ศีลสมรสเป็นศีลที่สามีภรรยาส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่กันและกัน และเป็นกิจศรัทธา
56. ศีลสมรสที่รื้อฟื้นพระหรรษทานอันบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ของศีลล้างบาปและทำให้พระหรรษทานนั้นมีความหมายที่เด่นชัดมากขึ้นนั้น ก็เป็นบ่อเกิดและวิถีทางพิเศษที่จะนำความศักดิ์สิทธิ์มาสู่คู่สมรสและครอบครัว ความรักของสามีภรรยาจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์และกลับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยอาศัยฤทธานุภาพแห่งธรรมล้ำลึกของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ซึ่งการสมรสคริสตชนให้โอกาสแก่มนุษย์เข้ามีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกนี้อีกครั้ง “ความรักนี้ พระคริสตเจ้าทรงกรุณาบำบัดรักษา ทำให้สมบูรณ์ และยกย่องให้สูงขึ้น โดยประทานพระหรรษทานและความรักอันสูงส่งของพระองค์เป็นพิเศษ”
พระคุณของพระคริสตเจ้าไม่หมดสิ้นเฉพาะแต่ในพิธีศีลสมรสแต่ยังคงพยุงสามีภรรยาตลอดช่วงชีวิตของเขา สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เน้นถึงข้อความจริงนี้โดยเฉพาะเมื่อสอนว่า พระเยซูคริสตเจ้า “ยังคงประทับอยู่กับเขา เพื่อที่ว่า พระองค์จะได้ทรงรักพระศาสนจักรและจะได้มอบพระองค์เพื่อพระ-ศาสนจักรฉันใด สามีภรรยาจะอุทิศตัวให้แก่กันและกันและจะรักกันด้วยความซื่อสัตย์ตลอดไปฉันนั้น... เพราะเหตุนี้ สามีภรรยาคริสตชนจึงได้รับพละกำลังและเหมือนกับได้รับการอภิเษกด้วยศีลพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามฐานะของเขาอย่างสมควร เมื่อเขาปฏิบัติหน้าที่ของตนในแง่คู่สมรสและในแง่ครอบครัว โดยอาศัยฤทธิ์ของศีลศักดิ์สิทธิ์ และความซาบซึ้งในจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้าซึ่งบันดาลให้ความเชื่อ ความหวังอันแน่วแน่และความรักซึมซาบเข้าไปในชีวิตของเขาโดยทั่วถึงแล้ว เขาก็ยิ่งเข้าถึงความสมบูรณ์ของแต่ละคนและความศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน ดังนั้น เขาจึงถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน”
พระกระแสเรียกให้มนุษย์ทั้งมวลบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็รวมถึงสามีภรรยาและบิดามารดาคริสตชนเช่นเดียวกันด้วย สำหรับเขา พระกระแสเรียกนี้ถูกกำหนดด้วยพิธีศีลสมรสและมีวิธีแสดงออกเฉพาะตามสภาพความเป็นจริงของชีวิตสมรสและครอบครัว สภาพนี้แหละที่เป็นจุดกำเนิดแห่งแนวปฏิบัติทางจิตวิญญาณเฉพาะคู่สมรสและครอบครัวที่ถูกต้องและล้ำลึก ซึ่งนับว่าเป็นทั้งพระพรของพระเจ้าและเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แนวปฏิบัติทางจิตวิญญาณดังกล่าว จะต้องสะท้อนความคิดที่สำคัญๆ เช่น การสร้างโลก พันธสัญญา ไม้กางเขนและการกลับคืนชีพ ตลอดจนเรื่องของเครื่องหมายในศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สมัชชาพระสังฆราชได้บ่งถึงบ่อยๆ
เช่นเดียวกับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ “ซึ่งจุดประสงค์ก็คือ ทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ สร้างพระกายของพระคริสตเจ้า และถวายคารวะกิจแด่พระเจ้า” การสมรสคริสตชนก็คือ พิธีกรรมถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยอาศัยพระเยซูคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ขณะที่บ่าวสาวกำลังประกอบพิธีสมรสนี้ ก็เป็นการประกาศถึงความซาบซึ้งในพระคุณอันสูงส่งที่พระเจ้าทรงโปรดให้เขาสามารถนำความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์และของพระเยซูคริสต์ที่มีต่อพระศาสนจักรเจ้าสาวของพระองค์ มาเป็นหลักของชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวของตนเอง
พระคุณและพระบัญญัติที่ว่า จะต้องดำเนินชีวิตของแต่ละวันในความศักดิ์สิทธิ์ที่พระหรรษทานให้นั้น เป็นพระคุณที่ศีลศักดิ์สิทธิ์อำนวยแก่สามีภรรยาฉันใด พระคุณและหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องปรับปรุงชีวิตของตนทั้งหมดให้สมเป็น “เครื่องบรรณาการทางจิตวิญญาณ” ที่ยืนยงนั้น ก็มาจากศีลเดียวกันฉันนั้น ข้อความของพระสังคายนาที่ว่า “ดังนี้แหละที่ฆราวาสถวายโลกให้เป็นของพระเจ้าโดยการนมัสการพระองค์ในทุกแห่งหนด้วยชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของตน” นั้น ก็ยังเจาะจงถึงคู่สมรสและบิดามารดาคริสตชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการต่างๆ ซึ่งบ่งถึงหน้าที่ของเขาด้วย