่เพียงมนุษย์เพศชายดังเช่นในอดีตเท่านั้น แต่มันได้กลายเป็นพยศชั่วทั่วไปในมนุษย์เพศหญิงด้วย และดูจะน่าอายมากกว่าด้วยซ้ำ
    ระดับของความเมามายนั้นมีอยู่หลายขั้น    การดื่มเหล้าจนเมามายอย่างสมบูรณ์นั้นทำให้ผู้ดื่มขาดเหตุผลโดยสิ้นเชิงและนั่นเป็นบาปหนัก    การดื่มเหล้าที่ไม่เมามายนัก แค่ทำอะไรไม่เป็นระเบียบลำดับนั้นอาจมีความเป็นบาปหนักน้อยกว่าระดับของความเป็นบาปนั้นขึ้นอยู่กับระดับของการทำอะไรไม่เป็นระเบียบลำดับ
    เราอาจทำบาปอื่นๆ ร่วมได้อีกเมื่อเราดื่มจนเกินพอดี    ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังอย่างมากในการเชื้อเชิญให้ดื่มสุราเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพและการต้อนรับ หรือ การเสริฟสุราในงานสังคมใดๆ    การเชื้อเชิญดังกล่าวจะเป็นความผิดหากเรายืนกรานให้เขา/เธอดื่มขณะที่เขา/เธอปฏิเสธที่จะดื่ม หรือ การเสนอสุราที่ร้อนแรงให้แก่ผู้อ่อนวัย
    การติดสุราเรื้อรังและผลร้ายอื่นๆ ที่ตามมานั้นเป็นหนึ่งในการแพร่กระจายของปีศาจในช่วงเวลาของเรา    ชาย หญิงและคนหนุ่มสาวต่างตกเป็นเหยื่อของมัน    มันทำให้หลายๆ ครอบครัวล่มสลายด้วยความระหองระแหงร้าวฉาน หรือ การหย่าร้าง    การติดสุราเรื้อรังทำให้ชีวิตของทุกคนที่ตกอยู่ในอำนาจของมันเลวร้ายล่มสลายลง
    พระศาสนจักรสอนว่าเราต้องมีความพอดีและความมีสติในการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์    การงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงเป็นหนทางเดียวที่จะรับประกันได้ว่าพวกเขาจะไม่ข้ามเส้นของความพอดีและมีสติในการดื่มและกลายเป็นคนติดสุราหรือคนขี้เหล้าอันเป็นผลจากการปล่อยตัวครั้งแรกของพวกเขาในบางโอกาสหรือแม้ถูกระเบียบสังคมก็ตาม
    อีกเรื่องที่สัมพันธ์กับหัวข้อนี้ที่ควรจะพูดถึง คือ การหลงไปเสพยาและสารเสพติด    การเสพยาและสารเสพติดนั้นแม้มีความจำเป็นบ้างในการรักษาอาการเจ็บป่วย แต่ก็ต้องกระทำภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้นเพราะว่ามันมีอันตรายที่ก่อให้เกิดเป็นนิสัยที่ต้องใช้เป็นประจำได้

การป้องกันด้วยความพอดี
    ในการมุ่งมั่นที่จะควบคุมอารมณ์/ความพอควรในการกินและดื่มนั้น เราต้องอาศัยตัวอย่างของพระเยซูเจ้าถึงการสำนึกผิด ความมีสติ การอดละเว้นและ ความละอายที่จะชักจูงใจเราให้ได้; อย่างเช่นตัวอย่างของนักบุญต่างๆ ผู้มักประพฤติตนด้วยการลดละเว้นอย่างกล้าหาญ    โดยพวกท่านนำความอยาก (appetite) ต่างๆ ของพวกท่านที่เข้ามาครอบงำหรือที่ต้องการทำตามใจเสรีนั้นไปสร้างขึ้นเป็นกำลังใจ ความเพียรและความกล้าหาญ
    ในช่วงหนึ่งของพระศาสนจักร ได้มีการประกาศให้มีการถือศีลอด หรือ การทรมานร่างกาย และการปฏิเสธความต้องการของตนเองต่ออาหาร    ความพอดี หรือ เกณฑ์การอดอาหารนั้นส่งผลดีต่อร่างกายและพละกำลังของร่างกายได้    มันทำให้จิตใจของเราตื่นตัวและช่วยเราในการต้านทานกิเลสให้ลดน้อยลง    การปฏิบัติคุณธรรมความดีต่างๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันเราจากจากความโน้มเอียงที่จะทำบาปของเรา
    ความสุขในการกินและดื่มนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์สุดท้ายของการกินและดื่ม แต่วัตถุประสงค์ของมันคือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตไว้    หลักการที่แนะนำเราในการหลีกเลี่ยงพยศชั่ว “ตะกละ” คือกฎโบราณเก่าแก่ คือ “กินเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อกิน”    นักบุญเปาโลเตือนสติเราว่า “เมื่อท่านจะกินจะดื่มหรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด” (1 คร 10 : 31)