แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ตารางลำดับวันทางพิธีกรรม (ตามความสำคัญ)


1. (วันชั้นที่หนึ่ง) “สมโภช”
1.    ตรีวารปัสกาพระทรมานและการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (เริ่มตั้งแต่มิสซาเย็นวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์จนถึงวันอาทิตย์ปัสกา)
2.    สมโภชพระคริสตสมภพ สมโภชพระคริสต์แสดงองค์ สมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ และวันสมโภชพระจิตเจ้า

  • วันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า มหาพรต และปัสกา
  • วันพุธรับเถ้า
  • วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
  • วันในอัฐมวารปัสกา

3.    วันสมโภชพระเยซูเจ้า แม่พระ และนักบุญตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินสากล

  • วันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับทั่วไป (2 พฤศจิกายน)

4.    วันสมโภชเฉพาะ (ของท้องถิ่นหรือคณะนักบวช) ได้แก่
ก) สมโภชองค์อุปถัมภ์เอกของเมืองหรือสถานที่นั้นๆ
ข) สมโภชการอภิเษกหรือวันครบรอบปีการอภิเษกวัดนั้นๆ
ค) สมโภชชื่อวัดนั้น (ฉลองวัด)
ง) สมโภชชื่อคณะ หรือผู้ตั้งคณะ หรือผู้อุปถัมภ์เอกของคณะ (ในแต่ละคณะมีได้เพียงวันเดียวในรอบปี นอกจากนี้ต้องถือเป็นเพียง “ฉลอง”)

2. (วันชั้นที่สอง) “ฉลอง”
5.    ฉลองพระเยซูเจ้าตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินสากล
6.    วันอาทิตย์ในเทศกาลคริสตสมภพและเทศกาลธรรมดา
7.    ฉลองแม่พระและนักบุญตามปฏิทินสากล
8.    ฉลองเฉพาะ (ท้องถิ่นหรือคณะนักบวช) ได้แก่
ก) ฉลององค์อุปถัมภ์เอกของสังฆมณฑล (อาจเลื่อนขึ้นเป็นวันสมโภชได้)
ข) ฉลองวันครบรอบปีการอภิเษกอาสนวิหาร
ค) ฉลองนักบุญองค์อุปถัมภ์เอกของแคว้น จังหวัด ประเทศนั้นๆ
ง) ฉลองชื่อ (วัดหรือคณะ) ผู้ตั้ง หรือองค์อุปถัมภ์เอกของคณะ หรือแขวงปกครองของคณะนักบวช (นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ในข้อ 4)
จ) ฉลองอื่นๆ ของวัดนั้นๆ โดยเฉพาะ
ฉ) ฉลองที่กำหนดไว้ในปฏิทินเฉพาะของสังฆมณฑลหรือคณะ (นักบวช)
9.    วันธรรมดาในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 24 ธันวาคม

  • วันในอัฐมวารพระคริสตสมภพ
  • วันธรรมดาในเทศกาลมหาพรต

 

3. (วันชั้นที่สาม) “ระลึกถึง”
10.    วันระลึกถึงที่บังคับตามปฏิทินสากล
11.    วันระลึกถึงบังคับเฉพาะ นั่นคือ

  • ระลึกถึงองค์อุปถัมภ์รองของสถานที่ สังฆมณฑล หรือเขต แขวงของคณะนักบวช
  • ระลึกถึงบังคับอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในปฏิทินของแต่ละสังฆมณฑล หรือคณะนักบวช

12.    วันระลึกถึงไม่บังคับ
13.    วันธรรมดาในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม

  • วันธรรมดาในเทศกาลพระคริสตสมภพ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม จนถึงวันเสาร์หลังสมโภชพระคริสต์แสดงองค์
  • วันธรรมดาในเทศกาลปัสกา ตั้งแต่วันจันทร์หลังอัฐมวาร จนถึงวันเสาร์ก่อนสมโภชพระจิตเจ้า
  • วันธรรมดาในเทศกาลธรรมดา


วันทางพิธีกรรม (จากเอกสารกฎทั่วไปสำหรับปีพิธีกรรมและปฏิทิน ข้อ 3-16)

I วันทางพิธีกรรมโดยทั่วไป
    3. แต่ละวันถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ผ่านทางการฉลองพิธีกรรมของประชากรของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางพิธีมิสซาและทำวัตร
     วันทางพิธีกรรมแต่ละวันเริ่มนับตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเที่ยงคืน แต่การประกอบพิธีกรรมของวันอาทิตย์และวันสมโภชนั้น เริ่มตั้งแต่วัตรเย็นของวันก่อนฉลองแล้ว

II วันอาทิตย์
    4. พระศาสนจักรฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาในวันแรกของสัปดาห์ที่เรียกว่า “วันพระเจ้า” หรือ “วันอาทิตย์” สิ่งนี้เป็นธรรมประเพณีที่มาถึงเราจากอัครสาวก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากวันที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนชีพ ดังนั้นวันอาทิตย์ต้องถือว่าเป็นวันฉลองที่มาก่อนหมด
    5. เพราะความพิเศษนี้เอง การฉลองวันอาทิตย์จึงยอมถอยให้ได้เพียงแต่ “วันสมโภช” และ “วันฉลองพระเยซูเจ้า” เท่านั้น ส่วนวันอาทิตย์ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เทศกาลมหาพรตและปัสกาต้องมาก่อนฉลองพระเยซูเจ้าและวันสมโภชอื่นใดทั้งสิ้น วันสมโภชที่เผอิญมาตกตรงกับวันอาทิตย์ดังกล่าวนี้ ให้เลื่อนมาทำการฉลองก่อนในวันเสาร์
    6. โดยธรรมชาติของวันอาทิตย์ แยกการฉลองอื่นๆ ที่จะมาฉลองในวันนี้ออกไป ยกเว้น
    ก. วันอาทิตย์ในอัฐมวารคริสตสมภพเป็นวันฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
    ข. วันอาทิตย์หลังวันที่ 6 มกราคมเป็นวันฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
    ค. วันอาทิตย์หลังวันสมโภชพระจิตเจ้าเป็นวันสมโภชพระตรีเอกภาพ
    ง. วันอาทิตย์สุดท้ายในเทศกาลธรรมดาเป็นวันสมโภชพระคริสตกษัตริย์
    7. ในสถานที่ซึ่งการสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ และพระคริสตกายา ไม่ได้ฉลองตรงวัน (เนื่องจากไม่ใช่วันหยุด) สามารถเลื่อนไปฉลองในวันอาทิตย์ได้ดังนี้
    ก. วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ฉลองในวันอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 2-8 มกราคม
    ข. วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ ฉลองในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลปัสกา
    ค. วันสมโภชพระคริสตกายา ฉลองในวันอาทิตย์หลังวันสมโภชพระตรีเอกภาพ

III วันสมโภช วันฉลอง และวันระลึกถึง

    8. ขณะที่ฉลองธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าในระหว่างปี พระศาสนจักรยังแสดงความเคารพด้วยความรักต่อพระนางมารีย์ พระมารดาพระเจ้า ซึ่งอยู่เหนือกว่าการระลึกถึงมรณสักขีและบรรดานักบุญ
    9. นักบุญที่มีความสำคัญในพระศาสนจักรสากลได้รับการฉลองจากพระศาสนจักรทั้งหมด นักบุญองค์อื่นๆ ทั้งที่มีรายชื่อในปฏิทินสากลแบบระลึกถึงไม่บังคับ หรือให้เป็นคารวกิจของพระศาสนจักรบางแห่ง หรือ เขตแดน หรือคณะนักบวช
    10. การฉลองแบ่งออกตามความสำคัญได้ดังนี้ วันสมโภช วันฉลอง และวันระลึกถึง
    11. วันสมโภช ถือว่าเป็นวันพิเศษ การฉลองเริ่มขึ้นตั้งแต่วัตรเย็นที่ 1 ในตอนเย็นวันก่อน วันสมโภชบางวันมีมิสซาเฉพาะพิเศษสำหรับวันก่อนฉลองด้วย สำหรับใช้ตอนเย็นวันก่อนฉลอง ถ้ามีการถวายมิสซาเวลาเย็น
    12. การฉลองปัสกา และ พระคริสตสมภพ ซึ่งเป็นวันสมโภชสำคัญ มีการฉลองต่อเนื่องไปอีก 8 วัน ซึ่งแต่ละอัฐมวารมีกฎของมันเอง
    13. พิธีกรรมของวันฉลองจำกัดอยู่ในขอบเขตของวันตามธรรมชาติ (เที่ยงคืนถึงเที่ยงคืน) เพราะฉะนั้น วันฉลองจึงไม่มีวัตรเย็นที่ 1 เว้นแต่ว่าจะเป็นวันฉลองพระเยซูเจ้า ซึ่งมาตกตรงกับวันอาทิตย์ในเทศกาลธรรมดาและในวันอาทิตย์ในเทศกาลพระคริสตสมภพ และทำการฉลองแทนวันอาทิตย์
    14. การระลึกถึงแบ่งออกเป็น “ที่บังคับ” และ “ไม่บังคับ” การประกอบพิธี “การระลึกถึง”นี้ ผสมผสานเข้ากับพิธีกรรมของวันธรรมดาที่ตรงกันตามกฎเกณฑ์ที่มีกำหนดไว้ในหนังสือมิสซาและหนังสือทำวัตร
    “การระลึกถึงบังคับ” ที่ตรงกับวันธรรมดาในเทศกาลมหาพรต อาจทำพิธีได้เป็นเพียงเท่ากับ “การระลึกถึงไม่บังคับ” เท่านั้น
    ถ้าในวันเดียวกันปฏิทินกำหนด “การระลึกถึงไม่บังคับ” ไว้หลายอัน อาจทำพิธีระลึกถึงได้เพียงอันเดียวเท่านั้น โดยละเว้นอันอื่นๆ เสีย
    15. ในวันเสาร์เทศกาลธรรมดา ที่ไม่มี “การระลึกถึงบังคับ” ใดๆ อาจทำ “การระลึกถึงไม่บังคับ” ของแม่พระได้เสมอ

IV วันธรรมดา

    16. วันในสัปดาห์หลังวันอาทิตย์เรียกว่า “วันธรรมดา” แต่ก็ประกอบพิธีกรรมได้หลายแบบตามแต่ความสำคัญเฉพาะของวัน
    ก. วันพุธรับเถ้า และวันในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่วันจันทร์-วันพฤหัส อยู่เหนือการฉลองอื่นๆ
    ข. วันธรรมดาในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า จากวันที่ 17-24 ธันวาคม และวันธรรมดาในเทศกาลมหาพรตอยู่เหนือกว่าวันระลึกถึงบังคับ
    ค. วันธรรมดาอื่นๆ ทั้งหมดเปิดทางให้กับวันสมโภช และวันฉลอง และยังเชื่อมโยงกับการระลึกถึง

วันฉลองบังคับ (กฤษฎีกา 14)
มาตรา 1246 # 2 อย่างไรก็ตาม สภาพระสังฆราชอาจจะยุบวันฉลองบังคับบางวันไป หรืออาจจะเลื่อนวันฉลองบังคับไปเป็นวันอาทิตย์ ทั้งนี้ต้องได้รับอนุมัติจากสันตะสำนักก่อน
เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพระศาสนจักรมาตรา 1246 # 2 สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ประกาศว่า “วันฉลองบังคับตรงวัน คือ ทุกวันอาทิตย์ตลอดปี และวันพระคริสตสมภพ ส่วนวันฉลองบังคับอื่นๆ ได้แก่ วันสมโภชพระคริสตเจ้าสำแดงองค์ สมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ สมโภชพระคริสตวรกาย สมโภชแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล และสมโภชนักบุญทั้งหลาย ให้เลื่อนไปฉลองวันอาทิตย์ถัดไป
วันฉลองบังคับอื่นๆ ที่มาตรา 1246 # 1 ระบุไว้ให้ถือเป็นวันฉลองสำคัญและไม่บังคับ ได้แก่วันสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า วันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล และวันสมโภชนักบุญยอแซฟ
ข้อสังเกต : วันสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า วันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล และวันสมโภชนักบุญยอแซฟ ไม่ถูกกำหนดให้เป็นวันฉลองสำหรับประเทศไทย อาจจะฉลองตรงวันหรือวันเสาร์ถัดไปก็ได้ ถ้าเลื่อนไปวันอาทิตย์ถัดไปก็จะไปตรงกับวันฉลองอื่นๆ หรือไปตรงกับวันอาทิตย์ในเทศกาลมหาพรต

1. ประวัติการฉลองวันพระเจ้า
1.1 เหตุการณ์ปัสกาของพระเยซูเจ้า
-    ในตอนเช้าของวันแรกของสัปดาห์ที่พระเยซูเจ้ากลับคืนชีพ (มธ 28:1 ; มก 16:9 ; ลก 24:1 ; ยน 20:1)
-    พระเยซูเจ้าทรงประจักษ์แก่ศิษย์ 2 คนที่เอมาอุส “เขาจำพระองค์ได้เมื่อพระองค์ทรงบิขนมปัง” (ลก 24:35)
-    ทรงประจักษ์พระองค์ต่อบรรดาสาวกที่ประชุมกัน และทรงรับประทานกับพวกเขา (ลก 24:41-43)
-    ทรงประทานพระจิต และอำนาจในการยกบาปให้แก่เขา (ยน 20:21-23)
-    สรุป เน้น การกลับคืนชีพ มื้ออาหาร ประทานพระจิต งานประกาศข่าวดี(mission) (ศูนย์กลางของประวัติแห่งความรอด)
-    วันพระเจ้าจึงเป็นวันฉลองปัสกาประจำสัปดาห์

1.2 การฉลองวันพระเจ้าในประวัติพระศาสนจักรมีรากฐานมาตั้งแต่ยุคอัครสาวก
-    วันแห่งสันติสุขและความเชื่อ (ยน 20:26-27) “8 วันหลังจากนั้น พระเยซูเจ้าประจักษ์ ตรัสว่า “สันติสุขจงอยู่กับท่าน” บอกโทมัสให้แหย่นิ้วไปที่แผล ให้เชื่อ มีสองจุดที่เน้น glorious cross กับความเชื่อ (การประชุมมีกางเขนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการประชุมของผู้มีความเชื่อ)
-    วันแห่งการนมัสการ  (กจ 20:7-12) เปาโลที่เมืองโทรอัส “พิธีบิขนมปัง” ค่ำวันเสาร์(วันต้นสัปดาห์) เรามาชุมนุมกันเพื่อทำพิธีบิขนมปัง เปาโลพูดคุยกับบรรดาศิษย์อย่างยืดยาวจนถึงเที่ยงคืน เพราะจะต้องจากไปในวันรุ่งขึ้น   มีตะเกียงอยู่หลายดวงในห้องชั้นบนที่ชุมนุมกัน   ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อยูทิกัสนั่งอยู่ที่ขอบหน้าต่าง กำลังง่วงนอนมาก ขณะที่เปาโลพูดต่อไปเรื่อย ๆ เขาก็หลับและพลัดตกจากชั้นที่สามถึงพื้น มีผู้อุ้มเขาขึ้นมาพบว่าเขาตายแล้ว  เปาโลจึงลงมาข้างล่างก้มลงกอดร่างของเขาไว้ พูดว่า “อย่าวุ่นวายไปเลย เขายังมีชีวิตอยู่”    แล้วเปาโลก็ขึ้นไปชั้นบนอีกครั้งหนึ่ง ทำพิธีบิขนมปังและกินอาหาร พูดคุยต่อไปอีกนานจนถึงรุ่งเช้า แล้วจากไป   บรรดาศิษย์พาชายหนุ่มผู้นั้นที่ยังมีชีวิตอยู่กลับไปบ้าน และรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาก
-    วันแห่งความรักและความเมตตา (1คร 16:1-2)  เปาโลบอกให้เก็บเงินช่วยคนจน (เก็บวันแรกของทุก ๆ สัปดาห์) สอดคล้องกับสิ่งที่ นักบุญจัสตินเขียน ว่าการเก็บทานนั้นทำในตอนจบพิธีศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์  (ความรักต่อคนจน)
-    วันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้า (เป็นข้อความเดียวในพันธสัญญาใหม่ที่บอกว่า วันอาทิตย์เป็นวันพระเจ้า) วว 1:9-10 “the Lord’s day” เทียบกับ 1 คร 11:20 “the Lord’s supper”  และจะพบคำว่าวันของพระเจ้าอีกครั้งในหนังสือ ดีดาเค (ประมาณ ค.ศ. 80-130) เป็นวันที่คริสตชนมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีศีลมหาสนิท สารภาพความผิดต่อกัน เน้นที่ธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าทั้งหมด
-    จะเห็นว่าคำในหลาย ๆ ภาษามีรากศัพท์มาจากวันพระเจ้า dominica (ละติน) Dimanche (ฝรั่งเศส) Domenica (อิตาเลียน)
-    เบื้องต้นคริสตชนที่เยรูซาเล็มฉลองทั้งวันสับบาโตและวันพระเจ้า
-    ต่อมาคริสตชนฉลองเฉพาะวันพระเจ้า
-    เริ่มมีการแยกชัดเจนโดยนักบุญอิกญาซิโอแห่งอันติโอก (107)
-    “คริสตชนมาชุมนุมกันในวันของพระเจ้า ทำพิธีบิปังและขอบพระคุณ สารภาพบาป คืนดีต่อกันและกัน เพื่อการถวายบูชาของพวกเขาจะได้บริสุทธิ์” (หนังสือดิดาเค)
-     Pliny the Younger เขียนถึง Trajan (112) ท่านเป็นผู้ปกครองที่ Bithynia “คริสตชนถูกจับเพราะประชุมปกติในรุ่งเช้าเพื่อขับร้องเพลงสรรเสริญพระเยซูเป็นพระเจ้า(บทขอบพระคุณ)” (มีการประชุม 2 ครั้ง ตอนเช้าสำหรับวจนพิธีกรรม และตอนเย็นสำหรับมื้ออาหาร เนื่องจากมีกฎหมายห้ามการประชุมในตอนเย็น กลุ่มคริสตชนจึงเลื่อนพิธีกรรมในตอนเย็นมาทำในตอนเช้า)
-    “ในวันอาทิตย์ คริสตชนมาชุมนุมกัน อ่านข้อเขียนของอัครสาวก ประกาศก และเหตุผลที่ประชุมวันอาทิตย์เพราะเป็นวันแรกที่พระเจ้าทรงสร้างโลกและเป็นวันที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (นักบุญจัสติน ปี ค.ศ. 165)
-     “อย่าให้งานในโลกสำคัญกว่าพระวาจาของพระเจ้า .. ดังนั้นในวันพระเจ้าจงทิ้งทุกอย่าง ไปที่วัดของเจ้า” (หนังสือ Teaching of the Apostle (Didascalia Apostolorum))
-    Martyrs of Abitania (ตูนิเซีย) มรณสักขีของวันอาทิตย์ ถูกจับต่อหน้ากงศุล Anulinus ในคาเทจ 12 กุมภาพันธ์ 304 Saturnius พระสงฆ์ตอบว่า “เราต้องฉลองวันพระเจ้า มันเป็นกฎของเรา” Emeritus ผู้อ่าน (เจ้าของบ้าน) “ใช่เป็นบ้านของฉันที่ใช้ฉลองวันของพระเจ้า เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ฉลองวันพระเจ้า”  Victoria พรหมจารี “ฉันร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะว่าฉันเป็นคริสตชน” (ข้อสังเกตในสามศตวรรษแรกวันอาทิตย์ยังไม่ใช่วันหยุด)
-    3 มีนาคม 321 จักรพรรดิคอนสแตนติน กำหนดวันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อน (ยกเว้นชาวนา) ในเดือนกรกฎาคม 321 ห้ามมีการพิพากษา แต่ให้มีกิจการแห่งความชื่นชมยินดีและสันติสุข
-    ในภายหลังจึงมีข้อกำหนดของพระศาสนจักรให้มาวัดในวันพระเจ้า
-    สังคายนาแห่ง Elvira ในสเปน (300-302/306-313) “ไม่มาวัดวันอาทิตย์ 3 อาทิตย์ Excommunicate เป็นเวลาสั้น ๆ เป็นการลงโทษ”
-    ในศตวรรษที่ 4 มี พิธีตื่นเฝ้า (vigil) ของวันพระเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็ม (เราทราบเรื่องนี้จากการแสวงบุญของ Egeria เธอบรรยายถึงพิธีว่าประกอบด้วยบทสดุดีและบทภาวนา จุดยอดของพิธี คือ การอ่านพระวรสารเรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า)
-    ความคิดเรื่องวันอาทิตย์เป็นวันพักผ่อน ในสมัยนักบุญเอเฟรม ชาวซีเรีย ท่านเชื่อมโยงความคิดเรื่องการพักผ่อนในวันพระเจ้าเข้ากับกฎของวันสับบาโต
-    ที่สุดความสำคัญของวันพระเจ้าค่อย ๆ เสียไปทีละน้อย ปี ค.ศ. 1456 มีการประกาศว่ามิสซาวันอาทิตย์อยู่ในชั้นที่ 2 คือ วันฉลองนักบุญ หรือแม่พระมีความสำคัญกว่าวันพระเจ้าในเทศกาลธรรมดา


ที่มา: เอกสารสอนปีพิธีกรรม (คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช)