วันพระเจ้า
บทนำ
สังฆธรรมนูญพิธีกรรม (SC 102-111) เรื่องปีพิธีกรรม
102. พระศาสนจักรถือว่าเป็นหน้าที่ของตนจะต้องฉลองการที่พระคริสตเจ้าทรงไถ่ คือ เตือนความศรัทธาให้ระลึกถึงการไถ่นี้ในวันที่กำหนดในระหว่างปีหนึ่งๆ ทุกๆ สัปดาห์ในวันที่เรียกว่า “วันพระเจ้า” พระศาสนจักรรำลึกถึงการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรยังฉลองอีกปีละครั้งพร้อมกับการรับทรมานของพระองค์ในวันสมโภชปัสกา
พระศาสนจักร ยังนำธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้ามาตีแผ่ตลอดเวลาทั้งปี ตั้งแต่วันปฎิสนธิและวันบังเกิดจนถึงวันเสด็จขึ้นสวรรค์ วันพระจิตเจ้าและวันที่เราหวังและคอยให้พระองค์เสด็จกลับมา
พระศาสนจักรเตือนให้ระลึกถึงธรรมล้ำลึกการไถ่ดังนี้ เพื่อเปิดพระคลังฤทธิ์อำนาจและบุญกุศลของพระคริสตเจ้าให้แก่สัตบุรุษ ฤทธิ์อำนาจและบุญกุศลเหล่านี้กลับเป็นปัจจุบันเสมอไป สัตบุรุษสามารถมารับพระคุณเหล่านี้ จิตใจของเขาจึงเปี่ยมด้วยพระหรรษทานที่ช่วยให้รอด
103. เมื่อฉลองธรรมล้ำลึกต่างๆ ของพระคริสตเจ้าตามลำดับประจำปีเช่นนี้ พระศาสนจักรแสดงความเคารพนับถือด้วยความรักเป็นพิเศษต่อพระนางมารีย์ พระชนนีของพระเจ้าซึ่งร่วมกับพระบุตรมิได้ขาดในการไถ่ พระศาสนจักรเทิดชูและยกย่องพระนางมารีย์ว่า เป็นผลอันประเสริฐของการไถ่ เมื่อพระศาสนจักรเพ่งดูพระนางด้วยความชื่นชม พระศาสนจักรก็เห็นว่าพระนางเป็นรูปอันบริสุทธิ์ยิ่งสำหรับพระศาสนจักรเอง ซึ่งปรารถนาและหวังที่จะเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์เช่นนั้นด้วย
104. นอกจากนั้น ตลอดปี พระศาสนจักรยังให้เราคิดถึงมรณสักขีและนักบุญอื่นๆ ซึ่งได้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า และบัดนี้อยู่ในสวรรค์ร้องสรรเสริญพระเจ้า และภาวนาอุทิศแก่เรา ในวันฉลองของนักบุญ พระศาสนจักรประกาศธรรมล้ำลึกปัสกาซึ่งสำเร็จไปในนักบุญเหล่านี้ ซึ่งได้ทนทรมานและได้รับพระสิริโรจนาการกับพระองค์ พระศาสนจักรเสนอให้สัตบุรุษถือตามแบบฉบับของท่านซึ่งดึงดูดทุกคนไปหาพระบิดาทางพระคริสตเจ้า กับวอนขอพระคุณของพระเจ้าอาศัยบุญกุศลของท่าน
105. ที่สุด ในเทศกาลต่างๆ ประจำปีและตามระเบียบที่ถือเป็นประเพณีมา พระศาสนจักรทำการอบรมสัตบุรุษอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยกิจศรัทธาอันมีประโยชน์แก่กายและวิญญาณด้วยการสั่งสอน การภาวนา การใช้โทษบาปและกิจเมตตา
106. ตามประเพณีอันสืบเนื่องมาจากอัครสาวก และมีต้นเดิมมาจากวันที่พระคริสตเจ้ากลับคืนชีพ พระศาสนจักรฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาทุกๆ วันที่แปด ซึ่งเรียกอย่างถูกต้องแล้วว่า วันพระเจ้าหรือวันอาทิตย์ ในวันนั้น สัตบุรุษต้องมาประชุมกัน เพื่อฟังพระวาจาของพระเจ้าและร่วมในพิธีสักการบูชาขอบพระคุณ จะได้คิดถึงการรับทรมาน การกลับคืนชีพและการรับสิริโรจนาการของพระเยซูเจ้า และขอบพระคุณพระเป็นเจ้าซึ่ง “ได้บังเกิดเราใหม่เพื่อความหวังอันมีชีวิตอาศัยการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า” (1ปต 1:3) เพราะฉะนั้น วันพระเจ้า (วันอาทิตย์) จึงเป็นวันฉลองสำคัญซึ่งต้องเสนอให้สัตบุรุษมีความเลื่อมใสและสอนให้เข้าใจเพื่อว่าวันนั้นจะได้เป็นวันชื่นชมยินดีและเป็นวันหยุดงานด้วย การฉลองอย่างอื่น ถ้าไม่สำคัญจริงๆ แล้ว ก็ไม่ควรถือว่าเป็นเอกกว่าวันอาทิตย์ เพราะวันอาทิตย์เป็นรากและแก่นของพิธีกรรมทั้งหมด
107. ให้ตรวจแก้ปีพิธีกรรมใหม่ให้เป็นแบบที่ว่า เมื่อยังคงถือหรือจะฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีและระเบียบที่เคยถือในเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามสภาพในยุคของเราแล้ว ก็ให้คงรักษาลักษณะเฉพาะของเทศกาลต่างๆ ไว้เพื่อหล่อเลี้ยงความศรัทธาของสัตบุรุษซึ่งฉลองธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่ เฉพาะอย่างยิ่งธรรมล้ำลึกปัสกา หากมีการปรับปรุงพิธีกรรมที่จำเป็นตามสภาพของท้องที่ก็ให้ทำโดยถือตามบัญญัติในข้อ 39 และ 40
108. ก่อนอื่นให้ชักจูงจิตใจของสัตบุรุษให้คิดถึงวันฉลองของพระเยซูเจ้าซึ่งฉลองธรรมล้ำลึกแห่งความรอดในรอบปี ฉะนั้น วันฉลองตามเทศกาล (proper of the time) จะต้องสำคัญกว่าวันฉลองของนักบุญ เพื่อระลึกถึงธรรมล้ำลึกแห่งความรอดจนครบรอบเท่าที่ควร
109. ลักษณะสองอย่างของเทศกาลมหาพรต คือ อย่างหนึ่งเตือนให้ระลึกถึงศีลล้างบาปหรือเตรียมรับศีลล้างบาป กับอีกอย่างหนึ่งเตือนให้ทำการใช้โทษบาป ลักษณะสองประการนี้ช่วยเทศกาลมหาพรตให้เตรียมสัตบุรุษฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า และภาวนาอย่างตั้งใจยิ่งขึ้นแล้วจะได้ฉลองธรรมล้ำลึกปัสกาอย่างดี ทั้งในพิธีกรรมเองและในการอธิบายพิธีกรรมในคำสอน ให้อธิบายชี้ลักษณะสองประการนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น
ก. ให้ใช้ส่วนประกอบที่เกี่ยวกับศีลล้างบาปตามพิธีกรรมในเทศกาลมหาพรตให้มากยิ่งขึ้นและส่วนประกอบบางอย่างที่เคยใช้ก่อนนี้ ก็ให้นำมาใช้ใหม่ตามความเหมาะสม
ข. สำหรับส่วนประกอบเกี่ยวกับการใช้โทษก็เช่นกัน เวลาอธิบายคำสอนต้องแนะสัตบุรุษให้เข้าใจ มิใช่แต่ผลของบาปในด้านสังคมเท่านั้น แต่ให้เข้าใจตลอดจนถึงลักษณะสำคัญของการใช้โทษบาปซึ่งได้แก่การเกลียดชังบาป เพราะเป็นการทำเคืองพระทัยพระเป็นเจ้า อย่าลืมพูดถึงบทบาทของพระศาสนจักรในการใช้โทษและให้เน้นถึงการภาวนาเพื่อคนบาป
110. การใช้โทษบาปในเทศกาลมหาพรตต้องมีลักษณะมิใช่แต่ภายในและต่างคนต่างทำเท่านั้น แต่ควรมีลักษณะภายนอกและเกี่ยวกับสังคมด้วย ให้ส่งเสริมการใช้โทษในแบบที่ทำได้ในยุคของเราตามถิ่นต่าง ๆ และตามกรณีแวดล้อมของสัตบุรุษ ให้สมณะผู้มีอำนาจกล่าวถึงในข้อ 22 คอยกำชับตักเตือนในเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ดีให้ถือการอดอาหารปัสกา คือ ในวันศุกร์ที่พระคริสตเจ้าทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์นั้นโดยทั่วกัน และควรอดอาหารในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยถ้าทำได้ ทั้งนี้เพื่อเราจะได้บรรลุถึงความยินดีของวันอาทิตย์ปัสกาด้วยจิตใจอันสูงและแจ่มใส
111. ตามประเพณีที่ถือต่อๆ กันมา บรรดานักบุญได้รับการนับถือในพระศาสนจักร และเราเคารพพระธาตุอันแท้จริงและรูปของนักบุญ วันฉลองของนักบุญเป็นวันป่าวประกาศกิจการน่าพิศวงที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำในตัวข้าบริการของพระองค์และเป็นวันเสนอแบบฉบับเหมาะสมให้สัตบุรุษเอาอย่าง
อย่างไรก็ดี วันฉลองของนักบุญไม่ควรถือว่าสำคัญกว่าวันฉลองที่ระลึกถึงธรรมล้ำลึกแห่งความรอด วันฉลองนักบุญหลายองค์ควรปล่อยให้กลุ่มคริสตชนหรือชาติหรือคณะนักบวชโดยเฉพาะบางแห่งทำการฉลอง พระศาสนจักรสากลควรฉลองแต่นักบุญที่มีความสำคัญสำหรับคนทั่วโลก
ที่มา เอกสารประกอบการสอนปีพิธีกรรม คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช