แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่  2
เงื่อนไขสำคัญของการแต่งงาน

confess love2มาถึงตรงนี้พวกเราคงอยากจะทราบแล้วซินะว่า พ่อสอนอะไรเวลาคู่แต่งงานมารับการอบรม
แน่นอนเรื่องที่สอนก็คือเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน การทำหน้าที่ของ สามี-ภรรยา บิดา-มารดา ฯลฯ ซึ่งจะขออธิบายเป็นข้อๆ ไปดังนี้
1. คำถามแรกที่จะถามก็คือ   “คุณทั้ง  2 คน รักกันหรือเปล่า?”
เพราะข้อเรียกร้องประการแรกของการแต่งงานเป็นสามี-ภรรยาก็คือ “ความรัก”   ถ้าหากเขาตอบว่าไม่รัก    แต่แต่งงานก็เพราะตามใจพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ถ้าตอบเช่นนี้ พ่อก็จะให้เขากลับไป เป็นอันว่าไม่สามารถกระทำพิธีได้ เพราะขาดเงื่อนไขส่วนสำคัญ คือ ความรัก แต่ถ้าเขาตอบว่า “รัก” ถึงจะอธิบายให้เขาเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าความรักที่แท้จริงมันคืออะไร ซึ่งพ่อได้ อธิบายให้พี่น้องฟังกันอยู่บ่อยๆ  ในโอกาสต่างๆ  อยู่แล้ว  แต่อย่างไรก็ดี ขอนำมาอธิบายไว้ตรงนี้อีกนิดนั่นคือ...

“ความรัก” คือ การให้ สิ่งที่ให้คือ ชีวิต การให้ชีวิตคือการให้จิตใจแก่กันและกัน  การให้จิตใจคือ การรู้จักตัดใจให้ได้ และ  ทำใจให้เป็น ตัดใจ คือ  ไม่ทำตามใจตัวเอง แต่ยึดผู้อื่นเป็นหลัก มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว ทำใจ คือ ยอมรับในสภาพความเป็นจริงและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีสติในการแก้ปัญหา พร้อมเสมอที่จะพูดว่า  “ไม่เป็นไร”  ซึ่งรวม ความถึง  “ฉันยกโทษให้เธอ”  อยู่ด้วย  นี่คือ  “ความรักที่แท้จริง” ที่พระเยซูเจ้าทรงสอน

สรุปก็คือ “ความรักที่แท้จริง” เป็นสิ่งแรกที่คู่แต่งงานจะต้องมี เพราะหลายครั้งมนุษย์เราเข้าใจว่า “ความชอบ” สำคัญ จะแต่งงานกันต้องชอบกัน ซึ่งไม่เพียงพอ ถ้าไม่พัฒนายกระดับความชอบให้เป็นความรัก ความจริงแล้วความชอบมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรัก เพราะความชอบคือการยึดตนเองเป็นหลัก  ชอบคือต้องถูกใจ สิ่งนั้นต้องถูกสเป็ก ถูกรสนิยม จึงชอบ มิเช่นนั้นก็จะไม่ชอบ คนที่มีแต่ความชอบมากๆ ก็จะเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตนเอง จะไม่มีความสุขในชีวิต เพราะความเป็นจริงในชีวิตของคนเรา

เมื่อคนเราพัฒนาความชอบจนกลายเป็นความรักไปแล้ว เขาก็จะหลุดจากตนเอง เขาพร้อมที่จะให้ชีวิตแก่คนที่เขารัก คือ “ตัดใจได้ ทำใจเป็น” เขาจะรักคู่ชีวิตของเขาตลอดไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รูปร่างหน้าตา ฐานะ ฯลฯ จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม เข้าตำรา “ยินดีร่วมทุกข์ร่วมสุข” เสมอ

2. การแต่งงานเป็นสามีภรรยากันนี้  เราเชื่อว่าเป็น “แผนการของพระ”  เป็นพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์ทรงให้ชายและหญิงรู้จัก รักกัน  ดังนั้น  จึงมิใช่เรื่องของมนุษย์เท่านั้น  พระองค์ทรงประทานพระพรต่างๆ ที่จำเป็นให้แก่คู่แต่งงานอย่างแน่นอน เกี่ยวกับเรื่องนี้มีในพระคัมภีร์ที่กล่าวว่า “...เราจะสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา ให้มีความคล้ายคลึงกับเรา ให้เป็นนายปกครองปลาในทะเล  นกในท้องฟ้า สัตว์เลี้ยง  สัตว์ป่า  และบรรดาสัตว์เลื้อยคลานบนพื้นดิน”  พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์    ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง พระเจ้าทรงอวยพรเขาทั้งสองว่า “จงมีลูกมากและทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงปกครองแผ่นดิน จงเป็นนายเหนือปลาในทะเล  นกในอากาศ และสัตว์ทุกชนิดที่เคลื่อนไหวอยู่บนแผ่นดิน” พระเจ้าทรงเห็นว่าทุกสิ่งที่ทรงสร้างนั้นดีมาก (ปฐก.1:26-28,31ก)
จากพระคัมภีร์นี้เอง เราจึงทราบว่า การเป็นสามี-ภรรยานั้น เป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าจริงๆ และยังทราบต่อไปอีกว่าจุดประสงค์ของการ เป็นสามี-ภรรยาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การที่จะต้องมีลูกหลานสืบ พงศ์พันธุ์มนุษย์

ดังนั้น เงื่อนไขที่สำคัญที่ต้องมีของคู่แต่งงานที่ตามมาก็คือ เพื่อการมีบุตร ถ้าคู่แต่งคนใดขาดเจตนาของการที่จะมีบุตร พูดง่ายๆ คือ ต้องการแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน แต่ไม่ต้องการมีบุตรอย่างนี้พระศาสนจักรก็จะไม่อนุญาตให้กระทำพิธีแต่งงานเหมือนกัน พระสงฆ์หรือผู้ที่ต้องเตรียมคู่แต่งงาน  จึงต้องถามและอธิบายให้คู่แต่งงานเข้าใจในเงื่อนไขดังกล่าวอย่างชัดเจนด้วย อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราหันมาพิจารณาดูความเป็นจริงในสมัยนี้ คู่แต่งงานหรือสามี- ภรรยา
มักจะไม่นิยมมีบุตรหลายคนเช่นสมัยก่อน ผู้ที่มีอายุมากๆ  หรือที่เรารู้จักกันในนาม ส.ว. (สูงวัย) ทั้งหลาย  จะทราบดี ครอบครัวหนึ่งจะมีลูกหลายคน  บางครอบครัวเกินสิบก็มี  เรียกว่าตั้งทีมฟุตบอลได้ 1 ทีม แถมยังมีเหลือสำรองอีกหลายคน  สาเหตุก็เพราะสังคมสมัยก่อนเป็นสังคมแบบ  “ธรรมชาติ” (อันนี้พ่อคิดเอง) เพราะความเจริญทางวัตถุทางเทคโนโลยีต่างๆ มีไม่มากนัก บางแห่งไฟฟ้ายังไม่มีด้วยซ้ำไป  เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ สถานบันเทิง หรือแม้กระทั่งยานพาหนะ หรือถนน หนทาง ไปไหนมาไหนนั้นลำบาก ต้องใช้เดินหรือใช้เรือพายตามลำคลอง หรือขี่ม้า  ที่ทันสมัยหน่อยก็รถไฟ หรือ จักรยาน ซึ่งก็มีไม่มากนักเพราะไม่มีถนนจะให้ขี่

ด้วยเหตุข้างต้น ครอบครัวส่วนใหญ่แล้ว สามี ภรรยา ลูกหลาน ก็มักจะอยู่รวมกันเรียกว่า “อยู่ด้วยกัน”  มีครบทั้งปู่ ย่า ตา ทวด พี่ ป้า น้า อา บางครอบครัวมีสมาชิกหลายสิบคน การวางแผนครอบครัว ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยและรู้จักกันมากนัก การมีลูกมีหลานจึงเป็นเรื่องธรรมดา  ยิ่งมีหลายๆ  คนยิ่งดี  เพราะจะได้มาช่วยกันทำมาหากิน ทำไร่ ทำสวน ทำนา เพราะอาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม ซึ่งต้องใช้แรงงาน เดี๋ยวนี้ยังพอให้เห็นได้บ้างเหมือนกัน เช่น สังคมตามชนบท บนดอย ของพี่น้องชนเผ่าต่างๆ ยิ่งในผู้ที่เป็นคริสตชนด้วยแล้ว แทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ชัดเจนที่บอกว่า พระเจ้าทรงอวยพรให้มนุษย์มีลูกมีหลานทวีขึ้นเต็มแผ่นดิน ดังนั้น การมีลูกมากๆ จึงเป็นพระพรของพระเจ้า จนมีคำพูดว่า “ลูกคือพระพร คือของขวัญ” จากพระเจ้า ไม่ต้องดูอื่นไกล ตัวพ่อเองมีพี่น้อง  8 คน ยิ่งพระสังฆราช  (พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์) ของเรา ท่านเป็นบุตรคนโต และท่านยังมีน้องๆ  อีก 11 คน น้องชาย 6 คน น้องสาว 5 คน รวมเบ็ดเสร็จครบ  1 โหลพอดี
ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป กลายเป็นสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ความเจริญทางวัตถุเข้ามาแทน “ธรรมชาติ”  มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในทุกๆ เรื่อง ทำให้สังคมมนุษย์เต็มไปด้วยการแข่งขันและแสวงหาวัตถุ  จึงไม่แปลกที่ “ธรรมชาติ”  จะถูกทำลายอย่างมากมาย ส่งผลให้มนุษย์อยู่กับสิ่งประดิษฐ์ กับวัตถุที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก แนวคิดของมนุษย์จึงเปลี่ยนไป ไม่นิยมมีลูกหลานมากๆ เหมือนสมัยก่อนครอบครัวหนึ่งมีแค่ 1 คน หรือ 2 คน อย่างมากไม่เกิน 3 เพราะคิดว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีนั้นลำบาก เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถส่งเสียพวกเขาได้ดีเท่าที่ควร
ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำอย่างไรเพื่อจะไม่มีบุตรหลายๆ คนแน่นอน วิธีที่กระทำกันก็คือต้อง   “วางแผนครอบครัว” ซึ่งทุกคนก็จะเข้าใจว่าต้อง “คุมกำเนิด”  นั่นเอง แต่พ่อว่าคำว่า วางแผนครอบครัว   มีความหมายมากกว่าการคุมกำเนิด  มีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รวมอยู่ในคำว่า “วางแผนครอบครัว”
เกี่ยวกับเรื่องนี้  พระศาสนจักรคาทอลิกมีข้อกำหนดชัดเจนว่า ห้ามกระทำการคุมกำเนิดโดยวิธีการต่างๆ ที่อาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทุกชนิด รวมทั้งการทำหมันด้วย อนุญาตให้คุมกำเนิดได้วิธีเดียว คือ “การคุมกำเนิดโดยวิธีทางธรรมชาติ”

อันว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีทางธรรมชาตินั้น พี่น้องต้องปรึกษาผู้รู้คือแพทย์และพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อนามัย ซึ่งหาได้ไม่ยากลำบากอะไร หรือถ้าคู่แต่งงานไปรับการอบรมก่อนแต่งงานก็จะได้รับการอธิบายเป็นรายๆ ไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดความกังวลและหนักใจอยู่มิใช่น้อยกับ สามี-ภรรยา ภาคปฏิบัติรู้สึกว่าจะยากลำบากอยู่มากทีเดียว อย่างไรก็ดี เราต้องดูที่เหตุผล กล่าวคือ พระศาสนจักรต้องการจะบอกว่า...
ก.    การแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน มิใช่เพียงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น หากยังมีเรื่องอื่นๆ มากมาย การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องสำคัญหนึ่งในหลายๆ ประการ  เช่น สามีภรรยาต้องรักกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ต้องเคารพซื่อสัตย์ต่อกัน  ให้เกียรติกัน ฯลฯ หรือถ้าจะพูดรวมๆ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ต้อง “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” กันนั่นเอง

ข. ต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์ ว่าเป็นพระพรที่พระเป็นเจ้าประทานให้กับมนุษย์ ให้มนุษย์มีความต้องการ และปรารถนาที่จะมีเพศสัมพันธ์ มิใช่เป็นเพียงแค่สัญชาตญาณเหมือนสัตว์ทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงให้มนุษย์รู้จักบังคับตนเอง  มนุษย์จึงประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย  คู่สามีภรรยาจึงต้องไม่ตีค่าคู่ของตนเองว่าเป็นเพียงผู้ที่ตอบสนองความต้องการทางเพศ (ความใคร่) เท่านั้น หากแต่เป็น “คู่ชีวิต” ที่จะต้องรักกันและกันตลอดไป
 
พระเป็นเจ้ามิได้ทรงประณามว่า “ความต้องการทางเพศ” เป็นเรื่องลามกเลวทราม เพราะเป็นธรรมชาติที่ประทานให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์ด้วย มีคู่สามีภรรยาที่มีความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาจะสวดภาวนาโมทนาคุณพระเจ้าทุกครั้งก่อนทจะมีเพศสัมพันธ์กัน แสดงว่าเขาเข้าใจและเชื่อด้วยใจจริงว่า  พระเป็นเจ้าประทานคู่ชีวิตของเขามาให้เขา ซึ่งจะต้องรักและให้เกียรติดังที่ได้กล่าวไปแล้ว...

ค. คู่แต่งงานหรือสามี-ภรรยา ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันดีๆ  เกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิด อย่าทำให้ต้องทะเลาะกันเพราะเรื่องนี้ ซึ่งความจริงแล้ว ถ้ามีความรักและเข้าใจกันอย่างแท้จริง ปัญหาต่างๆ จะลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด
ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่อง “การวางแผนครอบครัว”  กันต่อที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า การวางแผนครอบครัวมีอะไรมากมายที่ตามมา การคุมกำเนิดที่กล่าวไปแล้วเป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องคิดก็คือ  เรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ หรือจะพูดรวมๆ ก็คือ ปัจจัยสี่นั่นแหละ
สมัยนี้ใครคิดว่า “ไม่เป็นไร รักกันชอบกันก็แต่งงานกัน เรื่องอื่นๆ ไม่สำคัญ ไปตายเอาดาบหน้า” คงจะไม่ได้ซะแล้ว เพราะน่ากลัวว่าจะตายเอาจริงๆ  ดังนั้น จึงต้องเตรียมให้พร้อมพอสมควร เช่น บ้านช่องห้องหอ  คิดถึงอนาคตสำหรับลูกๆ ที่จะเกิดมาต้องเลี้ยงดูเขา ต้องเก็บหอมรอมริบ ต้องพยายามอดออมเงินไว้เป็นทุนสำรองบ้าง มิใช่เอาแต่ออมหนี้สินเต็มไปหมด อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ “งก” จนเกินเหตุ เรียกว่าเกินความพอเพียง หรือขาดความรักความเมตตา  ไม่รู้จักแบ่งปันผู้อื่นเลย  อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน  พูดง่ายๆ  ก็คือต้องรู้จักการมีชีวิตด้วยความพอเพียง ซึ่งหมายถึง พอ-เพียง เพื่ออยู่เพื่อกินตามความเหมาะสม  มิใช่เกินความจำเป็น

เคยบอกเสมอว่า เราสามารถดูตัวเองได้ว่า เรา “งก”  มากหรือน้อย วันนี้เดี๋ยวกลับบ้านลองไปเปิดตู้เสื้อผ้าดูก็ได้ ดูซิว่ามีเสื้อผ้ากี่ชุด  รองเท้ากี่คู่ และมีเสื้อผ้าบางตัวหรือไม่ที่เราไม่เคยเอามาใส่เลยเป็นเวลานานกว่า  1 ปีแล้ว หรือ 6 เดือนแล้ว ถ้าถามว่าทำไม คำตอบก็จะบอกว่า “เสียดาย มันสวยดี” ในขณะที่มีคนที่ลำบากยากจน เสื้อผ้าแทบจะไม่มีใส่ ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาเป็นว่า เวลานี้หน้าหนาว เรามีเสื้อกันหนาวกี่ตัว ขณะที่ยังมีผู้กำลังทนทุกข์กับความหนาวเย็นอยู่มากมาย

3. จากข้อที่  2 เรื่องจุดประสงค์สำคัญของการแต่งงานที่คู่แต่งงานต้องมี คือ การมีบุตร เงื่อนไขอีกประการหนึ่งสำคัญคือ ทั้ง 2 คน จะต้องมีอิสรภาพคือเป็นการตัดสินใจของตนเอง ไม่มีการถูกบังคับใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม  พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องยินดีและเต็มใจ ดังนั้น การ “คลุมถุงชน”  จึงกระทำไม่ได้ ใครจะแต่งงานกันจะต้องทำความรู้จักกัน ศึกษาดูใจกันก่อน แต่ต้องระวังดีๆ เหมือนกันว่า การไปอยู่กินด้วยกันก่อนแต่งงานนั้นไม่ถูกต้องและกระทำไม่ได้ สมัยก่อนพระศาสนจักรเคร่งครัดมาก   ถ้าเกิดกรณีดังกล่าว  และเขาจะแต่งงานกัน จะต้องถูกแยกกันระยะหนึ่งและต้องรับการอบรมอย่างดีเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้เอง เราจะไม่ทำพิธีแต่งงานให้กับบรรดาเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือถ้ามีความจำเป็นต้องมีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ให้การรับรองเสียก่อน เพราะถือว่าเขายังรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ที่ตามมามากมายจากการแต่งงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร...

4. คู่แต่งงานจะต้องเข้าใจถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน   (UNITY) และจะหย่าร้างเลิกกันไม่ได้  เกี่ยวกับเรื่องนี้พระศาสนจักรคาทอลิกถือว่าจะต้องมีสามีเดียวหรือภรรยาเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือ มีผัวเดียว  เมียเดียว แต่มิได้หมายความว่าสามารถแต่งงานได้ครั้งเดียวเท่านั้น
ความหมายก็คือต้องถือพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันในวันแต่งงาน ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังนี้ “ข้าพเจ้าขอรับคุณเป็นสามี (ภรรยา) ขอสัญญาว่า จะถือซื่อสัตย์ต่อคุณทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและเวลาสบาย เพื่อรักและยกย่องให้เกียรติคุณจนกว่าชีวิตจะหาไม่”
พันธสัญญานี้จะผูกมัดทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียวกันตลอดเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ และแน่นอนว่าถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสิ้นชีวิต พันธสัญญานี้ก็จบลงโดยอัตโนมัติ ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นอิสระและสามารถที่จะแต่งงานใหม่ได้ แต่ต้องระวังดีๆ   ว่าต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ได้ให้นี้อย่างดีด้วย นั่นคือ ต้องยอมรับซึ่งกันและกันเป็นสามี-ภรรยา  ด้วยยินดีและเต็มใจ ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน   ไม่นอกใจ ไม่มีกิ๊กมีกั๊ก มีเล็กมีน้อยที่ไหนอีก และต้อง  “ร่วมทุกข์  ร่วมสุข”  ด้วยกันอย่างเต็มใจสุดความสามารถ  มิใช่พอรู้ว่าถ้าคู่ของตนตายไปแล้วจะแต่งงานใหม่ได้ เลยไม่ดูแลเอาใจใส่ พอเขาป่วยก็ปล่อยปละละเลยไม่สนใจดูแลรักษา  ให้ตายๆ ไปซะ อย่างนี้ถือว่าผู้นั้นได้ทำผิดพันธสัญญา  คือ  ไม่ร่วมทุกข์ร่วมสุข มีแผนการที่ไม่ดี จะไปแต่งงานใหม่ เป็นไปได้ว่าผู้อื่นอาจจะไม่รู้  แต่ตัวเองต้องรู้และต้องรับผิดชอบต่อหน้าพระด้วย เพราะพันธสัญญานั้นได้กระทำต่อพระพักตร์ของพระองค์
หรือกรณีที่แต่งงานไปแล้ว  และอยู่ด้วยกันไม่ได้เลิกรากันไป อย่างนี้ บอกได้ทันทีว่าผิดพันธสัญญา จะไปแต่งงานใหม่ไม่ได้เหมือนกัน...เพราะต้อง ไม่ลืมว่าคำลงท้ายของพันธสัญญาบอกว่า “...จนกว่าชีวิตจะหาไม่” มิได้ บอกว่า “...จนกว่าจะหาใหม่ได้” จริงมั๊ย (ดังนั้น เวลากล่าวคำพันธสัญญา ระวังดีๆ  อย่ากล่าวผิด!)
อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่สามารถเลิกรากันได้เหมือนกัน หลักใหญ่ๆ ก็คือถ้าขาดเงื่อนไขที่จำเป็นดังกล่าวไปแล้ว โดยสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนด้วยการตัดสินของพระศาสนจักร  เช่น ขาดความรักต่อกัน ถูกคลุมถุงชน ขาดเสรีภาพ เป็นต้น แต่ต้องได้รับการพิจารณาจากพระศาสนจักร และมีการประกาศยกเลิกพิธีแต่งงานนั้นๆ  อย่างเป็นทางการเสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาขั้นตอนพอสมควรเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีข้อคำถามอีกอย่างหนึ่งอยู่บ่อยๆ คือ  ถ้าหากเลิกกันไปเอง ยังไม่ได้แต่งงานใหม่นั้น ฝ่ายคาทอลิกจะไปแก้บาปรับศีลได้หรือไม่?
คำตอบคือตราบใดที่ยังไม่มีสามีหรือมีภรรยาใหม่ ยังคงรับศีลศักดิ์สิทธิ์ได้ตามปกติ แต่ถ้าหากไปมีสามีภรรยาใหม่ จะไม่สามารถไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ   ได้ เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่กินด้วยกันและยังไม่ได้กระทำพิธีแต่งงานให้ถูกต้องเรียบร้อยตามกฎหมายพระศาสนจักรเสียก่อน...
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะถือว่าอยู่ในความผิด   เป็นบาป นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามผู้นั้นจะต้องสำนึกเสมอว่าตนเองจะต้องหาโอกาสกระทำพิธีให้ถูกต้องและต้องไปวัดร่วมพิธีกรรม สวดภาวนา ปฏิบัติกิจศรัทธาได้ เพียงแต่ยังไม่สามารถไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ   เช่น ศีลอภัยบาป และศีลมหาสนิท เป็นต้น
เรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่มากเหมือนกันในสังคมของเรา สิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องปรึกษากับพระสงฆ์เจ้าวัดและหาวิธีแก้ไขตามกฎระเบียบของพระศาสนจักรต่อไป หลายครั้งมีคน “หัวหมอ”  เป็นต้นชาวต่างชาติทจะมาขอกระทำพิธีกับคาทอลิกไทย ทั้งๆ ที่ตนเองเคยแต่งงานมาแล้วในประเทศของตน แน่นอนว่าพระสงฆ์จะต้องทำการสอบสวนอย่างละเอียด และที่สำคัญต้องขอการ รับรอง  (ใบศีลล้างบาป)  จากวัดของเขา ทางวัดของเขาจะต้องสำเนาหลักฐาน พร้อมลงนามรับรอง และต้องเป็น หลักฐานที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือนเหมือนกัน  เพราะใบศีลล้างบาปนั้น  จะแสดงว่าแต่งงานหรือยังหรือเขามี ข้อขัดขวางใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถแต่งงานได้หรือเปล่า และโดยปกติคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดของเขาจะต้องมีจดหมายรับรองมาด้วย  และจะเป็นเช่นนี้ทั่วโลก...
อีกเรื่องหนึ่งก็คือหากมิใช่คาทอลิก และเคยแต่งงานมาแล้ว และเขาเลิกกับคู่ของเขาแล้ว เขาจะแต่งงานกับคาทอลิกได้หรือไม่...
เรื่องนี้ทางพระสงฆ์เจ้าวัดจะต้องพิจารณาดูว่า การแต่งงานของเขาที่ผ่านมานั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่พระศาสนจักรคาทอลิกถือว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนหลายประการ ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้ แต่ถ้าถือว่าการแต่งงานนั้นถูกต้องฝ่ายคาทอลิกจะแต่งงานกับเขาไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มีวิธีการที่จะกระทำได้ตามกฎหมายพระศาสนจักร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องละเอียดรอบคอบ  นั่นคือ ถ้าหากเขามีความเชื่อศรัทธา และสมัครเป็นคาทอลิกด้วยจริงใจ ก็ถือว่าเขาหลุดพ้นจากพันธะการแต่งงานของเขา สามารถที่จะแต่งงานใหม่ได้ เรื่องนี้จะต้องระวังดีๆ เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า มาเป็นคาทอลิก เพื่อแต่งงาน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง...
จากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สรุปได้ว่า สาระสำคัญๆ ที่คาทอลิกถือเป็นเงื่อนไขในการแต่งงานมีอยู่ 4 ประการ
1.   คู่แต่งงานต้องมีความรักที่แท้จริงเป็นพื้นฐาน
2.   ต้องมีเจตนาที่มีบุตร
3.   ต้องมีเสรีภาพในการตัดสินใจแต่งงานเลือกคู่ครอง (สามี-ภรรยา) ด้วยตัวของตนเอง
4.  ต้องเข้าใจและยอมรับว่ามีสามี-ภรรยาได้คนเดียว (ผัวเดียว-เมียเดียว)  เท่านั้น และจะหย่าร้างกันไม่ได้