แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่ 3
การแต่งงานแบบนับถือศาสนาต่างกัน


marriage-search-marriage-recordsการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ หรือ ที่นับถือศาสนาต่างกัน    ในประเด็นนี้ สำหรับประเทศของเรา ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ    ดังนั้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคาทอลิกก็มักจะแต่งงานกับพี่น้องชาวพุทธ คือ สามีหรือภรรยาเป็นพุทธ
    สมัยก่อนพระศาสนจักรเคร่งครัดมาก เรียกว่าใครจะแต่งงานกับคาทอลิก จะต้องมาเป็นคาทอลิกเสียก่อน แต่ปัจจุบันหลังพระสังคายนาวาติกันที่สอง ได้ผ่อนปรนในเรื่องนี้ให้สามารถนับถือศาสนาต่างกันได้ สาเหตุเพราะการนับถือศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งจะไปบังคับกันไม่ได้ อีกทั้ง พระสังคายนายังส่งเสริมให้มีการเสวนาทำศาสนสัมพันธ์ ให้เคารพในความเชื่อถือในศาสนาของกันและกันอีกด้วย
    ดังนั้น การอบรมให้คู่แต่งงานมีความเข้าใจในเรื่องนี้จึงจำเป็นและขาดไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อสามี-ภรรยาจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง

    เราเข้าใจกันเป็นอย่างดีว่า แม้พระศาสนจักรได้อนุญาตให้นับถือศาสนาต่างกันได้    ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเพื่อความสงบเรียบร้อยและฝ่ายคาทอลิกจะได้ปฏิบัติศาสนกิจรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ได้ตามปกตินั่นเอง    ในเวลาเดียวกัน ทั้งฝ่ายคาทอลิกและมิใช่คาทอลิก จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้คู่ชีวิตของตนปฏิบัติตามศาสนกิจของแต่ละฝ่ายอย่างดีด้วย    เช่น ฝ่ายสามีที่เป็นพุทธก็มีหน้าที่จะต้องให้บริการพาภรรยาที่เป็นคาทอลิกไปวัด ส่วนที่จะร่วมพิธีในวัดด้วย เช่น สวดภาวนา ฟังเทศน์ ฯลฯ ก็ย่อมทำได้ เพียงแต่จะไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไม่ได้เท่านั้น หรือ จะไปส่งและไปธุระอื่นๆ แล้วกลับมารับ หรือ จะนั่งคอยนอกวัดก็ย่อมทำได้ ส่วนผู้ที่เป็นคาทอลิกก็เช่นกัน มีหน้าที่ช่วยเหลือเตรียมอาหารให้สามี ถ้าสามีอยากไปวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และสามารถร่วมในพิธีต่างๆ ได้ในส่วนที่ไม่พิธีกรรม เช่น ไปนั่งฟังพระเทศน์ หรือ จะไปปล่อยนกปล่อยปลาอย่างนี้ได้ แต่ในส่วนที่เป็นพิธีกรรม เช่น การตักบาตร ทำสังฆทาน ทำบุญกรวดน้ำ ทอดผ้าไตร อย่างนี้ถือเป็นพิธีกรรมจะไปทำไม่ได้
    เหตุผลข้างต้นก็คือ ใครจะทำพิธีกรรมอะไร ผู้นั้นจะต้องมีความเชื่อเลื่อมใส ศรัทธา ในพิธีกรรมนั้นๆ เสียก่อน    มิฉะนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งยังจะเป็นที่สะดุดสำหรับผู้อื่นอีกด้วย
    ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งสำหรับบิดา-มารดาที่นับถือศาสนาต่างกัน นั่นคือ ลูกๆ ที่เกิดมานั้นจะนับถือศาสนาอะไร    ตามปกติแล้ว ในแบบสอบถามก่อนการแต่งงานหรือแม้ในพิธีแต่งงานก็จะมีบอกไว้ว่าจะพยายามให้ลูกๆ เติบโตขึ้นเป็นคริสตชน คือ เป็นคาทอลิก และด้วยเหตุผลนี้อีกเหมือนกันที่พระศาสนจักรไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือ    แต่ที่อนุญาตก็เพื่อเป็นการอภิบาลผู้ที่เป็นคาทอลิกจะได้สามารถรับศีลศักดิ์สิทธิ์ (แก้บาปรับศีล) ได้ตามปกตินั่นเอง
    อย่างไรก็ดี เรื่องการนับถือศาสนาของลูกๆ นี้ต้องระวังอย่าให้เป็นเหตุแห่งความแตกแยก คำแนะนำก็คือต้องคุยกันให้เรียบร้อยเสียก่อน    ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็พยายามเลี้ยงดูเขาให้เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กดี และเขาจะตัดสินใจเลือกนับถือศาสนาด้วยตัวเขาเอง    และต้องไม่ลืมว่า ด้วยเหตุนี้ฝ่ายคาทอลิกจึงต้องดำเนินชีวิตของตนอย่างดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สมาชิกในบ้านเพื่อทุกคนจะได้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเป็นเจ้า มิใช่ทำตัวไม่ดี บอกว่าเป็นคาทอลิกแต่ไม่เคยปฏิบัติตนตามหลักพระธรรมคำสอน ไม่ค่อยปฏิบัติกิจศรัทธา มิหนำซ้ำยังเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเสียอีก อย่างนี้ใครเขาจะมองเห็นพระเป็นเจ้าและพระเมตตาของพระในความเป็นคาทอลิกได้จริงมั้ย....
    ข้อควรระวังสำหรับการแต่งงานแบบต่างคนต่างถือนี้ ก็คืออย่าเป็นเหมือนบางคู่ที่ก่อนแต่งก็สัญญากันอย่างดี พอผ่านไปได้ระยะหนึ่งกลายเป็น “ต่างคนต่างไม่ถือ” เสียนี่    อย่างนี้น่ากลัวมาก เพราะลูกๆ ที่เกิดมาจะขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้มีจริยธรรม คุณธรรมต่างๆ ที่จะให้เขาเป็น “คนดี” ต่อไป

หมายเหตุ

พิธีศีลสมรส หมายถึง พิธีที่คู่แต่งงานทั้ง 2 คนเป็นคาทอลิก ถือเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ตามนัยของคาทอลิก
พิธีสมรส หมายถึง คู่แต่งงานฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้นที่เป็นคาทอลิก แต่ยังถือเป็นพิธีสำคัญที่พระเป็นเจ้าทรงอวยพระพรด้วยเช่นกัน แต่ไม่ถือว่าเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ตามนัยของคาทอลิก

ที่มา หนังสือการเตรียมแต่งงานแบบคาทอลิก