แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การอบรมดูแลบุตร

สิทธิและหน้าที่อบรมดูแลบุตรเป็นของบิดามารดา
36.  หน้าที่อบรมดูแลลูกหยั่งรากในภารกิจขั้นพื้นฐานของคู่สมรส  นั้นคือ  ให้เขามีส่วนร่วมในงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า  เมื่อพ่อแม่ให้กำเนิดบุคคลใหม่ในความรักและด้วยความรัก  ซึ่งบุคคลใหม่นี้มีพระกระแสเรียกให้เจริญเติบโตอยู่แล้วนั้น  พ่อแม่ก็ยังต้องยอมรับหน้าที่ที่จะช่วยเขาให้ดำเนินชีวิตมนุษย์อย่างสมบูรณ์ทุกประการ  สังคายนาวาติกันครั้งที่  2  ได้ชี้แจงแล้วว่า  “พ่อแม่  เมื่อให้กำเนิดแก่ลูกแล้ว  มีพันธะอันหนักยิ่งที่จะต้องเลี้ยงดูอบรมลูก  เพราะเหตุนี้  ต้องถือว่าพ่อแม่เป็นผู้อบรมสำคัญคนแรกของลูก     หน้าที่อบรมของพ่อแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดจนถึงกับว่าถ้าขาดการอบรมของพ่อแม่ก็ยากที่จะหาการอบรมอื่นใดมาทดแทนได้  แม่มีหน้าที่ต้องสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้มีความศรัทธาและความรักต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์ในลักษณะที่จะส่งเสริมการอบรมลูกทั้งในแง่ความเป็นคนและในแง่ที่เป็นสมาชิกของสังคมอย่างครบถ้วย  เพราะฉะนั้น  ครอบครัวจึงเป็นโรงเรียนแห่งแรกสำหรับสอนคุณธรรมทางสังคมซึ่งไม่มีสังคมใดจะขาดได้”
    สำหรับสามีภรรยา  สิทธิและหน้าที่ในการอบรมลูกต้องนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งเพราะสัมพันธ์กับการสืบทอดชีวิตมนุษย์  เป็นสิ่งที่เป็นแบบเฉพาะตัวและมาก่อนหน้าที่ของคนอื่นๆ  ในการอบรมเด็กเพราะเห็นแก่ความรักซึ่งเป็นสายสัมพันธ์อันหาที่เปรียบมิได้ระหว่างพ่อแม่กับลูก  เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทดแทนและทอดทิ้งได้และเพราะเหตุนี้เองจึงมอบหมายให้คนอื่นอบรมลูกของตนอย่างสิ้นเชิงไม่ได้  และคนอื่นจะช่วงชิงรับสิทธิและหน้าที่นี้ไปจากพ่อแม่ไม่ได้เหมือนกัน
    นอกเหนือจากคุณลักษณะเหล่านี้      จะลืมเสียไม่ได้ว่ารากฐานซึ่งกำหนดลักษณะของหน้าที่อบรมลูกๆ เฉพาะพ่อแม่นั้นก็คือความรักฉันบิดามารดาที่บรรลุผลสำเร็จในกิจกรรมอบรมดูแลลูกและทำให้บทบาทรับใช้ชีวิตนั้นสมบูรณ์และครบถ้วนขึ้น  ความรักของพ่อแม่ได้เป็นบ่อเกิดชีวิต  และกลายเป็นวิญญาณหรือบรรทัดฐานซึ่งกระตุ้นและชี้ทางกิจกรรมอบรมดูแลลูก  รวมทั้งให้กิจกรรมดังกล่าวเปี่ยมไปด้วยคุณค่าต่างๆ  เช่น  ความอ่อนหวาน  ความเพียร  ความเมตตากรุณา  การรับใช้  การไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว  จิตตารมณ์แห่งความเสียสละ    ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลผลิตอันประเสริฐล้นพ้นที่เนื่องมาจากความรัก